แผ่นดินไหว อินเทอร์เน็ตคับคั่ง


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ใกล้ไต้หวัน เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งวิ่งผ่านจากสิงค์ไปร์ แวะฮ่องกง อ้อมผ่านตอนใต้ของไต้หวัน เพื่อไปญี่ปุ่น และจะข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคจากญี่ปุ่นไปสหรัฐอเมริกา

เส้นทางเคเบิลใต้น้ำที่วิ่งผ่านไต้หวันนี้ เป็นระยะทางที่สั้นที่สุดที่ผ่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทุกจุด จากสิงคโปร์ไปญี่ปุ่น บริษัทโทรคมนาคมที่วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ ต่างใช้เส้นทางนี้ เนื่องจากมีระยะสั้นที่สุด ทำให้ต้นทุนวงจรต่ำสุด และยังผ่านจุดที่มีความต้องการใช้สูงที่สุดด้วย แต่หากดูจากความหนาแน่นของเคเบิลใต้น้ำ จะพบว่าเคเบิ้ลเหล่านี้ ไม่ได้กระจายตัวกันอย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้งโลก และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ปลายหนึ่ง โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง และมีการเชื่อมต่อไปยุโรปเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเคเบิลใต้น้ำแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้/เอเซียตะวันออกเหล่านี้ แม้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกันเนื่องจากวิ่งผ่านบริเวณที่มีความอ่อนไหวทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิค และแผ่นเอเซีย แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เมื่อปล่อยพลังงานออกมา ก็เกิดเป็นแผ่นดินไหวและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวงจรเคเบิ้ลใต้น้ำ ซึ่งวางอยู่เหนือพื้นทะเล 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ใกล้ไต้หวัน เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเคเบิลใต้น้ำ ทำให้เกิดความชะงักงันในเรื่องของการสื่อสารไปทั่วเอเซีย ทั้งโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย

เมื่อเกิดเหตุการณ์เคเบิลใต้น้ำเสียหายนั้น การสื่อสารทั่วทั้งเอเซียเสียหายไปด้วย และเกิดความต้องการวงจรสำรองเพื่อเชื่อมต่อไปทางยุโรปมากขึ้นทันที เมื่อดูจากแผนที่แล้ว จะพบว่าวงจรที่ไปยังยุโรปเป็นเพียงเส้นทางเล็กๆ ไม่มีทางที่จะรองรับแบนด์วิธที่เสียหายไปได้เลย เพราะทุกประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเซียใต้ มองไปทางยุโรปเหมือนกันหมด

ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลทุติยภูมิ ได้มาจากการที่เพื่อนร่วมงานไปคุยกันผู้รับผิดชอบโดยตรงของ บมจ. กสท.โทรคมนาคม

  • เคเบิลขาด 6 เส้น ซึ่งเป็นปริมาณแบนด์วิธมหาศาล (จดหมายชี้แจงจาก กสท.: เคเบิลที่เสียหายคือ APCN, APCN2, SEA-ME-WE3, China-US, Tyco และ C2C)
  • แต่ละเส้นไม่ได้ขาดจุดเดียว บางเส้นขาด 3 จุด (ไม่รู้ว่ารู้ได้ยังไง)
  • จุดที่ขาด ไม่ได้ขาดเฉพาะแถวไต้หวัน แต่แถวเกาหลี ญี่ปุ่นก็กระทบไปด้วย
  • การซ่อมแซม ต้องใช้เรือออกทะเลลึกออกไปซ่อม (ข่าว: จุดที่เสียอยู่ลึก 10,800 ฟุต หรือกว่า 3 กม. ซึ่งลึกเกินกว่าจะใช้เรือดำน้ำลงไปซ่อม ต้องใช้วิธีลากเคเบิลขึ้นมาซ่อมบนเรือ)
  • เรือที่ซ่อมเคเบิล อยู่แถวนี้ 3 ลำ แต่ลำหนึ่งกำลังทำงานอื่นอยู่ (ข่าว: เรือสัญชาติญี่ปุ่นมาถึงไต้หวันเมื่อวาน เรือสัญชาติอังกฤษน่าจะถึงวันนี้)
  • ก่อนเรือจะออกไปซ่อม จะต้องแน่ใจว่าไม่มี after shock และต้องจัดคิวงานก่อน
  • เนื่องจากจุดที่เคเบิลเสีย กระจายอยู่ในหลายประเทศ การซ่อมแซมจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) ก่อน  แต่ละประเทศใช้เวลาในการขอใบอนุญาตทำงานไม่เท่ากัน
  • กสท. พยายามหาวงจร STM4 (622 Mbps) ไปทางยุโรป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และหาดาวเทียมมาเสริมด้วย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากแบนด์วิธที่วิ่งไปทางไต้หวันที่หายไป มีขนาดใหญ่โตมาก (จดหมายชี้แจงจาก กสท.: แบนด์วิธของเมืองไทยหายไป 5000 Mbps)

"เคเบิลขาดครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะขาดการติดต่อทั้งหมด เพียงแต่เกิดความคับคั่งเหมือนเลนจราจรหายไปหลายเลน ทำให้รถวิ่งไม่สะดวกมากกว่า ซึ่งหากเราเข้าใจสถานการณ์และพยายามปรับตัว ก็น่าจะทำให้บรรเทาลงได้ค่ะ" -- เพื่อนร่วมงานกล่าวในรายงาน

ตอนนี้ แม้มีเงินก็ไม่สามารถหาวงจรมาเพิ่มได้ การเปิดเกตเวย์ไปต่างประเทศเพิ่มในขณะนี้ ไม่ได้เป็นการช่วยอะไรเลย

ที่เขียนบล๊อกนี้ก็เพราะรู้สึกไม่ชอบที่ข่าวต่างๆ (1) ไม่ได้ชี้แจงให้ผู้ใช้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง ทำให้เกิดความคาดหวังผิดๆ และรังแต่จะทำให้เกิดความผิดหวัง (2) เป็นการพยายามหาทางแก้ไขที่ปลายเหตุ

คำสำคัญ (Tags): #อินเทอร์เน็ต
หมายเลขบันทึก: 70931เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เข้าใจและเห็นใจครับ

ที่จริงแล้วคำอธิบายของ Conductor ที่อุปมาเหมือนจราจรที่ต้องปิดซ่อมไปหลายเลนก็ต้องทำให้รถวิ่งติดขัดเป็นธรรมดา อีกทั้งการซ่อมก็ไม่ได้อยู่ในประเทศเรา เราก็ต้องรอกันหน่อย

ดีกว่าให้ข้อมูลผิดๆ แก่ผู้ใช้แล้วเกิดความคาดหวังแล้วก็ผิดหวังครับ

ผมเชื่อว่าคนทำงาน ได้พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่แล้วครับ จึงไม่อยากให้ตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่มีโอกาสได้ชี้แจง ก็เลยนำเรื่องที่พอรู้มาอธิบายให้

ว่างๆ จะมาเขียนวิธีบรรเทาปัญหาสำหรับผู้ใช้เพิ่ม

แต่ทาง กสท.โทรคมนาคมเอง ก็ควรปรับวิธีแถลงข่าวได้แล้ว อย่าใช้วิธีพูดสดเลย เขียน fact sheet ให้นักข่าวจะดีกว่า เพื่อที่ข้อมูลสำคัญจะได้สื่อถึงผู้บริโภคไม่ผิดเพี้ยนไป

ผมใช้ Instant Messaging ของ MSN กับ Yahoo เป็นประจำทั่งใช้ในงานและส่วนตัว ไอ้ส่วนตัวคงพอทนได้ แต่เราดันไปใช้ติดต่องานนี่หละยุ่งครับ แม้ว่าเราจะติดต่อกับคนไทยด้วยกันแค่ข้ามโซนข้ามชั้น หรือข้ามตึกก็ลำบากแล้ว เมื่อไหร่จะเปิด public IM แห่งชาติซักทีอะครับ

อดใจรออีกนิดครับ กำลังทดสอบอยู่หลายอย่าง

แม้ไม่ใช่ IM แห่งชาติ แต่ที่เห็นตอนนี้คือ เชื่อม IM หลักๆได้หมดทุกค่าย ไม่เสีย contact เก่า แล้วยังคุยข้ามค่าย IM ได้ด้วย เครื่องแม่ข่ายอยู่ในเมืองไทยหมด ใช้ได้ทุกเครือข่าย ทุกองค์กร ทุกไอเอสพี แล้วฟรีด้วย

คือว่าเมืองไทยมีหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนทำกัน

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อที่ชมรมโฮสติ้งค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติมครับ

กสท.โทรคมนาคม พยายามจะเพิ่มวงจร 2.5 Gbps ไปอังกฤษในช่วงปลายสัปดาห์นี้ และเพิ่มอีก 2.5 Gbps ไปอิตาลีในช่วงสัปดาห์หน้า

ดังนั้น แบนด์วิธที่หายไปจากเหตุแผ่นดินไหว ก็อาจได้กลับคืนมา แม้ว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่อยู่อเมริกาจะไม่ได้ความเร็วแบบเดิม เพราะจะต้องอ้อมผ่านยุโรปไป แต่ก็ยังดีกว่าความคับคั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ กสท.ที่ได้พยายามบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น

วันนี้ วงจรระหว่างประเทศเร็วขึ้นประมาณ 25% ดูท่าว่าวงจร 2.5 Gbps ที่ไปอังกฤษอาจจะเริ่มใช้ได้ เว็บของอังกฤษดูเร็วดี ลอง ping www.bbc.co.uk ดูได้ผลประมาณ 300 ms ไม่มี packet loss

บทความฝรั่งเขียนเกี่ยวกับความเสียหายของระบบเคเบิลใต้น้ำทั้งหมด ซึ่งยืนยันว่าเป็นความเสียหายใหญ่หลวงสำหรับทั้งภูมิภาค น่าอ่านมากเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมด

สำหรับ เมืองไทย หากว่าเราคิดเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งในความมั่นคงของประเทศ หรือยังฝันจะเป็นศูนย์กลางของหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดเรื่องประหลาดใจแบบนี้อีกแล้วครับ (มีวงจรสำรอง แต่วิ่งไปทางเดียวกันหมดเลย)

กสท.โทรคมนาคม แจ้งถึงกำหนดการเบื้องต้นสำหรับการซ่อมแซมเคเบิลที่เสียหาย

SEA-ME-WE3: 18-22 มค 2550
FLAG-TYCO: 23 มค 2550
APCN2: สิ้นเดือน มค 2550
C2C: กลางเดือน กพ 2550

กำหนดการนี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ และยังขึ้นกับสภาพอากาศและคลื่นลมอีกด้วย

กสท.โทรคมนาคมแจ้งว่าเคเบิลได้ซ่อมแซมเสร็จเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550

แต่ผมว่ามันไม่เหมือนเดิมนะ routing ไม่เหมือนเดิม speed ไม่เหมือนเดิม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท