ร่วมด้วยช่วยกัน กับเครือข่ายเภสัชฯ (6) ... ประสบการณ์ KM จากคุณอ้วน


ทัศนะที่ดิฉันมองเขา จากการที่เขาเล่า ว่า สิ่งที่เขาทำกันขึ้นมามีความยากลำบากอย่างไร พอเกิดความเข้าใจ สีหน้าแววตาท่าทางก็เป็นมิตรขึ้น และพวกเทศบาลเอง บางครั้งแข่งกันด้วยซ้ำ เมื่อมีการแลกเปลี่ยน พอเราทำ AAR ก็รู้กันเลยว่า เพื่อนของเราแต่ละคนมีคุณค่า

 

คุณอ้วน แห่งศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย ชื่อจริงก็คือ คุณฉัตรลดาค่ะ บล็อกของเธออยู่ที่นี่ สังคมอุดมปัญญา

วันนี้เป็นโอกาสที่เธอได้มาเล่าประสบการณ์ให้กับทีมเภสัชได้ฟังค่ะ

ฟังเธอเล่าแล้วก็ระหกระเหินน่าดูเลยนะคะ

... เป็นประสบการณ์ที่เธอได้นำ KM ไปใช้กับภาคีเครือข่าย

ที่มาก็คือ เดิมดิฉันเป็นนักฝึกอบรมที่ศูนย์อนามัยที่ 1 เมื่อมีการปรับงาน ก็ได้มาทำงานในเรื่อง เมืองน่าอยู่บ้าง เรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง เมื่อครั้งที่ทำงานฝึกอบรม ดิฉันก็ได้มีทักษะการทำงานในหลายๆ เรื่อง เช่น ทักษะชีวิต PBL Benchmarking TQM TQA ทั้งหลายก็ได้เอามาใช้หมดเลย

ต่อมามีความรู้สึกว่า เมื่อได้มาจับงานเมืองน่าอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของภาคีเครือข่าย ในส่วนของเทศบาลและ อบต. เพื่อผลักดันให้กลุ่มของเขามีเทศบาลน่าอยู่ อบต.น่าอยู่ กรมอนามัยก็จะมีเป้าหมายไปผลักดันให้ อบต. หรือเทศบาล เกิดกระบวนการเมืองน่าอยู่ใน 5 กระบวนการ คือ

  1. มีนโยบายและแผนฯ เมืองน่าอยู่ ด้านสุขภาพ ในแผนของ อบต. และเทศบาล
  2. มีการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ในเรื่องของสุขภาพ
  3. มีการทำงานแบบมีเครือข่าย มีประชาคม ในรูปแบบที่ทำเป็นภาคี เป็นกลุ่ม
  4. มีการจัดการ ลปรร. จัดการความรู้ ในเรื่องการทำงานเมืองน่าอยู่
  5. มีฐานข้อมูลด้านสุขภาพในการทำงาน

นี่ก็คือโจทย์ที่ดิฉันรับผิดชอบ ให้องค์กรนำไปใช้
กลุ่มเป้าหมายของศูนย์อนามัยที่ 1 เป็นศูนย์ประสานงานระหว่าง กรมฯ กับพื้นที่ ทำให้เราคิดว่า เราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร ใช้ทุกเทคนิคก็แล้ว ลองใช้กระบวนการทั้งหลายก็แล้ว มันก็เหมือนกับว่า เนื้อในเขาไม่ได้มีการดำเนินการ หรือการปฏิบัติเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ก็ยากมาก

ช่วงหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เรื่อง พฤติกรรมชุมชน ร่วมกับ อ.ชะนวนทอง ซึ่งท่านได้เอากระบวนการ KM เข้ามาใช้ ตอนนั้นกรมอนามัยยังไม่ได้เริ่ม ... ช่วงใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจ แต่เห็นอยู่อย่างหนึ่งตอนที่เข้าไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกลุ่ม ไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ที่เห็นก็คือ จากเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติที่มีลักษณะของการเป็นผู้ตัดสินใจมาตลอดทางด้านกฎหมาย ทำงานเป็นค่อนข้างเครียด เมื่อเข้ากระบวนการ พอมาทำ AAR เขาบอกเลยว่า เขามีความภาคภูมิใจมากเลย เพราะว่าเวลาทำงานเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้พูด ได้เล่า ไม่เคยมีใครได้เห็นว่าเขาทำงานทุกข์ยากลำบากแค่ไหน ทำงานภายใต้จุดอ่อน สิ่งไม่ดี ทำให้เขาไม่อยากคิด มีความเศร้า แต่พอมาได้เข้ากิจกรรม KM เขาก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยน มีมุมมองของเพื่อนต่างๆ ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น และเข้าในความเป็นมนุษย์มากขึ้น

เมื่อกรมอนามัยมาเริ่มทำ KM ดิฉันก็เห็นประโยชน์ของ KM มากขึ้นๆ และก็นำมาใช้ในการวิจัย ... เริ่มจากการตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเอากระบวนการ KM มาใช้ในการพัฒนาโครงการเมืองน่าอยู่ด้านสุขภาพ จะทำได้หรือไม่
จึงเอาทีมมาทำกลุ่ม เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาพูดคุย

รอบแรกที่ทำกัน ก็ปวดหัวมากเลย เพราะว่าคนที่มาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานจริง เพราะว่าเขาไม่ได้ส่งคนทำงานจริงๆ มา

จากบทเรียนครั้งแรก งวดต่อมาก็เลยเชิญใหม่ โดยดูข้อมูลมาก่อนว่า สถานการณ์ของเทศบาลเป็นยังไง นายกคิดยังไง เห็นยังไง ทีมงานเป็นยังไง มีจำนวนเท่าไร มีภาคีเครือข่ายเท่าไร ก็เริ่มรู้จักแกนนำ รู้จักคน เพราะว่าบางทีคนทำไปอยู่อีกที่หนึ่ง พอได้คน ก็เอามา ลปรร. กันในสิ่งที่ทำในเรื่องนั้นๆ นั่นก็คือ เป็นคุณกิจตัวจริง พอได้ตัวจริง คุณศรีวิภาก็ไปช่วยดำเนินการกลุ่มด้วยกัน กับชาวศูนย์ฯ เราก็ได้ Tacit knowledge ตรงนั้นจริงๆ และก็ทำให้ได้ปัจจัยความสำเร็จกันขึ้นมาเยอะมากเลย ว่า ทำยังไงให้เทศบาลของเขาน่าอยู่

  • บางกลุ่มก็บอกว่า ชัดเจนเลยว่า นายกฯ มีนโยบายชัดเจน แต่ยังไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติ ผมก็เริ่มเห็นแล้วละ ว่าจะนำไปขับเคลื่อนกันยังไงต่อไป ถ้าเป็นนโยบายแค่กระดาษ ก็ใช้ไม่ได้
  • บางคนก็บอกว่า เรื่องฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เขาจะกลับไปพัฒนา และเห็นว่า เทศบาล และ อบต. พัฒนาได้เร็วมาก

สิ่งที่ดิฉันเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ ว่า ทัศนะที่ดิฉันมองเขา จากการที่เขาเล่า ว่า สิ่งที่เขาทำกันขึ้นมามีความยากลำบากอย่างไร พอเกิดความเข้าใจ สีหน้าแววตาท่าทางก็เป็นมิตรขึ้น และพวกเทศบาลเอง บางครั้งแข่งกันด้วยซ้ำ เมื่อมีการแลกเปลี่ยน พอเราทำ AAR ก็รู้กันเลยว่า เพื่อนของเราแต่ละคนมีคุณค่า เช่น เขาบอกว่า เขาเป็นช่างประปา มาทำงานด้านสุขภาพ ถ้าเขาไม่ได้มาคุยอย่างนี้ เขาก็ไม่สามารถไปทำงานได้เลย เพราะว่าเขาต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องมาทำงาน เขาก็เห็นแนวทาง

ดิฉันให้ทำแผนฯ กันต่อว่า ถ้าต้องการเห็นจุดที่พัฒนา ขอให้คิดเลยว่า จะเป็นกิจกรรมอะไร ขอเทศบาลละเรื่อง ซึ่งเป็นแค่กิจกรรมย่อยๆ ที่ทำให้เขาเห็นจุดที่พัฒนาของเขาก็พอ ... ทำให้สิ่งที่เขาต้องกลับไปทำก็คือ กลับไปพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อให้การทำงานดีขึ้น

หลังจากนั้นก็ตามไป Coaching และไปเสริมพลัง ทำให้ได้ทราบว่า เขาได้ไปพูดคุยกันต่อ ว่า ศูนย์อนามัยที่ 1 ได้มาทำการจัดการความรู้ที่มีประโยชน์มาก เพราะเขาสามารถนำกลับมาใช้ในการทำงานได้ด้วย และพบว่า มีประมาณ 4-5 เทศบาล สามารถนำเอาการจัดการความรู้ไปใช้ต่อได้ ...

นี่ก็คงเป็นความศรัทธา ที่ได้พบว่า KM สามารถเข้าถึงจิตใจของกลุ่ม และตัวเองได้ละค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 65612เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท