ตลาดนัดกรมอนามัย 2550 - Press Tour (5) เส้นทางความสำเร็จ ของคุณชัยรัตน์


ความมีคุณค่ามันเกิดขึ้นตรงนั้น เกิดขึ้นที่ว่า ทำไมเราต้องสู้ ทำไมเราถึงต้องชนะมันให้ได้ ถ้าเราแพ้ เราก็แพ้ตั้งแต่วันนั้นแล้ว

 

คุณชัยรัตน์ ตรัยรัตน์จรัสพร ... เจ้าของร้านตำนานอาหารป่า ที่เป็นแนวร่วมที่แน่นแฟ้นของกรมอนามัยค่ะ ... คุณชัยรัตน์มาเล่าเรื่องราวความสำเร็จให้เรา ชาวกรมอนามัย ฟังกันค่ะ

อ.หมอสมศักดิ์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของคุณชัยรัตน์คร่าวๆ ก็คือ คุณชัยรัตน์ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตตัวบทนักธุรกิจ ทำธุรกิจด้วยเรียนรู้ตลอดเวลา จากจบมัธยมปลาย แต่ท่านทำงานจนได้ Quality of Award จากฝรั่งเศส และเป็นผู้บุกเบิกการส่งออกสินค้าไปถึงต่างประเทศ ... อันนี้ก็น่าจะเป็นการการันตีว่า ไม่เรียนรู้ไม่ได้ ทำไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ ... วันนี้ก็จะเป็นการเล่าว่า ท่านทำได้อย่างไง และสุดท้ายก็ได้ทำเรื่องส้วมได้ดีจนกรมอนามัยติดอกติดใจอย่างไร ...

คุณชัยรัตน์เล่าให้เราได้ฟังนะคะ ว่า

  • เริ่มด้วยเกร็ดชีวิตของตัวเองก่อนครับ เพื่อที่จะทำให้ท่านที่นั่งที่นี่สบายใจ เพราะจะรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านมานั่งอยู่ ณ ที่นี่ได้นั้น อีกหลายๆ ท่านไม่มีโอกาส และก็อยากให้ท่านทราบว่า กว่าที่ท่านจะมานั่งตรงนี้ได้ ทุกคนผ่านศึกมาแล้วทั้งนั้น หนักบ้าง เบาบ้าง ของธรรมดา
  • ชีวิตวัยเยาว์ของผมค่อนข้างจะลำบากมากๆ พ่อมาจากเมืองจีน แม่อยู่เมืองไทย เป็นเด็กที่ค่อนข้างยากจน สมัยได้ตังค์ไป รร. คนละ 1 สลึง หรือ 50 สตางค์ นี่ สูงสุดแล้ว
  • เด็กคนอื่นมีโอกาสเล่น เที่ยว ทำการบ้าน ตัวผมเองไม่มี เพราะตื่นไป รร. ได้ก็ต้องตื่นแต่เช้ามืดเลย ไปซื้อของที่มหานาค (ตลาดโบ๊เบ๊ ปัจจุบัน) เพื่อมาช่วยแม่ทำ และขายน้ำแข็งใสบ้าง ก๋วยจั๊บบ้าง ผัดไท เอาทุกอย่าง ก็ถึงจะได้ไป รร.
  • กลับจาก รร. คนอื่นเล่น เราต้องไปล้างจานอีกแล้ว
  • เสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องทำงานอย่างเดียว
  • หลังจากที่บ้านไฟไหม้ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่เหลืออะไรเลย ก็ต้องแยกย้ายออก ... ไม่ได้เรียนหนังสืออีกแล้ว ไปเป็นเด็กช่าง ทำทุกอย่าง
  • ... สมัยนี้เราทำงานช่าง ต้องเรียนมาและฝึกเป็นช่างได้เลย ... แต่สมัยผม ต้องหยิบเครื่องมือก่อน ไปซื้อโอเลี้ยงก่อน จับโน่นจับนี่ ไม่พอใจ ก็เฉดหัว
  • ... ถ้าเราย้อนกลับไปครั้งหนึ่ง เราก็จะรู้ว่า ความมีคุณค่ามันเกิดขึ้นตรงนั้น เกิดขึ้นที่ว่า ทำไมเราต้องสู้ ทำไมเราถึงต้องชนะมันให้ได้ ถ้าเราแพ้ เราก็แพ้ตั้งแต่วันนั้นแล้ว
  • ผมเคยคิดแม้กระทั่งขับรถสองแถว ขอพ่อแม่แล้ว ... ถ้าพ่อแม่ไม่ท้วงไว้ ผมก็ไปเป็นรถสองแถวไปแล้ว ซื้อรถก็แล้ว คิดว่า ชีวิตนี้ลำบากเหลือเกิน ขับรถสองแถวนี่ละ ง่ายที่สุด สุดท้ายก็โดนบังคับว่า ถ้าไปขับสองแถวนี่ ไม่ให้อยู่บ้านเลย
  • "... เราไม่มีการศึกษา แต่ว่าศึกษาด้านอื่นได้ ศึกษาด้านงานได้ ประสบการณ์เขาสอนได้"
  • จนมาถึง 27, 28 ก็เริ่มจะเป็นตัวตนแล้ว เป็นมาตั้งแต่เซลล์แมน จนกระทั่งหลงทางไปทำงานอยู่บริษัท import เครื่องเก่า สมัยนี้เรียกเชียงกง สมัยโน้น เรียกว่า ผู้ที่นำเครื่องยนต์เก่าเข้ามาในสมัยโน้น จะต้องผ่าน agent เพราะว่าตัวเองไม่มีปัญญานำเข้า เพราะเชียงกง ผมว่า 80-90% เป็นคนจีนหมดเลย
  • เราก็ไปอยู่บริษัท เข้าไปชงน้ำชา ยกเป๊ปซี่ให้ จนเขาบอกว่า เอ้อ ขาดเซลล์พอดี ให้เราไปเป็นเซลล์ ก็โชคดี
  • ได้พบเพื่อน จบมาจากอเมริกา และไม่มีงานทำ แล้วค่อนข้างเป็นเศรษฐี มีตังค์ ก็แนะนำไป "... อ้าว งั้น อยากทำงานอย่างนี้ไหม ก็เป็นเซลล์ ขาย นำเครื่องเก่าเข้ามา" ... ก็ OK ไปลองดู
  • พอเข้าไปปุ๊บเดียวเท่านั้น เขาก็คิดตั้งบริษัทเอง แข่งกันเลย ทำได้ไม่ถึงปี ก็ทำแข่งกัน เอาประสบการณ์ที่เขาเรียนมา และของผมมีประสบการณ์จากไปเอาความรู้จากล่างๆ มา
  • ทำให้เขามีปัญญาติดต่อกับลูกค้าเมืองนอก แต่เราเองถนัดกับในประเทศ ก็ทำส่วนนี้ ผมช่วยเขาทำ ... นายเอาเรื่องตลาดมา และผมก็นำเข้าไปขายลูกค้าเก่าของเรา
  • เจ้านายรู้เข้า รุ่งขึ้นก็เลยตกงานโดยปริยาย
  • พอตกงานแล้ว เพื่อนก็บอกว่า งั้นมาอยู่ด้วยกัน พอมาอยู่ด้วยกันแล้วก็ ขณะที่อยู่ด้วยกัน เขานำเข้า แล้วเราก็ขาย ทีนี้การนำของเข้ามาก็ไม่ใช่ง่าย ได้ของที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ปัญหาก็เริ่มเกิด สั่งเครื่องเข้ามาแทนที่เครื่องดีดี กลับกลายเป็นเครื่องที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ไม่สมประกอบเท่าไร จาก 3 ปี ก็ไปเป็น 5 ปี ลูกค้าก็ค่อยๆ หาย
  • พอค่อยๆ หาย พรรคพวกเพื่อนฝูง ก็ เอ๊ะ คุณทำต่อก็แล้วกัน ผมไม่เอาแล้ว ผมเปลี่ยนอาชีพละ
  • เอาละสิ ยุ่งละ ผมทำคนเดียวภาษาอังกฤษก็ไม่เป็น ไม่กระดิกหู ญี่ปุ่นก็พูดไม่ได้ ... ก็จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องไปถอดมาทีละตัว พิมพ์ดีดเมื่อก่อนใช้พิมพ์ดีด ผมก็แตะทีละตัว ...
  • ทำได้ 4-5 ปี พอดีมารู้จักกับคนญี่ปุ่น ตอนที่นำเครื่องเก่ามาจากญี่ปุ่น เขาก็บอกว่า ทำไมไม่เอาอย่างนี้ล่ะ เรื่องปลาหมึก กำไรดี ไปหาวัตถุดิบมา
  • ก็มาศึกษา กางตำราเลยว่า ใครเป็นคู่แข่งของประเทศติดทะเล ไม่ว่าจะที่ไหน ที่ไหนดี สุดท้ายก็มาเจอที่นี่ ... ก่อนจะไป ตอนนั้นก็เริ่มเป็นไง ผมไม่ไปคนเดียวละ ผมเอาญี่ปุ่นมาตรวจสอบเลย ว่า บ้านนี้เป็นยังไง บ้านนี้เป็นยังไง เขาก็ให้ความสนใจ ว่า สุดท้ายที่บ้านเพดีที่สุด ก็เลยไปปรับตรงนั้น
  • แรกๆ ตังค์ก็ไม่ค่อยมี ... แต่ผมมีพวกที่สัตหีบ เลยพาไปให้รู้จัก ... สมัยก่อนก็ตั้งใจกิน commission เขาอย่างเดียวครับ ไม่ได้ตั้งใจไปทำเองหรอก
  • แต่พอเขาเปิดมา ก็ต้องมีโควต้า ปลาหมึกนี่ บ้านเราถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยครับ ประเทศไทยเรามีดีจริงๆ อยู่ 3-4 แห่ง จะมีดีที่สุด คือ แถวบ้านเพ ระยอง สัตหีบ ไปถึงปากน้ำแกลง ถือว่าดีที่สุด รองลงมาก็ที่หัวหิน ประจวบฯ ชะอำ ริมทะเลแถบนั้นก็ดี สุดท้ายก็ไปใต้เลย ภูเก็ต ปัตตานี หมึกปัตตานี เขาบอกหนา
  • ... คนญี่ปุ่นเป็นคนบอกว่าที่นี่ใช้ได้ครับ เพราะเขาเป็นคนซื้อจากเรา ผมก็เป็นคนพาเขาไปสำรวจ เขารู้เรื่องคุณภาพ พอไปถึง เราก็ให้พรรคพวกทำ หวังไปกินค่า commission ว่า คุณส่งเมื่อไร ผมก็เก็บตังค์
  • ... แต่พอสุดท้าย เอาเข้าจริงๆ ทำไม่ได้ ก็จำเป็นต้องโดดลงไปทำเอง ไปทำเอง ตังค์ก็ไม่มี แล้วอะไรๆ ก็ไม่มี ... ก็ให้ญี่ปุ่นมาช่วยเหลือผมก่อน เปิด LC ให้ก่อน
  • ตอนนั้นเขาก็ไปค้าที่บ้านเพ ไปใหม่ๆ ก็โดนต้มเลย เพราะเราดูไม่เป็น ... มัดจำก่อน 5 แสน ... มัดจำแล้ว ก็จะส่งของมาให้ เอาเข้าจริงๆ ไม่ส่ง ไปตามทีก็ส่งที ส่งมาก็สินค้าที่โรงงานคัดเกรดออกมาแล้วไม่เอา ก็ส่งมาให้เรา เราก็ไม่รู้เรื่อง ก็ส่งต่อ ไป lot แรก หงายเก๋ง หมดตัวเลย ก็บอก ไม่เอาแล้ว เลิก เลิก
  • ... เขาบอกว่า อย่าเลิกเลย ถ้าเลิกคุณไม่มีวันเกิดแล้ว เพราะไม่มีอะไรอีกแล้ว ... ผมจะเปิด LC ให้อีก lot หนึ่ง คุณไปหาทางหาเงิน และเอาตรงนี้กลับมาขายใหม่ แต่มีข้อแม้อยู่ว่า คุณต้องไปทำที่นั่นเลย ไปคัดของกันที่นั่น ป้องกันเขาส่งโรงงานอื่น
  • นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำปลาหมึก ก็เริ่มเป็น ... และคนที่สอนเราก็คือ ชาวบ้านที่นั่น ชาวบ้านเขาจะมีความรู้ว่า อันนี้เกรด A B C เกรด A คือ 200 เกรด B คือ 120 และเกรด C คือ เหลือขายที่บ้านเรา
  • ช่วงนั้น คือ หลังจากที่เขาสอนเรา ค่อยๆ ฝึก ก็เริ่มเป็น ส่งมาทีละนิดๆ ขายดี พอขายดีก็ลูกค้าเพียบเลย รับไม่ไหว LC ทางโน้นก็มา ทางนี้ก็มา สุดท้าย ไม่เอา
  • ถ้าขืนทำยังงี้เราเจ๊งแน่ ถ้าเราโลภมาก ถ้าเอาทุกเจ้าก็ไม่มีวันนี้ละ ก็ไม่เอาละ ก็คุยกันว่าขายเจ้าเดียวยืนยันว่า ผมไม่ขายเจ้าอื่นเลย จนกว่าคุณบอกว่า ไม่ไหวแล้ว ผมพอแล้ว ผมถึงจะไปขายที่อื่น
  • อันนี้คือ สิ่งที่เรายืนอยู่ได้ คือ ความจริงใจ ส่วนหนึ่งด้วย

... นี่ก็คือ คุณชัยรัตน์ทำธุรกิจได้ ด้วยการเรียนรู้ของใหม่ๆ ... รอต่อภาค 2 เรื่อง ส้วมละค่ะ

ทางเข้าถ้ำปลาหมึก เพื่อเยี่ยมชมโรงงานค่ะ

ปลาหมึกหยองจ้า

รวมเรื่อง ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย 2550 

 

หมายเลขบันทึก: 118198เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท