เรื่องเล่าจากดงหลวง 135 เจตนาดีแต่เกิดผลร้าย


ท่ามกลางค่านิยมแห่งการบริโภคของสังคมเมืองที่แผ่เข้าไปถึงชนบทจนหมดสิ้นแล้วนั้น วงจรหนี้สินกำลังเป็นมะเร็งร้ายเกาะกินครอบครัว ชุมชนและแพร่ขยายความรุนแรงมากขึ้นทุกวี่วัน ผู้บันทึกมีตัวเลขที่จัดเก็บมาจากหมู่บ้านด้วยกระบวนการ PRA และพบว่า เกษตรกรกลุ่มที่มีฐานะปานกลางมีเงินคงเหลือต่อปีประมาณ 5,000 บาท แต่มียอดหนี้สินจำนวน 122,000 บาทต่อครอบครัว ส่วนคนยากจนในชุมชนนั้น มีเงินติดลบ 9,000 บาทและยังมียอดหนี้สินอีก 42,000 บาทต่อครอบครัว

ในชีวิตการทำงานของเราพบกันบ่อยที่มีการแสดง เจตนาดีแต่กลับเกิดผลร้าย หรือ ประสงค์ดีแต่ผลกลับเกิดในทางที่เสียหาย มากน้อยแล้วแต่กรณีไป สิ่งที่ผู้บันทึกจะกล่าวต่อไปนี้ก็คือการแก้ปัญหาชนบท ทุกยุคสมัยมักจะกล่าวกันว่าความยากจนนั้นเกิดจากปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือการที่เกษตรกรไม่มีเงินในการลงทุนทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเกษตรรัฐก็ตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือที่เราคุ้นกันดีในชื่อ ธกส.  

หลังจากนั้นก็มีสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเสนอให้เกษตรกรสมัครเป็นสมาชิกมีกิจกรรมหลายประการรวมทั้งการกู้เงินเพื่อการลงทุนการเกษตร ขึ้นกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต่อมาก็มีกองทุนในระดับหมู่บ้านที่เรียก กข.คจ. หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บักสองแสนแปด ขึ้นกับกรมการพัฒนาชุมชน วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่ยากจนในชุมชนมาแสดงตัวกู้เงินไปทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว  

ที่ฮือฮา สุดสุด และยังเป็นกรณีที่หยิบมาพูดคุยกันไม่จบคือ กองทุนหมู่บ้าน หรือเงินล้านของรัฐบาลชุดที่แล้วทั้งชื่นชมและก่น เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เข้าไปให้ชาวบ้านบริหารงานกันเอง ดีก็ดีไป หากไม่ดีก็จะทำให้ชุมชนพังได้ 

นอกจากนี้ก็มีแหล่งเงินอีกหลายแหล่งที่ถูกตั้งขึ้นในชุมชนเช่น กลุ่มออมทรัพย์ของหน่วยงานต่างๆทั้งรัฐและเอกชน กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน และธนาคารชุมชนที่เพิ่งจะเข้าไป ไม่นับธนาคารพาณิชย์ และแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ยังมีบทบาทที่สำคัญอยู่ในปัจจุบัน หรือกองทุนเพื่อเกษตรกรของหน่วยงานรัฐต่างๆอีก เช่น กองทุนเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ของ สปก. 

โดยภาพรวมเช่นนี้ น่าจะกล่าวได้ว่าชนบทกล่าวไม่ได้อีกแล้วว่าไม่มีแหล่งเงินเพื่อการลงทุนการเกษตร ตรงข้ามมีมากเกินไปเสียด้วยจนเกิดการกู้ที่นอกเหนือวัตถุประสงค์เดิมที่เพื่อการลงทุนทางการเกษตรและกิจกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ครอบครัว เหลือแต่ว่า บริหารจัดการกันอย่างไร ซึ่งนี่แหละคือปัญหาในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลเสีย เพราะท่านเกษตรกรจำนวนมากมิได้กู้เงินไปตามวัตถุประสงค์ หรือมิได้กู้เพื่อการลงทุน หรือเป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ Non Profit Loan  

ท่ามกลางค่านิยมแห่งการบริโภคของสังคมเมืองที่แผ่เข้าไปถึงชนบทจนหมดสิ้นแล้วนั้น วงจรหนี้สินกำลังเป็นมะเร็งร้ายเกาะกินครอบครัว ชุมชนและแพร่ขยายความรุนแรงมากขึ้นทุกวี่วัน ผู้บันทึกมีตัวเลขที่จัดเก็บมาจากหมู่บ้านด้วยกระบวนการ PRA และพบว่า เกษตรกรกลุ่มที่มีฐานะปานกลางมีเงินคงเหลือต่อปีประมาณ 5,000 บาท แต่มียอดหนี้สินจำนวน 122,000 บาทต่อครอบครัว ส่วนคนยากจนในชุมชนนั้น มีเงินติดลบ 9,000 บาทและยังมียอดหนี้สินอีก 42,000 บาทต่อครอบครัว 

ยอดเงินกู้เหล่านี้มาจากกองทุน และแหล่งเงินกู้ในชุมชนนั้นเอง หากกลับไปดูว่าทำไมจึงเป็นหนี้สินกันมากมายขนาดนี้ พบว่า

  • เป็นการกู้เงินมาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อเกิดรายได้ พูดอีกทีคือ ไม่ได้ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของกองทุนต่างๆนั้น เช่นที่ทราบกันดีคือ บอกกู้มาลงทุนการเกษตร แต่มาซื้อรถมอเตอร์ไซด์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  • ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ
  • การลงทุนซ้ำเพราะประสบความล้มเหลวในการลงทุนครั้งแรกเพราะปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่มีอยู่ เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ราคาผลผลิตตกต่ำ โรคระบาด ฯลฯ

 แต่เมื่อเอาเหตุผลต่างๆมาจัดลำดับก็พบว่าการกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อเกิดรายได้มีจำนวนมากที่สุด โอ้พระเจ้าช่วย กล้วยปิ้ง..มันจะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหนครับ นี่คือภาระที่รัฐจะต้องหยิบมาพิจารณาแก้ไขในระยะยาวต่อไป ส่วนผู้บันทึกรับเอาไปเต็มๆสำหรับงานใน Phase ต่อไปของโครงการ  

หมายเลขบันทึก: 114831เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะพี่บู๊ท

แหะๆ  แต่ทรศัพท์มือถือ หรือ สื่อเสียง  กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นนี่  สำคัญนะคะ  โทรศัพท์มือถือ เป็นปัจจัยที่ 6 ของเขาเลยค่ะ (ปัจจัยที่ 5 คือ ไม้เท้าขาว )  เด็กๆไปไหนๆได้สะดวกสบาย  หายกังวลเพราะมีโทรศัพท์มือถือค่ะ  เมือมีปัญหาติดต่อกับเพื่อนๆและ DSS ได้อ่ะค่ะ  รวมถึงเอาไว้บันทึกเสียงต่างๆ เช่น ในเวลาเรียน  หรือเพื่อนๆติวอ่ะค่ะ

นี่หนิงก็เพิ่งเขียนบันทึกเกี่ยวกับเครือข่ายมือถือ  อิอิ

สวัสดีครับน้องหนิง

  • รับฟังได้ และเป็นเหตุเป็นผลครับในกรณีที่เป็น Disability เพราะเป็นอุปกรณ์จำเป็น เหมือนกับที่เขาบางคนอาจจะต้องมีเก้าอี้รถนั่งที่ราคาไม่ถูกเลย
  • แต่ในกรณีที่พ่อแม่ซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูกวัยรุ่นขับเล่น โดยไม่ได้ใช้เพื่อการผลิตครับ หรือซื้อมือถือเอาไว้คุยกันเท่านั้นโดยที่ไม่ก่อประโยชน์อย่างสมเหตุสมผล
  • ในทางตรงข้ามเทคโนโลยี่เหล่านี้ หรือมากกว่านี้อาจจะเหมาะสมในกรณีที่เขาเอาไปใช้เพื่อประโยชน์แก่การดำรงชีวิตจริงๆ หรือสอดคล้องกับเงื่อนไขของครอบครัวที่อยู่ในสภาวะใดๆที่เหมาะสม

ขอบพระคุณค่ะพี่บู๊ท  ที่เข้าใจ

หนิงก็ว่าอยู่ว่า...เอ๊ะ  หนิงมาโพสต์ ความคิดเห็นอะไรที่แปลกไปใน blog นี้หรือป่าวน๊า...

อิอิ

สวัสดีครับน้องหนิง

  • เข้าใจครับ
  • นี่อาจเป็นปัญหาผู้บันทึกที่บันทึกคลุมเครือ ไม่ชัดเจนครับ
  • บันทึกสั้นไปก็อาจเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ บันทึกยาวไปก็น่าเบื่อ ขี้เกียจอ่าน
  • ความยาวของบันทึกที่พอดีอยู่ตรงไหน บางทีพี่ก็กำหนดยาก แต่พยายามทำให้ กระชับที่สุด ได้ใจความที่สุด ตามแบบของนักสื่อสารมวลชนน่ะครับ แต่ก็อาจจะหลุดบ้าง
  • บางเรื่องไม่อยากเขียนหลายบท อยากให้จบภายในบันทึกนั้นๆเลย แต่สาระยาวเกินไป พยายามทำให้พอดีๆ ประมาณ 1 หน้ากระดาษ A4 โดยใช้ Font ของ Tahoma 12 หรือ 13 ครับ เพื่อให้อ่านง่าย แต่ก็ยังยาวไป
  • ยิ่งบันทึกใดที่อยากใส่รูปก็ยิ่งใช้พื้นที่มากหน่อย
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม
คูณ คนเข็นครก ขึ้นภูเขา ครับ ผมไปทำงานในชนบทมานานหลายปี  โง่ จน เจ็บ  ผมเรียนมาอย่างนี้ มันรอ REVOLUTION ครับ ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือหลักการหรอกครับมันจะอดตายที่ดินเป็นของนายทุน(เหล้า)หมด เป็นทาศยุคใหม่ยืมเงินเป็นหนี้ ผู้นำที่ทำท่าทางดีๆเข้าเป็นรัฐบาลชุดที่แล้วอุดมการณ์ถูกกลบด้วยแบงค์หมด สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอากาศวิปริตเหตุการณ์มันบังคับมันก็เกิดการรวมตัวกันเองผมเชื่ออย่างนั้น wait  &  see  ครับ
  • สวัสดีค่ะพี่ไพศาล
  • หว้าไปจัดเวทีให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญมา
  • ก็เจอคำถามเกี่ยวกับพวกกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมาเหมือนกัน   ถ้าอยู่แต่มหา'ลัยเราก็คงมองแต่ระดับนโยบายของรัฐบาล
  • แต่เมื่อมาสัมผัสกับในชุมชนจริงๆ   รู้สึกเสียดายนะคะที่กองทุนเหล่านั้นถูกนำไปใช้ซื้อแต่สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ แทนที่จะนำไปลงทุนทางการเกษตร
  • แล้วก็ทำให้ชาวบ้านเคยชินกับการเป็นหนี้เป็นสิน  การดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป  
  • คุยแล้วก็เศร้าใจจังค่ะ

สวัสดีค่ะ

การกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อเกิดรายได้มีจำนวนมากที่สุด โอ้พระเจ้าช่วย กล้วยปิ้ง..มันจะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหนครับ

เรื่องนี้ ไม่แปลกใจค่ะ รู้อยู่แล้วต้องเป็นแบบนี้ เป็นอย่างนี้มานานมากแล้วค่ะ

ทางการเอาอะไรไปล่อเขาให้เกิดกิเลส

พวกเขาก็อยากมีอย่างคนกรุงเหมือนกัน

ทางที่ดี น่าจะสร้างวินัย ทางการเงินและแนวทางการลงทุนให้เขามากกว่าค่ะ

สวัสดีครับ Pro Wa

  • ทันทีเลยนะครับ โปรฯ ครับ ผมเพิ่งไปเยี่ยมโปรฯมา
  • การใช้จ่ายเงินเป็นเรื่องของการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล การที่ปัจจเจกตัดสินใจเป็นสิทธิของเขา แต่เป็นปัญหาของสังคม ประเทศชาติ
  • ขณะที่เราคุยกันเรื่องนี้ ที่หน้ากระทรวงเกษตรก็มี Mob เกษตรกรไปเรียกร้องรัฐบาลเรื่องภาระหนี้สิน ที่เขาเหล่านั้นมีหนี้สินมากมายและกำลังโดนสถาบันการเงินดำเนินการตามระเบียบของเขา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ก็ต้องไปร้องขอจากรัฐให้มาช่วยหาทางออก...
  • การเกิดหนี้สินแม้จะเป็นเรื่องบุคคล แต่มันกลายเป็นปัญหาดังกล่าวผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องช่วยกันวิเคราะห์และหาทางสร้างทัศนคติใหม่แก่เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปด้วยในการตัดสินใจเป็นหนี้
  • มันมีทางครับ เพียงแต่ยังไม่ได้ทำกันเท่านั้นครับ
  • ขอบคุณครับโปร ผมจะขึ้นเชียงใหม่เดือนหน้า อาจมีโอกาสแบกถุงกอล์ฟไปออกกำลังกายบ้างครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้อง P อ.ลูกหว้า

  • พี่ติดตามการเสียสละของน้องประจำ
  • ดีมากครับที่ได้มีโอกาสรับใช้ประเทศชาติในเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วยังได้มีโอกาสเรียนรู้ รับรู้เรื่องอื่นๆที่เป็นประโยชน์อีก ดีจังเลยครับ
  • ยกนิ้วให้เลย
  • นักวิชาการกลัวอะไรที่สุดครับ กลัวการขาดลอยหลุดไปจากสิ่งที่เป็นจริงในสังคม
  • เห็นด้วยครับว่านักวิชาการต้องลงไปใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น และก้าวให้ทันวิชาการที่ทันสมัยที่สุดด้วย "เราเรียกว่านักวิชการติดดิน"
  • จะได้เจอะกันที่เชียงใหม่ไหมหนอ.. 

สวัสดีครับ P sasinanda

  • ผมเห็นด้วยครับว่าเรื่องนี้มีมานานแสนนานแล้วครับ และยังจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกครับ
  • ผมเห็นด้วยว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างให้เกษตรกรผู้กู้เงินรู้จักการบริหารการเงินอย่างมีวินัย ที่มิใช่เพียงแต่พิจารณาเอกสารการกู้เงินว่าถูกต้องตามระเบียบแล้วก็อนุมัติให้เงินไป เกษตรกรก็เรียนรู้ว่าจะเขียนเอกสารอย่างไรจึงจะสามารถทำให้คณะกรรมการอนุมัติเงินได้ ส่วนเอามาใช้อย่างไรนั้นไม่มีใครตามมาดู  หรือทั้งๆที่รู้กันอยู่ก็เฉยๆกัน เพราะเป็นเรื่องความรับผิดชอบของเขา เราไม่ยุ่ง..
  • ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์มาจากกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนมาก่อน(เป็นกลุ่มออมทรัพย์ประเภทหนึ่ง) กฏ กติการะเบียบของกลุ่มจะรัดกุมและกำกับการใช้ประโยชน์อย่างใกล้ชิดมากกว่า โดยชาวบ้านช่วยกันเอง
  • คิดได้แต่ในทางปฏิบัติจริงๆคงไม่ง่ายเลยที่คณะกรรมการกลุ่มกองทุน หรือ ธกส. สหกรณ์จะตามไปดูทุกคนที่เอาเงินไปใช้ประโยชน์อย่างไร
  • หากคิดว่าความมีวินัยเป็นทางออก เราจะสร้างวินัยอย่างไรในระดับชาวบ้าน น่าสนใจครับ
  • ขอบคุณครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท