เรื่องเล่าจากดงหลวง 91 พิธีก๊วบของไทโซ่


ความหมายในมุมมองแบบนักพัฒนาสังคม เป็นการบอกอย่างทางการให้ผู้เฒ่าในชุมชนทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นประโยชน์แก่ชุมชน และให้ชาวบ้านทุกคนทราบ โดยใช้พิธีนี้เป็นสื่อกลาง โดยมีเจ้าที่ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านรับรู้ รับทราบ

ใครจะเข้าไปอยู่อาศัยในหมู่บ้านไทโซ่เป็นระยะเวลายาวนาน เช่น ครูที่ไปสอนหนังสือแล้วจะต้องพักที่บ้านพักครู เจ้าหน้าที่โครงการระดับสนามที่ต้องพักในหมู่บ้าน เหล่านี้จะต้องทำพิธีบอกเจ้าที่ หรือ พิธีครอบ หรือพิธีก๊วบ ให้เจ้าที่ทราบเป็นทางการ เหมือนกับระบบทางราชการไทยที่มีการทำจดหมายส่งตัวให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทราบ  

แม้แต่การปลูกบ้านใหม่ หรือมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นก็ต้องทำพิธีก๊วบเช่นกัน โครงการที่ผมรับผิดชอบมีงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าก่อสร้างขึ้นกินพื้นที่ 1500 ไร่ มีอาคารสูบน้ำใหญ่โตเท่ากับตึก 3 ชั้น มีถังเก็บน้ำขนาด 2100 ลบ.ม. มีระบบท่อส่งน้ำฝังอยู่ใต้ดินมีความยาวรวมกันเป็นหลายสิบกิโลเมตร ค่าก่อสร้างตก 40 ล้านเศษ จะต้องทำพิธีก๊วบ บอกเจ้าที่เจ้าทางให้ทราบและให้ดูแลรักษา ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน  

พิธีนี้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านทราบเรื่องต่างก็มาร่วมงานมากมาย และจะต้องมีการฆ่ากันตายเซ่นสังเวยเจ้าที่ ผู้ที่ชะตาขาดคือหมูตัวใหญ่ ผู้ทำพิธีคือ เฒ่าจ้ำประจำหมู่บ้าน ผู้ที่ขาดไม่ได้ในพิธีคือ ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ทั้งหมดทุกสายสกุลจะต้องมาร่วม งานนี้ผู้เฒ่าดูจะมีศักดิ์ศรีมากกว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน   

 

พิธีก็คือ เอาหมูมาฆ่า เอาเครื่องในต้มไปเซ่นไหว้เจ้าที่ โดยจ้ำและผู้ใหญ่ในชุมชนจะเข้าไปรวมกันที่ศาลเจ้าที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ จ้ำจะมีขันธ์ 5 เป็นสื่อแสดงคารวะเจ้าที่แล้วบอกกล่าวถึงวันสำคัญวันนี้ให้ทราบ แล้วก็เอาเครื่องในทุกอย่างของหมูที่ต้มสุกแล้วมาเซ่นไหว้ ให้กินพร้อมรินเหล้าขาว ปล่อยให้กินสักพัก ก็เสี่ยงทายว่าอิ่มหรือยังโดยการโยนไม้สองชิ้นหากหงายหมดก็ถือว่าอิ่มแล้ว หากหงายหนึ่งอันคว่ำหนึ่งอันยังไม่อิ่ม ทิ้งเวลาให้กินต่อไปอีก หากคว่ำทั้งสองก็เอาเครื่องเซ่นไหว้มาเพิ่มเติม  

 

เมื่อการเสี่ยงทายพบว่าอิ่มแล้ว ก็จะมีการบอกกล่าวร่วมกันทั้งหมด เสียงดังเซ็งแซ่ ต่อหน้าศาลเจ้าที่ว่า ลูกหลานมาบอกให้ทราบว่ามีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นมาบ้านเรา ขอให้เจ้าที่ช่วยดูแลรักษาให้ใช้ประโยชน์แก่ลูกหลานในบ้านนี้ทั้งหมด ช่วยให้ทำงานได้ราบรื่นไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆมาเกิดขึ้น ฯลฯ แล้วก็บอกลาเจ้าที่  

ในระหว่างนั้นชาวบ้านอีกส่วนก็ไม่ได้ไปร่วมทำพิธี แต่จะเตรียมเนื้อหมูเป็นอาหารต่างๆตามต้องการ โดยมากก็คือ ลาบดิบ ลาบสุก ต้ม ลวกเครื่องในจิ้มแจ่ว  เมื่อเสร็จก็ยกเอามาให้ผู้เฒ่าของชุมชน กินก่อน แล้วทุกคนที่มาร่วมงานก็กินตามอัธยาศัย  ในกลุ่มผู้เฒ่าก็จะมีการพูดคุยกันในเรื่องดีเรื่องงามเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างนี้ การใช้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน ชุมชน การให้เกิดการราบรื่นในการดำเนินงาน ไม่มีอุปสรรคใดๆ ให้ศีลให้พรตามประสาผู้ใหญ่แก่ลูกหลานที่มาร่วมงานเป็นเสร็จพิธี

  • พิธีนี้จะต้องทำตามข้อเสนอของชุมชน
  • ผู้เฒ่า เจ้าโคตร จะต้องมาร่วมพิธีขาดไม่ได้
  • จะต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วยหมูเท่านั้น
  • ทุกคนในหมู่บ้านทั้งหญิงชายมาร่วมพิธีโดยไม่ต้องเชิญ  

ความหมายในมุมมองแบบนักพัฒนาสังคม เป็นการบอกอย่างทางการให้ผู้เฒ่าในชุมชนทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นประโยชน์แก่ชุมชน และให้ชาวบ้านทุกคนทราบ โดยใช้พิธีนี้เป็นสื่อกลาง โดยมีเจ้าที่ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านรับรู้ รับทราบ  

 

ข้อสังเกต ก่อนหน้าที่จะทำพิธีนี้ เกิดการลักขโมยชิ้นส่วนก่อสร้างขึ้นหลายประการ  แต่เมื่อทำพิธีแล้ว ไม่มีการลักขโมยอีกเลยจนถึงปัจจุบัน  และการทำหน้าที่ของแต่ละคน ทำโดยอัตโนมัติ ผมไม่เห็นมีการประชุมแบ่งงานกันอย่างเราคนนอกทำกัน  เหมือนแต่ละคนรู้หน้าที่และไม่ต้องมีใครมาบอกมาสั่ง ทำเอง ทำเลย

นี่คือพิธีตามประเพณีท้องถิ่นไทโซ่ดงหลวงที่ยังปฏิบัติอย่างเหนียวแน่น

(รูปที่แสดงเป็นการ copy มาจาก power point เรื่องนี้เพียงบางส่วน)

หมายเลขบันทึก: 94737เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2007 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
คนสมัยก่อนนี่คิดวิธีได้แยบยลดีนะครับ   ถ้าใช้วิธีในปัจจุบันอาจไม่ได้ผลดีเท่านี้ก็เป็นได้...

ใช่ครับคุณ join_to_know 

กว่าจะมีพิธีกรรมเหล่านี้และมีความหมายเช่นดังกล่าวคงพัฒนามาเป็นเวลานาน

โดยให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชนในด้านต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับกัน 

 แต่ปัจจุบันสภาพต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมาก

ผมเกรงว่าจะอยู่ได้อีกไม่นานพิธีกรรมนี้ก็หมดความศักดิ์สิทธิลงไป 

หรืออาจเหลือเพียงพิธีกรรมแต่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าถึงความหมายที่ลึกซึ้งนั้นๆได้ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • ต้องบอกว่า สงสารเจ้า "อะลิกกัน" ค่ะ แต่ก็เข้าใจวัตถุประสงค์ค่ะ
  • ชอบที่ความเชื่อแบบนี้กลายเป็นสิ่งยึดโยงชุมชนให้เกิดความสงบสุขได้ "ลูกหลานมาบอกให้ทราบว่ามีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นมาบ้านเรา ขอให้เจ้าที่ช่วยดูแลรักษาให้ใช้ประโยชน์แก่ลูกหลานในบ้านนี้ทั้งหมด ช่วยให้ทำงานได้ราบรื่นไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆมาเกิดขึ้น ฯลฯ" ชอบมากเลยค่ะ ชอบความเคารพผู้ใหญ่ เคารพธรรมชาติของชุมชน
  • อยากให้วัฒนธรรมดีๆ เหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป และถูกนำไปใช้ในทางที่ดี แต่ก็อย่างว่าแหละค่ะ สังคมเปลี่ยน ก็คงมีผลกระทบต่อคนในชุมชนบ้าง เพราะการเป็นอยู่เปลี่ยนไป
  • ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังเสมอนะคะ ได้มุมมองหลากหลายดีค่ะ..

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์

  • ผมก็ชอบความหมายของพิธีกรรมนี้(ยกเว้นการฆ่าหมู) มันสื่อถึงความสัมพันธ์ในชุมชนที่มีต่อกัน ที่มีต้อผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพของชุมชน
  • หากนักพัฒนาที่เพิ่มเข้ามาชุมชนใหม่ๆ มาร่วมพิธีนี้ก็จะรู้ดีว่าใครบ้างที่ควรจะไปกราบไหว้และขอคุยด้วย  ก็คือกลุ่มผู้เฒ่าทั้งหมดนั่นแหละครับ  ใครเป็นคนทำพิธี ก็เฒ่าจ้ำ ต้องไปคุยด้วย และผู้มีบทบาทต่างๆในพิธีนี้ ล้วนเป็นคนที่โครงสร้างสังคมเดิมกำหนด และมีความสำคัญก่อนที่โครงสร้างสังคมใหม่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ฯลฯ จะเข้ามาแทนที่โครงสร้างเดิม
  • ขอบคุณครับ

P P

ไม่เคยเห็นพิธีกรรมแบบนี้ แปลกดีค่ะ

สวัสดีครับ ท่านSASINANDA

  • เป็นของแปลกสำหรับผมด้วยครับ
  • แต่เราต้องปฏิบัติตามประเพณีของชุมชน
  • เพื่อให่เราเป็นหนึ่งซึ่งกันและกัน เพื่อการทำงานต่อไปในอนาคต และเพื่อความสะบายใจทั้งสองฝ่าย  โชคดีที่หน่วยงานราชการที่ผมทำงานด้วยเข้าใจและสนับสนุนงบประมาณมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายงานนี้ครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อ่านแล้วมีหลายอารมณ์มากเลยค่ะ

ทั้งสงสารเจ้าอะลิกกัน..

ทั้ง ( พยายาม ) เข้าใจเหตุผลที่ต้องฆ่า..

ทั้งชอบความเคารพที่มีทั้งต่อธรรมชาติและต่อคน..ความมีสัมมาคารวะ..การบอกกล่าว..การอวยพรด้วยคำดีๆ..ความปรองดอง..ความเข้าใจ....การเห็นประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ

ทั้งนิ่งกับความรู้สึกว่าประเพณีความเชื่อที่เป็นสิ่งยึดโยงชุมชนเหล่านี้..จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ จะมีใครที่เข้าใจเหตุผลของการกระทำเหล่านี้อย่างแท้จริง..ความเคารพต่อทุกสิ่งทำให้โลกนี้สงบนะคะ

เบิร์ดพยายามส่งไฟล์อยู่ค่ะพี่บางทราย บีบไฟล์เป็น zip แล้วแต่ server ไม่ยอมส่งให้ แต่จะพยายามต่อไปค่ะ

สวัสดีครับพี่บางทราย

ในท้องถิ่นทางภาคเหนือหลายจังหวัดยังมีพิธีกรรมคล้ายๆ กับพิธีก๊วบ นี้แต่ก็มีข้อแตกต่างกันไปตามชุมชนหรือกลุ่มชนครับ ที่จังหวัดน่านก็มีพิธีเลี้ยงผีเหมือนกันกับ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนับถือพระและผี ควบคู่กัน แต่มีมีความเจริญทางเทคโนโลยีเข้าไป ความศัทราที่มีก็เริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ ครับ 

   สมัยก่อนการจะได้กินเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว หมู หรือเป็ดไก่ จะกินกันในงานพิธี หรืองานเลี้ยงขนาดใหญ่เท่านั้น

   และสมัยก่อนไม่มีตลาด  จึงต้องฆ่ากินเอง

   ต่อไปก็ไปสั่งหมูตลาด

   พิธีกรรมก็เปลี่ยนไปตามสมัย เทคโนโลยี

    คนไม่มีเวลาจะให้กับพิธีกรรม มีแต่รีบเร่งหาเงิน

    แข่งขันกัน คิดว่าต้องมีเงินมากๆ เข้าไว้จึงจะมีความสุข

สวัสดีน้องเบิร์ด

เวลามีเจ้าหน้าที่ใหม่เข้ามาและต้องมาอยู่บ้านนี้ ก็ต้องทำพิธีก๊วบนี้ แต่กินหมูตัวเล็กหน่อย

มีครูท่านหนึ่งย้ายออกไปตามคำสั่งราชการ แต่ไม่ได้ทำพิธีก๊วบร่ำลาเจ้าที่ แต่ลาชาวบ้าน  ปรากฏว่าครูท่านนั้นปวดหัว ไม่สบายรักษาอย่างไรไม่หาย เลยต้องกลับมาทำพิธีก๊วบลาเจ้าที่ อาการทั้งหมดก็หายไป ???? ไม่มีคำอธิบายนะอย่างนี้

พี่ชอบมากที่พิธีกรรมนี้ได้เชิดชูผู้เฒ่าผู้แก่ และโครงสร้างชุมชนแบบดั้งเดิม ความจริงบ้านนี้เป็นบ้านกำนันด้วยนะครับ  แต่กำนันเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย แค่ร่วมพิธี บทบาททั้งหมดอยู่ที่ "จ้ำ" ผู้เฒ่า ผู้อาวุโส และคนรู้งานของชาวบ้าน ในเงื่อนไขการปกครองตามระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น ผู้เฒ่าเกือบไม่มีบทบาทเช่นกัน

ไม่เป็นไรครับเรื่อง Zip file คอยได้ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับภูคา

ในชนบทส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อเลี้ยงผีอยู่ โดยเฉพาะพวกกลุ่มชนเผ่าต่างๆ

งานศึกษาเรื่องผีนี้ทางมานุษยวิทยาดูจะมีหลายเล่ม ของท่านอาจารย์ ฉลาดชาย รมิตานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีเรื่อง "ผีเจ้านาย" ซึ่งผมเองก็ประสพมากับตัวเองที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ นายวรชัย หลักคำ

สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้นเป็นความจริงครับ ผมเองก็เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

เพียงแต่ว่าในฐานะที่เราทำงานพัฒนาชุมชนจะทำอย่างไรจึงจะดัดแปลง ปรับปรุงให้คุณค่าดีๆของพิธีกรรมเหล่านั้นสืบสานต่อไป แม้จะอยู่สังคมใหม่ก็ตาม

มีคนกล่าวเสมอว่า แม้ว่าสังคมจะไฮเทคอย่างไร ความเชื่อเรื่องเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบและการใช้ประโยชน์ไปเท่านั้น

เราเคยเห็นเศรษฐีขับรถราคา 15 ล้านซึ่งมีคันเดียวในประเทศไทย เป็นรถที่หรูหราที่สุด ไฮเทคที่สุด แต่ก็ไปให้พระท่านเจิมเป็นศิริมงคล ??

แต่อีกด้านหนึ่งอย่างที่กล่าวว่า เมื่อคนรีบเร่ง แข่งกันทำเงิน เรื่องดีดีของเดิมก็หดหายไป ลดรูปไป ความหมายหมดไป

ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมแลกเปลี่ยนกัน

สวัสดีครับพี่บางทราย

เรื่อง "ผีเจ้านาย" ซึ่งผมเองก็ประสพมากับตัวเองที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่

เป็นไงมาไงครับ อยากฟังครับ

สวัสดีครับภูคา

ตกลงครับจะล่าให้ฟัง เป็น post ต่อไปก็แล้วกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท