นักกำหนดอาหารและ KM (๑)


การ orientation โดยการพูดอธิบายและบอกเล่าเท่านั้นไม่เพียงพอ

ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา สมาคมนักกำหนดอาหารร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีได้จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในหัวข้อเรื่อง "การจัดการความรู้สู่การเป็นนักกำหนดอาหารพันธุ์ใหม่" ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๑๒ รพ.ราชวิถี

ก่อนการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ ทีมงานเครือข่ายของเราได้รับการติดต่อจาก ดร.สุนาฏ เตชางาม นายกสมาคมนักกำหนดอาหาร และ ดร.ชนิดา ปโชติการ อุปนายก ว่าประสงค์จะให้มีเรื่องของการจัดการความรู้และการจัด workshop ด้วย ดิฉันจึงได้นำเรื่องนี้ไปเรียนปรึกษา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. ซึ่งได้กรุณาให้คำแนะนำทั้งผู้ที่จะมาเป็นวิทยากรบรรยายนำและลักษณะของกิจกรรมกลุ่มย่อย (อ่านที่นี่) ตกลงช่วงเช้าเราจัดให้มีการบรรยายเรื่องการจัดการความรู้ โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ส่วนช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม knowledge sharing โดยมีการกำหนดหัวข้อไว้ล่วงหน้า

ดิฉันเป็นห่วงเรื่องกิจกรรมกลุ่มย่อย เกรงจะดำเนินการได้ลำบากเนื่องจากผู้เข้าประชุมมีจำนวนมาก แต่ทั้งนายกฯ อุปนายก ตลอดจนกรรมการสมาคมนักกำหนดอาหาร มีความตั้งใจจริง อยากให้สมาชิกที่เข้าประชุมทุกคนได้เรียนรู้เรื่อง KM กันทุกคน ได้ไปจัดหา “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” ประจำกลุ่มย่อย และกำหนดหัวข้อสำหรับกลุ่มต่างๆ ไว้ถึง ๒๐ กลุ่ม ดิฉัน คุณอาฬสา หุตะเจริญ และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน จึงเตรียมการสำหรับกิจกรรม orientation เราเตรียมเอกสารแนะนำบทบาทของ “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” โดยรวบรวมมาจากการศึกษาข้อแนะนำต่างๆ ที่หาได้จาก gotoknow.org และจากประสบการณ์ที่ได้จากการจัดตลาดนัดความรู้ จริงๆ งานนี้ดิฉันขอความช่วยเหลือจากทีม สคส. ผ่านคุณธวัช หมัดเต๊ะ แต่ทุกคนติดภารกิจกันถ้วนหน้า ทีมงานเครือข่ายจึงต้องใจกล้ารับดำเนินการกันเอง

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. เราได้ต้อนรับทีม “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ของสมาคมนักกำหนดอาหาร เกือบ ๕๐ คน ที่ห้องประชุมชั้น ๑๐ รพ.เทพธารินทร์ นับเป็นการ orientation ครั้งใหญ่ที่สุดของเรา กิจกรรมเริ่มด้วยดิฉันแนะนำให้รู้จัก KM ตามแนวทางของ สคส. บอกให้รู้ถึงภาพของกิจกรรม knowledge sharing ว่า “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” เป็นใคร แต่ละคนมีบทบาทอย่างไร เน้นเรื่องการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึก และการตีความสกัดขุมความรู้ เสนอตัวอย่างเรื่องเล่าที่เรามีรวบรวมไว้ ตลอดจนยกตัวอย่างปัญหาในกลุ่มย่อยที่อาจจะพบเจอและแนวทางการแก้ไข เปิดโอกาสให้ซักถาม และเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เราได้สาธิตกิจกรรมในกลุ่มย่อยโดยมีคุณอาฬสาทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” คุณสุภาพรรณ ทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต” มีนักศึกษาอีก ๓ คนเป็น “คุณกิจ” (คุณอาฬสาต้องการให้มีกิจกรรมส่วนนี้อยู่แล้ว)

กิจกรรมสาธิตนี้ทำให้เราได้รู้ว่าการ orientation โดยการพูดอธิบายและบอกเล่าเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะผู้ฟังอาจจะยังนึกภาพไม่ออก แม้แต่การเล่าเรื่องความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ บางคนจะเล่าแต่ความรู้สึกภาคภูมิใจ ภูมิใจเพราะคนไข้เขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ express ความรู้สึกอยู่นั่นแหละ เราจับจุดได้ว่าควรเริ่มด้วยการถามว่าเรื่องที่จะเล่านั้น “ความสำเร็จคืออะไร” แล้วให้บอกรายละเอียดของการปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อของเขาที่ทำอย่างนั้น ในขณะที่การตีความนักศึกษาหรือนักวิชาการก็ถนัดการนำหลักทฤษฎีมาใช้ ให้เหตุผลเสร็จสรรพ พยายามหาข้อสรุปเหมือน group discussion

เราสาธิตกันอย่างเอาจริงเอาจังแต่ก็มีความสนุกสนาน จากเวลาที่คาดไว้ว่าจะใช้เพียง ๑ ชม.ผ่านไปถึง ๓ ชม.แบบไม่รู้ตัว ดิฉันเชื่อว่าทั้งทีมงานเครือข่ายและทีมงานของสมาคมนักกำหนดอาหารต่างก็ได้ประโยชน์จากกิจกรรมในครั้งนี้ การจัดตลาดนัดความรู้ของเครือข่ายในครั้งต่อๆ ไป เราจะเตรียม “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ให้เข้มข้นกว่าเดิม

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 36755เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ลองเอาสิ่งที่ได้จากการอ่านบล็อก ของอาจารย์ไปใช้ต่อ ทำ AAR ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ทำเองแบบครูพักลักจำ ฟังมา อ่านมาและลองทำ โดยไม่เคยเห็น ด้วยความกระตือรือร้น และสนุกที่ได้ทำ พอใจทุกครั้งหลังจากทำ

รู้สึกถึงความมีชิวิต ของที่ประชุม ที่มีความเห็น มีความรู้สึก มีประเด็นความคิดที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถ เพิ่มคุณ ลิขิต และเสริมความสามารถ คุณอำนวยได้ดีเท่าที่อยากให้เป็น

อยากสร้างทีมงาน คุณ อำนวย คุณลิขิต ที่รพ ให้เก่ง ให้มีหลายๆ คน ขอความรู้จากอาจารย์ด้วยค่ะว่าขณะเริ่ม เหมือนอาจารย์ตั้งใจสร้างและเสริมความสามารถของคน

  ขอช่วยให้รายละเอียดว่าขณะที่อาจารย์อธิบาย  “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” เป็นใคร แต่ละคนมีบทบาทอย่างไรนั้น อาจารย์บอกด้วยคำพูดอย่างไรคะ 

การยกตัวอย่างปัญหาในกลุ่มย่อยที่อาจจะพบเจอและแนวทางการแก้ไขขอความกรุณาให้รายละเอียดเพิ่ม 

การสาธิตน่าสนใจมากค่ะตั้ง 3 ชม มีบันทึกหรือถอดเทปไว้ไหมคะ ติดตามได้ที่ไหน

อ่านเรื่องเล่าของอาจารย์ทีไร ก็อยากรู้เพิ่ม อยากลองเกิดความรู้สึกมีพลังทำงาน บุก และลุย ต่อ มีกำลังใจดีค่ะ

แนะนำให้คนที่รู้จักอ่านgotoknow หลายคนแล้วโดยเฉพาะทีมเบาหวาน เชียงราย

ด้วยความสนใจ และนับถือในผลงานค่ะ

รวิวรรณ

ดีใจที่คุณหมอรวิวรรณได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องราวที่ลงในบล็อกค่ะ ดิฉันจะส่งไฟล์ที่ทีมงานเราทำขึ้นเพื่อแนะนำ "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" ให้คุณหมอเอาไปลองใช้ดูนะคะ

ถ้าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกนักกำหนดอาหารจะต้องทำยังไงค่ะ

เรียนคุณรัฐจณี

ติดต่อสมาคมนักกำหนดอาหาร สำนักงานอยู่ที่ฝ่ายโภชนาการ รพ.ราชวิถีค่ะ

ผมก็อยากจะเป็นสมาชิกนักกำหนดอาหารแต่ไปดูที่เว๊ปโรงพยาบาลราชวิถีก็ไม่เห็นการรับสมาชิกของนักกำหนดอาหารเลยและอยากถามพีวัลลาว่าการเป็นนักกำหนดอาหารมีค่าวิชาชีพไม่ครับช่วยตอบหน่อยจะเป็นประคุณอย่างยิ่ง

เรียนคุณดลภาค

ต้องขออภัยที่ไม่สามารถตอบคำถามได้ โทรศัพท์ติดต่อสอบถามที่สมาคมนักกำหนดอาหารโดยตรงจะดีกว่าค่ะ

เรียนคุณดลภาค

การสมัครเป็นสมาชิกนักกำหนดอาหารนั้นสามารถสมัครได้ที่สมาคมนักกำหนดอาหาร(สำนักงานชั่วคราวที่ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลราชวิถี) สมาชิกตลอดชีพ 1000 บาท หรือรายปีก็ได้(ถูกหน่อย) มีบัตรสมาชิกให้

เรียนคุณวัลลา ตันตโยทัย

ถ้าหากว่าเราไม่สดวกที่จะไปสมัครเป็นสมาชิกนักกำหนดอาหารที่สำนักงานชั่วคราวที่ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลราชวิถี)(อยู่ไกล)จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ไหนได้บ้างคะ

เรียน คุณวัลลา ตันตโนทัย

ได้ข่าวมาว่าจะมีสอบใบประกอบวิชาชีพในช่วงเดือนตตุลาคม แต่ก่อนที่จะสมัครสอบได้จะต้องเป็นสมาชิกนักกำหนดอาหารก่อนใช่ไหมค่ะ แต่หนูเข้าสมัครสมาชิกยังไม่ได้เลยคะ

เรียนคุณนภัสนันท์

กรุณาติดต่อที่สมาคมนักกำหนดอาหารนะคะ ดิฉันไม่ได้เป็นนักกำหนดอาหารและไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมจึงไม่สามารถตอบคำถามได้

อาภรณ์ วงศ์วิเชียร

เรียน อ.วัลลา อยากให้อาจารญ์เป็นสื่อกลางระหว่งสมาคมนักกำหนดอาหารและผู้ที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิก โดยขอแบบฟอร์มเปล่าเพื่อกรอกข้อมูล และสามารถสมัครทางไปรษณีได้ขอบคุณค่ะ

ค่าสมัครสอบแพงมาก เหมือนขูดรีดกัน ยิ่งได้ข่าวมาว่าปีหน้าจะให้ไปสอบที่ช.ม. โปรดเห็นใจคนที่เขามาจากที่ไกลๆด้วย

แค่เดินทางมาจาก เหนือ อีสาน ใต้ ก็หมดค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่แล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ เงินเดือนก็นิดเดียว

แล้วก็ไม่ทร่าบว่าสอบแล้ว จะได้ใบประกอบวิชาชีพที่ไปขอเงินพ.ต.ส. 1000 บาทจาก ร.พ. ได้หรือไม่ ท่นพอจะให้คำตอบได้หรือไม่ คนเงินเดือนน้อยๆ จะเดือดร้อน โปรดเห็นใจด้วย เพราะกรรมการอยู่กรุงเทพจะไม่รู้ความทุกข์ยากของพวกเรา

ขอฝากให้เป็นแง่คิดด้วย เกรงว่ากรรมการจะคิดแค่ได้ไปเที่ยสนุกอย่างเดียวแต่ลืมเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้

ขอขอบคุณ

เรียนทุกท่านค่ะ

ดิฉันได้ส่งข้อความที่สอบถามเกี่ยวกับสมาคมนักกำหนดอาหารมาให้กับ ดร.สุนาฏ เตชางาม นายกสมาคมฯ ให้รับทราบแล้ว ข้อความล่าสุดของคุณเนตรนภา ขออนุญาตส่งต่อให้นายกสมาคมฯ อีกเช่นกันนะคะ

เรียนคุณจันทร์จิรา

1. สมาคมนักกำหนดอาหารมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่กลุ่มงานโภชนวิทยา รพ. ราชวิถีคะ เบอร์โทรที่จะติดต่อได้คือ

เลขาธิการและรองเลขาธิการคิอ

1. คุณ สังวาล 086-6095680

2. คุณ อัญญานี 081-7513667

3. คุณ สุนทรีย์ 086-0030414

2. สำหรับ web ของสมาคมฯนั้นอยู่ระหว่างการดาเนินการคะ แต่สามารถเข้าไปดู website thaihealthyeating.net คะ

3. ส่วนการสอบ CDT นั้นสมาคมฯขอชี้แจ้งว่าผู้ที่มีสิทธิ์สอบมิใช่เฉพาะนิสิตจุฬาแต่จะประกอบด้วยผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่สมาคมกำหนด ซึ่งสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมฯ หรือดุได้จากหนังสืออบรมปี 50และ51

4. สมาคมฯได้ทำการสอบรับรองการเป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพ (กอ.ช)Certified Dietitian of Thailand (CDT) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตค 2552 ซึ่งมีผู้ที่มีสิทธิ์เข้าสอบทั้งสิ้น 700 คน สำหรับกำหนดการสอบ CDT ในปีนี้นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวันที่เหมาะสมเนื่องจากปีนี้สมาคมฯได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดการปรชุมวิชาการนานาชาติสำหรับนักกำหนดอาหารของเอเชีย (The 5th Asian Congress of Dietitian) ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www. acd2010.org และจะประกาศให้สมาชิกทราบเมื่อทราบวันที่แน่นอนการเปิดรับสมัครสอบ CDTคะ

5. สมาคมฯอยู่ระหว่างการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนนักกำหนดอาหารวิชาชีพอยูคะ

ขอขอบคุณที่ให้ความสนใจสมาคมฯและขอบคุณอ. วัลลาที่ช่วยกรุณาตอบบางส่วนด้วยคะ

ชนิดา ปโชติการ

อุปนายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

จะมีการสอบใบประกอบวิชาชีพนักกำหนดอาหารอีกเมื่อไหร่ค่ะ เพราะตอนนี้เริ่มมีบทบาทกับงานหนูมากเลยคะ

ตอบคุณตาลค่ะ

เนื่องจากปีนี้ คณะกรรมการสมาคมฯกำลังเตรียมงาน การประชุม ACD2010 ในวันที่ 10-12 พย.53 อาจไม่มีเวลาพอในการจัดสอบค่ะ ยังไงลองเข้าร่วมประชุมรายการนี้ก่อนก็ดีนะคะ คงจะมีเนื้อหา สาระ เป็นประโยชน์กับวิชาชีพเราค่ะ

อัญญาณี 081-751-3667

เรียนอ.ชนิดา อ.วัลลา

ใบประกอบวิชาชีพที่ได้เอาไปทำอะไรคะสอบได้มาป็นปีแล้ว    ค่าตอบแทนเท่าค่าสมัครรึเปล่ายังไม่รู้เลย

เรียนคุณพรรณา

ต้องขออภัยที่ดิฉันตอบไม่ได้นะคะ เนื่องจากดิฉันไม่ได้เป็นนักกำหนดอาหารและอยู่วงนอก เพียงแต่ช่วยสื่อสารไปยังสมาคมฯ อีกทางหนึ่งเท่านั้น

วัลลา

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่อยากสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพนักกำหนดอาหารค่ะ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ตอนนี้เป็นนักโภชนาการอยู่ในรพ.ชุมชนต่างจังหวัด และอยากเห็นวิชาชีพนี้ได้รับการยอมรับและให้ความสำคัญเทียบเท่ากับวิชาชีพอื่นในโรงพยาบาล อยากให้อาจารย์ทุกท่านที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยเร็วคะ

ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณ อ.วัลลา มากๆๆๆ ค่ะ ที่ช่วยเป็นสื่อกิติมศักดิ์ให้สมาคมฯ

เรากำลังทำ website ค่ะ ปีหน้าคงเรียบร้อย

ตอนนี้น้องๆ ก็ใช้วิธี email ไปขอรายละเอียดที่อยากทราบก่อนนะคะ [email protected]

ขอตอบน้องๆเรื่อง ใบประกอบวิชาชีพ ของสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ค่ะ

1 ต้องเป็นสมาชิกสมาคมฯก่อนนะคะ

2 คุณสมบัติผู้มีสิทธิสอบ คร่าวๆ พื้นฐานความรู้ทางโภชนาการ และต้องทำงานด้านโภชนาการในโรงพยาบาล(อาจขยายไปยัง

วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง)

3 ใบประกอบวิชาชีพของสมาคมฯเป็นการเริ่มต้นเพื่อผลักดันวิชาชีพให้ทัดเทียมวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งเราคงต้องร่วมมือกันต่อไป

ขณะนี้ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้เพิ่มค่าวิชาชีพให้กับผู้ที่มีใบรับรองจากสมาคมฯแล้วค่ะ

4 การสอบครั้งต่อไป จะจัดพร้อมกับการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมฯ ประมาณปลายเดือน เมษายน 2554

5 10-12 พย.53 สมาคมฯกำลังจะจัด การประชุม The 5th Asian Congress of Dietetic www.ACD2010.org ยังสมัครได้นะคะ

เพื่อทราบความก้าวหน้าทางวิชาชีพจากนานาประเทศ

ขอบคุณน้องๆที่สนใจ และขออภัยที่ไม่ได้รับความสะดวก

อัญญาณี 081-751-3667

สำหรับท่านที่สนใจสอบเป็นนักกำหนดอาหาร ลอติดต่อสมาคมได้เลยค่ะ ไปสอบมาแล้วไม่ยากเลยอย่างที่คิดค่ะ

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้ของอ.แล้วทำให้ทราบว่ามีอาชีพนักกำหนดอาหารด้วย

ขอบคุณที่นำข่าวมาบอกค่ะ

เรียน อ. ที่เคารพ

ผมมีเรื่องที่จะเรียนถาม อ. ครับ ผมเป็นนักโภชนาการ ที่ รพ. แห่งหนึ่ง พอเรียนจบแล้วก็สอบได้เลยครับ ผมจบ วุฒิ วทบ. สาขา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคล ผมอยากทราบว่าผมสามารถที่จะสอบ CDT ได้ไหมครับ หรือต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ อื่นๆ อีกครับ ผมทำงานได้ประมาณ 1 ปีครับ

อีเมล์ [email protected] ขอบพระคุณครับ

เรียนคุณวัชภูมิ ขอให้ติดต่อสอบถามกับสมาคมนักกำหนดอาหารตามเบอร์โทรศัพท์ที่กรรมการสมาคมได้แจ้งไว้ข้างบน และขอเรียนแจ้งผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องใบประกอบวิชาชีพของสมาคมนักกำหนดอาหาร กรุณาติดต่อสมาคมโดยตรง เพราะดิฉันไม่สามารถตอบคำถามให้ได้ค่ะ

วัลลา

ขอให้สามารถพลักดันให้เทียบเท่ากับสาขาวิชาชีพอื่นเร็วๆด้วยเถอะ

 

เรียนอ.ชนิดา อ.วัลลา

"ใบประกอบวิชาชีพที่ได้เอาไปทำอะไรคะสอบได้มาป็นปีแล้ว    ค่าตอบแทนเท่าค่าสมัครรึเปล่ายังไม่รู้เลย"

คุณพรรณาคะ..เป็นคำถามที่ตรงมากและเป็นคำถามที่ดีมากๆ..

..ก่อนอื่น..ต้องทำความเข้าใจก่อนนะ..ใบประกอบวิชาชีพที่ถูกกำหนดให้เป็นสาขาวิชาชีพโดยกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข นั้นมีค่าวิชาชีพ แต่ใบประกอบวิชาชีพที่ถูกกำหนดโดยสมาคมนักกำหนดอาหารนั้น ..คุณพรรณา..ถาม อ.ชนิดา ปโชติการ นั้นถูกต้องแล้ว..อาจารย์..ควรตอบเองนะ...และสิ่งที่ควรทราบอีกอย่าง...คือ..สำนักงานกพ.ต้องกำหนดตำแหน่งนักกำหนดอาหารให้มีในประเทศไทยก่อนนะ..จะได้ไม่หลอกตัวเอง...นายกสมาคมควรรีบดำเนินการกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนต่อไป..มิฉนั้นจะมีคำถามอย่างคุณ..พรรณา ทั้งประเทศ..นะ  และเห็นด้วยกับคุณเนตรนภา

 

เรียนคุณน้องอ้วน

จะส่งข้อมูลต่อให้อาจารย์ชนิดา นะคะ ต้องขออภัยดิฉันทำได้แค่ส่งข้อมูลไปยังสมาคมฯ เท่านั้น

สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

Certified Dietitian of Thailand [CDT]

โดย สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

สืบเนื่องจากการประชุมวิชาการประจำปี 2550 วันที่ 25-27 เมษายน 2550 เรื่อง “เส้นทางสู่การรับรองนักกำหนดอาหารวิชาชีพ” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานสากล สมาคมฯ พยายามผลักดันให้นักกำหนดอาหารได้มีใบประกอบวิชาชีพ แม้ว่าอาจจะใช้เวลานานกว่าวิชาชีพอื่น เนื่องจากเรามีสมาชิกฯหลายท่านที่ไม่ได้จบปริญญาบัตรโดยตรงด้าน“การกำหนดอาหาร”  แต่เพื่อให้สมาชิกนักกำหนดอาหารทุกท่าน(นักโภชนาการ/โภชนากร ในโรงพยาบาล) ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านอาหารและโภชนาการในโรงพยาบาลได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นวิชาชีพในอนาคต สมาคมฯจึงได้ริเริ่มจัดการสอบ กอ.ช. (CDT) เพื่อรับรองความรู้ ความสามารถของนักกำหนดอาหารขึ้นเช่นเดียวกับสมาคมนักกำหนดอาหารของหลายๆประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ ประชาคม ASEAN มิได้เกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพแต่ประการใด ปัจจุบันมีสมาชิกที่สอบผ่านแล้วประมาณ 900 คน จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดประมาณเกือบ 2000 คน และผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งส่วนมากรับรองคุณภาพจากสถาบัน JCI  คณะกรรมการ JCI จะขอดูบัตร CDT ซึ่งได้รับรองจากสมาคมวิชาชีพว่ามีความรู้ ความสามารถในการทำหน้าที่เป็นนักกำหนดอาหารได้ โดยมี  5 องค์ความรู้สำหรับนักกำหนดอาหารวิชาชีพ คือ

1  องค์ความรู้ด้านโภชนบำบัดทางการแพทย์ (Medical Nutrition Therapy) และการให้คำปรึกษา (Diet Counseling)

2  องค์ความรู้ด้านโภชนาการพื้นฐาน [Basic Nutrition]

3  องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการงานโภชนาการ [Food Service Management]

4  องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร [Food Sciences]

องค์ความรู้ด้านการวิจัย [Nutrition and Dietetics Research]

ต่อมาสมาคมฯ ได้รับเกียรติ์จากสมาพันธ์สมาคมนักกำหนดอาหารอาเซียน (AFDA) ให้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่ 5 “The 5th Asian Congress of Dietetics” (5th ACD 2010) ภายใต้กรอบความคิด "The Art of Well-Being through Asian Dietetic Practice"  ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2553  ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร  มีนักกำหนดอาหารเข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศจำนวนทั้งสิ้น 600 คน  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและได้สร้างมาตรฐานทางวิชาการให้กับนักกำหนดอาหารในประเทศไทย ทำให้นักกำหนดอาหารของประเทศไทยทัดเทียมกับนานาชาติโดยเฉพาะในอาเซียน

ในการประชุมวิชาการประจำปีทุกครั้ง สมาคมฯก็ได้จัดหัวข้อประชุมอันเป็นการพัฒนาศักยภาพบทบาทหน้าที่ ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ อีกทั้งยังส่งเสริมให้สมาชิกทั่วประเทศมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรม ให้ทุนการวิจัยทางด้านโภชนาการจากพื้นฐาน 5 องค์ความรู้สำหรับนักกำหนดอาหารวิชาชีพ นำไปเป็นแนวทางการให้โภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังสมาชิกอย่างแพร่หลาย

จึงหวังว่าสมาชิกที่มีข้อสงสัยคงจะมีความเข้าใจมากขึ้นและร่วมเป็นกำลังที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดใบประกอบวิชาชีพนักกำหนดอาหาร ถ้าท่านมีข้อคิดเห็นอย่างไร สมาคมฯยินดีที่จะรับฟังเสมอ ในการสอบ CDT ปีนี้กำหนดในวันที่ 24 สิงหาคม ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่http://www.thaidietetics.org


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท