เรื่องเล่าจากดงหลวง 116 มนต์ของความทันสมัย


เรื่องเหล่านี้อาจจะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับหลายๆท่าน แต่หากมองในมุมของทุนทางสังคม นี่คือสิ่งที่เข้ามากัดกร่อนรากเหง้าของทุนให้ผุกร่อนไป ไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไป การช่วยเหลือสนับสนุนก็จะหมดสิ้นไปเพราะคำพูดของคนเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป

ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาเปิดวิทยุแก๊กเดียว เสียงโษณาขายสินค้าต่างๆก็ดังกรอกหูวันยังค่ำ สลับเสียงเพลงที่สามารถร้องขอให้เปิดนักร้องที่ชื่นชอบได้  เปิดทีวีก็เห็นสินค้าสวยงามพูดจาจนเราอยากจะมีอยากจะเป็นอย่างที่เขาโฆษณา 

มันไปกระตุ้นจิตใจเด็กวัยรุ่นทั้งหลายที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นอย่างนั้น ใฝ่ฝันที่อยากมีอย่างนั้น วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า จนในที่สุดความอยาก ความต้องการที่จะมีจะเป็นทำให้เกิดแรงขับมีอุณหภูมิกิเลสสูงขึ้นขีดสุดจนไม่สามารถที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรได้  

น้องหน่อย เป็นนักเรียนชั้น ม 3 เธอก็เหมือนคนอื่นๆที่ตกอยู่ในบรรยากาศของการไหลบ่าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ แฟชั่นเสื้อผ้า  เครื่องประดับความสวยงาม กระเป๋า ทรงผม เครื่องประเทืองผิว สารพัด รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ ที่เพื่อนๆในชั้นเรียนหลายคนก็มีใช้กัน  ฐานะที่บ้านเธอไม่เอื้ออำนวยที่จะร้องขอให้พ่อแม่ซื้อหามาให้ได้ แต่ในใจเธอนั้นพลุ่งพล่านที่จะหาทางมีมือถือสวยๆสักเครื่องให้ได้ มันจะเท่ห์ระเบิด เอาไปอวดเพื่อน เอาไปแสดงความทันสมัยกับเพื่อนๆ ซึ่งก็เป็นความบริสุทธิ์ที่เด็กคนไหนๆก็คิดอยากจะมีกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าครอบครัวคงพูดจากันถึงความเหมาะสมมากกว่าที่จะปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปสัมผัสเส้นปฏิกิริยาที่ไม่สามารถควบคุมสติได้ ว่าความเหมาะสมคืออะไร 

แล้วน้องหน่อยก็ยกหูโทรศัพท์ถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งท่านมีบุตรสาวเป็นเพื่อนกัน  

น้องหน่อย: คุณแม่ขา...เสียงน้องหน่อยพูดจาไพเราะกับอาจารย์ท่านนั้น

อาจารย์:     มีอะไรหรือลูก..ด้วยความที่เป็นเพื่อนลูกและเคยมาเที่ยวเล่นที่บ้าน

น้องหน่อย: คุณแม่ขา หนูมีเรื่องขอปรึกษาหน่อยค่ะ.. คือว่าคุณยายหนูป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ คุณแม่หนูลงไปดูแลคุณยาย คุณพ่อก็ไม่อยู่ อีกสองวันจะเปิดเทอมแล้วหนูยังไม่มีเงินค่าเทอม  ค่าเสื้อผ้าเลยค่ะ หนูอยากจะขอยืมเงินคุณแม่สักหนึ่งหมื่นเพื่อไปเสียค่าเทอมและค่าเสื้อผ้าค่ะ เอาไว้คุณแม่หนูกลับมาจากการดูแลคุณยายหนูจะเอาเงินมาคืนค่ะ

อาจารย์: คุณยายหนูเป็นอะไรไม่สบาย อายุเท่าใดแล้วและอยู่โรงพยาบาลอะไร..

น้องหน่อย: หนูไม่รู้รายละเอียดค่ะ คุณแม่ไม่ได้บอก 

ในที่สุดเพื่อสนับสนุนการศึกษาเพื่อนลูกสาวและช่วยเหลือภาวะเดือดร้อน อาจารย์จึงโอนเงินให้เป็นจำนวนหนึ่งหมื่นบาท 

ลูกสาวอาจารย์ไม่ได้เรียนที่เดียวกันกับน้องหน่อยแล้ว ย้ายไปเรียนโรงเรียนอื่น จึงไม่ได้ซักถามอะไรเพิ่มเติมอีก อาจารย์เอาเรื่องราวมาเล่าให้ครอบครัวฟังต่างก็โมทนาสาธุในความเมตตาครั้งนั้น
 

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน..สองเดือน ก็ไม่มีข่าวคราวติดต่อมาจากครอบครัวนี้อีกเลย น้องหน่อยก็เงียบหายไป ผิดวิสัยผู้เดือดร้อนที่มาขอความช่วยเหลือ  อาจารย์เริ่มแปลกใจ ในที่สุดอาจารย์โทรศัพท์ไปสอบถามแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร  

วันเวลาผ่านไป ไม่มีการติดต่อมาจากครอบครัวน้องหน่อย อาจารย์พยายามโทรศัพท์ติดต่อในที่สุดได้คุยกับคุณแม่น้องหน่อย เธอเป็นแม่ค้าขายของเล็กๆน้อยๆในตลาด มีรายได้พอกินไปวันวัน คุณยายมีจริง ป่วยจริงและเสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าลูกสาวโทรมาขอยืมเงินไปเสียค่าเล่าเรียนและค่าเสื้อผ้า  

ในที่สุดความจริงก็เปิดเผยออกมาว่า น้องหน่อยสร้างเรื่องขึ้นมาอิงเรื่องจริงแล้วมาขอยืมเงินดังกล่าว วัตถุประสงค์ที่ทราบภายหลังคือ ต้องการเอาเงินไปซื้อ มือถือรุ่นที่เธอหมายปองมานานแล้ว คุณแม่น้องหน่อยไปตรวจสอบบัญชีเงินก็พบหลักฐานว่ามีเงินโอนมาจริงหนึ่งหมื่นบาท และถูกถอนออกไปจริง 

น้องหน่อยสารภาพว่าอยากได้มือถือจึงกระทำดังกล่าวขึ้น คุณแม่น้องหน่อยรับปากกับอาจารย์ว่าจะหาเงินมาคืนให้  แต่จนบัดนี้นานหลายปีแล้วเงินก็ไม่ได้คืน การติดต่อก็หายสาบสูญไป อาจารย์ได้อุทิศเงินจำนวนนั้นไปแล้ว  

เรามิอาจกล่าวโทษแก่เด็กแต่เพียงด้านเดียว แต่มันมีที่มาที่ไป มีองค์ประกอบหลายด้านหลายอย่างที่ประกอบกัน ต่างหล่อหลอมจิตใจเด็กน้อยให้ตัดสินใจทำเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีใครคาดคิดถึงหรอกว่าลูกสาวของฉันจะคิดทำสิ่งเหล่านี้ 

นี่คือผลของลัทธิบริโภคนิยม ความทันสมัย  ค่านิยม จิตใจที่ไม่สามารถควบคุมได้ น้องหน่อยจึงเป็นตัวอย่างเล็กๆของผลงานของสังคมแบบนี้ อาจารย์เป็นตัวอย่างหนึ่งในจำนวนมากมายที่ตกเป็นเหยื่อของผลการหล่อหลอมจิตใจของลัทธิบริโภคนิยมแก่วัยรุ่น   

เรื่องเหล่านี้อาจจะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับหลายๆท่าน แต่หากมองในมุมของทุนทางสังคม นี่คือสิ่งที่เข้ามากัดกร่อนรากเหง้าของทุนให้ผุกร่อนไป ไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไป การช่วยเหลือสนับสนุนก็จะหมดสิ้นไปเพราะคำพูดของคนเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป  

เด็กน้อยไม่เคารพผู้ใหญ่ในทางตรงข้ามคิดหลอกผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำไป

คำสำคัญ (Tags): #ทุนทางสังคม
หมายเลขบันทึก: 102864เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

เด็กน้อยไม่เคารพผู้ใหญ่ในทางตรงข้ามคิดหรอกผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำไป

ขอ่ปลี่ยนเป็น หลอก นะคะ

แย่จริงเด็กคนนี้ แล้วเขาทำอย่างไรกับเด็กคะ

อยากเห็น คุณธรรมนิยม จริยธรรมนิยม ศีลธรรมนิยม พอเพียงนิยม จากสังคมมากๆ เลยค่ะ..  ตอนนี้เห็นแต่ บริโภคนิยม วัตถุนิยม ... T_T

วันนี้เพิ่งลงลายมือชื่อให้นศ. ๒ คนกู้เงิน กยศ เพื่อเรียน ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ... ซักประวัติอยู่พักหนึ่ง (ข้อสังเกตคือ พ่อแม่แยกกันอยู่ทั้งคู่)  ก็คงต้องคอยสอดส่องดูแลติดตามค่ะ เพราะไม่อยากให้เขาเป็นหนี้แบบผิดๆ กู้เงินเรียน ถ้าเรียนไม่จบก็แย่.. เรียนจบแล้วไม่ใช้คืนก็แย่ หรือไม่จำเป็นต้องกู้แต่กู้เพราะอยากได้วัตถุก็แย่ค่ะ...

ก็ต้องช่วยกันดูแลตักเตือนกันไปค่ะ..

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

เงินจำเป็นสำหรับการศึกษามาก การลงทุนด้านนี้จำเป็นจริงๆ กองทุนเงินกู้เป็นโอกาสสำหรับผู้ด้อยโอกาส

แต่การใช้เงินให้เกิดประโยชน์นั้นก็คงจำเป็นต้องให้คำแนะนำด้วย เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

สวัสดีครับท่าน
P

ขออภัยที่เขียนผิด และผิดบ่อยๆ เพราะไม่ได้ตรวจสอบครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณบางทราย

ผมมีเรื่องคล้ายๆเรื่องของน้องหน่อยเลยล่ะครับ

แต่เป็นเรื่องที่นักศึกษาส่วนหนึ่งกู้เงินจากกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาอุตส่าห์เซ็นชื่อรับรองให้อย่างดี พอกู้ได้กลับเอาไปซื้อ"มือถือ"

ต่อไปคงเชื่อใจนักศึกษาลำบาก  ทั้งๆที่ในใจก็รู้นะครับว่าเป็นเพียงนักศึกษาส่วนน้อย

P

สวัสดีครับอาจารย์

  • อิทธิพลของความทันสมัยนั้นมันเข้ากันดีกับ "วัยรุ่น" ดังนั้นวัยนี้จึงเป็นเป้าหมายของตลาดสินค้าพวกนี้ นักประชาสัมพันธ์มือดี ได้ใช้วิชาการเต็มที่สำหรับสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ ท่านเหล่านั้นเก่งจริงๆ เก่งจนเด็กสาวคนหนึ่งต้องทำผิดหลักศีลธรรม นักศึกษาทำผิดวัตถุประสงค์
  • เป็นมุมมองเล็กๆมุมหนึ่งเท่านั้นครับ อาจารย์ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท