Dimostrazione : การนำประสบการณ์มาใช้ให้เป็นประโยชน์


การให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่วแน่ ในการทดสอบความรู้ด้วยประสบการณ์ และพร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด

          Dimostrazione  หลักปฏิบัติ  ข้อที่  2    ของ   Leonardo Davinci    จากหนังสือที่ชื่อว่า "How to think like Leonardo Davinci"  
          Dimostrazione  (ดิมอสตรัสสิโยเน)  ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า  Demonstration  หรือแปลเป็นไทยว่า  การทดลอง  การสาธิต  การแสดง  การพิสูจน์ 
          ในหลักปฏิบัติที่  2  ของ  Leonardo Davinci   บทนี้  พูดถึงการนำความรู้หรือประสบการณ์ที่มีอยู่ไปทดลองใช้จริงให้เกิดประโยชน์   และเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  Davinci  เชื่อว่าประสบการณ์เป็นบ่อเกิดที่สำคัญของปัญญาและความฉลาดของคน  เขาจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์อย่างมาก  เขาเป็นเหมือนพวกหัวแข็งในยุคสมัยนั้น  ซึ่งจะไม่ยอมรับต่อหลักการหรือทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย  โดยเฉพาะความคิด  หลักการหรือทฤษฎีที่เขาไม่ได้ประสบ หรือทดลองใช้ด้วยตนเอง
          Davinci   เติบโตและฝึกฝนตนเองจากการปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง  ทำให้  Davinci  เป็นคนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ความฉลาดปราดเปรื่อง  ความอยากรู้อยากเห็น และจิตวิญญาณอิสระ ทำให้เขาตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการยอมรับทฤษฎีและหลักเกณฑ์ที่ไม่มีข้อพิสูจน์  (dogma) ในยุคนั้นๆ   เขาโต้แย้งสมมติฐานที่อยู่บนพื้นฐานความรู้แบบเดิมๆ (ถือธรรมเนียมปฏิบัติ) ทีละข้อๆ  และสรุปในท้ายที่สุดได้ว่า  “ความคิดเห็นเช่นนั้น ไม่สามารถคงอยู่ในสมองที่มีพลังของการใช้เหตุผลเลย”
          Davinci   ได้บันทึกการเรียนรู้สิ่งต่างๆ  จากประสบการณ์ของตัวเขาเองว่า   “สำหรับฉันแล้ว ศาสตร์เหล่านั้นไร้สาระและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เพราะไม่ได้เกิดมาจากประสบการณ์  ในความเป็นจริงประสบการณ์เป็นรากแห่งความแน่นอน  ประสบการณ์เป็นวิถีทาง (means) หรือผล (end) ที่ต้องผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5”  นอกจากนั้น   เขายังมีทัศนะต่องานของคนอื่นว่าเป็น  “ประสบการณ์ผ่านตัวแทน” (experience  by  proxy)  โดยต้องเรียนรู้ด้วยความระมัดระวังและและพินิจพิเคราะห์และท้ายที่สุดต้องทดสอบด้วยประสบการณ์ของตัวเขาเอง
          นอกจาก  Davinci  จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์แล้ว เขายังเน้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด  เขาเขียนบันทึกไว้ว่า  “ประสบการณ์ไม่เคยผิดพลาด ;  มีแต่การตัดสินใจเท่านั้นที่ผิดพลาด  เพราะไปคาดหมายผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า เหมือนกับว่า  ไม่ได้เกิดจากการทดลองด้วยตัวท่านเอง”   และถึงแม้เขาจะได้รับการยอมรับทั่วไปว่าเป็นอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล  แต่เขาก็ทำความผิดพลาดและทำสะเพร่าที่ยิ่งใหญ่มากมาย  แต่แม้จะมีความผิดพลาด  ความหายนะ  ความล้มเหลว และสิ่งที่ทำให้ไม่สมหวัง  แต่เขาไม่เคยหยุดการเรียนรู้  การสำรวจ  และการทดลองเลย   ซึ่งในการทดลองเรียนรู้สิ่งต่างๆ  Davinci  จะยึดหลัก “มุมมองสามประการ”   โดยเขาจะมองสิ่งนั้นๆ  จากมุมมองที่แตกต่างกันอย่างน้อย  3  มุมมอง  พยายามพิจารณาประเด็นต่างๆ  ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป  จะทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นๆ หรือประเด็นนั้นๆ  ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้น
           Davinci  พยายามกระตุ้นสำนึกในเรื่อง  “คนเราจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากนี้บ้าง  ถ้าไม่กลัวสิ่งผิดพลาด”  สำหรับ  Davinci  เขาทำสิ่งผิดพลาดมากมายและพบกับความยากลำบากมาก  ในการแสวงหาความจริง (สัจจะ) และความสวยงาม (สุนทรียะ) ของเขา  นอกจากถูกกล่าวหา ถูกโจมตี  ถูกเนรเทศ  และการทำลายผลงานที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของเขาแล้ว  ความยากลำบากอย่างสำคัญมากๆ  ของศิลปินผู้นี้ คือ   เขาถูกโดดเดี่ยวเพราะความคิดล้ำหน้าล้ำยุคของเขา  และแม้ว่าเขาประสบกับความช่างสงสัย (คับข้องใจ) ในตนเองและกังขาต่อคุณค่าที่เกิดจากความพยายามของเขา  แต่เขาไม่เคยย่อท้อหรือยอมแพ้

           อ่านแล้ว  ทำให้นึกถึงคำสอนและภาษิตของไทยในหลายๆ  บท  เช่น 
           - ความพยายามอยู่ที่ไหน  ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
           - สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น  สิบตาเห็น  ไม่เท่ามือคลำ
           - หนทาง  (การเรียนรู้)  ที่ยาวไกล เริ่มต้นที่ก้าวแรก  (การลงมือทดลองปฏิบัติ)
           - ผิดเป็นครู
           - ฯลฯ

          ใครอ่านแล้วนึกออก  ช่วยเขียนกันต่อด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 52619เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากเลยค่ะที่นำมาถ่ายทอด ได้ประโยชน์มากๆ

“มุมมองสามประการ”  คืออะไรบ้าง รบกวนคุณหญิงขยายความอีกหน่อย  ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

มุมมอง 3 ประการ  ตามที่หนังสือเล่มดังกล่าวได้ว่าไว้  คือ  Da vinci  จะมองสิ่งต่างๆ  จากมุมมองที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 มุมมอง  คือ 

1. พยายามโต้แย้งกับความเชื่อของตัวเองอย่างเอาจริงเอาจังให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

2. พยายามทบทวนความเชื่อของตัวเอง "จากระยะยห่าง"  โดยการถามตัวเองว่า  ทัศนะของเราต่อสิ่งนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเราอาศัยอยู่ในประเทศอื่น  นับถือศาสนาอื่น  เชื้อชาติอื่น  อายุที่น้อยกว่าปัจจุบัน  หรือเป็นเพศตรงข้ามกับที่เป็นอยู่จริง  เป็นต้น 

3. หาเพื่อนหรือคนคุ้นเคยที่เราคิดว่าจะให้ทัศนะที่แตกต่างไปจากตัวเราเอง  โดยพูดคุยกับเพื่อนของเราในประเด็นนั้นๆ  และมุ่งพิจารณาประเด็นปัญหาด้วยทัศนะที่แตกต่างออกไปจากเดิม

ขอบคุณคะที่สนใจอ่านและสอบถามเข้ามา  เนื่องจากเนื้อหาที่แปลมีรายละเอียดเยอะมาก  ไม่สามารถบันทึกไว้ได้หมด เลยย่อๆ  มาให้อ่านคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท