งานมหกรรม R2R ครั้งที่ 4 ; เรื่องเล่าจากคนในเครือข่าย "อุบลศรีโสธรเจริญ"


วันที่สองของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R ซึ่งปีนี้เน้นในเรื่องเครือข่ายอย่างมาก ที่สำคัญเกิดเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ มากมายตามภูมิภาคในประเทศไทย ความเป็นเครือข่ายนี่คือ ความอบอุ่นนะในความรู้สึกของข้าพเจ้า...

ข้าพเจ้าออกจากห้องพักค่อนข้างสาย น้องปัทโทรตามเพื่อแจ้งให้ทราบว่ากำลังเชิญชวนผู้คนเข้าสู่ห้องย่อยแห่งการแลกเปลี่ยนรู้...ระหว่างทางที่เดินเข้าไปในอิมแพคได้เดินผ่านห้องเครือข่ายภาคเหนือซึ่งมีทีมนำอันเข้มแข็งจาก สสจ.แพร่ ... ข้าพเจ้าชอบมากกับการแต่งบรรยากาศหน้าห้องที่มีร่มอันเป็นสัญลักษณ์ของทางภาคเหนือ มีสามสี่ท่านเล่นดนตรีพื้นบ้านทางภาคเหนือพร้อมกับมีน้ำเครื่องดื่มสมุนไพรเย็นๆ หลากหลายไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือน... เห็นแล้วอบอุ่นใจ

เสียงเพลง...พื้นบ้านทางเหนือดังคลอมาตามทาง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มขึ้นหลังจากที่ประธานเครือข่ายแต่ละเครือข่ายได้โปรยเรื่องราวผ่านเวทีใหญ่... "เครือข่ายอุบลศรีโสธร"...ไม่มีขีดจำกัดของคนเข้าฟังคนนอกเครือข่ายต่างหลั่งไหลเข้ามาฟังอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือหรือภาคใต้ น้องเจมส์-organizer ได้เสริมเก้าอี้เพิ่มจนเต็มพื้นที่ในห้อง ...คุณหมออ้อและพี่หน่อย-ศุภลักษณ์ทำหน้าที่เป็น Note Taker และเภสัชจำปีฐานะ Note taker รุ่นพี่ก็มาช่วยกันสามแรงแข็งขัน มองแล้วเป็นภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจ

เครือข่าย "อุบลศรีโสธรเจริญ"...เกิดจากการรวมตัวกันของสี่จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ การรวมตัวภาพแห่งความไม่เป็นทางการก้าวไปสู่ความเป็นทางการ

วิทยากร...จากเครือข่ายหลากหลายท่านได้มาแบ่งปันเรื่องเล่าแห่งสายธารทางปัญญาให้ฟังว่า...

อ.นพ.วิศิษฎ์ สงวนวงศ์วาน ในฐานะประธานเครือข่าย ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาแห่งเส้นทางงานกระจำ สู่การวิจัย...และสืบเนื่องมาถึง R2R เป็นภาพที่ยืนยันถึงความมั่นคงและยั่งยืนของการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานประจำ ... อ.วิศิษฎ์ บอกว่ายังคงเน้นในเรื่องของการพัฒนาคน พัฒนางาน และที่สุดแล้วนำไปสู่การพัฒนาองค์กร "จังหวะและโอกาส" คือ กลยุทธ์สำคัญของการนำมาใช้ เน้นความเป็นพี่เป็นน้อง ชักชวนกันเมื่อโอกาสเหมาะและประกาศใช้คำว่าเครือข่ายอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญท่านบอกว่า แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ อ.หมอประเวศ วะสี ยังสามารถใช้ได้ดีและคงจะยังใช้ต่อไปเป็นฐานรากของการขับเคลื่อน R2R

อ.นพ.ธีรพล เจนวิทยา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต๑๐ มาร่วมแลกเปลี่ยนในทัศนะสั้นๆ หากแต่เฉียบคม ท่านบอกว่าบทบาทของท่าน คือ การมาสนับสนุนคนทำงาน ใครที่มีใจทำงานก็สนับสนุนเขาไปเลย ให้เป็นภาพแบบ "ช่วยเขาทำ" ไม่ใช่การไปสั่งให้เขาทำ อาจารย์ธีรพลพูดสั้นๆ ชัดเจนข้าพเจ้าชอบรอยยิ้มแห่งความเป็นมิตรและท่าทีที่สอดรับถึงทิศทางการขับเคลื่อน R2R ท่านบอกว่า ขณะที่ท่านทำงานอยู่แน่นอนท่านให้การสนับสนุน...คนทำงาน

พี่แป๋ว-คุณชลิยา วามะลุน จากศูนย์มะเร็งจังหวัดอุบลราชธานี บอกเล่าว่าในการพัฒนางานพัฒนาคุณภาพตลอดจนถึงกระบวนการทำการวิจัยของศูนย์มะเร็งนั้นมีมานานแต่ไม่ทราบว่าคือ R2R จนต้องมาย้อนมองและทำความเข้าใจจึงได้ทราบว่าที่ตนเองทำนั้นน่ะไปเข้า Theme R2R

พี่โอ-คุณสมหญิง อุ้มบุญ นำประสบการณ์ของ R2R ตลอดจนเส้นทางการขับเคลื่อน R2R ภายใต้การทำงานในโรงพยาบาลป่าติ้ว จากความเป็นผู้ไม่รู้ทำให้ตนเองไม่ย่อท้อหากแต่บากบั่นพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อการทำ R2R ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว การก้าวย่างของการทำ R2R ดูต่อเนื่องและมั่นคงเพราะเกิดจากที่มุ่งมั่นและทำแบบไม่ปล่อย

เวลาสองชั่วโมงนั้นสั้นมาก แต่อย่างไรก็ตามวิทยากรทั้งสี่ท่านต่างก็มีมุมมองและเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของคุณค่าของการทำ R2R สู่การเพิ่มพูนความสุขในหัวใจคนทำงาน บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าเล็กๆ ของวิทยากรนำมาซึ่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ของผู้ฟังในห้องประชุม

อ.หมอวิศิษฎ์ได้พูดถึงความต่อเนื่อง ทำให้ข้าพเจ้าได้คิดต่อไปอีกว่า "ความต่อเนื่องจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต่อเมื่อวิถีแห่ง R2R นี้ต้องเกิดเป็นวัฒนธรรม" เพราะความเป็นวัฒนธรรมจะทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับกระบวนการนี้ อันเป็นกระบวนการทางปัญญาที่บวกกับความสุข ก็จะนำผู้ไปสู่การพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนาองค์กร และที่สุดแล้วทั้งปวงนั่นคือการพัฒนาชีวิตนั่นเอง

คือความอิ่มเอมใจยิ่งนัก ...ข้าพเจ้าเดินไปชะโงกดูตามห้องเครือข่ายต่างๆ นี่คือภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจที่ต่างพากันทุ่มเทแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ที่ดีดี อันงดงาม

ข้าพเจ้าแวะไปบูทของเครือข่าย ระหว่างนั้นได้เจอกับนักพัฒนางาน R2R เครือข่ายแม่ฮ่องสอนคล้ายกับเราได้รู้จักกันมาเนิ่นนาน ทุกท่านดูอ่อนโยนและนุ่มนวลมากเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้ เป็นสิ่งที่ยินดีมากข้าพเจ้าได้รับการแบ่งปันหนังสือ พอมานั่งอ่านแล้วรู้สึกชื่นชมการพัฒนางานประจำเป็นการพัฒนารูปแบบการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษายาและสารเสพติดในชุมชนพื้นที่สูงของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด แม่ฮ่องสอน ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่ที่นี่นานพอสมควรแต่นั่นก็ทำให้ได้รู้จัก พี่เล็ก-คุณสมศรี  ไชยภารมณ์ที่มีมุมมองที่งดงามต่อวิถีแห่งการงาน

เมื่อวาน(๒๐ กค ๕๔)มีโอกาสได้ทักทายพี่นก-สิรินทิพย์ R2R-Family ต้นแบบ ผู้เคียงข้างเป็นคู่ชีวิตอ.หมอวิศิษฎ์มาตลอด เราได้แลกเปลี่ยนทัศนะในแง่มุมที่ว่า การทำ R2R มักเป็นความสนใจแบบครอบครัว คือ หมายถึงคนหนึ่งทำอีกคนก็มักจะทำด้วย ข้าพเจ้าได้คำตอบต่อเองในขณะที่คุยกับพี่นก...ว่า การทำวิจัยหรือทำ R2R ทำให้บุคคลนั้นมีการแปรเปลี่ยนเป็นผู้ที่ใช้หลักเหตุและผล มากกว่าการใช้อารมณ์ ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและส่งผลต่อบุคคลที่อยู่เคียงข้างพลอยได้รับอิทธิพลของกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลตามไปด้วย ...

ในภาพพี่นกไม่สบาย ต้องนั่งรถเข็ญมาร่วมงานครั้งนี้

ในตัวแทนเครือข่ายและคณะทำงาน R2R ขอให้พี่นกหายไวไวนะคะ

Large_img_0626_resize 
เมื่อกำลังจะเดินไปห้องจูปิเตอร์ ๖-๗ ก็ได้เจอเครือข่าย R2R ปทุมธานี ดีใจที่ได้เจอเพราะนี่เป็นอีกหนึ่งผลงานของคนตัวเล็กๆ หากแต่ปัญหาของงานได้รับการแก้ไข ผ่านวิถีการคิดและความสร้างสรรค์ พี่กุ้ง...เป็นอีกหนึ่งคุณอำนวยที่น่าจับตามอง...เพราะในห้วงแห่งความคิดของพี่กุ้มนั้นไม่เคยที่จะหยุดคิดเรื่อง R2R เลย...

...

๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 450314เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

ผมเป็นชาว...นครชัยบุรินทร์

แต่ตามมาให้กำลังใจ

ชาว...อุบลศรีโสธรเจริญ

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ นะครับ

สำหรับการให้โอกาสผมได้ขึ้นเวที...

คงทำให้อาจารย์ปวดสมองไม่มากก็น้อยนะครับ

555

อ.กะปุ๋ม ปีนี้ได้ไปเยี่ยมชมงาน1 วันเนื่องจากติดเรียนเห็นความเคลื่อนไหวและการเติบโตของคนทำงานตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมปีนี้แปลกตาไปคือมีความคิดเป็นระบบมีแบบแผนดีขึ้นคิดเองทำเป็นในเงื่อนไขที่มีให้ เครือข่ายต่างๆมีความโดดเด่นเฉพาะตัวตามความคิดของพื้นที่ถิ่นฐานลอกเลียนแบบกันไม่ได้แต่อยู่ร่วมกันได้ค่ะ.

อ.กะปุ๋ม ครับ

ผมขอรูปโลโก้ ของเครือข่าย ด้วย

จะทำ ปชส การจัดประชุม ที่ มข.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท