กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด


ทุ่งสามร้อยยอด

เมื่อพูดถึงสามร้อยยอด หลายคนอาจนึกถึงยอดเขาหินปูนที่เรียงรายกันอยู่ในอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด แต่อันที่จริงบริเวณเชิงเขาเดียวกันนั้นยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “ทุ่งสามร้อยยอด” พื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 81,253 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามร้อยยอดและอำเภอกุยบุรี จังหวัด ตามแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ยาวประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นทุ่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในระบบอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ถือว่าเป็นฐานทรัพยากรที่เอื้ออำนวยปัจจัยต่างๆ ให้เกิดผลผลิตต่อเนื่องและมีความผูกพันกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นมาช้านาน

การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิการอนุรักษ์ทุ่งสามร้อยยอด

2509 ประกาศให้พื้นที่ป่าเขาสามร้อยยอด ซึ่งมีหมู่บ้านและประชากรจำนวนหนึ่งตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อยู่แล้วเป็นอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด หลังการประกาศจัดตั้งอุทยานฯ ใหม่ๆ ชุมชนและอุทยานฯ ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหามากนัก

2525 เค้าลางของความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เมื่อกรมป่าไม้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำท่วมและมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยเฉพาะนกน้ำซึ่งเป็นนกที่ต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่เสมอ เช่น นกอีโก้ง และนกอีลุ้ม จึงต้องการขยายแนวเขตอุทยานให้ครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าเดิม  โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกาขยายเขตในปี พ.ศ. 2525 ได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอกุยบุรีและอำเภอปราณบุรี สาเหตุความขัดแย้งก็ไม่ต่างจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ คือ ความไม่ลงตัวเรื่องสิทธิการครอบครองและพื้นที่ทำกิน ไม่มีการประสานงานที่ดีระหว่างองค์กรของรัฐและประชาชนในท้องถิ่น ไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสารและไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการขยายขอบเขตพื้นที่อุทยานฯ

2527 ประชาชนที่ได้รวมตัวกันและร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ขยายออกไปทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทำให้ได้รับความเดือดร้อน สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานออกไปสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร และคณะทำงานมีข้อสรุปว่า “พื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดปีและพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งไม่มีผู้ใดเข้าไปทำกินหรือใช้ประโยชน์ ควรให้คงไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่ที่ราษฎรมีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และพื้นที่ที่ราษฎรใช้ทำกิน ควรเพิกถอนออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ให้ถือความเดือดร้อนของราษฎรเป็นหลักสำคัญ”

2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปตรวจราชการ และสั่งการให้รังวัดแนวเขตโดยเร็ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางอุทยานฯ เองยังคงยืนกรานที่จะขยายแนวเขตอนุรักษ์เพื่อคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดที่เหลือให้ได้

2548 ชาวบ้านเกาะไผ่ ได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตของอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ยื่นหนังสือถึงหัวหน้ากิ่งอำเภอสามร้อยยอด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาแนวเขตพร้อมมีข้อเสนอแนวทางการจัดการร่วมกัน โดย
  1. ให้ตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาแนวอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด จากผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยมีสัดส่วนที่เท่าๆกัน
  2. ให้ดำเนินการรังวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอดขึ้นใหม่ โดยยึดแนวเขตประกาศฯในปี 2509 โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการฯตามข้อ 1
  3. ให้อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด จัดกิจกรรมอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นทุกๆปี เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้านรอบพื้นที่อุทยานฯ

ต่อมา ได้มีการประชุมเพื่อตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาแนวเขต โดยตั้งตัวแทนจาก 21 หมู่บ้าน 8 ตำบล 2 อำเภอ เป็นคณะทำงาน ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มอนุรักษ์พิทักษ์สิทธิทุ่งสามร้อยยอด” ให้นายประสิทธิ ศิริถาวร ผู้ใหญ่บ้านเกาะไผ่เป็นประธานกลุ่ม เพื่อติดตามการทำข้อมูลพื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จากการประกาศแนวเขตอุทยานฯ จากนั้นได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้าการสำรวจข้อมูลโดยเชิญหัวหน้ากิ่งอำเภอสามร้อยยอดมาร่วมหารือ และประสานผู้นำท้องถิ่นร่วมสำรวจข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศแนวเขตอุทยานฯ โดยนำเอาหมู่บ้านที่สำรวจข้อมูลเรียบร้อยแล้วมาเป็นแม่แบบ  ก่อนที่จะสรุปเสนอคณะกรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเดือนเมษายน 2548 หลังจากสำรวจข้อมูลแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูลโดยมีชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นมาให้ข้อมูล เพื่อนำไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ก่อเกิด “กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด”
  วันที่ 18 เมษายน 2549 เป็นวันประวัติศาสตร์ ชาวบ้านรอบพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ได้รวมตัวกันอย่างเป็นทางการ ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด” เพื่อประสานงานให้สมาชิกและชาวบ้านรอบพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอดได้ตระหนักและร่วมมือกันกันเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการชุมชน โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะมีการจัดประชุมเดือนละ 2 ครั้ง คือทุกวันที่ 15 จะเป็นการประชุมเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุมน้ำ และทุกวันที่ 30 จะประชุมกลุ่มออมทรัพย์และวางแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการในอนาคตในคราวเดียว ทั้งนี้กระบวนการขับเคลื่อนงานของกลุ่มอนุรักษ์ฯนั้น จะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ

 

ดอกผลของความร่วมมือ
  ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอดครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ อีกครึ่งหนึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่คงสภาพเป็นทุ่งธรรมชาติ บางส่วนกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นที่ตั้งบ้านเรือน ชุมชน การถือครองที่ดินในบริเวณนี้มีทั้งโฉนด นส.3 สค. ภบท.5 และที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รอบพื้นที่ชุ่มน้ำมีชุมชนอยู่อย่างน้อย 8 ตำบล 21 หมู่บ้าน จากการทำงานที่ผ่านมาอย่างเข้มแข็ง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความตื่นตัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดมากขึ้น

  นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ยังเป็นตัวหลักในการทำงานประสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชน คือ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของพื้นที่ร่วมชุ่มน้ำและมีการทำแผนจัดการพื้นที่ร่วมกันให้ชัดเจน โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทุ่งสามร้อยยอดอันเป็นต้นกำเนิดของทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อปากท้องและชีวิตของชุมชนให้มีความยั่งยืนตลอดไป ท้ายที่สุดการประสานความเข้าใจร่วมกันก็สัมฤทธิ์ผล จนได้รับการประกาศให้ทุ่งสามร้อยยอดเป็นที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ตามพันธกรณีของอนุสัญญาแรมซาร์ โดยที่ชาวบ้านยังสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเดิม ไม่มีการอพยพโยกย้ายไปที่อื่น แต่มีหลักการสำคัญคือ มีการสร้างกฎกติการ่วมกันในการใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่าและไม่ทำลายทรัพยากรระยะยาว และยังได้รับประโยชน์ในหลายๆด้านจากอนุสัญญาแรมซาร์ เช่น ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือทางด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอดอย่างยั่งยืน โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นผู้ริเริ่มในการจัดการ การให้ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชน รวมทั้งการรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  

 

 

กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ยังทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแต่งสางกลางทุ่ง   โดยเฉพาะธูปฤาษีซึ่งเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์อย่างจึงเข้าไปครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่ง จึงทำให้พันธุ์พืชชนิดอื่น เช่น บัว อ้อ ขาดพื้นที่ขยายพันธุ์ และทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่ทุ่งเปลี่ยนไป จึงต้องทำการแผ้วถางธุปฤาษีออกบ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ในพันธุ์พืชตระกูลอื่นได้มีโอกาสเติบโต การปักป้ายเขตอนุรักษ์  บริเวณบึงบัว การปลูกบัวเพิ่มเติมประมาณ 35 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400 ไร่

 

ประเด็นที่ยังต้องมีการขับเคลื่อนต่อไป
  การจัดการทุ่งสามร้อยยอดให้เกิดความสอดคล้องและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และระบบนิเวศธรรมชาติอย่างยั่งยืน ชุมชนได้มีข้อเสนอทั้งต่อชุมชนเองและภาคีที่เกี่ยวข้อง คือ
  1. ให้มีการค้นคว้ารวบรวมประวัติศาสตร์การใช้ที่ดินของชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด
  2. ให้มีการศึกษาผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน โดยเลือกพื้นที่ศึกษาจากเขาแมวถึงเกาะไผ่
  3. ทุกโครงการพัฒนาของรัฐที่เข้ามาในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพิจารณาแต่ละโครงการ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมของอำนาจตัดสินใจที่สามารถระงับโครงการที่ส่งผลกระทบต่อตัวทุ่งสามร้อยยอด และส่งกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนรอบตัวทุ่งสามร้อยยอด
  4. ให้คำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียมกัน

ขอบคุณ

โอเล่ห์ ยงยุทธ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ และพี่น้องชาวสามร้อยยอดอีกหลายท่าน ที่ช่วยกันดูแลฐานทรัพยากรอันทรงคุณค่าไว้ให้ลูกหลาน

หมายเลขบันทึก: 226574เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2008 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับคุณเหลา ลำลูกกา

กระผมเข้ามาแสดงความยินดีและขอขอบพระคุณชาวพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดทุกท่านนะครับ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้ให้ดำรงอยู่เป็นประโยชน์ต่อมวลสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ครับ กระผมรับผิดชอบฐานการเรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็พยายามปลูกฝังการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน พยายามให้นักเรียนคิดและค้นหาต้นเหตุของปัญหาต่างๆเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่อยากให้แก้ที่ปลายเหตุครับ

ขอบพระคุณนะครับที่นำข้อมูลและภาพกิจกรรมดีๆมานำเสนอครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • คิดถึงประจวบเหมือนกันค่ะ
  • แต่ก่อนทำงานที่ประจวบฯ มา 4 ปี
  • เคยชมรายการโทรทัศน์ เด็ก ๆ ทำกิจกรรมอนุรักษ์ทุ่งสามร้อยยอดได้ยอดเยี่ยมเลย
  • ขอบคุณค่ะ

คราวหน้าไปอีกอย่าลืมชวนด้วยนะอยากไปบ้างบรรยากาศสวยจริงๆ

สวัสดีค่ะ คุณเหลา ลำลูกกา แวะมาอ่านบทความและชมภาพสวย ๆ และภาพกิจกรรมค่ะ

ขอให้มีความสุขนะค่ะ

ยังมีคนอีกไม่น้อยคิดว่าพื้นที่ชุ่มน้ำก็คือหนองน้ำที่มีพืชขึ้นรกๆ

หวังว่าจะได้ไปเยี่ยมเยือนและชื่นชมงานของท่าน ว่าที่ ร.ต.วุฒิชัย สังข์พงษ์ ที่หว้ากอครับ

คุณ♥< lovefull >♥เดี๋ยวนี้ประจวบเปลี่ยนไปเยอะนะครับ นอกจากจะมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมากแล้ว ยังเป็นเป้าหมายการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมด้วย

เด็กๆที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากที่สามร้อยยอดแล้ว ยังมีที่ลุ่มน้ำกุยบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กัน วันหลังจะเอามาเล่าให้ฟังกันครับ

คุณ winny เขาจัดงานเพื่อสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดทุกปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แล้วเจอกันนะครับ

ขอบคุณ คุณtukky ที่แวะมาเยี่ยมเยือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท