เครือข่ายมีชีวิต : ยกระดับแพทย์แผนไทยสู่สากลด้วยงานวิจัย R2R


ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีการค้นคว้ามาหลายร้อยปี ทำไมพวกเราไม่ช่วยกันต่อยอด ให้เป็นที่ยอมรับด้วยงานวิจัย

งาน R2R forum ครั้งที่ 4 ได้ปิดฉากลงแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 กค 2554 ที่ห้อง Jupiter 4-5 "เครือข่ายมีชีวิต:ยกระดับแพทย์แผนไทยสู่สากลด้วยงานวิจัย R2R" ของเครือข่ายภาคตะวันออก คงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเริ่มต้นงาน R2R

เริ่มต้นด้วยอาจารย์ฉัตรชัย สวัสดิไชย กล่าวถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของแพทย์แผนไทยว่ามีการถ่ายทอดภูมิปัญญามาถึงปัจจุบันได้อย่างไร สิ่งที่ประทับใจตอนหนึ่งก็คือ นายลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตกว่า

"การแพทย์แผนไทยไม่มีแบบแผนที่มาตรฐาน แต่ถึงอย่างไรก็ทำให้ผู้ป่วยหายได้จำนวนมาก"

ตรงนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์หนึ่งที่แสดงผลสัมฤทธิ์ของแพทย์แผนไทย ซึ่งถ้ามีการศึกษาอย่างเป็นระบบและใช้หลักทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง

อาจารย์ฉัตรชัยเป็นผู้หนึ่งที่น่ายกย่องเพราะแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับ ถึงแม้จะเห็นอุปสรรคข้างหน้าอีกมากมาย จากงานประจำที่ต้องทำอยู่ทุกวันก็คือ รักษาโรคแบบแพทย์แผนไทย จากงานประจำสู่ปัญหาคือ ผลการรักษายังไม่เป็นยอมรับในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ปัญหานี้วกวนไปมาอยู่ในงานประจำของท่าน ซึ่งนำท่านไปสู่การทำวิจัยเพือให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น ถึงแม้งานวิจัยของท่านจะดูง่ายถ้ามองผิวเผินเพราะเป็นงานวิจัยเชิงพรรณนา หรืออาจถูกมองข้ามไปก็เพราะไม่น่าเชื่อถือในมุมมองของแพทย์ปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้มีการทดลองเปรียบเทียบ

แต่ในมุมมองของผมกลับเห็นว่า มีคุณค่ามหาศาล เพราะเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นโดยความอยากรู้ อยากพิสูจน์ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของคนที่มีใจใฝ่รู้ ไม่ได้เกิดจากการสั่งการ หรือต้องการนำผลงานไปขอการเลื่อนระดับขั้น

อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีรากฐาน ความรู้จากงานวิจัยก็มีพื้นฐานจากงานวิจัยเชิงพรรณา และต่อยอดไปเรื่อยๆจนถึงงานวิจัยเชิงทดลอง

สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เราทำวิจัยเชิงพรรณา เพื่อเป็นรากฐานเพื่อต่อยอดงานวิจัยในอนาคต นั่นแหละคือคุณค่าสูงสุดของงานวิจัยชิ้นนั้น เพราะมันเกิดจากใจที่อยากจะพัฒนางานของตนเอง ตามวงล้อของการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง หรือ CQI ของงานวิจัยนั่นเอง

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อีกอย่างก็คือ วิทยการอีกสามท่านซึ่งได้แก่ น้องใหม่ เปรมวดี แสนเสนาะ หรืออย่างผู้ที่มีประสบการณ์แพทย์แผนไทยมาแล้ว คุณอุมาภรณ์ เรืองภักดี  โรงพยาบาลระยอง และเภสัชกร พินิต ชินสร้อย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น ต่างก็มีประสบการณ์ที่ดีต่องานวิจัย ถึงแม้งานที่ทุกท่านจะเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จากนักวิจารณ์งานวิจัยในเวทีการเสนอผลงานอื่นๆมาแล้ว แต่ทุกท่านก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงผลงานและผลิตงานวิจัยต่อไปอีกในอนาคต

ในประเด็นหลังนี้ผมมีความคิดเห็นว่า สิ่งที่ผู้ที่เริ่มทำงานวิจัยต้องการ ไม่ใช่นักวิพากษ์ หรือ นักวิจารณ์งานวิจัย แต่ต้องการผู้ช่วยเหลือ ต้องการโค้ช ต้องการความดูแลอย่างใกล้ชิด เปรียบเหมือนเด็กอ่อนวัยที่ต้องการผู้ปกครอง คอยสั่งสอนเหมือนพ่อสอนลูก อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เคยเขียนไว้ว่า ต้องการผู้ที่ช่วยเติมส่วนขาดมากกว่าแค่ผู้ทบทวนงานวิจัย (Mentor not Reviewer)

สุดท้ายนี้ผมขอยกย่อง วิทยากรทั้งสี่ท่าน ว่าเป็น นักวิจัย R2R เต็มรูปแบบ และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจงาน R2R และขอฝากประโยคสุดท้ายว่า งาน R2R เริ่มต้นด้วยใจของผู้ปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนางานประจำของตนเอง เพื่อความสุขของตนเองและเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ไม่ใช่เพื่อตอบสนองต่อตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นโดยใครต่อใครที่ต้องการเพียงตัวเลข

 

ทนง ประสานพานิช

ประธานเครือข่ายภาคตะวันออก

22 กค 2554

คำสำคัญ (Tags): #r2r
หมายเลขบันทึก: 450504เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นกำลังใจให้คะ

เห็นด้วยว่างานวิจัยที่เกิดตามธรรมชาติของการใฝ่รู้นั้น ย่อมเริ่มจากเชิงพรรณาก่อน

เมื่อยังเป็นสิ่งใหม่ ที่ยังไม่มีใครเห็นช้างทั้งตัว แล้วจะให้เอาช้างสองเชือกมาเปรียบกันได้อย่างไร

คำถามวิจัยใหม่ๆ เกิดได้เมื่อมีการอภิปรายแบบ mentor

ต่อเมื่อตอนส่งพิมพ์จึงต้องการ Reviewer

แวะมาให้กำลังใจครับ บางทีเราก็มัวไปให้ความสำคัญกับวิวัฒนาการสมัยใหม่จนลืมรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาของตัวเอง ซึ่งต้นกำเนิดของวิวัฒนาการเหล่านั้นก็มาจากภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพราะเราไม่ค่อยใส่ใจในภูมิปัญญาตนเองจึงทำให้ต่างชาติฉกฉวยโอกาสมาสร้างมูลค่าทางภูมิปัญญาของเราแล้วสุดท้ายก็มาขายให้เราอีกที ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้ปกป้อง พัฒนาและสร้างสรรค์แพทย์แผนไทยของเราให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากลนะครับ

คงจะยกย่องผิด และอาจจะทำให้ผมไม่มีความสุข แต่ก็ขอขอบคุณ อาจารย์จันทวรรณ ที่ร่วมแลกเปลี่ยน ให้โอกาสตั้งคำถามกันบ่อยๆ

ความจริง ผมเป็นผู้สนใจ และเห็นประโยชน์อะไร หลายอย่างของ การเชื่อมโยง จัดการความรู้ ภูมิปัญญา กับ ความรู้สากล จาก รากเหง้า ของ ชนเผ่า ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจน การวิจัยสมัยใหม่ ของ จีน อินเดีย ฝรั่ง และแม้กระทั่ง เพื่อนบ้าน อย่าง มาเลเซีย เวียดนาม

มีความรู้บ้างนิดๆหน่อย และที่ไม่รู้จริง ยังมีอีกมาก

และความรู้ส่วนหนึ่ง ต้องขอขอบคุณทีมงานเภสัชกร ที่ รพ.หาดใหญ่ และ อดีตผู้อำนวยการ รพ. หาดใหญ่ อาจารย์ นพ กมล วีระประดิษฐ์ ที่ไว้ใจ สนับสนุน การพัฒนางานการแพทย์แผนไทย นำร่ององค์ความรู้ให้กับวงการแพทย์แผนไทย

แม้จะไม่ได้วิจัยและรายงานงานวิจัย ผมมั่นใจกับ ความรู้และประสบการณ์ของ ปรมาจารย์แพทย์แผนไทย ที่ยังคงฝากมรดกภูมิปัญญาไว้ เป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน ให้กับผู้ควรจะได้รับการสืบทอด ผมตามรอยท่านแล้ว พบว่าถูกต้องจริงหากเรามีความละเอียดอ่อนในวิชา

นอกจากนี้ เรายังต้องตามรอย ท่านอาจารย์หมอไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้มีสายโลหิตของ แพทย์แผนไทย แท้ ท่านเป็นหลาน คุณตา หมอพลอย หมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ท่านเป็นผู้เปลี่ยนศักราช ชีวิตและจิตวิญญาณ โดยเสนอและผลักดัน คำเรียก การแพทย์ดั้งเดิม ของไทย จาก การแพทย์แผนโบราณ เป็น การแพทย์แผนไทย และ มีพี่หมอเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ (จากไปแล้ว ) และ พี่กัญจนา ดีวิเศษ จาก ปราจีนบุรี ที่รับช่วง ทำงาน ฟื้นฟู อบรม สร้างคน อย่างเหนื่อยยาก มาตลอด 25 ปี

และปรมาจารย์ แพทย์แผนปัจจุบัน สองท่าน ที่สนับสนุนฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย ฝากรอยไว้ใน ศิริราช ตั้งแต่ ยุค 2530 จนมีการกระซิบ ให้ทางศิริราช ช่วยฟื้นฟู การแพทย์แผนไทย ใหม่ จากงานที่อาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ และ อาจารย์หมอกรุงไกร เจนพานิชย์ ได้ร่วมกับ ปรมาจารย์แพทย์แผนไทย ช่วยกัน สร้างแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่ ตั้งแต่ ยุคอายุรเวชวิทยาลัย ข้างวัดบวรนิเวศ บางลำพู จนไปอยู่ ที่ซอยราชครู ที่ดินของ อาจารย์หมออวย จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ส่วนหนึ่งที่อายุรเวช ก็กลับเข้าไปยังศิริราช และ จัดหลักสูตรบัณฑิต ปริญญาตรี

เดิอน กันยายน จัดเป็นเดือน ของ งาน มหกรรม การแพทย์แผนไทย มาตลอด ผมไม่รู้เบื้องหลัง การเลือกเดือน

แต่เดือนกันยายน เป็นเดือนแห่งการรำลึก ถึง อาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ (จากไปแล้ว) และ อาจารย์หมอไพโรจน์ นิงสานนท์ ( ปัจจุบัน จะอายุ 84 ปี ในวันที่ 9 กันยายน 2554 ) ผู้เป็นปรมาจารย์ ตัวจริง ครับ ผมเป็นเพียงผู้เรียนรู้รุ่นหลัง ตัวน้อยๆ

เรื่องสากล หรือไม่สากลนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่า ความรู้นี้ รับใช้คนไทย ได้มากขึ้น ดีขึ้น หรือไม่

สิ่งที่ผมเห็นขณะนี้ มีงานวิจัยตีพิมพ์ สากลมากขึ้นทวีคูณ แต่ความรู้และยาไทย ส่งต่อให้คนไทยได้รู้จักใช้ยังย่ำแย่มากมาก

บางทีไม่เป็นสากล แต่รับใช้คนไทยได้ดี อาจจะเข้าท่ากว่า คำนึงเรื่องความเป็นสากล นานาชาติ

เราเผยแพร่งานวิจัยให้สากลรู้ แต่เราไม่เผยแพร่งานวิจัยให้คนไทยได้รู้ เหมาะหรือไม่ และควรจะปล่อยไปเช่นนี้หรือไม่ น่าคิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท