ภูมิปัญญาการคบหาสมาคมกันของคนใต้: ข้าวไร่


สมัยก่อนให้รู้ว่าใครจะปลูกข้าวไร่ ต่างพากันไปช่วย แล้วหมุนเวียนกันไปไร่คนโน้นทีคนนี้ที ต่างถือคติว่า วันนี้ให้เขามาช่วยเราก่อน แล้ววันหลังเราจะไปช่วยเขาอีก ถ้าไปช่วยหลาย ๆ คนจะได้เสร็จเร็วและเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีก

........

การปลูก "ข้าวไร่" ภูมิปัญญาในการคบหาสมาคมของคนใต้ เดี๋ยวนี้ห่างหายไปจากสังคมภาคใต้บ้านเราเนื่องจากไร่ที่เคยปลูกข้าวกลายเป็นสวนยางพารา แต่ไมแน่  เมื่อข้าวสารราคาแพงขึ้น  สวนยางพาราอาจกลายไปเป็นไร่ข้าวเหมือนเดิมอีกครั้งก็ได้

     วันก่อนตอนไปงาน ถังแดง นั่งกินข้าวกับพี่สร้อย  เลยนึกถามพี่สร้อยขึ้นมาว่าสมัยก่อนชาวบ้านที่นี่ทำนากันอย่างไร  พี่สร้อย ภรรยาของพี่เล็ก (อุทัย  บุญดำ)  ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง   เล่าให้ฟังว่า “ ตอน สาว ๆ จะไปหนำข้าวที่ควน ”   หมายถึงไปปลูกข้าวที่ไร่  คำว่า “หนำ”  แปลว่าปลูก สมัยก่อนให้รู้ว่าใครจะปลูกข้าวไร่  ต่างพากันไปช่วย   แล้วหมุนเวียนกันไปไร่คนโน้นทีคนนี้ที  ต่างถือคติว่า  วันนี้ให้เขามาช่วยเราก่อน  แล้ววันหลังเราจะไปช่วยเขาอีก   ถ้าไปช่วยหลาย ๆ คนจะได้เสร็จเร็วและเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีก   เวลาไปจะเตรียมกับข้าวไปกินพร้อมกันที่ไร่  มีปลาเค็ม หัวมัน หัวเผือก  ที่ขาดไม่ได้คือ หอม กระเทียม กะปิ เกลือ พริกขี้หนูไว้สำหรับตำน้ำพริก   ส่วนผักค่อยไปเด็ดเอาในไร่หรือบางคนจะพาไปจากบ้าน

           วิธีปลูก  เดินเรียงแถวหน้ากระดานประมาณ 10 คน ผู้ชายจะเดินนำหน้า    มือถือไม้ไผ่สองอันไว้ทิ่มลงบนดินเพื่อเจาะรูให้เป็นหลุมเพื่อให้ผู้หญิงที่เดินตามหลังพร้อมเมล็ดข้าวที่ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่คอยหย่อนลงรูที่ผู้ชายเตรียมไว้  4-5 เมล็ด   แล้วกรบหลุมด้วยกระบอกไม้ไผ่ 

และระหว่างที่นั่งเขียนบันทึกนี้พี่วิทย์พนักงานขับรถ สปสช.สงขลา   เล่าว่าสมัยเด็ก ๆ ก็มีโอกาสไปปลูกข้าวไรเหมือนกันระหว่างทางเดินไปไร่ต้นหญ้าจะรกมาก   มองใครไม่เห็น  จะตะโกนผ่านทุ่งหญ้า   ส่งสัญญาณถึงกันเพื่อให้หลงทาง   เมื่อทำการปลูกเสร็จเจ้าของไร่จะคอยไปดูแลรักษาเก็บหญ้าใส่ปุ๋ย และคอยสั่นกระดิ่งไม่ให้นกมาจิก

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวต่างก็พา  แกะ (ที่ใช้สำหรับเก็บเกี่ยวรวงข้าว) คนละอันไปช่วยกันเก็บเกี่ยว แล้วช่วยกันแบกเดินเรียงแถว กลับไปวางผึ่งแดนให้แห้งก่อนที่จะนำไปเก็บในยุ้งข้าว   แล้วค่อยเอามานวดด้วยเท้าอีกทีให้เม็ดข้าวหลุดออกจากรวงหลังจากนั้นจะนำไปทิ่มตามกรรมวิธีวิธี  จนได้เมล็ดข้าวออกมา 

ในการปลูกข้าวไร่  เป็นภูมิปัญญาที่ชาวภาคใต้ใช้ในการคบหาสมาคมกัน   มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแสดงให้เห็นถึงความรักความสมัคคีในการอยู่ร่วมกัน      .....................

 

หมายเลขบันทึก: 179535เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เพิ่งรู้ค่ะว่า...หนำแปลว่าปลูก...เป็นความรู้ใหม่จริงค่ะ...
  • ตอนเด็กๆเคยได้สัมผัสกับนาข้าวบ้าง...ชอบวิ่งเล่นค่ะ....
  • ไอเจ้าที่เก็บข้าวที่ไม่ใช่เคียว...ที่มันอันเล็กๆ...เมื่อก่อนหนูก็เคยเห็นค่ะ...แม่บอกว่า...มันเรียกว่า แกละ ค่ะ...คล้ายๆกันเลยนะคะ
  • ขอบคุณที่นำมา ลปรร. ค่ะ
  • แกละ หรือ แกะ น่าจะเหมือนกันนะคะแต่อาจจะเรียกแตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่
  • ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ

สวัสดีครับน้องเยาะ

  • ขอร่วมวงด้วยคนครับ
  • ผมเคยเห็นเวลาหนำข้าวไร่  นิยม "ออกปาก" เพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง
  • ประเพณี "ออกปาก" คือ การขอแรงเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาช่วยกันหนำข้าวไร่ให้เสร็จเร็ว ๆ
  • ออกปาก เหมือนกับการลงแขก
  • หากเพื่อนคนที่มาช่วยมีการหนำข้าวหรือทำงานอย่างอื่นก็จะไปช่วยทดแทน
  • เจ้าภาพก็มีการทำอาหารมาเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

ถ้านึกออกอีกจะมาเพิ่มนะครับ

ขอบคุณคะคุณวัชรา ทองหยอด ที่มาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมคะ เพราะยังมีเด็กยุคใหม่อีกหลายคนที่ไม่รู้จักการ "หนำ" ข้าวไร่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท