แนวคิดทางปรัชญาเรื่องสัญญาประชาคมต่อพัฒนาการสิทธิมนุษยชน


ดิฉันต้องขอขอบคุณแหล่งความรู้ดีๆ จากหนังสือ"นิติปรัชญา(พิมพ์ครั้งที่ 7: 2548)"ของท่าน"อาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์" และหนังสือเรียน "LA 253 กฎหมายสิทธิมนุษยชน(พิมพ์ครั้งที่ 2: 2524)" ของ"อาจารย์วีระ โลจายะ" ที่เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องปรัชญาทางนิติศาสตร์และสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสัญญาประชาคมที่ถูกยกขึ้นอ้างเสมอเมื่อเกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ผู้ปกครองมีอำนาจไม่จำกัด

1. ความสำคัญของสัญญาประชาคม           

 แนวคิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีรากฐานมาจากกฎหมายธรรมชาติ(Natural Law หรือ Droit Naturel) โดยมีสำนักกฎหมายธรรมชาติได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเพื่อจำกัดอำนาจรัฐที่ไม่มีขอบเขต กล่าวคือ กฎหมายธรรมชาติมีฐานะ เหนือรัฐ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมายธรรมชาติ และบัญญัติกฎหมายขึ้น (Positive Law) ให้สอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติ มิฉะนั้น กฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นย่อมไร้สภาพบังคับ              

  เหตุที่เราต้องเข้าใจเรื่องสัญญาประชาคม เนื่องจากสัญญาประชาคมรูปแบบต่างๆ ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้ มีอิทธิพลสำคัญในการนำแนวคิดกฎหมายธรรมชาติและสิทธิธรรมชาตินั้นไปสร้างแนวคิดปฏิวัติเพื่อจำกัดอำนาจรัฐที่ไร้ขอบเขตและสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนผู้ใต้ปกครองได้รับความคุ้มครองความมั่งคงและปลอดภัยในชีวิต อนามัย และทรัพย์สินอย่างเพียงพอ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องประโยชน์หรือความชอบธรรมที่มนุษย์พึงมีพึงได้ จะเห็นได้จากการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นย่างก้าวแรกสู่สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน 

2. นักปรัชญาคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดสัญญาประชาคม           

 นักปรัชญาคนสำคัญบุคคลแรกที่ก่อให้เกิดแนวคิดเรื่องสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ สัญญาประชาคม และสิทธิมนุษยชนคือ

 Hugo Grotius (ค.ศ.1583-1645)Grotius ได้ให้คำอธิบายคำว่า สภาวะตามธรรมชาติว่า ธรรมชาติของมนุษย์อยู่อย่างอิสระไม่ขึ้นกับอำนาจใด แต่เหตุที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เนื่องจากต้องการพ้นจากสภาวะตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ใคร่สังคม จึงได้ทำความตกลงระหว่างกันขึ้นเพื่อก่อตั้ง สังคม เรียกความตกลงนี้ว่า สัญญาประชาคม (Social Contract)

Grotiusได้อธิบายว่า รัฐนั้นเกิดขึ้นจากอิสระชนทั้งหลายได้เข้าร่วมทำความตกลงกันเพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยประชาชนโอนอำนาจสูงสุดให้แก่ผู้ถืออำนาจปกครองทั้งหมด จึงถือว่าผู้ปกครองได้มาซึ่งอำนาจปกครองเสมอกับเป็นสมบัติส่วนตน ดังนั้นผู้ปกครองจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของสิ่งใด ยกเว้นแต่กฎหมายธรรมชาติและกฎหมายนานาชาติ หากผู้ปกครองใช้อำนาจโดยมิชอบแล้ว(ระดับปกติ) ผู้ใต้ปกครองย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะต่อต้านผู้ปกครอง แต่หากผู้ปกครองให้อำนาจโดยมิชอบถึงขนาดแล้ว หรือเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายสังคมอย่างชัดแจ้ง ผู้ใต้ปกครองมีสิทธิต่อต้านผู้ปกครองได้

นอกจากนี้ Grotius ยังเป็นบิดาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเขาได้เรียกว่า กฎหมายนานาชาติ(Jus Gentium) โดยอธิบายว่ากฎหมายนานาชาติ ประกอบด้วยกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ได้รับการยอมรับนับถือกันจากชาติส่วนใหญ่และมีรากฐานมาจากกฎหมายธรรมชาติ และที่สำคัญเขาได้วางรากฐานเกี่ยวกับ กฎหมายว่าด้วยสงครามและสันติภาพ จากตำรา “De Belli ac Pacis” ค.ศ. 1625 วางหลักว่า การก่อสงครามของรัฐนั้นจะต้องมาจากเหตุที่ชอบธรรม(Just War) นั้นคือสิทธิป้องกันตนเอง โดยหลักสงครามที่เป็นธรรมดังกล่าวนี้ เขานำมาจากหลักกฎหมายโรมันเรื่องป้องกันนั่นเอง

แนวคิดของ Hugo Grotius จึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ก่อให้เกิดสัญญาประชาคมอีก 3 รูปแบบ ของนักกฎหมายธรรมชาติ 3 ท่าน ได้แก่

1. Thomas Hobbes แนวคิดสัญญาสวามิภักดิ์(Pactum Subjectiones)

2. John Locke  แนวคิดสัญญาสหภาพ(Pactum Unionis)

3. Jean Jacque Rousseau (ตอนต้นเป็น Locke บั้นปลาย เป็น Hobbes)  

1. แนวคิดของ Thomas Hobbes (1588-1679)

1.1 การมองสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์

มองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วช้า เห็นแก่ตัว และเลวทรามโหดร้าย ดังนั้นมนุษย์จึงต้องเผชิญหน้ากับความเกลียดชัง ความกลัว และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งต้องทำสงครามเพื่อเข่มเหงและแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา  และที่สำคัญยังเห็นว่ามนุษย์ไร้ศีลธรรม  ไม่มีความผิด ชอบ ชั่ว ดี และไม่มีกฎหมาย กล่าวคือทุกคนมีสิทธิเหนือทุกสิ่ง ด้วยเหตุดังกล่าว มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรักษาเอาตัวรอดด้วยการใช้กำลังหรืออำนาจของตนเข้าต่อสู้ หรือ ต่อต้านบุคคลอื่นที่เข้ามาละเมิดตน ดังนั้นมนุษย์แต่ละคนจึงสามารถเป็นผู้กำหนดมาตรการสำหรับผลประโยชน์ส่วนตนได้(รากฐานมาจากมนุษย์เป็นผู้มีปัญญาอย่างสมบูรณ์ มิใช่พระเจ้า)

1.2 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม: สัญญาสวามิภักดิ์ (Pactum Subjectiones) 

มองว่าเป็นสัญญาที่มนุษย์ในสังคมทำกับรัฐ(ผู้รับมอบอำนาจ) แบ่งเนื้อหาได้สองส่วนดังนี้    

 (1)สัญญาเพื่อหลีกหนีสภาวะตามธรรมชาติ กล่าวคือ แม้ว่ามนุษย์จะมีอิสระและเสรีภาพตามธรรมชาติ แต่มนุษย์ที่แข็งแรงในสังคมเท่านั้นที่สามารถใช้สิ่งดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมถูกกดขี่จากคนที่แข็งแรงกว่า จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันเป็นเป็นสังคมของมนุษย์ ทำความตกลงเป็นพันธมิตรกัน สร้างหลักประกันที่เพียงพอให้มนุษย์ไม่ว่าแข็งแรงหรืออ่อนแออยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข เพื่อหลีกหนีสภาวะธรรมชาติของมนุษย์นั่นคือการทะเลาะวิวาทและการทำสงคราม    

(2)สัญญาที่ทำขึ้นเพื่อมอบอำนาจและสิทธิ์ขาดแก่ผู้ปกครองหรือรัฐเป็นผู้บังคับบัญชามนุษย์ทั้งปวง กล่าวคือมนุษย์มอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่บุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งที่เรียกว่า รัฐหรือองค์อธิปัตย์  ก่อให้เกิดสิทธิในการวางกฎเกณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบสุขของรัฐ นั่นคือ กฎหมาย เพื่อกำหนดว่าสิ่งใดผิด ถูก และบังคับกับประชาชนผู้ใต้ปกครอง และกฎหมายที่ออกโดยองค์อธิปัตย์นั้นประชาชนไม่อาจโต้แย้งหรือทัดทานได้ เนื่องจาก ประชาชนเป็นผู้มอบอำนาจและสิทธิทั้งปวงแก่รัฐอย่างเด็ดขาดในการบัญญัติกฎหมาย เสมอกับประชาชาชนได้ตรากฎหมายด้วยตนเอง ดังนั้นกฎหมายต้องชอบธรรมเสมอและต้องยอมรับโดยไม่อาจโต้แย้งได้ ตามหลักที่ว่า ไม่มีผู้ใดบัญญัติกฎหมายให้ไม่เป็นธรรมแก่ตนเอง

1.3 ผลของแนวคิด     

(1)ทัศนะต่อการเมืองการปกครอง การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือสิทธิหรืออำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ผู้ปกครองหรือองค์อธิปัตย์ และยืนยันว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ทำให้อำนาจของผู้ปกครองไม่มีขอบเขต และเป็นรากฐานของสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism)     

(2)ทัศนะต่อกฎหมาย คือ กฎหมายที่ออกมาโดยรัฐนั้นไม่อาจมีกฎหมายใดที่ไม่ยุติธรรมได้ (เหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1.2 ในข้อย่อยที่ (2))              

2.แนวคิดของ John Locke (1632-1704)

มีความสำคัญมากในการปฏิวัติการเมืองการปกครองของอเมริกาแลฝรั่งเศส                    

 2.1 การมองสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดีรักสันติและความเสมอภาค โดยมนุษย์ทุกคนรู้จักกฎหมายธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เคารพความเสมอภาคและอิสรภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองที่จะเลือกกระทำการได้ภายใต้กฎหมายธรรมชาติ และไม่มีใครมีสิทธิหรืออำนาจเหนือกว่าใคร อย่างไรก็ตามมนุษย์นั้นก็มีสภาวะที่รักสันติและมีเจตนาดีต่อกัน และถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ โดย Locke ให้เหตุผลว่า สภาวะตามธรรมชาติมีกฎแห่งธรรมชาติควบคุมอยู่ ซึ่งผูกพันมนุษย์ทุกน และเป็นเหตุที่กำหนดว่า มนุษย์ทั้งปวง มีความเสมอภาคกัน และมีอิสระอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่มีผู้ใดละเมิดหรือทำอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ อิสรภาพ และทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ย่อมมีอำนาจบังคับการตามสิทธิของตนในการลงโทษผู้ที่มากระทบสิทธิของตนได้ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่าการป้องกันตัวด้วยกำลังของตนเอง  การลงโทษลักษณะนี้เรียกว่า ความยุติธรรมส่วนบุคคล”(La justice privée) หรือเรียกว่า การแก้แค้นของฝ่ายผู้เสียหาย เนื่องจากการละเมิดสิทธิตามธรรมชาตินี้ไม่มีสภาพบังคับหรือการลงโทษผู้ล่วงละเมิด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการลงโทษด้วยตนเอง จึงขาดความแน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับความยุติธรรมส่วนบุคคล และมักจะมีการกระทำเกินขอบเขตและกระทบกระทั่งสิทธิของบุคคลอื่นเสมอ ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากการแก้แค้นเกินสมควรแก่เหตุด้วย ดังนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยที่อยู่ในสภาวะตามธรรมชาติมนุษย์จึงเข้าทำสัญญาร่วมกันเป็นสังคมและก่อตั้งรัฐาธิปัตย์ขึ้นเพื่อรักษาความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยในรูปของสัญญาประชาคม(Social Contract) ในการประกันสิทธิและความมั่นคงตามธรรมชาติ เหตุผลที่สำคัญที่มนุษย์ยอมสละสภาวะตามธรรมชาติดังกล่าวเนื่องด้วย           

1) สภาวะตามธรรมชาติขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ลงโทษผู้ละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่น           

2)สภาวะตามธรรมชาติองค์กรที่กระทำหน้าที่คุ้มครองในลักษณะที่เป็นการป้องกันมิให้สิทธิในร่างกายและทรัพย์สินถูกล่วงละเมิด                กล่าวโดยสรุปคือ มนุษย์ก่อตั้งเป็นสังคมและก่อตั้งองค์อธิปัตย์ขึ้นเพื่อจัดระเบียบทางการเมืองประกันความมั่นคงตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง2.2 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม: สัญญาสหภาพ (Pactum Unionis)           

Locke ได้ให้นิยาม สัญญาประชาคม ว่าหมายถึงการที่สมาชิกคือมนุษย์ที่อยู่ในสังคมยอมสละสิทธิที่จะป้องกันตนเองจาการล่วงละเมิดกฎธรรมชาติ และยอมรับที่จะตกอยู่ภายใต้อำนาจหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้ปราบปรามและลงโทษผู้กระทำการล่วงละเมิดต่อกฎหมายธรรมชาติ             นอกจากนี้ Locke อธิบายต่อไปว่า รัฐหรือองค์อธิปัตย์มีอำนาจจำกัด เพราะอำนาจของรัฐเกิดจากสัญญา ซึ่งย่อมเป็นอำนาจที่จะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมหรือประชาคมที่ว่าธำรงไว้ซึ่งความดีร่วมกัน(Common Good)ในเรื่องหลักประกันความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน รัฐจึงมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม ดังนั้นประชาชนยังคงสงวนสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ไว้ เนื่องจากประชาชนเพียงแต่โอนอำนาจบังคับการตามกฎหมายธรรมชาติให้แก่รัฐที่จัดตั้งขึ้นตามสัญญาเท่านั้น จึงเรียกสัญญาประชาคมแบบนี้ว่า สัญญาสหภาพ(Pactum Unionis) ซึ่งทำให้สัญญาประชาคมของ Locke ต่างจาก Hobbes ในสาระสำคัญในเรื่องอำนาจรัฐ กล่าวคือ Hobbes จะเป็นสัญญาสวามิภักดิ์(Pactum Subjectionis) ที่ประชาชนโอนอำนาจทั้งปวงของตนให้แก่รัฐ รัฐจึงมีหรือใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต ทั้งยังเป็นรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จด้วย            

 อย่างไรก็ตามหากเมื่อใดรัฐฝ่าฝืนหรือทำลายเสรีภาพ ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนอันเป็นเป้าหมายหลังในการทำสัญญาประชาคม การกระทำของรัฐย่อมเป็นการทำลายความไว้วางใจของประชาชนตามสัญญา คือฝ่าฝืนเงื่อนไขสำคัญแห่งอำนาจของรัฐ ดังนั้นประชาชนมีสิทธิล้มล้างหรือปฏิวัติรัฐบาลได้ เนื่องจากอำนาจต่างๆที่มอบให้รัฐเป็นของประชาชน หากรัฐใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่เป็นธรรมแล้ว ประชาชนมีสิทธิเรียกอำนาจตนคืนมาก็ได้             นอกจากนี้ Locke ยังเสนอทางป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐโดยการแบ่งแยกอำนาจ คือ ควรจะมีการถ่วงดุลอำนาจรัฐไว้มิให้อยู่ในมือคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว โดยเฉพาะผู้มีอำนาจตรากฎหมาย ไม่ควรให้มีอำนาจบังคับการตามกฎหมายอยู่ในมือ มิเช่นนั้นผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายย่อมกำหนดข้อยกเว้นหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และอาจขัดต่อเป้าหมายของสังคม กล่าวคือกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนรวมนั่นเอง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับความการแบ่งแยกอำนาจและควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น Montesquieu เป็นผู้ขยายความต่อมา               

2.3 ผลของแนวคิด           

 แนวคิดของ Locke มีส่วนพัฒนาสิทธิมนุษยชน 2 ประการได้แก่           

(1) รัฐอำนาจจำกัดเพื่อความมุ่งหมายในการธำรงไว้ซึ่งความดีร่วมกัน(The Common Good) อันได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน รัฐจึงไม่อาจใช้อำนาจละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่อาจจำหน่ายจ่ายโดนได้ (Unalienable Rights) สิทธิทั้งสามประการข้างต้น เป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิด และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ในระดับระหว่างประเทศ           

(2) หลักแบ่งแยกอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญของอเมริกา และหลักการของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสซึ่งให้หลักการแบ่งแยกอำนาจไม่อาจแบ่งแยกได้จากการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย            

 3. Jean Jacque Rousseau (1712-1778) 

3.1 การมองสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์

Rousseau มองว่าธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์นั้นมีความดีบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนเห็นแก่ตัว คนเอารัดเอาเปรียบ คนมีน้ำใจ หรือจิตใจสูง และเห็นว่ามนุษย์ไม่มีความมั่นคงในชีวิตและเสรีภาพ คือไม่มีหลักประกันที่แน่นอน การมีหลักประกันที่แน่นอนได้นั้นต้องมีการทำสัญญาประชาคม (จะเห็นได้ว่าแนวคิดตั้งต้นคล้ายกับ Locke ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์)

และที่สำคัญเขาเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความสุขและมีความต้องการที่จะแสวงหาความสุขตามธรรมชาติ เพราะเขามีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็อาจจะเป็นเหยื่อของความทะเยอทะยาน ความอิจฉาริษยา การแก่งแย่งชิงดีกันและความยากจน ก็อาจเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทกันซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ Rousseau ยังให้เหตุผลว่าธรรมชาติมนุษย์นั้นรักอิสระกล่าวคือมีเสรีภาพที่จะไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่นและไม่มีสิทธิบังคับบัญชาผู้อื่น

3.2 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม

ภาวที่มนุษย์ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและเสรีภาพ มนุษย์จึงต้องทำสัญญาประชาคม โดยยอมสละสิทธิและเสรีภาพที่ตนมีอยู่ไม่จำกัดตามธรรมชาติ แล้วยอมรับสภาพที่มีสิทธิเสรีภาพที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายเพื่อก่อตั้งองค์อธิปัตย์หรือรัฐ  รัฐนี้เองเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุด และรัฐก็มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของทุกคน อย่างไรก็ตามรัฐที่เกิดขึ้นนี้ประชาชนทุกคนควรจะมีเสรีภาพอยู่เพราะไม่ได้โอนสิทธิและเสรีภาพให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการโอนให้แก่ส่วนรวม ประชาชนจึงมิได้สูญเสียสิทธิเสรีภาพของตนไปแก่ผู้ใดกล่าวคือ อำนาจปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ผู้ใต้อำนาจปกครองคือประชาชน การแสดงเจตนาของประชาชนในสังคมในการทำสัญญาประชาคมเรียกว่า General  Will” หรือเจตจำนงทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องแสดงออกถึงความคิดเห็น ความต้องการส่วนรวม และแสดงถึงอำนาจรัฐที่ชอบธรรม ดังนั้นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากรัฐจึงเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปนั่นเอง ดังนั้นการยอมสละเสรีภาพตามธรรมชาติที่ไม่จำกัดและยอมอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยถูกจำกัดเสรีภาพโดยกฎหมายซึ่งก็คือการที่ประชาชนยอมปฏิบัติตามเจตจำนงทั่วไปอันเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับที่ตนมีส่วนก่อตั้งขึ้น             เจตจำนงทั่วไปนั้นมาจากประชาชนที่เป็นสมาชิกในประชาคมลงคะแนนเพื่อแดงความเห็นและความต้องการของตนเพื่อเจตจำนงทั่วไป หากมีความเห็นที่แตกต่างกัน เจตจำนงร่วมย่อมพิจารณาจากเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อยย่อมต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมาก เนื่องจากการปฏิบัติตามเสียงข้างมากแท้จริงแล้วก็คือการการปฏิบัติตามเจตนาที่แท้จริงของตนด้วยนั่นเอง แม้ว่าตนจะมีความเห็นต่างออกไปก็ถือว่าสำคัญผิดไป เจตจำนงทั่วไปจึงเปรียบเสมือนการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้อำนาจการปกครองตามเจตจำนงทั่วไปนี้จึงเป็นอำนาจไม่จำกัด เพราะเป็นสิ่งที่มาจากเจตนาที่แท้จริงของประชาชนทุกคนและย่อมเป็นประโยชน์ของทุกคน           

อย่างไรก็ตามแม้ว่า Rousseau จะคัดค้านทฤษฎีสัญญาสวามิภักดิ์ของ Hobbes ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่รัฐ และความคิดของ Rousseau นี้ตั้งขึ้นเพื่อคัดค้านอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยนั้น โดยเขาได้ยืนยันหลักการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน แต่ยิ่งเพิ่มอำนาจไม่จำกัดให้แก่รัฐสมัยใหม่ กล่าวคือ เมื่อรัฐคือประชาชน และประชาชนคือรัฐ ดังนั้นรัฐจะบังคับอย่างไรประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นไปตามความต้องการหรือเจตจำนงทั่วไปของตนโดยแท้ จึงกลับไปสู่แนวคิดของ Hobbes อันเป็นสัญญาสวามิภักดิ์อันเป็นลัทธิเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเพราะเป็นการส่งเสริมอำนาจรัฐอันไม่จำกัด ส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่คล้ายแนวคิดของ Hobbes นั้นเองคือรัฐมีอำนาจไร้ขอบเขตนั้นเอง           

 3.3 ผลของแนวคิด                 

(1) ระบอบการปกครองประชาธิปไตยทางตรง กล่าวคือ ประชาชนแต่ละคนมีส่วนในการสร้างเจตจำนงทั่วไปด้วยตนเอง ประชาชนจึงมีหน้าที่ต้องเคารพและปฏิบัติตามเจตจำนงทั่วไปดังกล่าว                 

(2) หลักการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน เนื่องจากรัฐคือประชาชน และประชาชนคือรัฐ             

จากแนวคิดข้างต้นของนักปราชญ์แห่งสำนักกฎหมายธรรมชาติ ท่านคิดว่าประเทศไทยของเรานั้นใช้สัญญาประชาคมรูปแบบใด?? ดิฉันคิดว่าท่านคงทราบคำตอบในใจแล้วค่ะ….. 

หมายเลขบันทึก: 94596เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ผมสนใจกฎหมายธรรมชาติ และนิติปรัชญาเช่นกันครับ

         ขอบคุณนะครับที่นำบทความมาเป็นการได้ศึกษาเพิ่มไปอีก

อาจารย์ดวงเด่น....

เข้ามาเยี่ยม... (ไม่เจออาจารย์นานแล้ว)

ขอแสดงความเห็นต่างเล็กน้อย...

สัญญาประชาคม น่าจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือความจำเป็นพื้นฐานของสังคมนั้นๆ ที่เรียกว่า บริบท ... แต่กฎหมายธรรมชาติยึดถือความเสมอภาคของกฎธรรมชาติ และพยายามที่จะเลียนแบบมาจากกฎธรรมชาติเป็นสำคัญ...

ดังนั้น สัญญาประชาคม น่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสำนักประวัติศาสตร์มากกว่า ... กล่าวคือ เมื่อสำนักประวัติศาสตร์ยึดถือว่า กฎหมายเกิดจากความต้องการของคนในสังคมนั้นๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาการมาเป็นกฎหมายเพื่อต้องสนองคนในสังคม.....

เจริญพร

  • ขอบคุณ

P
  • ยินดีที่เป็นคนหนึ่งที่นำความรู้ดีๆมาเผยแพร่กันค่ะ

 

P
  • กราบขอบคุณพระคุณเจ้าค่ะที่ร่วมแสดงทัศนะค่ะ

ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับข้อมูลที่ให้มามีประโยชน์ต่อรายงานมากๆค่ะ

    • ประกาศ ประกาศ
    • คุณดวงเด่น หายไปนานมากๆๆ
    • เพื่อนๆๆพี่ๆน้องๆๆคิดถึง
    • กลับมาได้แล้วครับผม
    • ขอบคุณครับ
โชคดีปีใหม่  ขอให้มีความสุขมากๆครับ

ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

หวัดีคะ

 

 

หนูกำลังเรียนเรื่องนี้อยู่เลย

 

อยากทราบว่า

 

สัญญาสวามิภัคดิ์

 

มีกี่ฉบับค่ะ

 

 

แต่ละฉบับมีความสำคัญอย่างไรคะ

ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆๆค่ะสำหรับข้อมูล

ขอบคุณมากๆ ค่ะที่เป็นประโยชน์กับทุกท่านค่ะ

ขอบคุงมากนะคับอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์ดวงเด่น

ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ประเทศไทยของเรานั้นใช้สัญญาประชาคมรูปแบบใด??เพราะอะไร...

ขอบคุณครับ ...กิ่ง

ขอบคุณค่ะ อาจารย์สำหรับคำแนะนำ และข้อมูลดีๆคร้าาาาาา ^^

ขอบคุณมากค่ะ เนื้อหาสาระดี กระชับ ครอบคลุมดีค่ะ

ไพรวัลย์ โพธิ์สุวรรณ์

ผมอยากได้ ว่ายกตัวอย่างสัญญาประชาคมให้ผมหน่อย เช่น หมู่บ้านตัวอย่างอะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท