คุณภาพการศึกษา(ขั้นพื้นฐาน)ของไทย ใครหนอใครร่วมเสกสรร? (2)


สังคมเรานับวันจะร้อนรุ่มขึ้นทุกวันๆ ประกอบกันกับภาวะโลกร้อนค่อนไปทางคุ้มคลั่ง ต่อไปเราคงได้นอนสะดุ้ง ๆ ๆ ๆ เพราะกลัวโจรจะมาปล้นเอามุ้งไปขายหาเงินซื้อยาบ้ามาเสพแก้กลุ้ม เพราะพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนทำเอานาไร่หายไปในบัดดล หากเรายังชะล่าใจ แสวงหาและเสวยสุขอยู่บนคราบน้ำตาครูและเด็กแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว ซึ่งเท่ากับถีบซ้ำให้คุณภาพการศึกษาไทย ดำดิ่งสู่ก้นเหวลึกลงไปเรื่อยๆ แบบนี้...

             ก่อนอื่น  ขออนุญาเปลี่ยนแปลชื่อบันทึกนิดหน่อยก่อน  เพราะจะได้เปิดกว้างในเชิงการมีส่วนร่วม  และไม่ซ้ำๆกับบันทึกก่อนๆเป็นสำคัญ ครับ

            ณ บันทึกนี้  อยากจะนำเรียนว่า นอกเหนือจากการที่คุณภาพการศึกษา(ขั้นพื้นฐาน)ของไทย ตกอยู่สภาวการณ์ที่เสื่อมถอย สวนทางกับทิศทางของประเทศเพื่อนบ้านและของโลกทั่วไป  อันเกิดจากการหลงทิศ หลงทาง ของผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ครูพึงปฏิบัติ  โดยเชื่อว่าการที่ครูมีรายได้ที่พอเพียงด้วยการมีวิทยฐานะนั้น  จะช่วยคุณภาพการศึกษาดีขึ้นได้ ซึ่งกาลกลับเป็นตรงข้าม  เพราะลืมไปว่าครูก็เป็นปุถุชน ย่อมหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ ได้เหมือนคนทั่วไป (ซึ่งจริงๆแล้วไม่ควรอย่างยิ่ง  เพราะครูคือ............ (ใครก็ตาม ที่เป็นบุคคลพิเศษ ที่น่าจะแตกต่างและมีจริยาวัตรอยู่เหนือกิเลสกว่าคนธรรมดาทั่วไป))

            ซึ่งแน่นอน  การที่ใครก็ตามเมื่อหลงเข้าไปในวัฏสงสารแห่งความอยากแล้วไซร้  ย่อมเสมือนตกอยู่ในเขาวงกตแห่งกิเลส  การหาทางออกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  หนำซ้ำกระแสอันเชี่ยวกรากของสังคมบริโภคนิยม ที่อะไรๆก็แพงบรรลัยทั้งราคาสิ่งของและบริการ  ก็พลอยทำให้งานเพื่อความก้าวหน้าวิชาชีพของครูตามที่หน่วยเหนือกำหนด มีราคาและค่าใช้จ่ายสูงขึ้นๆยิ่งกว่าเงาตามตัว งานเกือบร้อยทั้งร้อยของครูจะเป็นงานแฮนด์เม้ด ซึ่งจะต้องใช้ทั้งเวลา ศาสตร์ และศิลป์ในการบรรจงออกแบบและลงมือทำ  ราคาค่าบริการจึงแพงกว่าปกติ  ส่งผลให้ครูเป็นหนี้เป็นสินพัลวัลล้นพ้นตัว  เป็นภาระของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  สุดท้ายส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาอย่างเห็นได้ชัดตลอดมา

            อีกปัญหาก็คือ  รูปแบบของการสนับสนุนงบประมาณการจัดการศึกษาทั้งระบบ  มีความไม่สอดคล้องกับภารกิจการจัดการศึกษาเอาซะเลย  นานมาแล้วที่ถึงเวลาที่โรงเรียนต้องใช้เงิน  แค่ไม่มีเงินให้ใช้  แต่เมื่อถึงเวลาเงินมา (ซึ่งหมดเวลาเพราะครูใช้เงินส่วนตัวและเงินผ้าป่าแก้ปัญหาเฉพาะไปแล้ว) ก็แทบจะไม่มีเวลาทำการเรียนการสอนกันเลย  เพราะครูต้องกลับกลายเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ในการใช้งบประมาณให้กับหน่วยเหนือ  ครูต้องเสียเวลาทำเอกสารส่งเบิกเป็นปีกๆ  แม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กๆน้อยที่แยกซอยเป็นหมวดเป็นหมู่หลายรายการ  ตามภารกิจที่หน่วยเหนือกำหนดเป็นหมวดรายจ่ายต่างๆเมื่อคราวเสนอขอเงินจากสำนักงบประมาณ (ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้มีความสอดคล้องกับภารกิจจำเป็นที่แท้จริงของโรงเรียนเลย)  นั่นหมายความว่าแม้มีเงินให้ใช้  แต่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆกับเด็กเลย  หนำซ้ำเป็นภาระที่ดึงครูไปจากเด็กอีกต่างหาก  ...กรรม...เวรกรรมทั้งของครูและของเด็ก... คุณภาพการศึกษาในระยะที่ผ่านมาจึงดิ่งเหวลงทุกวันๆ 

             นี่ยังไม่ได้พูดถึงระบบอำนาจในรูปแบบโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ปรับใหม่  ที่เอื้ออย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจเดี่ยว ทำให้ผู้มีอำนาจมักจะสั่งให้โรงเรียน(หมายถึงทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครูด้วย) ทำอะไรก็ได้ที่อาจไร้สาระโดยสิ้นเชิง (แต่ชอบด้วยระเบียบ) ทั้งในและนอกโรงเรียน ภาวการณ์การปรับโครงสร้างแบบถอยหลังจมคลองนี้นี่แหละ...ที่ฉุดดึงคุณภาพการศึกษาดิ่งลึกจมโคลนจนแทบหมดทางเยียวยาให้ดีขึ้นได้อย่างที่เห็น

            ทั้งหลายทั้งมวล  ชวนให้คิดฝันถึงยุคที่โรงเรียนอยู่ในวัด ซึ่งถือว่าเป็นของชุมชน 100%  ถ้าไม่มีใครดึงโรงเรียนออกจากวัด ป่านนี้อาคารเรียนของโรงเรียนคงงามพอๆกับอุโบสถ อาศัยกำแพงเดียวกันกับวัด(ประหยัดค่ากำแพงไปหลายตังค์) หลวงพ่อท่านคงเป็นกำลังหลัก ในการหางบประมาณมาสร้างสมองของเด็ก  (แทนการหามาสร้างถาวรวัตถุ  ที่บางอย่างหาประโยชน์อันใดแทบไม่ได้เลยก็มี  แต่ก็สร้างๆๆๆจนรกแทบไม่มีที่จะเดินเหมือนทุกวันนี้)  ไปพร้อมๆกับการอบรมบ่มนิสัยให้เยือกเย็นเน้นคุณธรรม  แบบไม่ต้องไปเดินหาตามตลาดนัดคุณธรรมที่มีขายอยู่ไกลถึงเมืองทองธานีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแน่ๆ และป่านนี้ ประเทศไทยคงก้าวไกลทันโลกและสงบสุขอย่างหาไม่ได้ในที่อื่นของโลก  เพราะประชากรไทยน่ามีคุณภาพคู่คุณธรรม นำประเทศสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 

            คิดๆๆๆในส่วนนี้  และคุยกันกับพี่น้องในโรงเรียนและชุมชน จนทุกคนเห็นว่าดีและอยากโอนย้ายไปสังกัด อบต.มานานแล้ว (คงมีผู้บริหารโรงเรียนบ้า...อยู่ไม่กี่คนมั้ง...ที่พูดแบบนี้...) ก็ทำไม่ได้ดั่งใจ  แม้ชุมชนจะปรารถนาเช่นไรแค่ไหนก็ตาม  กฎบัตรกฎหมายก็ยังพลิกไปพลิกมา  ยังกะ "ลูกหนำเลี้ยบตกกระทบศีรษะศรีธนนชัย"  ยังงัยยังงั้นแหละ  ...เฮ้อ...

            สังคมเรานับวันจะร้อนรุ่มขึ้นทุกวันๆ ประกอบกันกับภาวะโลกร้อนค่อนไปทางคุ้มคลั่ง  ต่อไปเราคงได้นอนสะดุ้ง ๆ ๆ ๆ   เพราะกลัวโจรจะมาปล้นเอามุ้งไปขายหาเงินซื้อยาบ้ามาเสพแก้กลุ้ม เพราะพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนทำเอานาไร่หายไปในบัดดล  หากเรายังชะล่าใจ  แสวงหาและเสวยสุขอยู่บนคราบน้ำตาครูและเด็กแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว   ซึ่งเท่ากับถีบซ้ำให้คุณภาพการศึกษาไทย  ดำดิ่งสู่ก้นเหวลึกลงไปเรื่อยๆ  แบบนี้...

หมายเลขบันทึก: 129158เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มีความคิดจะเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์ เพราะภาระงานที่เพิ่มขึ้น และเบื่อกับระบบที่ไม่ลงตัว

เราจะเห็นได้จากผลการทดสอบระดับชาติ ในวิชาหลักๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลการประเมินของเด็กนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ค่อนข้างต่ำลง เนื่องจากครูที่สอนวิชาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเลือกเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งไม่ใช่กลุ่มครูเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้าโครงการ จึงทำให้ครูที่มีคุณภาพเกิดสมองไหลออกจากระบบ

ซึ่งส่วนใหญ่ที่ออกไปก็ไม่ได้ไปทำอย่างอื่น ทว่ายังคงอยู่ในแวดวงการศึกษา เช่น โรงเรียนกวดวิชา รับสอนพิเศษ"

 

 

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ รศ.วิบูลย์  ที่นับถือ

  • ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติแวะมาแสดงความเห็น  พร้อมกรุณาส่งลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติมให้
  • ผมไปตามลิงค์แล้ว  เห็นว่ามุมมองของทุกท่านค่อนข้างตรงกับความจริง โดยเฉพาะของท่าน ดร.อมรวิชช์ชัดเจนที่สุดครับ
  • จะมีบ้างบางท่านที่ผมยังค่อนข้างมีความเห็นแย้ง ตรงนี้ครับ "นายแทนไทย ประเสริฐกุล นิสิตปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยสอนนักเรียน มองว่า ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากครูผู้สอน ที่ควรจะพิจารณาตนเองว่ามีคุณสมบัติเหมาะแก่การสอนมากน้อยอย่างไร คนที่เป็นครูต้องมีความเชื่อมั่นว่ามีใจรักในวิชาชีพครูอย่างแท้จริง รักในวิชาที่สอน และเชื่อมั่นในสิ่งที่เรียนมา ขณะที่ครูส่วนมากในปัจจุบันอาจทำงานแบบไม่ได้รักในอาชีพ แต่จับพลัดจับผลูมาเรียนโดยบังเอิญก็เป็นได้

      ซึ่งครูควรอัพเดทความรู้อยู่ตลอดเวลา ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่จากเวบไซต์ ทีวีและสื่ออื่นๆ สำหรับถ่ายทอดให้นักเรียนได้รับรู้นอกเหนือจากตำราเรียน โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ ที่มีการค้นพบสิ่งใหม่อยู่เสมอ ประเทศไทยค่อนข้างจะขาดแคลนสื่อที่ช่วยพัฒนาผู้สอน "  ซึ่งผมเห็นว่า  ที่จริงแล้วครูส่วนใหญ่มีใจให้กับการเป็นครูค่อนข้างมาก สัดส่วนไม่น่าจะต่ำกว่า 75%  และในส่วนของการพัฒนาตนเองนั้น  ปัจจัยแวดล้อมของครูในชนบท  ซึ่งจัดการศึกษาให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ซึ่งมีผลต่อการเลือกรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศค่อนข้างมาก) ค่อนข้างจำกัดเอามากๆ ระบบสื่อสารต่างๆทั้งหลายทั้งมวลที่ท่านกล่าวมานั้น  ครูแทบเข้าไม่ถึงเลย มีแต่ทีวีเท่านั้นที่พอเข้าถึง  แต่เวลาของทีวีเกือบทั้งหมดเป็นภาคบันเทิง(น้ำเน่าก็เยอะ) ภาคที่เป็นสาระก็เก็บไปให้ นร. ได้แค่คำบอกเล่า  ส่วนภาพและเสียงเอาไปด้วยได้ยาก ถ้าจะเอาไปก็ต้องลงทุนเพิ่มทั้งเงินและเวลา (ผมเองก็พยายามทำอยู่ และในเรื่องนี้ตั้งใจจะเขียนเป็นบันทึกใน 2-3 วันนี้ครับ) ส่วนผมนั้นคิดว่าครูเองควรต้องสำรวจบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ ว่าชุมชนมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน  ที่พอจะเอามาใช้เพื่อการพัฒนาคนทั้งระบบ(ไม่เฉพาะการศึกษา)ได้  เช่น  ที่โรงเรียนบ้านโคกเพชร  มองเห็นว่าการทำนาอาชีพหลักของชุมชนส่วนใหญ่ขาดทุน  ทำให้อ่อนแอ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทำนาแบบขาด(กระบวน)การคิดวิเคราะห์ (ถือว่าเป็นจุดอ่อน)  ทั้งๆที่ที่นาก็ดินดี ฝนฟ้าก็เอื้ออำนวยพอสมควรทุกปี(จุดแข็ง)  ซึ่งโรงเรียนจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของการศึกษา พานักเรียนร่วมกับชุมชนศึกษาวิเคราะห์  เพื่อนำสู่การบริหารจัดการไร่นาที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุด  ผมว่าการศึกษาของชนบทไม่ควรขาดเรื่องในลักษณะนี้ครับ  ส่วนเรื่องเนื้อหาวิชาการแบบสากลก็ว่ากันไปตามหลักสูตรแกนกลางครับ

  • จะขออนุญาตส่งลิงค์นี้ไปที่บล้อกของท่านอาจารย์ด้วยนะครับ (เกรงว่าท่านอาจารย์อาจไม่ได้เข้ามาอ่านที่นี่ครับ)

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงอีกครั้งครับ  สวัสดีครับ

  • สวัสดีครับ คุณครู
  • ผมเข้าไปชม web โรงเรียนโคกเพชรตาม link แล้วครับ
  • เป็น web ที่ดีมาก ๆ เว็บหนึ่งครับ
  • เสียดายว่า คำอธิบายเรื่อง ค่อนข้างจะสั้นไป อ่านแล้วอาจยังไม่ทันเห็นภาพนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับท่าน  ที่ให้เกียรติแวะชม  และกรุณาสละเวลาแวะมาให้กำลังใจด้วย
  • ในส่วนที่เป็นข้อบกพร่องที่ท่านแนะ  กระผมจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นโดยเร็วครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่าสูงอีกครั้ง  สวัสดีครับ
  • คุณครูวุฒิขา ขอแก้ไขคะ  น้องเขาชื่อ แทนไท ประเสริฐกุล คะ(ไม่มี ย ) มีข้อมูลเพิ่มเติมคะ น้อง ช้าง (หนูรู้จักน้องเขาตั้งแต่อยู่ในท้องผ่านตัวหนังสือของพ่อเขาคะ..หนูเป็นแฟนคลับพ่อเขาคะ)เป็นลูกชายคนโต ของครอบครัวอดีตแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กับ กวีซีไรต์  คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา เขามีน้องชาย 1 คนชื่อ วรรณสิงห์ (สิงห์) เรียนด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนหนังสือ เรื่อง ชีวิตภาคทฤษฎี  ตอนนี้..สองหนุ่ม กำลังไปเรียน ต่อปริญญาเอก พร้อม แม่ที่กลับไปเรียนให้จบคะ (คุณจิระนันท์ เธอเรียน ป.เอกค้างไว้คะ...แปลกนะครูวุฒิ มหาลัยฝรั่งนี่...กลับมาเกินกว่า 20 ปี ยังย้อนไปเรียนใหม่ได้ด้วย..)ไม่ต้องแปลกใจที่ 2 หนุ่มนี่คิดไม่เหมือนวัยรุ่นทั่วไป

  • แทนไท ประเสริฐกุล เขาเป็นนักเขียนคอลัมน์ คนค้นสัตว์ เขียนประจำใน เว็บ  on open คะ คลิกเข้าไปอ่านได้คะ...หนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดาคะ เขามีหนังสือขายด้วยคะชื่อ MIMIC เลียนแบบทำไม?   และเรื่อง โลกนี้มันช่างยีสต์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท