น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย (16) ... ตย. ความพอเพียง ของ การส่งเสริมโภชนาการ


สิ่งหนึ่งที่อยากให้ลองทำก็คือ ... เวลาท่านทำโครงการหรือกิจกรรมเสร็จแล้ว อยากบอกว่า ที่ท่านเห็นนี้ ไม่ใช่หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจจะอยู่ที่คนทำ เพราะว่าคนทำมีจิตสำนึกที่อยากจะทำงานให้รอบคอบ ผลงานก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้

 

ถ้าเรานำเอาเรื่อง การส่งเสริมโภชนาการ มาคิดในเชิงความพอเพียง

... เริ่มต้น ถ้าให้ผมมองหลักโภชนาการที่ถูกต้อง ผมมองว่า สิ่งที่เราอยากจะทำ คือ เราอยากเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้คนไทยเข้าใจ เพื่อที่เขาจะได้เลือกที่จะกินในสิ่งที่มีประโยชน์กับ เขา ถ้าเราเผยแพร่เรื่องโภชนาการได้ดี เข้าถึงคนไทยทุกๆ ส่วน องค์ประกอบของสังคม คนไทยก็จะมีสุขภาพที่ดี เพราะฉะนั้น นี่ก็คือเป้าหมายที่เราต้องการ

เรื่อง ความมีเหตุมีผล 

  • ถ้ามองในเรื่องของการให้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับคนไทย ผมอาจจะถามคำถามว่า เราจะใช้วิธีอะไรในการส่งเสริมหลักโภชนาการ
  • ... ที่เขียนอย่างนี้เพราะอยากเชิญชวนให้พวกเราเห็นว่า เวลาที่จะแนะนำหลักโภชนาการให้กับคน มีวิธีการหลายวิธี เราแน่ใจแล้วหรือว่า ถ้าเราใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งแล้ว จะเกิดประสิทธิภาพ คนจะรับรู้ข้อมูลที่เราต้องการให้รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เราก็อาจจะลองศึกษาก่อนว่า มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้ประชาชน สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับทางโภชนาการ และสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ ก็คือ ใช้วิธี หรือสื่ออะไรในการสื่อความหมายกับประชาชน
  • สื่อความหมายอาจมีวิธีการ โฆษณาทางทีวี เข้าไปในกิจกรรม โรงเรียน อันหนึ่งที่กรมฯ ทำ ก็มีใบรับรอง ก็เป็นวิธีสื่อความหมาย เพราะว่าคนเห็นมีการรับรองที่ถูกต้อง เขาก็มีความอยากจะกินร้านนี้ เพราะว่าเขาได้ดูแลไว้แล้ว การให้ใบรับรองก็อาจมีประโยชน์ สำหรับคนที่มาซื้อหาอาหาร คนที่ไปจับจ่ายที่ตลาดสด เขาก็อาจจะพลาดตรงนั้นไป เราก็อาจจะมีสื่ออื่นๆ
  • สิ่งที่ทำมาให้ดูอันนี้ เพราะว่าอยากจะบอกว่า เวลาเราจะลงทุนงบประมาณในวิธีการใดวิธีการหนึ่งนั้น ก่อนที่จะทำ เราอาจจะศึกษาดูก่อนว่า มีวิธีการ ปัจจัยอะไรที่มีการเรียนรู้หลักโภชนาการที่ถูกต้องได้บ้าง เมื่อได้รู้วิธีการที่คนไทยรับรู้ข่าวสารข้อมูลแล้ว เราก็น่าจะไปเน้นในวิธีที่ถูกต้อง
  • เราก็จะถามคำถาม กรณีที่เราทำโครงการเรื่องการออกใบรับรอง ให้กับร้านค้าอาหาร จะกี่ร้อย กี่พันหน่วยก็แล้วแต่ ถ้ามีคนมาถามว่า มีเหตุผลอะไร ที่ทำโครงการนี้ เราตอบได้ไหม หรือถ้าเรามีข้อมูลว่า การที่ร้านอาหารมีระบบการรับรองคุณภาพ สามารถชักชวนให้คนมาซื้ออาหารถูกสุขลักษณะ มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเราใช้ข้อมูลทางการศึกษานั้นมาเป็นที่มาของการทำกิจกรรม ก็จะหมายถึงหน่วยงานของเราทำงานอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น เพราะว่าเราทำงานบนฐานข้อมูลการวิเคราะห์ มากกว่าที่จะทำงานตามความอำเภอใจ
  • เพราะฉะนั้น ความมีเหตุมีผลในการทำกิจกรรมของกรมฯ ก็จะเกิดขึ้นจากการที่เราได้ศึกษาข้อมูล วิธีการต่างๆ ในการใช้สื่อ เพื่อที่จะให้เกิดประสิทธิภาพ
  • วิธีศึกษาอาจจะทำโดย ทำแบบสอบถามถามประชาชนว่า คุณบริโภคอาหารแบบใด ถูกสุขลักษณะหรือไม่ อย่างใด ซึ่งเราก็จะทดสอบได้ว่าถูกหรือไม่
  • และเราอาจจะถามต่อว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า ข้อมูลหลักโภชนาการที่ถูกต้อง จากสื่อแหล่งใด
  • เพราะฉะนั้น จากที่เขาตอบมา เราก็สามารถนำมาทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของเราได้ ว่า คนส่วนใหญ่ที่เขาเรียนรู้หลักโภชนาการ เขาเรียนรู้จากสื่อต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น เวลากรมฯ จะทำงานต่อ ก็เอาแบบสอบถามมาเป็นจุดเริ่มที่จะพัฒนาให้กับประชาชน
  • ถ้าถามผม ผมรู้จักหลักโภชนาการที่ดีจากไหน ผมตอบได้คำเดียวครับว่า ผมรู้จากโรงเรียน เพราะโรงเรียนสอน ผมไม่เคยรู้จากที่อื่น อันนี้ก็เป็นคำตอบแบบหนึ่ง
  • ซึ่งถ้าคนมีคำตอบแบบนี้เยอะๆ วันหลังก็จะได้มีการทำโครงการที่โรงเรียนมากกว่าที่อื่นๆ หรือบางคนเขาบอกว่า รู้เรื่องโภชนาการจาก การดูทีวี เราก็จะเน้นการทำกิจกรรมที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้ได้เหตุผลที่แท้จริง อันนี้คือ การทำโครงการอย่างมีเหตุมีผล คือ อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล และนำมาใช้

เรื่องความพอประมาณ

  • อาจจะออกมาในรูปของการใช้สื่อที่หลากหลาย คือ อย่าไปทุ่มทำสื่อใดสื่อหนึ่งแบบสุดโต่ง เพราะอาจจะได้คนบางกลุ่ม และพลาดคนบางกลุ่ม การทุ่มไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก เช่น เราอาจสื่อทีวีแบบพอประมาณ แต่ว่าเน้นสื่ออื่นบ้าง เพราะจะได้คนกลุ่มอื่น เพราะฉะนั้นใช้สื่อที่หลากหลาย แต่ละวิธี
  • ในโรงพยาบาล เป็นอีกจุดหนึ่งที่เขาอยากจะประพฤติตนในส่วนที่ เป็นการดูแลสุขภาพเขามากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ไปสื่อความหมายใน รพ. ได้ ทำเป็นวิดีโอสักครึ่งชั่วโมง ในเวลาที่เขาไปจ่าย และรอรับยา ก็จะเห็นวีดิโอของกรมอนามัย ในเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ก็จะมีการประสานความร่วมมือ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมีการพัฒนากิจกรรม

เรื่องคุณธรรม

  • ถ้ามองว่า เราให้ความรู้กับประชาชน บางสื่อเช่น เราไปทำที่ร้านอาหาร ตาม fast food ตามห้างสรรพสินค้า ที่มีร้านอาหาร และเราไปเน้นการให้ความรู้ในส่วนเหล่านั้นนี้แล้ว
  • บางทีเราอาจนึกถึงคนบางกลุ่มออกว่า แล้วคนที่เขาไม่ได้เดินห้างนี่ เขาจะมีความรู้ไหม คนที่อยู่ตามชนบท หรือเด็กแถวบ้านจะมีเยอะ ก็คือสาวโรงงาน วันๆ เขาจะอยู่ในโรงงาน ทำงานกัน เย็นมาก็มากรูกันซื้อพวกรถเข็นหน้าโรงงานกิน โอกาสที่เขาจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็ไม่มี
  • เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจบอกว่า หาวิธีให้ข้อมูลกับผู้ด้อยโอกาสต่างๆ เช่น คนชรา (เขามีโอกาสที่จะเรียนรู้ข้อมูลที่กรมฯ ให้หรือเปล่า) ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น เพราะว่าสื่อที่เราให้มักเป็นคนที่มีฐานะปานกลาง และคนรายได้น้อยมักหลุดออกจากระบบ เพราะว่า กรมฯ ก็หวังให้สื่อเข้าถึงทุกกลุ่ม คนชรา คนมีรายได้น้อย คนงาน หรือคนโรงงาน เขาจะรู้จักคนกรมอนามัยหรือไม่
  • ... เราอาจไปสุ่มถามว่า คุณรู้จักสื่อโภชนาการที่ดีจากที่ไหนบ้าง ถ้าเกิดไม่ได้ ก็น่าจะพิจารณาหาวิธีการที่จะสื่อความหมายกับคนกลุ่มเหล่านี้ด้วย
  • ในผู้ด้อยโอกาส คนชรา ผู้มีรายได้น้อย ที่ผมนึกๆ ในภูมิภาค คือ คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็หาโอกาสกระจายความรู้ไปยังคนในพื้นที่เหล่านั้นด้วย

เรื่อง ภูมิคุ้มกัน

  • บางทีข้อมูลข้างบนจะซ้ำๆ กัน เช่น เรื่องความพอประมาณ ดูในเรื่องของสื่อให้พอดีๆ ไม่ไปทุ่มอะไรให้มากนัก คือ ความพอประมาณ แต่ความพอประมาณนี้เอง ในการใช้สิ่งที่หลากหลายก็เป็นหลักการสร้างภูมิคุ้มกันด้วย เพราะว่าถ้าสื่อนี้ใช้ไม่ได้ เราก็ยังมีสื่ออีก 5-6 สื่อที่เราใช้อีก 5-6 วิธี ที่เรากระจายลงไป นั่นก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง
  • เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ก็เป็นทั้งเรื่องความพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ถ้าเราจะลงทุนในวิธีการต่างๆ เราอาจมีการทดลองทำเป็นขั้นตอน เช่น เราไม่เคยเล่นสื่อทาง internet เราก็อาจทดลองทำไปก่อน เรายังไม่เคยทำสื่อทางทีวีมากนัก เราก็อาจทดลองทำสักเล็กๆ ก่อน ส่วนทำแล้ว confirm rating และคนดูก็นำไปใช้ปฏิบัติ ปีหน้าเราก็อาจขยายงบประมาณสื่อทางทีวี เป็นต้น ก็อาจใช้เวลา 2-3 ปี และค่อยๆ พัฒนาไปเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

เรื่องความรอบรู้ ก็ตรงไปตรงมา

  • เป็นการศึกษาข้อมูลโดยทั่วๆ ไป
  • ศึกษาวิธีการใน ตปท. และขอยืมมาทำในประเทศไทย

เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากให้ลองทำก็คือ ... เวลาท่านทำโครงการหรือกิจกรรมเสร็จแล้ว อยากบอกว่า ที่ท่านเห็นนี้ ไม่ใช่หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจจะอยู่ที่คนทำ เพราะว่าคนทำมีจิตสำนึกที่อยากจะทำงานให้รอบคอบ ผลงานก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะสื่อความหมายมาตลอด

พอท่านได้ทำเสร็จแล้ว ท่านก็จะกระวนกระวาย ว่า เป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือยัง คนตรวจเขาจะว่าอย่างไร

  • ก็ไม่ต้องถามใครหรอก ถามตัวเราเอง
  • ... ที่ผมทำคือ ผมจะพลิกไปดูในตัวนิยามเศรษฐกิจพอเพียง เอาย่อหน้านั้นมาอ่าน ดูว่า ต้องเดาใจนิดหนึ่งว่า เจตนาที่จะเขียนในข้อความนั้น และผลงานจริงที่ปรากฏออกมาแล้วจะเป็นเรื่องเดียวกันไหม
  • เช่น ความมีเหตุมีผล เราก็มีนะ เราไม่ได้ทำโครงการตามเรื่องตามราวเกินไป เราทดสอบแล้วว่าสื่อนี้วิธีนี้มีผลดี เพราะว่าเราศึกษามาก่อน เราไม่ได้เกี่ยง
  • และถ้าเรามีงบประมาณ 100 ล้าน ไปทุ่มสื่อทีวี 80 ล้าน เราก็ไม่ได้ทำนะ เพราะเราใช้ 5 ล้าน และกระจายไปยังสื่อต่างๆ อย่างทั่วถึง นี่ก็คือการลงทุนอย่างพอประมาณ
  • สมมติเรามีสื่อ Internet เราอยากพัฒนาเป็นตัวใหม่ ที่ปรึกษาให้เราลงทุน 35 ล้าน แต่เราไม่ทำ เพราะคิดว่า เสี่ยง เราทดลองทำ 5 ล้านก่อน ถ้าปีหน้ามีผลงานดี เราค่อยขยายจาก 5 ล้าน เป็น 10 ล้าน
  • พระองค์ท่านบอกว่า ให้มีหลักคุณธรรมนะ เราก็ไม่เคยเห็นแต่ความสำคัญแต่คนกรุงเทพฯ นะ เราก็ให้คนที่ด้อยโอกาสเขาก็อยากมีสุขภาพดีเหมือนกัน เราก็มีสื่อบางอันที่เราเน้นเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย คนโรงงาน คนงานตาม site ต่างๆ คนชรา พวกนี้เขาก็จะได้รับรู้ว่า ในฐานะของคนชราเขาต้องดูแลสุขภาพอย่างไร เป็นต้น หรือว่าคนงานตามโรงงาน ข้อมูลสื่อที่เราให้ก็เป็นข้อมูลการดูแลสุขภาพใน
  • เรื่อง ภัยเสี่ยงต่างๆ ว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุว่า เราต้องทำตัวอย่างไร
  • และความรอบรู้ คือ งาน น้องๆ ที่เป็นข้าราชการในกรมฯ ก็ศึกษาวิธีปฏิบัติในประเทศต่างๆ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เราก็จะเอามาใช้
  • เพราะฉะนั้น ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ถ้าให้ผมมอง ผมก็มองแล้วว่า ได้อรรถรสของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเทียบกับคำนิยามที่พระองค์ท่านได้ให้ไว้

นี่คือ ตัวอย่างในแง่ งานหนึ่งของกรมอนามัย

รวมเรื่อง น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย

 

หมายเลขบันทึก: 94697เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2007 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ได้ความรู้มากๆเลยค่ะ

  • เรื่องราวจะยาวหน่อยนะคะ อ.sasinanda
  • เพราะว่ามีความตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะให้ทุกท่านได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการนำเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้กับการทำงานค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ ที่ให้ความสนใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท