ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์


Appreciative Inquiry - AI นอกจากเราจะร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ใน Blog - Gotoknow แล้ว ในชีวิตจริงเราก็จำเป็นต้องอาศัยทักษะนี้อย่างมากเลยทีเดียวครับ

                เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีใน Blog Gotoknow “การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์”      Appreciative Inquiry (AI)    จึงเป็นความจำเป็นที่ “Bloger” ทั้งหลาย ควรที่จะเรียนรู้ไว้ ครับ            
                    ในการทำงานสาธารณะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย จะได้ยินคำว่า “พลังสร้างสรรค์” ค่อนข้างบ่อย งานจะลุล่วงไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ต้องดึงพลังสร้างสรรค์จากหลายๆ ส่วนเหล่านั้นเข้ามาร่วมกัน
               แนะนำเครื่องมือ ผมจึงหยิบเอาเรื่อง “การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ : Appreciative Inquiry (AI)” มาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ดึงพลังสร้างสรรค์ของคนออกมา
                  Appreciative Inquiry (AI) มีสมมุติฐานว่า “ระบบที่มีชีวิตทุกระบบ ล้วนมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ค้นพบและนำมาใช้ มันเป็นศักยภาพที่อุดมไปด้วยพลังที่มาจากแรงบันดาลใจ และจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้”
                ดังนั้น กระบวนการ Appreciative Inquiry จึงเป็นการร่วมกันค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคน ค้นหาสิ่งดีๆ ในองค์กร กระทั่งด้านดีของโลกรอบตัวเรา สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นหาให้พบว่าอะไรที่ “ให้ชีวิต” แก่ระบบที่ว่านั้น ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดพลัง ความสามารถในทุกๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ศิลปะ และ วิธีการ ในการตั้งคำถามด้านบวก การกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดจินตนาการ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนการสนทนาแบบเดิมที่มุ่งจับผิด ตัดสิน หรือปฏิเสธ


องค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการ Appreciative Inquiry
ประกอบด้วยหลักการ “4D”  อันได้แก่

1. Discovery การค้นพบ ว่าช่วงเวลาแห่งความดีเลิศหรือการเกิดความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่สำเร็จคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับการบอกเล่าออกมา มันอาจจะมาจาก ความเป็นผู้นำ ความสัมพันธ์ เทคโนโลยี กระบวนการ โครงสร้าง คุณค่า การเรียนรู้ การเชื่อมโยงกับภายนอก ฯลฯ

2. Dreaming: ฝันให้ไกล ตั้งคำถามถึงความฝันต่อองค์กรหรือชุมชนในอุดมคติ เป็นการจินตนาการถึงภาพฝันในอนาคตที่จะบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ และถูกนำเสนอใหม่อย่างท้าทายความเป็นไปได้

3. Designing: การออกแบบ โครงสร้างและกระบวนการใหม่ การพัฒนาข้อเสนอในการจัดการองค์กรหรือชุมชน เพื่อให้ความฝันนั้นเกิดเป็นจริงได้ทั้งในเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว

4. Destiny (Delivery): ไปให้ถึง เป็นขั้นที่ต้องลงมือทำตามข้อเสนอ มีการตั้งกฎเกณฑ์ พัฒนายุทธศาสตร์ เชื่อมโยงและระดมทรัพยากรเพื่อทำให้ความฝันนั้นบังเกิดเป็นจริงขึ้น
 

            เราลองมาดูการเปรียบเทียบความแตกต่างของกระบวนการระหว่าง กระบวนการแก้ปัญหาแบบเดิม กับ กระบวนการตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ (Appreciative Inquiry: AI) ซึ่งใช้ในการระดมสมองแก้ปัญหาในองค์กร


 

การแก้ปัญหา
 (Problem solving)
Appreciative Inquiry -AI
  • ความรู้สึกว่าจำเป็น (felt need)
  • การยอมรับชื่นชมและการให้คุณค่า (appreciating and valuing
  • การระบุตัวปัญหา
    (ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่อยากให้เป็น)
  • สิ่งที่ดีที่สุดของ “อะไรที่เป็นอยู่”
    What is
  • วิเคราะห์สาเหตุ
  • การสนทนา “อะไรที่ควรเป็น”
    What should Be
  • แผนปฏิบัติการ
  • การสร้างนวัตกรรม “อะไรที่จะเป็น”
    What Will Be
  • สมมุติฐานเบื้องต้น: องค์กรคือปัญหาที่ต้องแก้
  • สมมุติฐานเบื้องต้น: องค์กรคือความลึกลับที่ต้องสำรวจ ตรวจค้น และให้คุณค่า

             จะเห็นว่า กระบวนการแก้ปัญหาแบบเดิม มักจะเริ่มตั้งต้นที่ตัวปัญหา ดิ่งลึกลงไปในตัวปัญหาและมุ่งแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา ขณะที่กระบวนการ Appreciative Inquiry เริ่มต้นจากการมองในด้านดี หยิบสิ่งดีๆ มาคุยกัน โดยมีเป้าหมายไปที่ การสร้างสิ่งที่ดีกว่าหรือดียิ่งขึ้นไปอีก
            เมื่อพูดคุยถึงสิ่งดีๆ อย่างมีจินตนาการ ก็จะสามารถดึงพลังสร้างสรรค์ในตัวคนออกมาได้มาก พลังชีวิตของแต่ละคนเมื่อมาเชื่อมกัน ก็สามารถเป็นพลังทวีคูณขององค์กร ของชุมชน หรือของแผ่นดินขึ้นมาได้
           ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสมองที่จะตามมาเพื่อคอยคุมและคอยเอาเหตุผลมาช่วยวางยุทธศาสตร์ และนี่คือ ความแตกต่างที่อาจจะทำให้ Appreciative Inquiry เป็นทางเลือกของเครื่องมือการทำงานแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน
               เห็นประโยชน์ของ      Appreciative Inquiry   - AI  แล้วใช่มั้ยครับ นอกจากเราจะร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ใน  Blog  - Gotoknow  แล้ว ในชีวิตจริงเราก็จำเป็นต้องอาศัย “ทักษะ”  นี้อย่างมากเลยทีเดียวครับ


แหล่งข้อมูลอ้างอิงการเขียนบันทึก:
บทความของคุณวิภานุ คงจันทร์
www.appreciative…ngl/1_res/aidef_dd.html
Sue Hammond-The Thin Book of Appreciative Inquiry.
Locating the Energy for Change: An Introduction of Appreciative Inquiry. 1999. Charles Elliot.
คำสำคัญ (Tags): #วิถีคิด
หมายเลขบันทึก: 28197เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • น่าสนใจมากครับ
  • ทางการสอนภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Critical Thinking
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาให้อ่าน

นำมาฝากเพื่อร่วม"ลปรร."

Appreciative Inquiry เมื่อมองลึกลงไปน่าจะมาจากฐานทฤษฎีทางการเรียนรู้ทางการด้านศาสตร์ Instructional หรือที่ๆ รู้จักในวงนักการศึกษาว่า “Inquiry Model"  โดยมีประเด็นสาระสำคัญที่อยากนำมา ลปรร. หรือ...เพื่อต่อยอด ในประเด็นดังกล่าว

“Inquiry Model"  เป็นวิธีการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างความคิดรวบยอด  ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านเนื้อหา พอๆกับการพัฒนาเชิงเหตุผล” โดยกระบวนทัศน์เดิมในการสอน คือ ความรู้เป็นสิ่งตายตัว (discreate knowledge) ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เรียนจะสร้างได้เอง ครูเป็นแหล่งความรู้   แต่กระบวนทัศน์ใหม่ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ตามความต้องการ เพราะต้องออกจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เพื่อเรียนรู้โลกภายนอก

Inquiry Model  ต้องการครูที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการ สำรวจ ค้นหา และคิดวิเคราะห์เนื้อหาที่เรียน ผู้เรียนจะกระตือรือร้น เพราะเขาสามารถรู้เหตุผลที่ต้องค้นหาคำตอบที่จะเรียนโดยอาศัยประสบการณ์เดิมในด้านวัฒนธรรมและสติปัญญา (cultural and intellectual)  ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  

ประเภทของ Inquiry  มี 2 แบบ คือ 
แบบมีแนวทาง เริ่มจากการสังเกต และนำไปสู่การอธิบาย โดยครูเป็นผู้ตั้งคำถาม (yes or no Questions) และตั้งสมมติฐาน  ครูจะควบคุมในสิ่งที่ผู้เรียนสังเกตเห็น แต่ผู้เรียนจะมีอิสระในการสำรวจแนวคิดที่รู้สึกว่า มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่สังเกตเห็น
แบบไม่มีแนวทาง ผู้เรียนจะมีการสร้างสรรค์มากกว่า โดยครูยังควบคุมการเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในห้องเรียนแต่ผู้เรียนจะสามารถ   ตั้งคำถามในแนวกว้างในระหว่างบทเรียนได้มากกว่า  ครูจะไม่พยายามกำหนดว่าผู้เรียนต้องตั้งสมมติฐาน  ซึ่งจะใช้ได้ดีเมื่อเรียนเข้าใจใน Inquiry  แบบมีแนวทาง เพราะว่าผู้เรียนต้องฝึกกระบวนการสังเกต และการสังเกตที่ดีก็จะผ่านกระบวนการ Inquiry  แบบมีแนวทาง ซึ่งครูเป็นผู้กำหนดทิศทางให้

เรียนคุณ"จตุพร"

อยากจะขออะไรบางอย่างจะได้ไหม...คะ ได้ไม่ได้ก็จะขอนะคะ

"เนื่องจากเรามี Blog อยู่หลาย Blog ทั้งของ "ชายขอบ" และของ "Dr .Ka-poom" ทั้งนี้เห็นว่าที่ บล็อกลิงค์/เว็บลิงค์ มีของเราทั้งสองคนอยู่ อยากขอให้เปลี่ยนเป็น Rim and Rim ไปเลย"

จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง...จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อ(ยิ้มๆ)

Dr .Ka-poom & คุณ"ชายขอบ"

Dr .Ka-poom & คุณ"ชายขอบ"

        ขอบคุณสำหรับข้อแลกเปลี่ยน ในประเด็น Appreciative Inquiry และ Inquiry Model มีประโยชน์อย่างมากและช่วยเสริมต่อความเข้าใจ ประเด็น "การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์" มากครับ คิดว่าผู้ที่เข้ามาอ่านบันทึก จะได้องค์ความรู้ที่หลากหลายและนำไปใช้ได้ครับ

สำหรับ บล๊อกลิงค์ และเวปลิงค์ ผมจะคงอันเดิมไว้และจะเพิ่ม ชุมชน Rim and Rim  เปรียบเสมือนพลังแห่ง หยิน หยาง มารวมกันและลงตัวได้อย่างสวยงามครับ    LOL

 พี่ขจิต

ขอบคุณมากครับที่พี่ติดตามอ่านและให้ข้อเสนอแนะพร้อมกำลังใจตลอดเวลา

      ดีครับ สั้นๆแต่ได้อะไรมาก .. ขอบคุณครับ  มาตามคำบอกเล่าของ ดร.ประพนธ์ นะ จะบอกให้ !

ขอบคุณครับ อาจารย์ Handy

 ...พลังบวก เป็นพลังที่เราควรต้แงหยิยมาใช้มากที่สุดในปัจจุบันครับ ดีทั้งเรา ดีทั้งเขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท