ปริญญาเอก มจร.
พุทธสาวก นักศักษาปริญญาเอก มหาจุฬาฯ

ชิมลาง Hermeneutics


ผมลองเรียบเรียบบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Hermeneutics จากบทความที่พระอาจารย์ พระมหา ดร. หรรษา  มอบให้สองชิ้นครับ  โดยผมพยายามนำเสนอภาพของ Hermeneutics ในสามประเด็นคือ ประวัติศาสตร์ในภาพรวมกับศาสตร์สายอื่น ๆ วิวัฒนาการที่ผมแบ่งเป็นสามยุคคือ คลาสสิกที่เริ่มจากสมัยเพลโต อริสโตเตล จนถึง ชไลเมอรเชอร์ ยุคกลางอยู่ในรอยต่อระหว่าง ชไลเมอร์เชอร์จนถึงดิลทธียร์ และยุคใหม่หลังจาก ดิลทธีย์เป็นต้นมา  ซึ่งหลายคนเป็นที่รู้จัก เช่น กาดาเมอร์ที่มีชีวิตอยู่ข้ามศตวรรษ  ส่วนในประเด็นสุดท้ายผมพยายามเปรียบเทียบ Hermeneutics กับศาสตร์สายอื่น ๆ ครับ 

สิ่งที่ผมทำมาถึงตอนนี้คือ  ผมเล่าถึงวิวัฒนาการในตอนปลายของยุคคลาสสิกเท่านั้นเอง  โดยเหลือนักคิดอีกสองท่านที่ยังไม่ได้เขียนถึง  แต่ก็ยินดีที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกับท่าน ๆ อื่นครับ  คิดเห็นประการใดเชิญแลกเปลี่ยนได้ครับ  เชิญพิจารณาเรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าครับ
สวัสดิ์  พุ้มพวง

อรรถปริวรรตศาสตร์ : ศาสตร์ว่าด้วยศิลปะแห่งการตีความ[1]
(Hermeneutics: The Science of Interpretation Art)[2]
 
โดย นายสวัสดิ์  พุ้มพวง[3]
[email protected]

นักศึกษาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา)  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
http://gotoknow.org/blog/mahachulaphd 

เนื้อหาเกี่ยวกับอรรถปริวรรตศาสตร์  ซึ่งจะนำเสนอในที่นี้  เป็นเนื้อหาในเบื้องต้นของศาสตร์สาขานี้  เนื้อหาส่วนใหญ่ที่จะนำเสนอจึงเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศาสตร์สาขานี้ที่เกี่ยวโยงกับนักปรัชญาในอดีตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสตร์ดังกล่าว  สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักปรัชญาเหล่านั้น  บทความนี้จะเข้าไป แตะเนื้อหาในส่วนที่เป็นทัศนะมุมมองของนักปรัชญาเหล่านั้นต่ออรรถปริวรรตศาสตร์ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการอีกเล็กน้อย  เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพจากมุมสูงของอรรถปริวรรตศาสตร์  ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวางพื้นฐานสำหรับการศึกษาศาสตร์นี้ในระดับที่ลุ่มลึกในโอกาสหน้า  นอกจากนี้  บทความนี้ยังจะได้นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบระหว่างอรรถปริวรรตศาสตร์กับศาสตร์สายอื่น ๆ มีปรากฏการณ์วิทยา เป็นอาทิ ว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร  ซึ่งน่าจะเป็นการวางตอม่อทางความคิดที่ดีสำหรับการเชื่อมโยงความคิดสู่ศาสตร์อื่น ๆ ในโอกาสต่อไป  สุดท้ายผู้เขียนจะนำเสนอทัศนะในฐานะที่ผู้เขียนศึกษาพุทธศาสตร์ว่า  อรรถปริวรรตศาสตร์จะเป็นประโยชน์อย่างไรในการศึกษาพุทธศาสตร์

ประวัติศาสตร์แห่งศาสตร์กับประวัตศาสตร์แห่งอำนาจ               
อรรถปริวรรตศาสตร์  เป็นศาสตร์ในการแสวงหาความรู้แขนงหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานไม้แพ้ศาสตร์ในการแสวงหาความรู้แขนงอื่น ๆ ของสาขาปรัชญาที่ว่าด้วย
ญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้เพียงแต่ว่า  สมัยใดศาสตร์ใดจะเป็นที่รู้จักนั้น  ขึ้นอยู่กับ อำนาจในการนำในสังคมวิชาการเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดตัวความรู้ของศาสตร์เป็นเพียงองค์ประกอบที่ต้องอาศัยโชคชะตาที่เมื่อใดความรู้ของศาสตร์ไปอยู่กับผู้มีอำนาจในการนำความรู้ของศาสตร์นั้นก็จะเบ่งบานขึ้นเป็นยุค ๆ ไป  อรรถปริวรรตศาสตร์  ก็มีโชคชะตาไม่ต่างไปจากนี้  แต่ก่อนที่จะไปถึงขึ้นการช่วงชิงอำนาจในการนำผู้เขียนจะนำเสนอประวัติศาสตร์ในเชิงเนื้อหาของ อรรถปริวรรตศาสตร์ก่อน  แล้วจะกลับมานำเสนอภาพการต่อสู้แย่งชิงในภายหลัง                ที่มาของอรรถปริวรรตศาสตร์มาจากความต้องการของมหาปราชญ์ เพลโตที่ต้องการใช้เพื่อเปรียบเทียบความรู้ทางการสื่อความของนักปราชญ์ที่ร่วมสานเสวนากับเพลโต  ส่วนมหาปราชญ์อริสโตเติลเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าภาษามีโครงสร้างทางตรรกะในการสื่อถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งในโลกอย่างไร  ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า  จากความสงสัยที่ดูเผิน ๆ อาจจะเป็นความสงสัยเล็ก ๆ แต่นำไปสู่การหาคำตอบที่ไม่รู้จบ  ยิ่งหาก็ยิ่งเจอ  และอาจจะยิ่งไม่น่าเชื่อไปยิ่งกว่านั้นก็คือ  ทั้งท่านสองเป็นอาจารย์กับศิษย์  ที่มีความเห็นต่างกัน  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นต้นตอของกระบวนทัศน์ทั้งหลายที่มักจะตีคู่กันมาแบบสองสายตลอด  ซึ่งมีอิทธิพล (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ต่อนักปราชญ์ในยุคหลัง  อาจจะกล่าวว่าทุกคนก็ว่าได้  ทั้งในสายของตรรกะวิทยาภาษา  ตรรกะวิทยาสัญลักษณ์  และตรรกะอื่น ๆ อีกสารพัด  แม้กระทั่งการศึกษาทางสังคมวิทยานักสังคมวิทยาหัวก้าวหน้าอย่าง นิคลาส ลูห์แมนน์  แอนโทนี่  กิดเด้นส์  หรือ เจอร์เก้น ฮาร์เบอร์มาส   ผู้เขียนก็เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากความอยากรู้อยากเห็นของมหาปราชญ์หนึ่งในสองท่านนี้  เพียงจุดมุ่งหมายอาจจะเปลี่ยนจากจะอ่านอย่างไรดีมาเป็นจะสื่อความหมายอย่างไรดี                วัตถุหลักของการตีความตามโบราณประเพณีของอรรถปริวรรตศาสตร์หลังจากยุคสมัยของอริสโตเติลคือการตีความพระคัมภีร์ไบเบิล  ตามมาด้วยการตีความกฎหมายโรมันหลังจากนั้น  ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเป็นการมุ่งไปที่คำถามส่วนที่ว่า จะอ่านอย่างไรดีเป็นส่วนใหญ่  จนกระทั่งถึงยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗[4] ที่ทุกสิ่งมุ่งหน้าสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์  ไม่เว้นแม้แต่อรรถปริวรรตศาสตร์ที่ถูกสร้างให้มีตรรกะที่แน่นอนตายตัว  เพื่อมุ่งจะตอบคำถามที่ว่าจะอ่านอย่างไรดีให้มีความเป็นวัตถุสัยที่สามารถทบสอบได้พิสูจน์ได้ไม่เปลี่ยนแปลง  ในสมัยนี้อาจทำให้ดูราวกับว่าเป็นยุคที่ก้าวหน้าและภาคภูมิใจสูงสุดของอรรถปริวรรตศาสตร์ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำให้ความพลิ้วไหวแห่งสายลมเข้าสู่กระบวนการทดลองเชิงประจักษ์ได้   แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับเห็นว่า  เป็นความตกต่ำอย่างถึงที่สุดของอรรถปริวรรตศาสตร์  เพราะนักวิทยาศาสตร์ทำให้ความพลิ้วไหวแห่งสายลม  ถึงทางตัน  หรือไหลไปตามท่อแห่งความหมายที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า  ทำให้ สายลมไม่มีอิสรภาพแห่งสายลมอีกต่อไป[5]  แต่นับว่ายังโชคดีที่ยังมีนักคิดที่คอยโต้แย้งวิธีการของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นอยู่บ้าง  ทำให้อรรถปริวรรตศาสตร์ได้มีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่จะตอบคำถามว่าจะสื่อความหมายอย่างไรดีได้  ทำให้อรรถปริวรรตศาสตร์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น  เพราะได้มีโอกาสใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาความหมายของความเป็นมนุษย์ที่แฝงเร้นอยู่ใน วัฒนธรรม  สัญลักษณ์ และความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในทุกส่วนของความเป็นมนุษย์  เป็นการเอื้ออำนวยให้มนุษย์มีโอกาสเข้าถึงความดีความงามที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมอีกมากมายนับไม่ถ้วน  นักคิดที่สร้างคุณูปการให้แก่อรรถปริวรรตศาสตร์ จึงเป็นนักคิดที่มีแนวคิดในเชิงโต้แย้ง  ซึ่งมีพื้นเพส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือเยื้องไปทางตะวันออก ถัดจากเวียนนาไป  นักคิดเหล่านั้นย้อนกลับไปส่งอิทธิพลอย่างมากต่อนักคิดในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก  โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการศึกษาในแถบนั้นมาก่อน  สำนักซึ่งเป็นที่รู้จักจนมาถึงปัจจุบันได้แก่สำนักแฟรงค์เฟิร์ท  อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่จะมาถึง อรรถปริวรรตศาสตร์  ที่รู้จักกันในปัจจุบัน  มีนักปรัชญาหลายท่านที่มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการทางแนวคิดและวิธีการอรรถปริวรรตศาสตร์  ดังจะนำเสนอในตอนต่อไป 

ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านกับนักปรัชญาอรรถปริวรรตศาสตร์
               
อาจแบ่งเป็นสามยุคได้แก่  ยุคคลาสสิกซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ตั้งแต่สมัยอริสโตเติลถึงสปิโนซ่า  ยุคกลางหรือโรแมนติคเริ่มจากชไลร์มาเชอร์จึงถึงดิลท์ธีย์  และยุคใหม่จากดิลท์ธีย์เป็นต้นมา  จึงกระทั่งปัจจุบันซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าความเป็นหลังสมัยใหม่แผ่ขยายไปทั่วทุกสายของศาสตร์  อรรถปริวรรตศาสตร์ยุคหลังสมัยใหม่ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคสมัยแห่งการตีความโดยไม่ตีความ  แต่เป็นการสร้างความหมายขึ้นมาใหม่  วิวัฒนายุคหลังสมัยใหม่อาจเป็นที่รู้จักกันในนาม Constructive Realism โดย Fritz Wallner แต่ยังไม่กว้างขวางนัก   ในละยุคนั้นมีวิวัฒนาการในทางความคิดและวิธีการมาโดยลำดับ  ซึ่งทำให้อรรถปริวรรตศาสตร์ในแต่ละยุคมีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามยุคสมัยโดยมีนักปรัชญาในสมัยนั้น ๆ เป็นผู้ขับเคลื่อนแนวความคิด  ดังจะนำเสนอต่อไป
 

อรรถปริวรรตศาสตร์ยุคคลาสสิก               
นับจากยุคสมัยของเพลโตจนถึงสปิโนซ่า  นักปรัชญาที่ศึกษาด้านอรรถปริวรรตศาสตร์เป็นกลุ่มที่ถูกเรียกหรือเป็นที่รู้จักของการศึกษาอรรถปริวรรตศาสตร์ในปัจจุบันว่า  นักอรรถปริวรรตศาสตร์ยุคเริ่มต้นหรือยุคคลาสสิก ซึ่งประกอบด้วยนักปรัชญาหลายท่านและจำนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ ออกุสติน ลูเธอร์ วิคโค และสปิโนซ่า  โดยเพลโต  และอริสโตเติล  เป็นมหาปราชญ์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของปรัชญาทุกสายที่ทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เฉพาะในเรื่องอรรถปริวรรตศาสตร์นั้น
  ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วในตอนต้นว่า  เพลโตใช้อรรถปริวรรตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจบทสานเสวนาระหว่างท่านกับนักปราชญ์อื่น ๆ ในสมัยนั้น  ส่วนอริสโตเติล  ก้าวไปอีกขั้นโดยมุ่งศึกษาไปทางตรรกะของภาษา  หรือที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าภาษามีโครงสร้างทางตรรกะในการสื่อถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งในโลกอย่างไร อย่างไรก็ตามแม้ hermeneutics จะมีจุดกำเนิดมาก่อนคริสตกาล  แต่กว่าคำนี้จะกลายมาเป็นภาษาที่มาการใช้โดยทั่วไปกาลก็ล่วงมาแล้วจนถึงช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗[6]                ความก้าวหน้าในการใช้อรรถปริวรรตศาสตร์ของอริสโตเติลที่กล่าวถึงได้แก่การพยายามสร้างความตื่นตัวทางวิธีวิทยาในการทำความเข้าใจตัวบทที่ปรากฏให้เห็นในงานของท่านสองชิ้นได้แก่ De interpretatione กับ Stoics  ถึงกระนั้นก็ตามจนกระทั่งถึงงานชิ้นหลัง ทฤษฎีการตีความก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบเสียที  จนกระทั่ง ๑๕๐ ปีล่วงมา จึงมีการค้นพบว่าคัมภีร์มีความหมายสามระดับซึ่งมาจากการเกี่ยวโยงกันแบบสามเหลี่ยมระหว่างร่ายกาย  จิตใจ  และจิตวิญญาณ  ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการทำความเข้าใจศาสนา  จากจุดนี้จะเห็นได้ชัดว่า  อรรถปริวรรตศาสตร์ในยุคแรกถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจคำสอนในศาสนาคริสต์ เพราะนักปรัชญาในยุคแรกส่วนใหญ่เป็นนักบวชโดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลต่ออรรถปริวรรตศาสตร์สมัยใหม่อย่างมากอย่าง ออกุสติน                ออกุสตินได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักอรรถปริวรรตศาสตร์สมัยใหม่อย่าง ดิลท์ธีย์ ไฮเดกเกอร์ และ กาดาเมอร์  โดยเฉพาะกาดาเมอร์ซึ่งเป็นผู้ที่ประกาศว่า  ออกุสตินนี่แหละเป็นคนแรกที่ประกาศความเป็นสากลของอรรถปริวรรตศาสตร์  สำหรับไฮเดกเกอร์ในวัยหนุ่มนั้น  ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากถ้อยคำที่บ่งบอกถึง การมีอยู่ของอไควนัส  ซึ่งงานของอไควนัสนี่เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออรรถปริวรรตศาสตร์ที่มุ่งแง่มุมของการตีความตามไวยกรณ์ของชไลเมอร์เชอร์  ซึ่งเป็นนักปรัชญาอรรถปริวรรตศาสตร์ที่อยู่ระหว่างรอยต่อของยุคคลาสสิกกับยุคกลาง  ที่เริ่มแสดงความโดเด่นของศาสตร์ในแง่มุมของการร้อยเรียงทางตรรกะมากกว่ารากฐานทางประวัติศาสตร์ดังที่กาดาเมอร์พยายามรื้อฟื้นในอรรถปริวรรตศาสตร์ยุคใหม่  สำหรับในยุคคลาสสิกนั้น  ผลงานของนักปรัชญาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัญมณีของอรรถปริวรรตศาสตร์มีหลายท่านนับตั้งแต่ของ ลูเธอร์ วิโค และคนสำคัญอย่างสปิโนซ่า และอื่น ๆ อีกหลายท่าน                ในงานของลูเธอร์ที่ชื่อว่า sola scriptura ที่แม้จะพบว่ามีความใกล้เคียงกันทางภาษากับงานก่อนหน้า  แต่ลูเธอร์มีความโดดเด่นที่การมุ่งเน้นไปที่ศรัทธาที่กอร์ปด้วยความก้าวหน้าควบคู่ไปกับการโต้แย้งอำนาจเก่าในการตีความพระคัมภีร์  ในทัศนะของลูเธอร์เห็นว่า การยอมรับความเชื่อที่ครอบงำมาก่อนหรือการยอมรับผู้อ่านที่ทรงอำนาจในเวลาไม่นำไปสู่การเข้าใจตัวบท  แต่การทำความเข้าใจความหมายของ  และความจริงของตัวบทต้องขึ้นอยู่กับวิถีทางของผู้อ่านเอง[7]  ทำให้การอ่านเริ่มเป็นประเด็นใหม่ในทัศนะของลูเธอร์                วิโค  นักปรัชญาอีกท่านที่ค่อนข้างมีที่มาแตกต่างจากลูเธอรแต่ก็เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาอรรถปริวรรตศาสตร์ในยุคแรกในหนังสือชื่อ Scienza nouva (1725) แสดงการโต้แย้งอย่างชัดแจ้งต่อโลกทัศน์แบบ Cartesian[8]  โดยเขาให้เหตุผลว่าความคิดต้องมีรากฐานมาจากบริบททางวัฒนธรรมนั้น ๆ เสมอ  บริบทนั้น ๆ มีทั้งความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของภาษา  ดังนั้นการจะเข้าใจตัวเอง จึงต้องมองหาตัวตนผ่านการสืบสาวเรื่องราวความเกี่ยวโยงทางภูมิปัญญาของตัวเอง  ความโดเด่นของวิโคในประเด็นนี้เองที่ทำงานแนวคิดของเขามีความแตกต่างอยางชัดเจนต่อนักคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่แยกความเข้าใจ  กับผู้เข้าใจออกจากกัน  แต่วิโคเห็นว่า ผู้เข้าใจกับความเข้าใจเป็นสิ่งเดียวกันไม่เพียงแต่จะแตกต่างจากโลกทัศน์แบบ Cartesian อย่างสิ้นเชิง  แนวคิดเรื่องอรรถปริวรรตศาสตร์ของวิโค ยังมีความแตกต่างจากมุมมองของ สปิโนซ่า ในรายละเอียด                สปิโนซ่า ไม่ได้มุ่งไปที่ การรับรู้แบบหนึ่งเดียวเหมือนวิโค  ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Tractatus theologico-politicus (1670) บทที่ ๑๗ กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อที่จะเข้าใจส่วนที่ยากที่สุดของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์  ผู้อ่านพึงระลึกเสมอถึงความเกี่ยวโยงทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่มีการเขียนพระคัมภีร์นั้น  เช่นเดียวกับที่พึงระลึกเสมอว่าวิธีการเขียน  หรือกล่าวโดยสรุปว่า  ต้องเข้าใจทั้งภาพรวมทั้งหมดและเข้าใจภาพย่อย  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  สปิโนซ่าเชื่อว่า  การเข้าใจภาพย่อยมีส่วนช่วยให้การเข้าใจภาพรวมทั้งหมดได้  ซึ่งต้องมาจากการเข้าใจภาพย่อยเท่านั้น  วิธีการดังกล่าวนี้ของสปิโนซ่าเป็นที่รู้จักกันในนามของวงจรแห่งความหมาย” (hermeneutic circle)  ดังนั้น  การศึกษาประวัติศาสตร์ตามทัศนะของสปิโนซ่าจึงเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ของกระบวนการถอดรหัสระหว่างความหมายที่ซ่อนอยู่กับการใช้ภาษาในการสื่อความ  ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า  ฮาเบอร์มาส และ กิดเดนส์[9] น่าจะได้รับอิทธิพลจากวิธีการดังกล่าวของสปิโนซ่าด้วย                แม้ว่าที่นักปรัชญาที่กล่าวมาแล้วทั้งสามท่านคือ ลูเธอร์ วิโค และสปิโนซ่า  จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเป็นอัตวิสัยในศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับมนุษย์  ด้วยการทำความเข้าใจในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์  ซึ่งเป็นทิศทางสำหรับอรรถปริวรรตศาสตร์สมัยใหม่  แต่ว่าในบรรดานักปรัชญาทั้งสามท่านนี้ไม่มีท่านใดเลยที่สร้างความรู้ในทฤษฎีการเข้าใจอย่างชัดแจ้ง   ชลาดีเนียสเป็นคนแรกและคนเดียวที่พยายามสร้างวิธีการหรือบรรทัดฐานสำหรับกระบวนการตีความ  ในงานที่ชื่อว่า Einleitung zur richtigen Auslegung vernünftiger Reden und Schriften (1742) ได้ชี้ให้เห็นอรรถปริวรรตศาสตร์จากวิธีการทางตรรกะควบคู่ไปกับทัศนะของผู้ตีความ  ที่ได้รับอิทธิพลจากไลบ์นิซและวอล์ฟ์  ชลาดีเนียสอธิบายว่า ทัศนะที่ต่างกันในการมองปรากฏการณ์และปัญหา  เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจตัวบทและถ้อยแถลงของผู้อื่นซึ่งที่จริงอาจจะไม่ใช่ปัญหาเรื่องวิธีวิทยาเชิงประวัติศาสตร์แต่เกี่ยวกับการรับรู้ที่ใช้ในกระบวนการตีความต่างหาก  ชลาดีเนียสสรุปว่า  ก่อนที่จะทำความเข้าใจอะไร  อันดับแรกต้องค้นหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจก่อน  แล้วให้ความสำคัญกับความรู้เดิมที่มีผลต่อทัศนะและการตั้งสมมติฐานของผู้ตีความ  จึงจะสามรถเข้าถึงความจริงหรือความเข้าใจตามเจตนารมณ์ของสิ่งที่ถูกตีความ  ในจุดนี้เองที่ทำให้อรรถปริวรรตศาสตร์ในทัศนะของชลาดีเนียนต้องทำควบคู่ไปกับทฤษฎีความรู้  ที่มุ่งค้นหาความจริงและความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางสังคม  ที่เขาหวังว่าจะเป็นมุ่งเน้นที่สำคัญของอรรถปริวรรตศาสตร์ในศตวรรษ ๒๐  มีนักปรัชญาอีกคนที่มีกระบวนทัศน์คล้ายกับชลาดีเนียสได้แก่ ไมเยอร์ เพราะได้รับอิทธิพลทางปรัชญาจากไลบ์นิซ์และวอล์ฟเช่นเดียวกัน                ในขณะที่อรรถปริวรรตศาสตร์ของชลาดีเนียสให้ความสนใจกับถ้อยคำและข้อความ  อรรถปริวรรตศาสตร์ของไม่เยอร์กลับมุ่งไปที่ สัญญะทุกแบบ  ไม่ว่าจะเป็นสัญญะไร้ถ้อยคำ (อวจนะ สัญญะ) หรือสัญญะตามธรรมชาติ  ในงานของไมเยอร์ที่ชื่อว่า versuch einer Allgemeinen Auslegungskunst (1757) เขาโต้แย้งว่า สัญญะ  ไม่ได้หมายหรืออ้างอิงถึงความมุ่งหมาย  หรือความหมายอื่นเป็นการเจาะจง  แต่สัญญะเชื่อมโยงมนุษย์สู่ระบบภาษาทั้งหมด[10]  สิ่งสำคัญที่กำหนดความหมายของสัญญะคือความเชื่อมโยงกับสัญญะอื่น ๆ คุณูปการของไมเยอร์ต่ออรรถปริวรรตศาสตร์คือการเชื่อมโยงอรรถปริวรรตศาสตร์กับภาษา  และนำความเป็น วิทยาศาสตร์สู่ภาษาโดยใช้อรรถศาสตร์องค์รวมในการเข้าถึงความหมายที่เป็นอิสระจากเจตจำนงของผู้ใช้ภาษา  ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการอีกขึ้นหนึ่งของอรรถปริวรรตศาสตร์  ซึ่งในยุคคลาสสิกนี้  มีอีกสองท่านที่จะเว้นกล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้คือ  แอสท์ กับ วอล์ฟ



[1] เรียบเรียงจาก Ramberg, Bjørn, Gjesdal, Kristin, "Hermeneutics", The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Winter 2005 Edition), Edward N. Zalta (ed.), URL = <http://plato.stanford.edu/archives/win2005/entries/hermeneutics/>. และ “Hermeneutics and Phenomenology”, URL = <http://people.bu.edu/wwildman/WeirdWildWeb/courses/wphil/lectures/wphil_theme19.htm/>
[2] “Science of Interpretation Art” ผู้เขียนสร้างมาจากการรวมนิยามของคำว่า “Hermeneutics” ที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษให้นิยามว่า “art of understanding” and “theory of interpretation” ซึ่งนิยามสองนิยามนี้ทำให้ผู้เขียนตีความ “Hermeneutics” ว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ  เพราะเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถเข้าถึงด้วยวิธีการทางศาสตร์  ต้องใช้วิธีการทางศิลปะเป็นเครื่องมือจึงจะเข้าถึงได้  นอกจากนี้  ผู้เขียนยังเห็นว่าการตีความเป็นศิลปะ  อย่างหนึ่งที่ไม่มีกฎตายตัว  ดังนั้นคำว่า “Hermeneutics” ในภาษาไทยจึงน่าจะตรงกับคำว่าศาสตร์ว่าด้วยศิลปะแห่งการตีความ
[3] ผู้เขียนกราบขอบพระคุณ  พระอาจารย์  พระมหา ดร.หรรษา ธมฺมหาโส ผู้บรรยายวิชา พระพุทธศาสนากับศาสตร์แห่งการตีความ  ที่กรุณานำบทความทั้งสองบทความมาแนะนำให้นักศึกษาทราบ  ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสอ่านบทความที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาในวิชานี้  ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์มา ณ .โอกาสนี้
[4] ยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (the age of enlightenment) หรือยุคแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๔๐-๑๗๘๙ ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age). ดูรายละเอียดใน Sim, S. & VanLoon, B. Introducing Critical Theory, London: Icon Book, 2005, pp. 24-25.
[5] แม้ว่าผู้เขียนจะมีทัศนะที่ขัดแย้งนักคิดสำนักวิทยาศาสตร์ที่กระทำต่ออรรถปริวรรตศาสตร์จนเป็นศาสตร์แห่งกลไกที่ไร้ชีวิตจิตใจ  แต่ผู้เขียนก็รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น  นับแต่ Chomsky, Penrose จนถึง Pinker ที่มีส่วนทำให้การสืบค้นถ้อยคำได้ง่ายขึ้น  โดยเครื่องมือช่วยสืบค้นคำซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง google แต่ผู้เขียนก็ยังขอยืนยัน ณ ที่นี้ว่า ความถี่ของถ้อยคำกับความหมายแม้จะดูเกี่ยวข้องกันแต่เป็นคนละเรื่อง สิ่งที่มีจิตใจและความรู้สึกเท่านั้นจึงจะเป็นสิ่งที่ให้ความหมายได้
[6] ในภาษาไทย  ผู้เขียนรู้จักคำว่า อรรถปริวรรตศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี่เองจากบทความชื่อ ศาสตร์แห่งการตีความแนวพุทธ ของพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร ผู้สนใจบทความนี้สามารถอ่านได้ที่ http://oldgds.mcu.ac.th/ ส่วนคำว่า ศาสตร์แห่งการตีความมักพบเห็นได้บ่อย ๆ อาจจะเนื่องมาจากคำนี้ทำหน้าที่คล้ายคำที่ทำหน้าขยายความคำว่าอรรถปริวรรตศาสตร์ก็เป็นได้
[7] ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนว่า “Our understanding of a text does not consist in a faithful adoption of the predominant or authorized readings of the time. It is up to the individual reader to stake out her own path to the potential meaning and truth of the text.”
[8] หลายท่านอาจคุ้นเคยกับคำนี้ดี  จากประโยคอันลือลั่นว่า “I think therefore I am” หรืออาจจะเคยได้ฟังคำกล่าวโจมตี Cartesianism อยู่เนือง ๆ ว่า เป็นต้นตอแห่งความล่มสลายของสังคมและระบบนิเวศของโลก  เพราะการคิดแบบกลไก  และแยกส่วนของ Cartesianism  นับจาก Descartes มาจนถึง  นักสังคมศาสตร์สำนักปฏิฐานนิยม  สำหรับผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับการโต้แย้งนั้น  จนกระทั่งได้อ่านการตีความ Cartesianism  ใหม่ของ พิพัฒน์ พสุธารชาติ ใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๗ ทำให้มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นผู้ที่เห็นต่างกับเรา  เป็นการเปิดโอกาสให้ฝึกความเป็นคนใจกว้างอีกวาระหนึ่ง
[9] วิธีการในการศึกษาความเป็นจริงทางสังคมกิดเดนส์เป็นที่รู้จักในชื่อว่า double hermeneutic ใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง actors กับ structure เป็นตัวอธิบายความเป็นจริงดังกล่าว  ทฤษฎี Structural theory เป็นตัวอย่างวิธีการแบบ double hermeneutic ของกิดเด้นส์ ส่วนงานของ ฮาเบอร์มาสที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าท่านได้รับอิทธิพลจากสป

หมายเลขบันทึก: 33743เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มีใครอ่านบ้างแล้วครับ  คิดเห็นประการใดบ้าง  ผมอยากได้ยินเสียงสะท้อนกลับบ้าง  หากมีเวลาแสดงความคิดเห็นลงกระดานจะขอบคุณอย่างสูงครับ
สวัสดิ์

     ขอ save ไปอ่าน และตั้งหลักก่อนนะครับ แล้วจะกลับมา ลปรร.ด้วยต่ออีกที

สวัสดิ์ Mr. สวัสดิ์เจ้าคะ

พี่เม่าขอSave เอกสารไปอ่านก่อนด้วยคนนะคะ พี่ 4 คนก็แอบไปชิมลางกัน 4 คนเหมือนกันคะ เพราะพี่เม่า หมี และอ๊อด ภาษาอังกฤษอ่อนแอกัน เลยอาศัยครู Pam ช่วยเหลือ ซึ่งต้องขอบคุณมาณ. ที่นี้ด้วย ถ้าเป็นไปได้ดู สวัสดิ์ก็คงเป็นครูสวัสดิ์ได้เหมือนกัน คงจะพอช่วยพวกพี่ได้บาง  ข้อสรุปที่เราได้มาจะเป็นลักษณะ Mind Map ที่คุณบอกไม่ถนัดไม่รู้เรื่อง แต่คงต้องช่วยๆ กันดูหน่อยนะ  พรุ่งนี้คุยกันอีกครั้งเพราะส่งเมลล์ไม่มีProgram ก็เปิดไม่ได้เนอะ

จากที่ได้เรียนปรึกษาพระอาจารย์ไว้เกี่ยวกับตัวเอกสาร จะมีส่วนหนึ่งอยู่ที่พี่สุมาลี ซึ่งพวกเราต้องอ่านกันก่อน แต่เราไม่ได้อ่านกัน พระอาจารย์บอกว่าน่าจะเข้าไปคุยกับพระอาจารย์ก่อน  พี่ก็ไม่ทราบว่า กลุ่ม ๑ จะว่างกันเข้าไปก่อนเวลาเรียนไม๊ เลยยังไม่ได้ถามพระอาจารย์ว่าสะดวกให้เข้าไปกี่โมงจ๊ะ เอาตกลงกันอย่างไรดี ถ้าไม่ทันโทรคุยกันก็ได้ คืนก่อนโทรหาไม่รับสายเลยไม่โทรแล้ว ฮิๆๆ เดี๋ยวไม่รีบอีก พี่ขี้งอนจ๊ะ พูดเล่นนะ

พี่เม่าเอง

อ่านจบหนึ่งรอบแล้วก็ยังงงอยู่  สรุปให้ง่ายกว่านี้ได้ก็จะดีสำหรับคนฉลาดน้อย

ขอบคุณ

พี่เม่าเอง
โปรดระวังนะครับ  ผมไม่ได้แปลนะ  ผมใช้การเดานะครับ (ถ้าจะให้ดูดีหน่อยก็เรียกว่าตีความ) ฉะนั้น โปรดระวังการ "จับบวช" นะครับ  ทางที่ดี  ต่างคนช่วยกัน "เดา" แล้วมาแลกเปลี่ยนกันน่าจะ "เวิร์ก" กว่านะผมว่า

ท่าน tanin
ไม่ต้องแปลกใจครับที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ  คนเขียนก็ไม่ต่างจากคนอ่านเท่าไหรหรอกครับ

ลองอ่านอีกบางแง่มุมของ Hermeneutics ครับ คลิ๊กที่นี่ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท