มหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ ๔ ภูมิภาค โครงการ EdKM ครั้งที่ ๔ : ภาคใต้ ตอนที่ ๒


 ตอนที่ 1

          เมื่อท่านวิชม  ทองสงค์  ได้ปาฐกถาจบแล้ว  ช่วงต่อไปก็เป็น การเสวนา  ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา”  โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาและสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

          นางสุชาฎา  ประพรหม  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแค  สพท.สงขลา  เขต  ๓  
        
โรงเรียนบ้านแค  เป็นโรงเรียนขนาดกลาง  มีนักเรียนสามร้อยกว่า ครูยี่สิบคน  เป็นชุมชนอิสลามร้อยเปอร์เซ็นต์
        โรงเรียนบ้านแค  สนใจเรื่อง  KM  มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ตอนนั้นเรื่อง  KM  Hot มากๆ  เราศึกษาเรียนรู้และศึกษา  KM  มาก่อนแล้ว  และต่อมาได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ EdKM   โดยมีแกนนำสามคนเข้ารับการอบรม  KM 
         จากตอนแรกรู้  KM  แบบงูๆ ปลาๆ  และไม่รู้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร  สืบเสาะหาจากหนังสือและเวบไซต์  ทำให้เรารู้ขึ้นมาบ้าง  ภาพของ KM จึงชัดขึ้น  แต่เมื่อกลับมาจากการอบรม  ก็มาคุยกันกับทีมแกนนำว่า ทำอย่างไร  จะนำ KM  เข้าไปในโรงเรียน  โดยไม่ให้เป็นงานงอก  แต่ต้องให้กลมกลืนกับงาน  จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์  ๕  ยุทธศาสตร์  คือ
         ๑. ให้ความรู้  กับครูทั้งโรงเรียน  โดยให้ความรู้โดยการปฏิบัติ  ไม่เน้นการฝึกอบรม  ให้ครูลงมือปฏิบัติเลย  ครูเองก็ไม่ทราบว่า ครูกำลังใช้  KM
        ๒. สร้างคุณค่า  KM  เชื่อว่า คนทุกคนมีดีอยู่ในตัว  มีความรู้ฝังลึกอยู่มาก  แต่ไม่รู้ว่ามี  เมื่อเราใช้เครื่องมือ  KM  เข้าไปดึงออกมา  โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ถ้าคนได้พูดถึงในสิ่งที่ตนเองทำแล้วสำเร็จ  การถ่ายทอดออกมาจะมีความสุข  อิ่มเอิบสบายใจ  เมื่อเกิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เราสร้างคุณค่าให้ครูรู้ว่า ครูแต่ละคนมีดี มีเก่งในตัว  แต่ต้องเล่าในสิ่งที่สำเร็จแล้วหรือทำสำเร็จมาแล้ว
         ๓. บูรณาการกับเนื้องาน  KM  ต้องเนียนกับเนื้องาน  บูรณาการกับเนื้องาน  อะไรก็ตาม โครงการไหนก็ตาม ที่ลงเข้าสู่โรงเรียน  อันดับแรกครูจะคิ้วขมวดก่อน และพูดว่า “มาอีกแล้ว”  เราคิดว่า ทำอย่างไร ให้ KM  ซึ่งเป็นเครื่องมือ  ที่เนียนอยู่ในเนื้องาน
         ๔. เน้นการจัดการความรู้โดยผู้ปฏิบัติ  (“คุณกิจ”)  โรงเรียนโชคดีที่บุคลากรไม่เคยปฏิเสธงาน  ทุกงานทำด้วยใจ  ทำด้วยความตั้งใจจริง  “คุณกิจ”  เป็นคนดำเนินการ  “คุณอำนวย”  ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน  ทำให้ขับเคลื่อนไปได้
         ๕. เชื่อมโยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร  สำคัญมากๆ  เพราะถ้าเราทำอะไรเยอะแยะ  แต่ไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กร  เราก็จะทำงานหนัก  เราต้องรวบหัวรวบหางให้เป็นเรื่องเดียวกัน  ต้องเชื่อมโยงให้ได้
         ต่อมามีการเปิดเวทีให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  (ใช้เวลา ๒ วัน)  กำหนดหัวปลาว่า  “การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน”  พบว่า  โรงเรียนของเรามีครูเก่งเยอะ  แต่เรามองข้ามไป  ตัวอย่างเช่น  ครูอารีย์  สอนชั้น ป. ๑  สอนมานานและสอนไปเรื่อยๆ  ครูไม่ทราบว่า  เป็น  Best Practice  เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ประกายของครูคนอื่นก็เกิด  และเกิดเป็นโครงการ “อักษรสวยด้วยมือเรา”  โดยมีครูอารีย์ เป็นต้นแบบ  ถ่ายทอดเทคนิคของครูอารีย์ ให้กับครูทุกคนในโรงเรียน (ใช้เวลา ๓ วัน)  ในระหว่างการดำเนินงาน  เราพบว่า  มี Best Practice   อีกเยอะแยะมากมาย  เมื่อทำไปก็พบว่า  ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น  ครูรู้ว่า  เราต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ต่อมาจึงเกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติน้อยๆ  ในโรงเรียน 
         ถามว่า ตอนนี้  ครูในโรงเรียนทราบหรือไม่ว่า  KM  คืออะไร  เป็นอย่างไร  ครูไม่รู้  แต่ครูปฏิบัติจริงๆ
         การนำความรู้มาจัดการ  จึงเป็นการดึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคนออกมา  ให้มีการบอก เล่า  และการจดบันทึก 
        ปกติเรามักไปหาความรู้ภายนอกอยู่ตลอดเวลา  แต่จริงๆ  แล้วในองค์กรของเรามีความรู้ดีๆ  อยู่มากมาย  เราพยายามทำเหมือนคนอื่น  พยายามไต่บันไดดารา  ทำให้ไม่สำเร็จสักที  แต่เราไม่ได้นำสิ่งที่คนอื่นทำ ปรับให้มาเป็นของเรา
         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้    คือ  การทำให้สิ่งที่คนภาคภูมิใจได้ถ่ายทอดออกมา  ทำให้เกิดสุขภาวะขององค์กร

         นายสุภาพ  กลับวิหค  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนนิมิต  สพท. สุราษฎร์ธานี  เขต  ๑
        
รู้จัก  KM  เมื่อตอนที่ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ตอนนั้น เข้าใจในหลักการ ประโยชน์และวิธีการ  รู้แต่ไม่ทำอะไร  รู้ดีกว่าไม่รู้  หลังจากนั้น  ผู้อำนวยการ สพท. สุราษฎร์ธานี  ได้ประชุมผู้บริหาร และนำเรื่อง KM  เข้ามาพูดคุย  ผมรู้เลยว่า  งานนี้ต้องทำแน่ๆ  แต่จะทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่  คิดดูก่อน
         เรารู้หลักการวิธีการ  แต่ไม่ลึกซึ้ง  มารู้ลึกจริงๆ  ตอนเข้าอบรมกับโครงการ EdKM  แต่ก็ยังไม่รู้ทำอย่างไร  แต่คิดว่า  การจะนำเรื่องใหม่ๆ ลงไปในองค์กร  ต้องดูจังหวะ  ท่าที  เพราะเราอาจจะได้คน ได้งาน  แต่ไม่ได้ใจคน  ผลที่ได้จะต่างกัน  ลักษณะการบริหารงานของผม คือ  การใช้ใจมาก่อน  ถ้าได้ใจแล้วก็ได้ทุกอย่าง  มาคิดว่า จะนำ KM  เข้าไปลงตรงช่องไหนดี  
         พอดีช่วงนั้นมีการประเมินวิทยะฐานะ  เราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  ครู ๙  คน นร. ๙๙  คน  โดยปกติ ทุกคนทำงานก็อยากมีความก้าวหน้า  ที่โรงเรียนบุคลากรมีคุณภาพ  มีครูปฏิรูปการเรียนรู้  มีครูแกนนำ  และมีครูดีเด่น เกือบทุกกลุ่มสาระ  พอเริ่มที่จะลงมือขอเพิ่มวิทยะฐานะ   
เราเลยเอา KM  เสียบตรงนี้  เพราะต้องมีการทำแฟ้มประเมินวิทยะฐานะ  และปกติเราจะมีการคุยกันทุกเย็นอยู่แล้ว  เลยเปลี่ยนมาเป็นเสวนากัน  ครูเหล่านี้ต้องมีผลงานทางวิชาการ  เลยนำประเด็นนี้มาพูดคุย  ให้แต่ละคนเล่ามาตามประสบการณ์  ผมจดประเด็น  ในที่สุดผลงานวันนั้น  โรงเรียนเราผ่านฉลุย 
         หลังจากนั้น  เมื่อมาประชุมอีกครั้งที่หาดใหญ่  และเริ่มที่จะนำ  KM  เข้าไปในโรงเรียน  ครูก็ไม่ปฏิเสธ  เพราะทำให้ครูได้ประโยชน์  ผมไม่รีบ  ค่อยเริ่มไปเรื่อยๆ  ในที่สุด เราเริ่มที่จะปฏิบัติ  KM  คือ กระบวนการแบบนี้  ต่อมาค่อยกำหนดหัวปลา เป็นยุทธศาสตร์  (คนมาก่อน)  คือ  เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรโดยใช้  KM  (บุคลากรมืออาชีพ)  เริ่มเรียนรู้  เริ่มเข้าใจ 
          KM  ของ โรงเรียนจึงเริ่มจากปัญหา  คือ นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก (เล็กน้อย)  เลยชวนครูมานั่งคุยว่า  แก้ไขอย่างไร  ครูแต่ละคนมีวิธีการสอนให้เด็กอ่านหนังสือออกได้อย่างไร  แต่ละคนมีประสบการณ์อย่างไร  และกำหนดมาเป็นมาตรการในการแก้ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก  
         สรุป  KM  ของเราไม่ได้ใช้เครื่องมือ  KM  ทั้งกระบวนการ  และเน้นเริ่มที่ปัญหาขององค์กร  โดยได้โยงเรื่องของการพัฒนาให้ครูรู้สึกว่า ตัวเองชนะ  และเน้นว่า  ทำ KM  แล้วได้ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ  ในการทำงาน  ผู้บริหารทำคนเดียวไม่สำเร็จ  ต้องใช้ยุทธศาสตร์แนวร่วม  ให้เกิดการเรียนรู้แบบซึมลึก  (สอนแบบไม่สอน)

         นายดุลลาภ  ตาเล๊ะ  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพรุ  สพท. ยะลา เขต ๑
         
โรงเรียนบ้านพรุ  โชคดีที่ได้รู้จัก KM เรารู้จัก  KM  เมื่อทาง สพท.ยะลา เขต  ๑  เห็นความสำคัญว่า โรงเรียนบ้านพรุต้องไปหาดใหญ่  ตอนนั้น ผมงง  ไม่รู้ว่า  KM  คืออะไรก็ตอนอบรมแกนนำ  และแกนนำของโรงเรียนได้เข้าไปร่วมมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่  คือ  โรงเรียนบ้านพรุมีครูเข้าร่วมอบรม  KM  ครั้งนั้น  จำนวน  ๗ คน จากครูทั้งโรงเรียน  ๑๑ คน
          เมื่อได้มาเรียนรู้ KM กลับไปก็ยังงงๆ อยู่  เมื่อเรางงก็เลยต้องการวิธีการทำให้หายงง  จึงมาวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน KM  ของโรงเรียนบ้านพรุ  คือ  ยุทธศาสตร์ ๓ ส.  ได้แก่
         ๑. สร้างวิสัยทัศน์  ให้เกิดขึ้น  โดยเราต้องเปลี่ยนความคิดของตนเองและของครู  ให้หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน  และให้รู้เป้าหมายที่จะไป ทุกคนมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน  และให้เห็นว่า  KM  นั้นดี  เราต้องสร้างการยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เกิดความสามัคคีในกลุ่ม และเกิดพลัง  ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนรักองค์กร 
         ๒. สร้างบรรยากาศ  ผู้ร่วมงาน องค์กรของเรา  ต้องให้เกียรติทุกคน  ให้โอกาสทุกคน  ไม่มีการแบ่งแยกคนรู้คนไม่รู้  เราต้องให้ความสำคัญกับทุกคน  ถ้าเราให้โอกาส  Best Practice  ของแต่ละคนจะออกมาโดยไม่รู้ตัว  ต้องรับฟัง  ทำให้เกิดการยอมรับ   เมื่อสร้างบรรยากาศแล้วก็จะเกิดการแสดงความคิดเห็น
         ๓. ส่งเสริมสนับสนุน  การดำเนินงาน  การจัดสรรงบประมาณ  ในการบริหารแบบเดิม  มีการแบ่งงบประมาณ และไปกองอยู่รวมกัน  แต่ในการจัดการตรงนี้  ต้องบริหารจัดการให้ถูกต้อง  เพื่อที่จะเดินและขับเคลื่อนไปได้
         โรงเรียนบ้านพรุ  ทางเขตฯ ยกย่องว่า  เวบไซต์ของโรงเรียนดีมาก  การใช้ blog  ก็ดี  ซึ่งเกิดจาก “คุณอำนวย”  ของโรงเรียน  ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่มีขอบเขต  (ทั่วประเทศ  ทั่วโลก)
         โดยสรุปเราต้องสร้างผู้นำให้ได้ในองค์กร  ต้องสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้น  และสร้างพลังขององค์กร  เมื่อเกิดพลังก็จะเกิดปัญญาตามมาในที่สุด

         นายศลใจ  วิบูลกิจ  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา  เขต  ๓
        
ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน  KM  ของ สพท.สงขลา  เขต ๓  ได้แก่
๑. ใช้การจูงใจ  ว่า เขตเราได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการ
๒. สร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญ
๓. ลองถูกลองผิด  เพราะไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของ KM  อะไรคืออะไร  แต่รู้ว่า ทำให้องค์กรดีขึ้น  และเกิดการเรียนรู้เยอะมาก
๔. ให้ความรู้เพิ่มเติม  ถ้าเราเรียนรู้เพิ่มได้มากขึ้นเท่าไหร่  องค์กรจะพัฒนาไปได้มากขึ้นเท่านั้น
๕. เพิ่มศักยภาพของคน  ให้คนหนึ่งคนสามารถทำได้หลายๆ อย่าง หลายๆ หน้าที่
๖. บริหารโดยใช้  ICT  แต่เราทำตามแนวทางของเราเอง   ตัวอย่างเช่น  หากเราทำเหมือน สพท. สุพรรณบุรี เขต ๒  ทุกอย่าง  เราก็จะได้ดีเท่าสุพรรณบุรีเท่านั้น
๗. “คุณเอื้อ”  ถอยมาห่างๆ  แล้วให้ทีมงานเป็นพระเอก  คิดได้อย่างสร้างสรรค์ 

โปรดติดตามตอนต่อไปคะ

หมายเลขบันทึก: 119767เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2007 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท