อ้าว...ยังไม่มากันเลย..


สมมติว่ามีคนทำงาน ๓๐ ล้านคน สักครึ่งหนึ่งเป็นคนชอบมาสาย สมมติว่าสายอย่างต่ำคนละ ๕ นาทีก็ ๗๕ ล้านนาที สมมติคิดค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๑๘๐ บาท ก็คือนาทีละ ๓๗.๕๐ สตางค์ ประเมินค่าเสียโอกาสเป็นเงิน....

เคยไหมคะที่เข้าห้องเรียนไปสอนตรงเวลาแล้วเจอห้องเปล่า ^ ^  ดิฉันเคยเจอบ่อยเลยค่ะ โดยเฉพาะกับนักศึกษาปี ๒ ซึ่งนักศึกษาจะมาสายประมาณ ๑๕ นาที.. 

แต่ถ้าสอนนักศึกษาปี ๔ แล้วดิฉันพบว่าจะมีกลุ่มหนึ่งมานั่งรออยู่ก่อนแล้ว.. 

ดิฉันมานั่งคิดดูเหตุผล ก็คงเป็นเพราะนักศึกษาโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น และรู้ว่าการมานั่งทำการบ้าน อ่านหนังสือ รออาจารย์ที่ห้องเรียนนั้นมีประโยชน์กว่าการเข้าห้องเรียนสาย..

มานั่งนึกเล่นๆ ต่อถึงพฤติกรรมของคนไทยโดยรวม ว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย เป็นนักมาสายหรือไม่.. ก็สรุปได้ว่าก็เป็นเหมือนกัน.. (ก็คงด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แหละค่ะ อิอิ)

ดิฉันเคยเจอนักศึกษาห้องหนึ่งที่มาสายเป็นประจำเมื่อสัก ๒ ปีที่ผ่านมา ดิฉันเคยบอกเขาว่ารู้ไหมว่าประเทศชาติเสียหายขนาดไหนถ้าคนมาสายคนละ ๕ นาที..

สมมติว่ามีคนทำงาน ๓๐ ล้านคน สักครึ่งหนึ่งเป็นคนชอบมาสาย สมมติว่าสายอย่างต่ำคนละ ๕ นาทีก็ ๗๕ ล้านนาที สมมติคิดค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๑๘๐ บาท ก็คือนาทีละ ๓๗.๕๐ สตางค์ ประเมินมูลค่าความสูญเสียหรือค่าเสียโอกาสเป็นเงิน ๒๘.๑๒๕ ล้านบาทต่อวัน     Ouch!!!.....แค่นับความขี้เกียจเป็นเงินเองนะเนี่ย ยังไม่ได้นับอย่างอื่นเลย..

ถ้าทำงาน ๕๒ สัปดาห์ต่อปี สัปดาห์ละ ๕ วันก็เป็นเงิน.........  โอ๊ย..ไม่เท่าไหร่เล๊ย ปีละ ๗,๓๑๒.๕ ล้านบาทเท่านั้นเอ๊งงงงง...

คิดตัวเลขเล่นๆ น่ะค่ะ วิธีการข้างต้นไม่ได้ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใดนะคะ ^ ^ แค่เป็นการประเมินค่าเสียโอกาสแบบเล่น เพื่อเอาตัวเลขมาขู่นักศึกษาที่มาสายเท่านั้น ไม่รู้ได้ผลหรือเปล่า แต่พอคิดตัวเลขแล้วอาจารย์ตกใจเอง ฮ่าๆๆ    เอ...ตอนนี้ขู่คนอ่านด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้..

ตอนนี้กำลังพยายามหาทางละลายพฤติกรรมมาสายของเด็กปี ๒ อยู่ค่ะ สักกลางเทอมคงจะดีขึ้น..ใครมีข้อแนะนำก็เชิญเลยนะคะ..

หมายเลขบันทึก: 105573เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

เรื่องเด็กมาสาย เป็นผลของการขาดวินัยในด้านเวลา และไม่แสดงความเคารพครูบาอาจารย์เท่าที่ควร

เป็นมานานแล้วค่ะ

และตอนนี้ ทุกมหาวิทยาลัย มีความเข้มงวดน้อยลงมาก เพราะแข่งกันหาเด็กมาเรียน ทำให้เด็ก มีความรู้สึกrelaxมากขึ้นกว่าแต่ก่อนค่ะ ไม่ต้องตรงเวลา อาจารย์อย่างมากแค่ดุ ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ในความเห็นดิฉัน น่าจะแก้ไขเชิงบวก คือถ้าใครไม่สายเลยต่ออาทิตย์/ตอเดือน   จะมีคะแนนวินัยให้พิเศษ..คะแนน เหมือ่นสะสมแต้ม ซึ่ง 1 เทอม ให้แต้มได้ ไม่เกิน.... และนำแต้มนี้ไปคิดคะแนนเพิ่มให้.......

อาจจะพอแก้ได้บ้างไหมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ (sasinanda)

จริงค่ะที่เรื่องนี้เป็นผลมาจากการไม่มีวินัย แล้วก็เรื่องอาจารย์ดุว่าเรื่องนี้ก็ไม่เป็นผลเท่าไหร่ค่ะ มีแต่อาจารย์จะเครียดขึ้นเพราะไม่อยากดุนักศึกษา ^ ^  แบบดุเนี่ยเคยลองแล้วค่ะ ตอนนี้กำลังลองแบบไม่ดุ แต่อบรม ตักเตือน พยายามให้เห็นส่วนดีของการมาตรงเวลาและการเตรียมตัวมาเรียนน่ะค่ะ...  บางทีก็แซวเขาให้เขารู้ตัวว่าเรากำลัง monitor อยู่ค่ะ

จริงๆ ปัญหาที่เด็กมาสาย บางทีก็เป็นเหตุผลไร้สาระ เช่น ขี้เกียจ หรือบางทีก็เพราะยังทำการบ้านไม่เสร็จ.. (ดิฉันให้ส่งตอนเดินเข้าห้อง ไม่งั้นมานั่งทำในห้องเรียนแล้วไม่ได้เรียน) แล้วก็มีอย่างเช่น วันก่อนมีนักศึกษาฝากเพื่อนมาลาเรียนเพราะว่าวันนี้ต้องไปทำงานร้านพิซซ่าด่วน... เพื่อนเขาอธิบายว่าปรกติทำเย็น วันนี้โดนเรียกให้ไปทำแทนตอนเรียน ประมาณนั้น...ดิฉันก็ได้แต่ฝากให้ไปอ่านทำการบ้านให้ทันเพื่อน..

เด็กๆ ยุคนี้ปัญหาเยอะๆ มากเลยค่ะ หลายๆ คน พ่อแม่แยกกันอยู่ค่ะ บางคนก็มาจากต่างจังหวัด เรื่องวินัยเนี่ยแทบไม่มีประสบการณ์เลยมั้งคะ แต่อย่างที่บอกค่ะ พอปีถัดๆ ไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ต้องค่อยๆ เกลา ค่อยๆ ใส่ค่ะ ไม่งั้นถ้าต่อต้านเราแล้วเดี๋ยวจะไปใหญ่ แต่วิธีที่คุณพี่บอกไว้น่าจะดีนะคะ น่าสนใจมากๆ เลย ไว้จะไปลองดูค่ะ แล้วจะมารายงานอีกทีค่ะ.. แต่คงต้องเก็บเป็นรายเดือนค่ะ เจอเขาอาทิตย์ละครั้งเท่านั้นค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอนะคะ

สวัสดีค่ะ อ.กมลวัลย์

พี่ศศินันท์พูดถึงเรื่องการปรับวินัยไปแล้ว...งั้นเบิร์ดเอาด้าน นศ.มั่งซึ่งเบิร์ดต้องนั่งนึกย้อนไปนานมากพอสมควร ( บอกอายุเลาๆ ฮี่ ฮี่ ) ว่าทำไมเบิร์ดถึงชอบโดดเรียนตอน ป.ตรี ฯ...แล้วเวลาโดดเบิร์ดก็อยู่ที่ห้องสมุดไม่ได้ไปที่ไหน แต่เลือกที่จะไม่เข้าเรียนเท่านั้นเอ๊ง ! ( หวังว่าเบิร์ดจะผันวรรณยุกต์ถูกนะคะ ไม่งั้นจะมีสี่ขาทันทีเลย อิ อิ )

เห็นเหตุผลคือ อาจารย์สอนน่าเบื่อ อ่านเอาเองจบไปแล้ว เพราะอาจารย์เล่นสอนแบบเปิดตำราว่าไปทีละบท ตามหน้าเดี๊ยะเลย...แล้วแจกชีทที่อาจารย์ทำเหมือนเดิมมาตั้งแต่รุ่นแรกที่สอน ( เด็กๆจะส่งบทเรียนต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นน่ะค่ะ )...ทำให้ไม่อยากเรียนเพราะเดาทางได้หมดแล้ว...

เบิร์ดเคยมีวีรเวรตอนลงวิชาของปีสี่ในขณะที่เรียนอยู่ปีสอง แล้วเข้าเรียนแค่ ชม.แรกกับ ชม.สุดท้ายแต่ได้ เอ คนเดียวของชั้นเรียน..อาจารย์ที่สอนก็มาบอกว่าขอดูสมุดเลคเชอร์กับแนวทางการเรียนของเบิร์ดหน่อยจะได้เอาไปวิเคราะห์ว่าจะวางแผนการสอนอย่างไรต่อไป...เบิร์ดเก๊าะบอกตามซื่อว่าไม่มีค่ะ มีแต่ตัวซีร็อกซ์อาจารย์จะเอามั้ยคะ ( ก็เบิร์ดมีแต่ซีร็อกซ์จริงๆนี่นา )...ดีที่เกรดออกแล้วนะคะเนี่ย ไม่งั้น....^ ^

เบิร์ดชวนคุยแบบออกทะเลอีกแล้ว...กลับบ้านดีกว่า อิ อิ...งานนี้ เบิร์ดก็เลยขอเอามุมของ นศ.สมัย โครมันยองมาฝากแล้วกันนะคะ

ขอบคุณมากค่ะกับบันทึกดีๆที่ชวนคิด

สวัสดีค่ะคุณเบิร์ด

ถ้าได้เด็กทั้งห้องเรียนเป็นแบบคุณเบิร์ด ป่านนี้ชาติไทยพัฒนากว่านี้เยอะค่ะ 555  อยากได้นักศึกษาเก่งๆ เยอะๆ ค่ะ ครูจะได้พัฒนาตามเด็ก 5555  รับรองว่าวิธีการสอนก็จะเปลี่ยนไปด้วยค่ะ  ^ ^ อาจารย์สมควรต้องปรับตัวเป็นอย่างยิ่งถ้านักศึกษาเลือกไปห้องสมุด อ่านเองแทนเข้าฟังกับอาจารย์...

ดิฉันก็เป็นพวกใช้ชีทเดิมเหมือนกันค่ะ แต่เป็น Power Point ไม่ได้เป็นหนังสือ ถ้าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนตัวอย่างการประยุกต์ใช้ค่ะ (อันนี้ประยุกต์ไปเรื่อยๆ ว่าวันไหนนึกเรื่องอะไรออก) สำหรับวิชาที่สอนอยู่ นักศึกษาจำเป็นต้องรู้ทฤษฎีบางเรื่องเป็นอย่างดี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในตอนช่วงหลังๆ ของการเรียนในวิชา และในวิชาต่อๆ ไป..

วิชาทางวิศวกรรมบางเรื่องต้องเข้ามาฟังจากอาจารย์ค่ะ แต่อาจมีบางคนเป็นอัจฉริยะอ่านเองได้บ้าง  ดิฉันเคยมีนักศึกษาที่เก่งมากๆ กระตือรือล้นมากๆ ทำโจทย์ทุกข้อในหนังสือ เอาข้อยากๆ มาถามเราตลอดเหมือนกัน กลุ่มนี้ไม่มีปัญหามาสายค่ะ แต่มาตามหาเราที่ห้องทำงานด้วยซ้ำ ^ ^

อ้อ...พวกมาสายมีอีกกลุ่มค่ะ คือกลุ่มบ้านอยู่ไกลค่ะ ดิฉันสัมภาษณ์บางคนต้องนั่งรถยาวๆ สองต่อ วันนึงอาจใช้เวลาเดินทาง ๓-๔ ชั่วโมงไปกลับ พวกนี้ตังค์ก็ไม่ค่อยมี บางวันก็ไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำ กลุ่มนี้ขาดความพร้อมและน่าสงสารมากๆ ค่ะ

เรื่องประสบการณ์เป็นนักศึกษาสมัยโครมันยองนั้นดิฉันว่าสำหรับตัวเองจะเก่ากว่านั้นอีก...อิอิ..ก็มันจำไม่ค่อยได้แล้วว่าตัวเองเข้าสายบ่อยๆ หรือเปล่า แต่จำได้ลางๆ ว่าเข้าเรียนนั่งหน้าตลอด ^ ^ เป็นเด็กกลุ่มเสนอหน้าค่ะ 5555

คุยไปคุยมา ออกทะเลไปเรื่องตัวเองเหมือนกัน.. ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร ด้วยประเด็นดีๆ เสมอนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

วันนี้ไปmeetingกับเพื่อนๆ ทำบุญต่างจังหวัด

ถามเพื่อนสนิทคนหนึ่งเขาสอนที่จุฬาว่า เคยมีปัญหา นักศึกษามาสายไหม

เขาบอกว่า มีประจำ  เป็นมานาน และจะเป็นต่อไปค่ะ

เขาลองมาทุกวิธี

1.test ตอนต้นชั่วโมงเลย

2.ทำquizกันต้นชั่วโมง

3ทำโทษ ตัดคะแนน แต่ตัดได้ไม่มากตามระเบียบ

4.ให้คะแนนเพิ่ม พิเศษ

เขาว่าเขาลองทุกวิธี ไม่ค่อยได้ผล แถมกลายเป็นยัยตัวร้ายสำหรับเด็กอีก และเหนื่อยมากถ้าทำquizต้นชั่วโมงบ่อยๆ เพราะต้องเตรียมการสอนมากเป็นพิเศษ

ตอนนี้ เขาทำวิจัยให้ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ และเขียนบทความลงมติชนมาหลายปีแล้ว งานเยอะ แต่ไม่ค่อยอยากจะลงลึกกับนักศึกษามาก เขาบอกเขาอิ่มแล้ว

น่าเสียดายค่ะ เขาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆอยากได้ จบจากHarvard  สมัยเรียนก็เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาสมัยหนึ่ง เรียกว่าเก่งทุกทางเลย

สรุปว่า เด็กสนใจเรียน มีไม่มากหรือคะ อาจารย์ถึงได้เหนื่อยไปตามๆกัน

อีกเรื่องหนึ่งคือ ลูกเพื่อนจบ MIT ทุนอานันทมหิดล ตอนนี้สอนที่จุฬา มีปัญหาการเป็น ผศ.เพราะมีระเบียบใหม่ ยากกว่าเดิม นานกว่าเดิม

มีหลายคนในวงการศึกษา บอกว่า เขาตั้งระเบียบใหม่เพราะ อาจารย์คุณภาพน้อยกว่าเดิม

ได้ยินแบบนี้ ไม่ค่อยสบายใจค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ (sasinanda)

จริงแล้วตัวเองก็ลองมาหลายวิธีเหมือนกันค่ะ แล้วก็เคยเป็นยายตัวร้ายมหาโหด(หรือยังเป็นอยู่ก็ไม่รู้ ^ ^) มาแล้วเหมือนกันค่ะ

จะบอกจากมุมมองของอาจารย์ที่มองนักศึกษาก็คือ นักศึกษาสนใจเรื่องเรียนน้อยกว่าเป้าหมายที่จะเรียนให้จบค่ะ ซึ่งมันขัดกันใช่ไหมคะ นักศึกษาอยากประสบความสำเร็จในการเรียน เรียนจบเป็นวิศวกร เป็นโน่นเป็นนี่  แต่ไม่อยากเรียนสักเท่าไหร่ ดิฉันว่าทัศนคติในการลงทุนทำเพื่อได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ (earned) มันหายไปเรื่อยๆ ค่ะ

ดิฉันว่าเด็กๆ กำลังดูตัวอย่างผู้ใหญ่ที่เห็นในข่าว ที่ optimize ฐานะหน้าที่ของตัวเองหาประโยชน์แล้วร่ำรวย ดูเป็นภาพที่สวยงานมาก ดูร่ำรวยโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก หรือเห็นภาพดารานักร้องที่มีชื่อเสียง เห็นภาพคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เห็นตอนที่เขาพยายามมาให้ถึงจุดที่เขาเป็นอยู่ว่าดีหรือเลวอย่างไร

มันเหมือนกับเห็นแต่อาหารสำเร็จรูปที่คนอื่นทำมาเสร็จให้กิน แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะได้อาหารจานนั้นมา มีอะไรเกี่ยวข้องมากขนาดไหน กว่าชาวนาจะปลูกข้าว กว่าพ่อแม่จะเตรียมอาหารให้ .... ดิฉันว่าเขายังไม่มีและยังไม่ค่อยเข้าใจในหลักการว่าต้องพยายาม ต้องทำเอง จึงจะมีโอกาสได้ในสิ่งต่างๆ ... แต่บางคนมักมีทัศนคติว่าทำให้น้อย แล้วถ้าได้ผลดีๆ จะเรียกว่าเก่ง เพราะเห็นตัวอย่างแบบนี้เยอะ (เด็กกลุ่มนี้จะนึกไม่ค่อยออกว่าตัวเองต้องลงมือทำบ้าง จึงจะได้ผลดี)

หรือบางคนก็มีทัศนคติที่ผิดหวังว่าเคยทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็เลยไม่พยายามทำดีอีกแล้ว (เด็กกลุ่มนี้ไม่เข้าใจว่าความผิดหวังเป็นเรื่องปกติ เพราะมีความหวังก็ย่อมมีทั้งผิดหวังและสมหวัง ไม่ว่าจะได้พยายามทำดีแล้วหรือไม่ก็ตาม ผลบางอย่างไม่สามารถบังคับได้)

เด็กอีกกลุ่มก็เป็นเด็กไม่รู้ประสีประสา..หรือเรียกว่าเป็นกลุ่ม ignorance ไม่ค่อยสนใจอะไรก็ได้ค่ะ.. ชีวิตไม่ค่อยเป็นปัญหา ไม่ค่อยสนใจ สบายๆ ก็เลยมาสายก็มีค่ะ

แล้วก็มีกลุ่มเด็กสนใจ เด็กดีนะคะ ซึ่งพื้นฐานจะมีหลากหลายค่ะ บางคนยากจนลำบาก และเข้าใจว่าต้องเรียนเพื่อพ้นจากภาวะนี้ แล้วก็บางคนก็ครอบครัวดี พ่อแม่อบรมดี เชื่อฟัง รู้ว่าการเรียนสำคัญ..

คิดว่าคงมีอีกหลายกลุ่ม... หลากหลายมากเลยค่ะ...

เรื่องอาจารย์เหนื่อยจนเลิกนั้นดิฉันก็เคยเป็นค่ะ  แต่พอหันมาปฏิบัติธรรมก็จะเห็นว่าน่าสงสาร ทั้งสงสารเด็กและสงสารประเทศไทยค่ะ แล้วก็หัดเป็นผู้ดู มากกว่าเป็นผู้เป็นค่ะ ก็เลยยังพยายามทำหน้าที่อยู่ตามกำลังและความสามารถ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องปล่อย เพราะได้พยายามตั้งใจทำแล้วค่ะ

สำหรับเกณฑ์ใหม่ในการขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น ยากขึ้นจริงค่ะ อาจจะจริงค่ะที่เขาตั้งระเบียบใหม่เพื่อป้องกันอาจารย์ไม่มีคุณภาพ.. ตอนนี้ผู้อ่านผลงานจะเป็นคนนอกมหาวิทยาลัยทั้งหมด ดิฉันเองก็เคยเป็นกรรมการประเมินกับเขาด้วย มีทั้งผลงานที่ดี และไม่ดีที่ผ่านเข้ามาให้ประเมินค่ะ อ่านแว๊บเดียวก็พอรู้แล้วล่ะค่ะว่าผ่านหรือไม่ ประเมินไม่ยากค่ะ คนที่ทำผลงานดี จะชัด คนที่ทำผลงานไม่ดีก็จะชัดเช่นกัน

แต่เรื่องลูกเพื่อนคุณพี่นั้นดิฉันว่าไม่น่าจะมีปัญหานะคะ (ดูจาก profile ที่เล่า) ยกเว้นว่าที่จุฬาฯ มีเกณฑ์บางอย่างที่แตกต่างจากที่สจพ. เพราะเกณฑ์การประเมินผลงานของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างค่ะ  แต่แน่นอนว่าเกณฑ์ปัจจุบันของสกอ. (เกณฑ์กลาง) นั้นยากกว่าสมัยที่ดิฉันขอค่ะ

เรื่องที่จะทำให้ไม่สบายใจมีเยอะค่ะ ต้องพยายามค่อยๆ ดู เจริญสติ แล้วก็ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ ค่ะ คุณพี่สนใจเรื่องอย่างนี้ดิฉันก็ดีใจแล้วล่ะค่ะที่มีคน concern บ้าง แสดงว่ามีคนเห็นปัญหาอยู่ และพร้อมร่วมมือแก้ไขถ้ามีโอกาส นับเป็นเรื่องที่ดีค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นดีๆ เสมอนะคะ..  ^ ^

สวัสดีครับอาจารย์

ผมไม่ค่อยเข้าห้องสายครับ แต่อาจารย์ที่สอนผมมาสายประจำครับ

มีครั้งหนึ่งวิชาเริ่มตอนบ่ายโมงครับ อาจารย์โผล่มาสอนตอนสี่โมง แล้วคาดหวังว่านักเรียนจะอยู่รอครับ

จริงๆแล้ว ผมเจอแบบนี้ตอนสมัยผมเรียนอยู่ปริญญาตรีบ่อยมากครับ

ผมคิดว่าเรื่องวินัยของคนไทยทางด้านเวลานั้นไม่มีอยู่แล้วครับ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ

ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์ยังเจอปัญหานี้อยู่หรือเปล่า

ถ้ายังเจออยู่ ผมอยากจะขอความอนุญาตออกความเห็นครับดังนี้ครับ

วิธีแรกพอถึงเวลาอาจารย์ก็ล็อกห้องไปเลยครับ แล้วก็สอนเท่าที่มีอยู่

วิธีที่สอง อาจารย์ก็มาสายบ้างครับ เอาสายแบบสายสุดๆเลยนะครับ ให้นักศึกษารออาจารย์ซะบ้าง จะได้รู้ว่าเวลาเป็นของมีค่าขนาดไหน

ผมก็ไม่รู้นะครับว่ามันจะได้ผลหรือเปล่า แต่บางทีหนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่งนะครับ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณไปอ่านหนังสือ

ใช่เลยค่ะ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากอาจารย์ค่ะ เพียงแต่ยังไม่ได้เขียนไว้เท่านั้นเอง เพราะตัวเองตรงเวลา ^ ^ ถ้าจะขาดก็จะบอกล่วงหน้า แต่เคยพลาดเหมือนกันตอนทำงานบริหารเยอะๆ ไปสายค่ะ T_T แต่ส่วนใหญ่เด็กพอจะรู้ค่ะ ว่าเดี๋ยวดิฉันจะมา เพราะไม่ค่อยพลาดสอนเท่าไหร่...

เรื่องอาจารย์ไม่มาทำงานเนี่ย เคยเขียนไปแล้วในเรื่อง อาจารย์ไม่มีคุณภาพ ตอนนั้นก็ตอบข้อคิดเห็นไม่หวัดไม่ไหวเลยค่ะ

จริงๆ แล้วลืมเขียนตัวอย่างตอนตอบคุณพี่ศศินันท์ว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างไม่ดีคนสำคัญเลยก็คือตัวครูด้วย.. มัวแต่ไปคิดเรื่องใหญ่ๆ ในข่าวค่ะ ^ ^

เรื่องล๊อคห้องสอน เคยทำมาแล้วค่ะ ^ ^ สัก ๔-๕ ปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าเราอยากให้เขาเรียนจริงๆ สุดท้ายต้องมาสอนซ้ำอีกครั้ง ...เฮ้อ..ทำใจบ่ได้ค่ะ ตอนหลังสอนหลายๆ รอบไม่ไหว ก็เลยเลิกวิธีนี้ไป ... ส่วนเรื่องวิธีอาจารย์มาสาย อาจทำให้เด็กที่ยังดีอยู่เห็นตัวอย่างไม่ดีของอาจารย์ได้ ก็เลยยังไม่เสี่ยงทำค่ะ...  ตอนนี้อะไรที่ยังรักษาได้ก็ต้องรักษาไปก่อนค่ะ แล้วก็แก้ไขส่วนที่เสียเอาค่ะ..

ตอนนี้เด็กนักศึกษาเยอะค่ะ มีหลากหลายประเภทปะปนกัน มีความรู้สึกว่าใช้กฎอย่างใดอย่างหนึ่งกับทุกคนไม่ได้ค่ะ ต้องค่อยๆ คัด ค่อยๆ ประยุกต์ใช้แต่ละอย่างกับแต่ละกลุ่มค่ะ ... ก็ลองทำดูอยู่ค่ะ ของอย่างนี้ใช้เวลานาน หวังว่าเขาจะได้ความตั้งใจจากเราไปบ้างค่ะ

ขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะ อ.กมลวัลย์

  • ดิฉันเคยไปบรรยายแล้วคนเข้าฟังมาสาย  รู้สึกเสียดายเวลาอย่างที่อาจารย์กล่าวค่ะ
  • ดิฉันเคยเข้าห้องฟังตรงเวลา...ก็ให้เบื่อผู้บรรยายที่ต้องคอยให้คนเยอะก่อนจึงพูด...บางคราวหากมีงานค้าง  ก็จะออกมานอกห้องก่อน...แล้วกลับเข้าไปใหม่...เลยพากันสายไปใหญ่...นี่คือตัวอย่างการกระทำที่ไม่ดีของดิฉันค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ กฤษณา สำเร็จ

สงสัยจะเป็นพฤติกรรมทั่วไปของเรากันแล้วมั้งคะ ^ ^ เรื่องสาย

ถ้าตัวเองไปบรรยายให้คนทำงานฟัง ส่วนใหญ่ต้องรอประมาณ ๑๕ นาทีเหมือนกันค่ะ... แต่ไม่ค่อยเกินนี้เท่าไหร่  บางครั้งก็พูดคุยอารัมภบทกับคนที่มาแล้วก่อนเข้าเนื้อหาหลัก เพื่อรอคนที่ยังมาไม่ถึงค่ะ 

ดิฉันก็เป็นค่ะ กรณีเป็นผู้ฟังบรรยาย เพราะถ้าดูแนวโน้มแล้วไม่เริ่มพูดสักที แล้วเรามีงานค้างอยู่และ office อยู่ใกล้..รับรองโดดกลับไปทำงานก่อนเหมือนกันค่ะ ^ ^

แต่ดิฉันคิดว่าสำหรับเด็กนักศึกษา เขาไม่มี excuse อื่นๆ เพราะเขาไม่มีภารกิจต้องทำงานไปด้วยเหมือนเราค่ะ ภารกิจหลักของเขาคือมาเรียนเท่านั้น ทำให้ดิฉันไม่ค่อยอยากให้เขามาสาย เพราะจะเป็นนิสัยติดตัวไปที่ไม่ดีค่ะ

เรื่องเด็กมาสายก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไป.. ตอนนี้ก็ทดลองวิธีต่างๆ ไปเรื่อยๆ ค่ะ คงจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่สำเร็จทั้งหมดน่ะค่ะ

ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามา ลปรร กัน ยินดีต้อนรับค่ะ ^ ^

 

 

  • การอบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์นั้น
  • แม้เพียงวันละนาทียังดีถม
  • เด็กจะดีมีชื่อหรือล่มจม
  • อาจเป็นเพราะอบรมหนึ่งนาที
  • เด็กมาสาย เสียหาย หลายคุณค่า
  • เสียเวลา เสียวินัย ไร้ศักดิ์ศรี
  • เสียชื่อ นักศึกษา เกิดราคี
  • เสียหน้าที่ เสียประโยชน์ จะโทษใคร
  • คงต้องโทษ นิสัย อยู่ในจิต
  • ไม่รู้คิด เทียมแท้ ควรแก้ไข
  • คนผิดนัด เสียหาย ร้ายอย่างไร
  • คนจะไม่ไว้ใจตลอดกาล
  • จงเห็นใจ อาจารย์ สงสารทั่น(คำนี้เด็กๆอย่าเลียนแบบ)
  • อาจารย์กมลวัลย์น่าสงสาร
  • กลัวสอนห้องเปล่าเปล่าเศร้าดวงมาน
  • ขอกราบกราน นักศึกษา โปรดมาเรียน

สวัสดีค่ะ อ.พิสูจน์

จริงค่ะอาจารย์ที่ต้องทั้งเรียกและร้อง ให้นักศึกษามาเรียนมากขึ้น และให้มีวินัยตรงต่อเวลามากขึ้น คงต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณสลับๆ กันค่ะอาจารย์

แต่เด็กดีๆ ก็มีเยอะค่ะ แล้วก็พอตอนปี ๓ ปี ๔ ก็มีระเบียบวินัยเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพราะเคยโดนอาจารย์ขนาบมาบ้างแล้ว หรือเห็นคุณค่าของการมาเรียนมากขึ้นแล้ว.. อันนี้คงเป็นประสบการณ์ค่ะ

ชอบที่อาจารย์เขียนกลอนค่ะ ดิฉันเห็นคุณครูหลานท่านใน GTK เก่งเรื่องนี้มากเลยนะคะ  ดีจังค่ะ  ^ ^

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอนะคะ..

 

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

เทอมนี้ผมโชคดีกว่าอาจารย์มากเลยครับ  พอไปถึงห้องเรียน(ตรงเวลานะครับ)ก็มีนักศึกษารอเรียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า ๗๐%  พอเราเช็คชื่อเสร็จก็เกือบจะครบพอดี 

ผมคิดว่าการมาสายเป็นพฤติกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาของเรา  ถ้าโชคดีเจอกลุ่มทีมชาติ พวกนี้จะรับผิดชอบดีทุกเรื่อง แบบฝึกหัดแทบไม่ต้องสั่งให้ทำ โจทย์ข้อที่ไม่ได้สั่งทำยังเอามาถามเลยครับ

บางเทอมแย่ๆผมก็เคยเจอครับ  ก็ต้องคุยต้องบอกกันไว้ก่อนว่าพฤติกรรมอย่างนี้รอดยาก พอสอบ mid term ก็แสดงให้เห็นว่าอาจารย์เอาจริงนะ(โว้ย)  ถ้ายังไม่พัฒนาสอบ final เสร็จก็คง C, D, F ตามระเบียบ(ผมเคยให้มาแล้วล่ะครับ) ปรากฎว่ามีชื่อเสียงได้รับการกล่าวขานไปนานพอสมควรครับ

สวัสดีค่ะอ.ศิริศักดิ์

อาจารย์โชคดีได้ทีมชาติค่ะ ของดิฉันสงสัยเป็นทีมอะไรก็ไม่รู้ค่ะ กำลังพยายามปั้นให้พวกนี้เป็นทีมชาติกะเขาบ้างค่ะ โดยรวมดูจากคะแนนแอดมิชชั่น ดิฉันว่า ME ได้เด็กทีมชาติกว่า CE อยู่แล้ว นิสัยต่างกันลิบเลยเห็นไหมคะ T_T

ขำที่อาจารย์บอกว่าอาจารย์เอาจริงนะ(โว๊ย) ^ ^ นึกภาพออกเลยค่ะอาจารย์ เดี๋ยวจะไปลองดูมั่ง 5555

ขอบคุณอาจารย์ที่แนะนำให้ข้อมูลดีๆ ค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท