AAR Peer Assist ระหว่างทีม รพ.แพร่ รพ.นนทเวช กับ รพ.เทพธารินทร์ (๑)


แค่เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งเราไม่รู้ และนึกไม่ถึง ตอนนี้เราได้ความกระจ่างไปแล้ว เราก็จะแก้ปัญหาแบบนี้ และก็สามารถพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น

เราได้จัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนเรื่องการดูแลเท้า ระหว่างทีม รพ.แพร่ รพ.นนทเวช และ รพ.เทพธารินทร์ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๖-๗ ตุลาคม ๒๕๔๙ (อ่านที่นี่) ช่วงเวลาที่ทำ AAR เราบันทึกเทปไว้ คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ได้ถอดเทปเสร็จเรียบร้อยมาหลายวันแล้ว วันนี้ดิฉันเพิ่งจะมีโอกาสนำมาบันทึกในบล็อก เพื่อให้สมาชิกได้เห็นพลังของ "เพื่อนช่วยเพื่อน" เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างยาว จึงจะขอแบ่งเป็น ๓ ตอน

ทีมโรงพยาบาลแพร่
คุณกรรณิการ์ ปัญญาวัน นักกายภาพบำบัด

คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรม คือครั้งแรกกายภาพบำบัดจะไม่ได้เข้าร่วมกับทีมเบาหวานของโรงพยาบาล เพราะว่าหมอ พยาบาลเขาเก่งกันอยู่แล้ว เป็นพระเอก นางเอก ทำเองทุกอย่าง ส่วนของการ exercise พยาบาลก็ทำเองหมด กายภาพฯ ก็จะไม่ได้มายุ่งกับตรงนั้น ตอนหลังเราก็รู้สึกว่าถ้าละครมีแต่พระเอกกับนางเอกก็คงจะไม่สนุก มันต้องมีตัวประกอบเป็นการเพิ่มอรรถรส ก็เริ่มมีนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ มีเภสัชกร แล้วก็อาจจะต้องไปชักชวนนักกายอุปกรณ์เข้ามาร่วมทีมด้วย เพื่อให้ครบวงจร ตอนแรกคือเป็นน้องใหม่ ยังไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายในการเข้ามาร่วม คิดว่ากายภาพบำบัดก็คงเกี่ยวกับการ exercise ทั่วไปที่เราให้กับคนไข้ เป็นกรุ๊ป exercise ให้กับคนไข้เบาหวาน เพราะ case ที่เราพบถ้าไม่เป็นคนไข้ amputate แล้ว ก็จะเป็นทั่วๆ ไปที่ยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นแผลก็จะเกี่ยวกับศัลยฯ มากกว่า

พอมาปุ๊บก็รู้สึกว่าได้เกินความคาดหมาย เพราะไม่คิดว่ากายภาพฯ จะมาดูเรื่อง foot เรียนก็ไม่ได้เรียนมา แต่ว่าจะเรียนพื้นฐาน anatomy การทำรองเท้าก็จะเป็นของช่างกายอุปกรณ์ ก็จะได้เรื่องเกี่ยวกับ insole และ off loading หรือเรื่องรองเท้า เทคนิค วิธีการไปแนะนำคนไข้อย่างไร ต้องให้คนไข้เลือกใช้รองเท้าอะไรแบบไหนบ้าง

แล้วก็คิดว่ากลับไปที่โรงพยาบาลก็คงต้องไปเริ่มต้นทำบางอย่าง อย่างเช่นการทำ insole ก็ต้องไปคุยกับนักกายอุปกรณ์ดูว่าเราจะสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เพราะ insole ราคาก็ค่อนข้างแพงเหมือนกัน แพงกว่ารองเท้าอีก รองเท้าไม่กี่ร้อย insole ต้องหลายพัน แล้วก็เรื่อง off loading ดูแล้วไม่น่ายาก แต่ว่าการตัดที่โรงพยาบาล คนไข้ของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านทั่วไป ค่าใช้จ่ายอะไรโรงพยาบาลก็จะรับซะเยอะ ก็คงต้องไป apply วัสดุที่จะนำมาใช้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกซักระยะ ทีม DM ก็คงติดตามว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
หากจัดกิจกรรมแบบนี้คิดว่าต้องปรับปรุง คิดว่าเพิ่มในส่วนอื่น มากรุ๊ปเล็กก็ดีเหมือนกัน คืออย่างเรามากรุ๊ปเล็กจะถามอะไรก็ถามได้สะดวก แล้วก็เวลาปฏิบัติงานก็ O.K. ถ้าคนเยอะๆ เราอาจไม่ได้ความรู้มากเท่า ถ้าจัดครั้งต่อไปเราก็อาจจะให้มีการแลกเปลี่ยนเทคนิค วิธีการให้เยอะขึ้น

คุณพรรณวดี ยศทวี พยาบาลวิชาชีพ งานผู้ป่วยฉุกเฉิน

ก็เป็นเหมือนกับตัวประกอบ เพราะเพิ่งเข้าทีมเป็นครั้งแรก ความคาดหวังก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็คืออยากจะมารู้ในเรื่องการดูแลแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน เพราะว่าที่ ER ก็มีผู้ป่วยเบาหวานมาทำแผลช่วงเวลานอกราชการ ถึงจะมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่งของ ER ที่จะได้ความรู้ แล้วก็ให้การดูแลแผลผู้ป่วย พร้อมทั้งการแนะนำ การดูแลเท้า อย่างที่อาจารย์ได้บอกมา ได้ความรู้มากกว่าที่คาดคิด มากกว่าเรื่องแผล อย่างเช่นเรื่อง off loading, vacuum dressing

คิดว่าไม่มีอะไรต้องปรับปรุง คิดว่าจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มค่อนข้างมาก

กลับไปจะทำอะไรต่อ ในส่วนของ ER ก็อย่างที่บอก คนไข้มาทำแผลช่วงนอกเวลาราชการ ซึ่งตรงนี้เราก็จะทำแผลให้เขา แล้วก็ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลในเรื่องการดูแลแผลที่เท้าและก็การปฏิบัติตัว


คุณอรพิน ปัทมาภรณ์พงษ์ พยาบาลวิชาชีพ (ศัลยกรรมพิเศษ)

ตึกพิเศษที่ทำอยู่จะมีคนไข้หลายประเภท ทั้งสูติ ศัลยฯ Med. เด็ก แต่เบาหวานก็จะเจอบ้าง คนไข้ ๑๐-๑๒ case ก็จะเจอประมาณ ๕-๖ case ก็อาจจะมี Ortho. ร่วมด้วย เขาก็เลยส่งมาเพราะอาจจะมีการทำแผลของศัลยฯอยู่เหมือนกัน ประสบการณ์การทำแผลสำหรับวิทยาการใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยเจอเยอะ ก็จะเจอพวก BioMaggot อยู่ประมาณ ๒ cases ซึ่งผลออกมาก็ดี แต่ว่าการทำวิธีการอื่น เช่น vacuum dressing ก็เจอแค่ case เดียว ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจ

พอมีการประชุมเบาหวาน ก็ส่งเรามาร่วมด้วย ก็คาดว่าเราจะได้รู้เทคนิคการทำแผลด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่จะนำไปปรับปรุงในตึก ก็ได้เยอะกว่าที่คาด เช่น vacuum dressing น่าจะเป็นแบบที่เราคิด ก็ไม่ใช่ case ที่อาจารย์แนะนำมาก็ดี สามารถนำไปใช้ที่ตึกได้ ก็ได้เยอะกว่าที่คาดหวัง

การปรับปรุงก็คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปแนะนำกับเพื่อนในตึก จะไปบอกเล่าให้เขา และนำไปปฏิบัติ ก็คงอยู่ภายใต้การ order ของหมอ ก็คงไปทำเองก่อนไม่ได้ ก็ต้อง consult หมอก่อน แล้วก็ต้องปรึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย คิดว่าจะลองไป apply ดู เช่น vacuum dressing เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

คุณจินตนา ศรีรมย์ พยาบาลวิชาชีพ (ศัลยกรรมหญิง)

ความคาดหวังที่มาก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ก็คือต้องได้แน่ๆ คือเทคนิคการทำแผลแบบใหม่ๆ เพื่อจะได้ไปปรับปรุงการทำงานของตนเอง เพราะว่าแผลเบาหวานส่วนใหญ่ที่เข้ามา admit ตนเองจะเจอค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่แผลเบาหวานจะหายค่อนข้างช้า แล้วคนไข้ที่ต้อง admit ที่เราใช้เวลานานมาก แล้วแต่ละแผลที่ทำใช้เวลาค่อนข้างนาน แผลค่อนข้างใหญ่ การหายของมันช้า progress ของแผลไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่จะมีเนื้อตายบ้าง เราก็ทำแผลแบบเก่า คือ debridement, dressing แผลไป หรือมียาตัวใหม่ๆ ที่คุณหมอ order เข้ามาให้เราใส่ ก็คืออยากได้แนวคิดใหม่ๆ ของการทำแผล

วันนี้ก็ได้แล้ว เทคนิคที่เราจะไปแนะนำคนไข้ในการปฏิบัติตัว เพื่อที่เขาจะไม่เกิดแผลกลับซ้ำขึ้นมาอีก ลดอัตราการครองเตียงจากการอยู่โรงพยาบาลนานๆ เราก็จะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเกิดแผลว่า นอกจากจะเกิดจากการที่เขาปฏิบัติตัวไม่ถูก การรับประทานอาหาร ทำให้ blood sugar เพิ่มสูงขึ้น หรือว่าเกิดแผลแล้วทำไมจึงหายช้า การเดิน น้ำหนักของเท้าลงที่ส่วนไหนที่ทำให้เกิดแผลส่วนไหนขึ้นได้ อันนี้เราก็จะนำไปแนะนำกับคนไข้ว่าเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร เราก็ได้ความรู้ที่เราจะต้องไปปรับปรุงตนเองด้วย จะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในตึก ให้สมกับที่หัวหน้าไว้วางใจให้มาแทน
 
สิ่งที่จะกลับไปทำมีหลายเรื่องมาก ก็คือการทำ vacuum dressing ในตึก case ที่ทำให้มีเพียง case เดียว แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าคนไข้ทน pain ไม่ไหว เพราะจากการที่ใช้พลาสติกพันเขาไว้ แล้วเขาปวด เขาก็บอกว่าเอาออกให้ ไม่ไหวแล้วปวดมากเลย เขาพักไม่ได้ ก็ต้องเอาออกคือ case นี้ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วก็จะเอาไปพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้ได้ดีและประสบความสำเร็จ แผลถึงจะหาย จะไปทำกันเป็นทีมร่วมกับแพทย์ผู้รักษา แล้วก็จะไปดูว่าเราจะทำอย่างไรให้คนไข้ได้รับสิ่งดีๆ กลับไปบ้าน ไม่ใช่ complication ที่กลับไป

คุณศศิธร แก้วกล้า พยาบาลวิชาชีพ (ตึกศัลยกรรมชาย)

คาดหวังอย่างที่น้องคาดหวัง เกี่ยวกับเทคนิคความก้าวหน้าของการทำแผลว่ามีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เราจะได้เรียนรู้บ้างหรือไม่ ก็ได้ตามที่คาดหวัง ส่วนที่ได้เกินความคาดหวังก็คืออะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น การดูแลเท้า การตัดเล็บคนไข้ บางทีเราทำงานกับแผลเบาหวานบางครั้งเราก็ไม่ได้นึกถึงแค่ตัดเล็บขบ อะไรเล็กน้อย คนไข้ก็ต้องมาหาเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่แพร่อาชีพส่วนใหญ่คือชาวไร่ ชาวนา เรื่อง hygiene ส่วนใหญ่คนไข้ก็ไม่ค่อยสนใจ แต่ว่าได้แนวคิดจากที่นี่ก็จะเอาไปแนะนำคนไข้ในการให้เขาตระหนัก ระวังเพิ่มขึ้น

ไม่มีอะไรที่ได้น้อย ได้คุ้ม ถ้าหากจัดกิจกรรมแบบนี้อีก ก็ถือว่าดี เพราะว่าเราก็ถือว่าเราโชคดีที่มีนนทเวชมาแลกเปลี่ยน ร่วมมาแบ่งปันความรู้ แล้วก็อาจารย์ที่เชิญมาก็เต็มที่

คิดว่าจะกลับไปทำอะไรต่อ ก่อนมาเราก็เริ่มโครงการ เริ่มทำ vacuum dressing อยู่แล้ว แต่บางครั้งก็อย่างที่พี่เขาอธิบายว่าเจอปัญหาอะไร แค่เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งเราไม่รู้ และนึกไม่ถึง ตอนนี้เราได้ความกระจ่างไปแล้ว เราก็จะแก้ปัญหาแบบนี้ และก็สามารถพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น

คุณอัญชลี จักร์สาน พยาบาลวิชาชีพ (ศัลยกรรมชาย)

คาดหวังคืออยากได้วิธีปฏิบัติจริงๆ ของ felted foam และ vacuum dressing ว่าที่เราทำมันไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เพราะว่าเราทำตามที่อาจารย์บอก โดยไม่มีตัวอย่างอะไรเลย มีแต่อ่านในหนังสือกับถามหมอ แต่หมอก็ไม่ได้บอก แล้วก็ได้มาเที่ยวกรุงเทพ มาใช้ตังค์

ได้มากกว่าที่คาดหวังคือ เราได้มาดูการทำ vacuum dressing เราก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์นิโรบลโดยตรง ไม่เหมือนกับที่เราไปอบรม เรานั่งอยู่ข้างหลัง ไม่กล้าถาม แล้วก็พวก callus ที่ ward ไม่ค่อยได้ทำ จะเป็นของ OPD ก็ไม่รู้ว่ากลับไปหัวหน้าทีมไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปไหน เพราะไม่แน่ใจเหมือนกัน OPD ก็คนไม่ค่อยพอ บางทีอาจส่ง case มาให้ก็ได้ ก็แล้วแต่แนวคิด

แล้วก็มีความรู้เรื่องเท้า ซึ่งแต่ก่อนไม่ค่อยสนใจเท่าไร เพราะว่าไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้ เนื่องจากคนไข้ ๕๐ คน ขึ้นเวรแค่ ๔ คน ไม่มีแม้แต่เวลาเขียน chart อีกอย่างหนึ่งที่เกิน คือแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเก้าอี้บ้านเราก็ถูกจะตาย ทำไมเราไม่ทำ เวลาคนไข้มีแผลก็ให้ทำบนเตียง แต่ไปไม่ถึงจุดที่อาจารย์ทำออกมา ปรับระดับได้ แต่ว่าที่เราทำได้ก็ตามเราสะดวก เอาหมอนมาหนุน แล้วแต่ case

มีอะไรที่ไม่ได้ตามที่คาดหวังก็คือไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไป shopping เรื่องส่วนตัวนี่เยอะเลย แต่ว่าตรงที่เทพธารินทร์ เราอยากได้พวกเอกสาร ถ้าเป็นไปได้ให้วัสดุ อุปกรณ์บางส่วนด้วยก็ดี

หากจัดกิจกรรมควรปรับปรุงอะไร ก็คือเราน่าจะมีแพทย์มากกว่านี้ นนทเวชก็ไม่มีแพทย์มา จะกลับไปขึ้นเวรต่อ แล้วก็ซื้อรองเท้าใหม่ ไปดูเท้าตัวเองมากขึ้น ส่วนคนไข้ก็จะกลับไปพัฒนากับทีม เพราะเราทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ ส่วนตัวเราทำคนไข้ ถ้าคนไข้มาดูแผลที่เท้า มาตรวจเราก็จะซักประวัติให้คลุม ก็ได้ idea ตรงนี้ไป จะไปถ่ายทอดอะไรก็คงเป็นอาจารย์วิชิน ก็คือเราจะทำให้ตัวเราก่อน

คุณสิริกร แก้วทันคำ พยาบาลวิชาชีพ (ศัลยกรรมพิเศษ)

คาดหวังในครั้งนี้ก็คือได้ทีมร่วม ทีมงานของศัลยกรรมเดิมมีอยู่ ๔ คน แต่ตอนนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเกินกว่าที่คาด และที่ต้องการมากที่สุดในการมาครั้งนี้ก็คือเรื่องของ off loading ในงานของ HA ได้มาแต่แนวคิด ยังไม่ได้ทำจริง รอบนี้จะต้องเอาปฏิบัติจริงเลย แล้วก็คิดว่าทำได้ด้วย

มีอะไรที่น้อยกว่า ไม่มี ได้เกิน หากกิจกรรมแบบนี้คือ กรุ๊ปเท่านี้ก็ O.K. กลับไปคือตั้งใจจะในทีมของเรา ผู้ร่วมงานเราบางคนมีแนวคิดแตกต่างกัน กลับไปคงมีแนวคิดแบบๆ เดียวกัน คิดว่าน่าจะมีผู้ร่วมงานช่วยกันมากขึ้น แล้วก็ในเรื่องของที่จะมีชมรมสมานแผลก็น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ชัดเจนขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 55045เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท