ประทับใจการพัฒนาคนของปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย)


การพัฒนาคนอย่างยั่งยืน

              เมื่อวันที่  26  มิถุนายน  2549  ชาว  สคส.  และพันธมิตร  KM  (อาทิ  กรมทางหลวง, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมส่งเสริมการเกษตร, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, กรมชลประทาน, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  เป็นต้น)   ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนบริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย  จำกัด  (แก่งคอย  จังหวัดสระบุรี)  งานนี้เดิมที่  อ้อ  วรรณา  เป็นผู้รับผิดชอบประสานงาน  แต่เนื่องจากอ้อ  ต้องผ่าตัดและหยุดยาวเพื่อพักร่างกาย  (หลังจากที่ตรากตรำการทำงานขับเคลื่อน KM  ภาคราชการ มาอย่างเคี่ยวกรำ)  จึงได้มอบหมายให้น้องจ๋า  ฉันทลักษณ์  (Buddy  ของผู้เขียนเองค่ะ- ใน  สคส.  จะมีการจับคู่  Buddy  กัน)    ทำหน้าที่ประสานงานกับ คุณทวีสิน  ฉัตรเฉลิมวิทย์   ผู้จัดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 
             ผู้เขียนประทับใจแนวคิดในการพัฒนาคนและการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของคนจากที่นี่มากๆ  ค่ะ 
            ประทับใจเริ่มแรก  คือ  แนวคิดของปูนที่ว่า 
             - การพัฒนาบุคลากร
             - การรักษาสิ่งแวดล้อม  
             - การให้ความสำคัญกับชุมชนแวดล้อม 
             (เห็นความเชื่อมโยงกับระบบสังคมดีไหมค่ะ) 
             ส่วนอุดมการณ์ของปูน  คือ  
             - ตั้งมั่นในความเป็นธรรม
             - มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ
             - เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
             - ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม

            ความประทับเรื่องถัดมา  คือ  การดำเนินงานส่วนที่เรียกว่า  โครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้   ซึ่งผู้เขียนสนใจเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของที่นี่  แต่เจาะไม่ได้มากนัก  เพราะกำหนดการของเราค่อนข้างแน่น   ทำให้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น   
            แต่พอจะสรุปได้ว่า  ทีมงานเหล่านี้  คือ  บุคลากรที่มาจากหลากหลายฝ่าย  ทำงานร่วมกันเป็นทีม   มีการเรียนรู้เทคนิควิธีการและเครื่องมือต่างๆ  ในการพัฒนาคนมาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรของปูนได้อย่างเหมาะสมลงตัวและยืดหยุ่นตามกลุ่มผู้เข้าร่วมแต่ละรุ่น  
           โดยแต่ละรุ่นจะต้องร่วมกิจกรรมเต็มเวลาถึง  6  สัปดาห์ (จะเห็นว่า  ปูนมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานแทนกันได้เป็นอย่างดี  แม้ใครบางคนจะไปเข้าร่วมกิจกรรมนานถึง 6 สัปดาห์  งานในส่วนนั้นก็ไม่กระทบเลย) 
           นอกจากนั้น มีการนำการทำงานแบบ  Project  มาให้ผู้เข้าร่วมแต่ละรุ่นได้ร่วมกันลงมือทำด้วย  โดยยึดหลัก  KNLW  คือ
           - Knowledge :  เรารู้อะไร
           - Need  :  เราต้องการรู้อะไร
           - Learning  :  เรียนรู้ได้อย่างไร
           - Where  :  เรียนรู้ได้จากที่ไหน
          (ซึ่งเดิมทีทางทีมมีเพียง  3  คำ  คือ  KNL  ส่วน  W  เพิ่มโดยกลุ่มผู้เข้าร่วมค่ะ)
          โดยกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมจะต้องเรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์  ความคิดสร้างสรรค์  การบริหารจัดการ  และการทำงานเป็นทีมอย่างสูง  
          ผู้เขียนได้เห็นรายงานสรุปการเรียนรู้จากกิจกรรม  Project  นี้   และเห็นว่า  ผลงานของแต่ละกลุ่มล้วนน่าสนใจค่ะ  (คงสาธยายไม่หมด)  นอกจากจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ  ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมของตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดีเชียวค่ะ 
         จึงไม่แปลกใจว่าทำไม บุคลากรแต่ละคนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย  จึงทำงานกันยาวนาน และดูท่าว่าจะมีความสุขมากด้วย  (สังเกตจากสีหน้าและแววตา)
         ได้มาเห็นและสัมผัสการฝึกทักษะการเรียนรู้ให้กับบุคลากรของปูนแล้วก็สะท้อนใจกับวงการศึกษาไทยค่ะ  อยากให้วงการศึกษาไทยได้มาเห็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นบุคคลเรียนรู้อย่างยั่งยืนของปูนคะ
          จะดีแค่ไหน  หากระบบการศึกษาไทยได้ติดอาวุธทางการเรียนรู้  (ฝึกนักเรียนหรือผู้เรียนให้เป็นบุคคลเรียนรู้)  มาตั้งแต่เด็กๆ    ไม่ใช่มาผลักภาระการพัฒนาคนให้กับหน่วยงาน  จริงไหมคะ   

หมายเลขบันทึก: 37496เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผมขอนำทักษะการเรียนรู้ของปูนซิเมนต์แก่งคอยที่คุณ yayaying สรุปและขยายขอบข่ายความรู้นี้ไปประกอบในการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้แก้จนของครัวเรือนที่เข้าร่วม KM แก้จนเมืองนคร ให้ระบุทั้ง 4 ข้อที่ว่าไว้เลยครับ สิ่งที่ครัวเรือนอยากรู้อยากเรียนก็จะกลายเป็นแผนการเรียนรู้ของครัวเรือนที่ละเอียดชัดเจนขึ้น ขอบคุณที่สกัดแล้วนำความรู้นี้มาเล่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท