หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

จิตอาสา ดนตรีบำบัด


บรรดาเสียงเพลงราวหนึ่งชั่วโมง มิใช่การเล่นหรือแสดงในแหล่งบันเทิงใด ๆ กระทั่งมิใช่การแสดงเปิดหมวกตามบาทวิถี แต่อยู่ในหอผู้ป่วยชาย ชั้นสองของตึกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

   “นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง...

   ...จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์ สักวันบุญมาชะตาคงมี”

 

   เสียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ผ่านเครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก ดังพอดิบพอดีแว่วมา...

   “พี่ขอเพลงพรานทะเลครับ...”

   เสียงขอเพลงจากผู้ฟังท่านหนึ่งร้องเมื่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” จบลง

   และแล้วบทเพลงพรานทะเลตามคำขอก็บรรเลงขึ้น

   บทเพลงอันไพเราะจับใจนี้ มีเสียงร้องคลอไปกับเสียงดนตรีที่มีต้นกำเนิดจากกีต้าร์โปร่งเพียงตัวเดียวที่บรรเลงในท่วงทำนองเพลงคลาสสิค จากคนร้องและคนเล่นคนเดียวกัน

   บรรดาเสียงเพลงราวหนึ่งชั่วโมง มิใช่การเล่นหรือแสดงในแหล่งบันเทิงใด ๆ กระทั่งมิใช่การแสดงเปิดหมวกตามบาทวิถี แต่อยู่ในหอผู้ป่วยชาย ชั้นสองของตึกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

 

   ก่อนการแสดงดนตรีจะเริ่มต้นขึ้นไม่นานนัก...

   หนึ่งหญิงหนึ่งชายช่วยกันประคับประคองและเข็นรถผู้ป่วยลัดเลาะไปตามทางเดิน จากอาคารโน้นลัดเลาะมาอาคารนี้ จนกระทั่งเข้าไปถึงลิฟท์ในตึกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รถเข็นนี้มิมีร่างผู้ป่วย มิมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่เป็นอุปกรณ์สำหรับการเล่นดนตรี ทั้งกีตาร์โปร่ง เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก แท่นวางโน้ตดนตรี ไมโครโฟนและขาตั้ง กระทั่งกระเป๋าใบโตที่บรรจุหนังสือและโน้ตเพลงอยู่ภายใน

   ที่ว่างด้านในของหอผู้ป่วยชาย ถูดดัดแปลงเป็นสถานที่แสดงดนตรีย่อม ๆ เก้าอี้วางอยู่ติดผนัง ถัดออกมาเป็นขาตั้งไมโครโฟน ที่วางคู่อยู่กับแท่นวางโน้ตเพลง ด้านข้างเก้าอี้มีเครื่องขยายเสียงตั้งอยู่ มีสายไมค์และสายจากกีต้าร์เสียบอยู่

   “รุ่งนภา ศรีดอกไม้” หญิงสาวร่างสะโอดสะองวัยกลางคนคนนั้น แต่งกายด้วยชุดฟอร์มสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เธอคือบุคลากรของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ท่าทางทะมัดทะแมง ช่วยชายคนนั้นผู้ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของเธอเข็นเตียงที่บรรจุอุปกรณ์ดนตรีไปยังจุดหมายอย่างขมักเขม้น

   ชายคู่ชีวิตของเธอคือ “สมศักดิ์ สินธวานนท์” เจ้าของอุปกรณ์ดนตรีบนรถเข็น ซึ่งเขาถูกร้องขอจากพยาบาลท่านหนึ่งในกลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ให้ไปเล่นดนตรีให้ผู้ป่วยในตึกฟัง ทั้งหอผู้ป่วยหญิงและหอผู้ป่วยชายในช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ได้เห็นสมศักดิ์ แสดงเดี่ยวดนตรีในสวนหย่อมที่อยู่ใจกลางโรงพยาบาล ให้ทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เรื่อยไปจนถึงบุคลากรของโรงพยาบาล ฟังเพื่อความเพลิดเพลินผ่อนคลาย ในช่วงสายเรื่อยไปจนถึงเที่ยงของเกือบจะทุกวัน

   สมศักดิ์ เลือกเพลงฟังง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่อึกทึกมาเล่นในการแสดงวันนี้ เสียงเพลงไม่ดังมากนัก จึงไม่เป็นการรบกวนผู้ป่วยที่ต้องการพักผ่อน แต่ก็รื่นเริงบันเทิงใจไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยอีกหลายคนที่ชื่นชอบเสียงเพลง ผู้ป่วยบางคนที่ขยับกายลำบากก็ยังอุตสาห์พลิกตัวเพื่อชมหน้านักดนตรีและฟังเพลงไปพร้อมกัน และคนเดียวกันนี้ที่ร้องขอเพลงพรานทะเล เขาส่งเสียงขอเพลงข้ามเตียงผู้ป่วยคนอื่น ๆ อีกหลายเตียงอย่างลืมเกรงใจ

   ผู้ได้ยินเสียงเพลงยามนี้ หากเป็นนักฟังเพลงหรือใครก็ตามอาจคาดคะเนได้ว่า สมศักดิ์ผู้ร้องและเล่นอยู่ในขณะเดียวกันนี้หากมิใช่นักดนตรีอาชีพ ก็อาจจะเป็นครูสอนดนตรี

   คำตอบที่คาดคะเนนั้นถูกต้องเพียงส่วนเดียว

   สมศักดิ์ สินธวานนท์ เติบโตมาในครอบครัวที่สนใจดนตรี ทุกคนเล่นดนตรี สำหรับเขาทุ่มเทให้กับดนตรีมากกว่าพื่น้องคนอื่น ๆ ในบ้าน เขาเลือกเรียนดนตรีที่สยามกลการตั้งแต่วัยเด็ก และเมื่อเขาอายุยังมิทันจะครบยี่สิบ เขาก็เข้าเป็นครูสอนดนตรีของโรงเรียนดนตรีสยามกลการตามการทาบทามของโรงเรียน

   แม้ฝีไม้ลายมือทางด้านดนตรีของเขาที่เรียกได้ว่าชั้นครู แต่เขาก็มิได้ประกอบอาชีพทางด้านดนตรีนอกเหนือจากการสอนที่ได้รับการทาบทาม และเมื่อเขาเรียนจบก็เข้าทำงานในบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่รายหนึ่ง ไต่เต้าขึ้นมาจนกระทั่งเป็นผู้จัดการสาขา

   ประสบการณ์ทางด้านดนตรีของเขานับว่าน่าสนใจ เนื่องจากเคยร่วมเล่นกับนักดนตรีอาชีพที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศหลายครั้งหลายครา อีกทั้งยังเคยเล่นดนตรีร่วมกับนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่โรงแรมดุสิตธานีด้วย

   เขาใช้ชีวิตหลังลาออกจากงานประจำด้วยการเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ใช้ชีวิตคู่อยู่กับ “รุ่งนภา ศรีดอกไม้” ผู้ประสานงานโครงการ SHA ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ชักชวนเขาไปร่วมกิจกรรมจิตอาสากับทางโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ

   การร่วมกิจกรรมจิตอาสาของเขา ดำเนินการโดยใช้ความสามารถทางดนตรีของตนเอง สมศักดิ์ เชื่อมั่นในศาสตร์ดนตรีว่า เป็นศาสตร์ที่ช่วยในการบำบัดเยียวยา ทั้งคนปกติธรรมดารวมไปถึงผู้ป่วย เขายืนยันความเชื่อมั่นนี้ว่ามาจากการผ่านชีวิตที่ได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตของตนเอง

   สมศักดิ์ เล่าว่า ชีวิตในวัยหนุ่มของเขาค่อนข้างสำมะเลเทเมา ดื่มเหล้าแทบทุกวัน ผลจากพฤติกรรมแย่ ๆ เหล่านั้นส่งผลให้เขาเป็นโรคเบาหวาน ที่มีน้ำตาลในเลือดอยู่ในราว ๒๕๐ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ขึ้น ๆ ลง ๆ เคยขึ้นถึงกว่า ๗๐๐ ก็มี เป็นเช่นนี้อยู่หลายปี

   “ผมเป็นแบบนี้มาหลายปี ถ้าเป็นคอื่นป่านนี้น็อคไปแล้ว...”

   สมศักดิ์เอ่ย... เขาบอกว่าที่เขายังยืนหยัดอยู่ได้ไม่ล้มหมอนนอนเสื่อเพราะเขาเล่นและฟังดนตรี ทุก ๆ ครั้งที่เขาเล่นและฟังดนตรีเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขมาก จึงเป็นที่มาหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นว่า ดนตรีสามารถบำบัดและเยียวยาอาการเจ็บป่วยได้ และเป็นที่มาของการเข้าไปเล่นดนตรีให้ผู้คนในโรงพยาบาลได้ฟัง

 

   สมศักดิ์ เข้าไปเล่นดนตรีในสวนหย่อมของโรงพยาบาลในช่วงสายจนถึงเที่ยงแทบจะทุกวันหากเขาไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือเข้ากรุงเทพฯ ร้านขายอาหารของเขาอยู่หน้าโรงพยาบาลมีผู้ดูแลชนิดที่เขาหมดห่วง เขาจึงให้เวลาเกือบจะทั้งเช้าในการเล่นดนตรีสร้างความรื่นรมย์ให้กับคนทั่วไป รวมทั้งการเยียวยาสำหรับผู้ต้องการไม่ว่าคนเหล่านั้นจะป่วยกายหรือป่วยใจก็ตามที แน่นอนว่าได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากทั้งจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

   หลังจากเขาเข้าไปใกล้ชิดกับโรงพยาบาล เริ่มจากกิจกรรมจิตอาสาของตัวเองแล้ว ก็มีส่วนรับรู้กิจกรรมจิตอาสาในลักษณะอื่น ๆ ภายในโรงพยาบาล เขาชื่นชมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุเป็นพิเศษ จึงได้นำตัวเองไปสมัครเป็นสมาชิกชมรม เป็นเพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์เขาจึงได้เป็นสมาชิกวิสามัญ

   กิจกรรมที่เกิดจากความสามารถของสมศักดิ์ คือ การตั้งชมรมดนตรีโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ซึ่งริเริ่มโดยชมรมผู้สูงอายุ กิจกรรมเริ่มจากการเรียนการสอนดนตรี ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล เขารับสอนดนตรีสากลทุกประเภท เท่าที่มีคนเรียน ตั้งแต่ ร้องเพลง กีตาร์ ไวโอลิน ไปจนถึงสอนอ่านโน้ตเพลง

   การสอนดนตรีสากลเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานนี้ สมศักดิ์ ได้ชักชวนลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาเทคนิคมาเป็นครูผู้ช่วยสอนด้วย เด็กหนุ่มเหล่านี้ราว ๔ คน มาร่วมเป็นครูผู้ช่วยด้วยจิตอาสาอย่างเต็มอกเต็มใจ เนื่องจากการร้องขอของครูของเขา

   สมศักดิ์พบเด็กคนหนึ่งในกลุ่มนี้ ในระหว่างการมาเยี่ยมญาติซึ่งนอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลในขณะที่เด็กหนุ่มคนนี้มาฟังเพลงที่เขากำลังแสดง เด็กหนุ่มคนนี้มีพื้นฐานทางดนตรีมาบ้างและได้ขอเป็นลูกศิษย์ ซึ่งเขาก็รับด้วยความเต็มใจ วันต่อมาเด็กหนุ่มได้ชักชวนเพื่อน ๆ อีกสองสามคนมาเรียนดนตรีกับ “ครูสมศักดิ์” ที่ร้านค้าหน้าโรงพยาบาล วันดีคืนดีเด็กหนุ่มเหล่านี้ก็มาร่วมเล่นดนตรีกับเขาในสวนของโรงพยาบาลด้วย

   สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ดนตรีช่วยบำบัดช่วยเยียวไม่เฉพาะคนเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยเยียวยาให้เป็นคนดีอีกด้วย สมศักดิ์ บอกว่า เด็กหนุ่มที่รับเป็นศิษย์ ก่อนหน้านั้นได้เริ่มถลำเข้าสู่วงจรยาเสพติดแล้ว แต่หลังจากที่มาเรียนดนตรีกับเขา เขาได้ชักชวนเพื่อน ๆ ที่กำลังจะถลำเข้าสู่ยาเสพติดได้หลุดจากวงจรนั้นออกมา

   เด็กหนุ่มที่เกือบจะเสียผู้เสียคนกลายมาเป็นคนจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม ควบคู่กับการใช้เวลาว่างในการฝึกฝนพัฒนาตนเองทางด้านดนตรีที่เป็นความสนใจของตนเอง เป็นผลพวงจาก “ดนตรีบำบัด” นั่นเอง

   และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ จากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

 

หมายเลขบันทึก: 332083เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2010 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ น้องชายคนขยัน

ไม่ส่งข่าวเลยนะว่า ไปพักที่ไหน

พี่ติดตามงานของนายทุกตอนนะ

ขยันเขียนจริงๆ ยาวมากๆ

พี่ไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวแบบนี้มาก่อนเลย

 

  • สวัสดีครับท่านหนานเกียรติและหลานเฌวา
  • กำลังจะกลับบ้าน  แวะมาเยี่ยมเยียนทักทายท่านก่อนครับ
  • สบายดีนะครับ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆนะคะ

ขอชื่นชมคุณสมศํกดิ์และคุณรุ่งนภา

ที่มีจิตอาสา และเป็นตัวอย่างของคนทำความดี

ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จะมีจิตอาสาดนตรี นักร้อง หมอลำ ทุกวันอังคาร นะคะ

พี่เกียรติครับ มาชื่นชมเรื่องดนตรีบำบัด ได้ยินนานแล้วไม่คิดว่าที่โรงพยาบาลจะมีกิจกรรมดีๆๆแบบนี้

อาจารย์มาโรงพยาบาลเรา 2 วัน แต่สามารถเก็บรายละเอียดได้มากกว่าเจี๊ยบที่อยู่กับเขามาตั้งหลายปีอีกนะคะเนี้ย ..นับถือค่ะ..นับถือจริงๆ

บันทึกนี้ พระเอกคือ คุณสมศักดิ์ นางเอกคือ SHA_WanJeab
(คุณหวานเจี้ยบ) น่ารักมากๆครับ

ขอบคุณเพลงเพราะๆ และ ไวโอลินที่บรรเลงจากพี่สมศักดิ์ให้เล่นพวกเราได้ฟังนะครับ :)

เรื่องราวดีๆที่ รพ.เจ้าพระยายมราช ยังมีอีกมาก ...ติดตามตอนต่อไปครับ

สวัสดีค่ะ

  • มีเรื่องดีดี  อย่างนี้ ถือว่าโลกนี้ยังน่าอยู่
  • ดนตรี เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจที่ดี
  • ให้คนที่อ่อนแอ และ หมดกำลังใจ
  • จนเขาสามารถสู้ชีวิตได้  ถือว่าได้บุญมหาศาล
  • ขอบคุณค่ะที่นำเรื่องดีดีมาเล่าให้ฟัง

 

แวะมาเก็บความงดงามจากบันทึกนี้ค่ะ

ขอชื่นชมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • เอาไง ว่าตามกัน  ดีเหมือนกันนะ
  • โรงเรียน ผอ.พิพัฒน์ นั่นแหละ
  • ส่งเสริมคนดีที่ด้อยโอกาส ขาดผักชี พี่คิมชอบค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวที่น่าชื่นชมค่ะ ดนตรีบำบัด ดนตรี จิตอาสา

  • เหนื่อยกันไหมคะ หนุ่ม ๆ เดินทางกันตลอดเวลาแบบนี้
  • หาเวลาพักผ่อนด้วยนะคะ แล้วพบกันค่ะ

พี่หนานคะ พอลล่า ว่า บันทึกนี้ ที่พี่เขียน จะเน้น จิตอาสา

แต่ถ้า Healing Environment ขอให้ชี้ประเด็นไปที่แนวคิดของผู้ให้บริการ คิดอย่างไร จึงนำดนตรี มาเล่น

และความรู้สึก ในมุมมองของคนไข้ และสัมผัสจากพี่

นอกจาก พี่สมศักดิ์ จะเล่นดนตรีได้ไพเราะแล้ว ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ พี่ถ่ายทอด ได้สุดยอดเสมอค่ะ

รับสมัครนักเปียโนจิตอาสาไหมครับ อยากเล่นกับอาจารย์สมศักดิ์ ครับสุดยอดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท