กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อ..เป็นอย่างไรนะ


คนไทยเราสมัยนี้ด้อยคุณภาพเป็นอย่างมาก   คอยแต่จะหวังพึ่งของขลังศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย   ไม่เคยคิดทำด้วยความเพียรพยายามของตนเองไม่คิดพัฒนาตนเอง   แล้วในที่สุด...ก็ตกอยู่ในความประมาท   ปล่อยให้วันคืนผ่านไปเปล่า สิ่งที่ทำด้วยความสามารถของตนเองไม่มีเกิดขึ้นมา ให้เสริมคุณค่าของตนเองเลย   แล้วก็ขาดอิสระภาพ   ตกเป็นทาสของขลังศักดิ์สิทธิ์  ความเชื่องมงายนั้นทำให้นึกถึง  กาลามสูตร   เป็นอย่างไรนะ  ลองไปศึกษาพร้อมๆกับครูอ้อยเลยค่ะ 
กาลามสูตร แปลว่า   พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ   หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล เรียกว่า   เกสปุตตสูตร ก็มี
กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อ   ไม่ให้เชื่องมงายโดยไม่ใช้ปัญญา  พิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดี   ก่อนเชื่อ มี ๑๐ ประการคือ
๑. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
๒. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
๓. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
๔. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
๖. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
๘. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
๙. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
๑๐.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
ปัจจุบันได้เกิดแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อนบรรจุไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในประเทศพัฒนาแล้ว เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking)
ยึดหลักกาลามสูตร  อย่าเชื่อเพราะตามกันมา อย่าเชื่อเพราะเป็นศาสดาหรือครูบาอาจารย์   อย่าเชื่อเพราะฟังดูเป็นเหตุเป็นผล และอย่าเชื่อเพราะเหมือนอย่างที่เราคิด   การไม่หลงเชื่อผู้อื่นจะทำให้เราเป็นคนมีสติปัญญา มีเหตุมีผล   มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และมีจิตใจที่เข้มแข็ง   กล้ายอมรับความเป็นจริง
เช่นในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากคำพูดของคนเหล่านั้น   ผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และมีความเป็นผู้นำเพียงพอ  จะไม่กล่าวโทษผู้อื่น   เพราะเขาเหล่านั้นรู้ตนเองดีว่าได้พิจารณาข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับมาอย่างถ้วนถี่แล้วว่า  สมควรที่จะเชื่อหรือไม่เพราะเหตุผลอะไร    
หมายเลขบันทึก: 90117เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท