การพัฒนาเด็กและครอบครัวแนวใหม่


          วันที่ 24 ต.ค. 49  สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชม 5 หน่วยงานในวิทยาเขตศาลายา   ทำให้ผมเห็นลู่ทางที่จะดัน สคส. ไปร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน   เพื่อใช้  KM  เป็นเครื่องมือในการสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ 

          สถาบันที่น่าจะเป็นแหล่งแรกที่ร่วมมือกัน  คือ  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  ที่มี  รศ.สายฤดี   วรกิจโภคาทร  เป็นผู้อำนวยการ

          สถาบันนี้ทำหน้าที่หลัก 3 อย่าง   เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเด็กและครอบครัว   ได้แก่   การวิจัย  การพัฒนา  และการขับเคลื่อนสังคม  

          ผมได้เสนอต่อ  รศ.สายฤดี ว่า  สคส.มีวิธีทำงานที่ออกแรงน้อย   แต่ได้ผลมาก และได้เครือข่ายกว้างขวาง

          แต่จะทำงานแบบใหม่นี้ได้ ต้องคิดใหม่  คือ คิดว่าการพัฒนาเด็กและครอบครัวนั้นมีบางชุมชน   หรือบางกลุ่มเขาทำกันอยู่แล้ว   ได้ผลดีอย่างน่าชื่นชมอยู่แล้ว  หรือกล่าวได้ว่ามีความรู้ปฏิบัติด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวอยู่แล้ว 

          ผมเสนอว่า ควรจับทำเรื่องที่เกิดผลสำเร็จได้ไม่ยากก่อน  ดังนั้น  ควรจับเรื่อง  "การพัฒนาเด็กและเยาวชน"   โดยมีวิธีคิด ดังนี้  

          1. มีบางชุมชน หรือบางโรงเรียน หรือบาง NGO ดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ผลดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

          2. เลือกกลุ่มที่ดำเนินการในลักษณะที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น  เช่น เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ต่อชุมชน หรือช่วยเหลือผู้อื่น   เน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มกัน  และคิดหาเป้าหมายและวิธีดำเนินการเอง  ไม่ใช่ผู้ใหญ่กำหนดให้ทำ   กิจกรรมแบบนี้เยาวชนเป็นผู้คิดและทำ   ผู้ใหญ่ช่วยเป็นที่ปรึกษา   เมื่อเกิดผลสำเร็จเยาวชนจะภูมิใจมาก

          3. เลือกกลุ่มที่ดำเนินการได้ผลสำเร็จที่น่าชื่นชมบางด้านมาประมาณ 10 กลุ่ม   แต่ละกลุ่มมาจากต่างภาค หรือต่างพื้นที่ ต่างบริบท   ดำเนินกิจกรรมที่แตกต่างกัน   เชิญตัวแทนมากลุ่มละ 4-5 คน   ให้มาประชุมร่วมกัน   เป็นเวทีเล่าเรื่องราวของความสำเร็จที่เกิดขึ้น   โดยเทคนิค Storytelling  และ Appreciative Inquiry   ตัวแทนกลุ่มละ 4-5 คนนี้ต้องเลือกคนที่มีมุมมองแตกต่างหลากหลาย   และแสดงบทบาทแตกต่างกันในกลุ่ม

          4. เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมเยาวชนเพื่อสังคมนี้  จะมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วม 40-50 คน   ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน   มีลักษณะคล้ายค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ควรให้เยาวชนที่มาร่วมได้มีโอกาสออกแบบกิจกรรมร่วมกันด้วย   มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรม และผลของกิจกรรมของเยาวชนแต่ละกลุ่ม  เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละกลุ่มเอาไปปรับใช้กับกิจกรรมของกลุ่มตน   และเพื่อให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมที่เยาวชนแต่ละกลุ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

          5. มีรายละเอียดของการจัดเวทีมากมายที่เขียนลงในบันทึกนี้ได้ไม่หมด   หลักสำคัญคือต้องจัดบรรยากาศของความชื่นชมยินดี เห็นคุณค่าของการทำความดีเพื่อชุมชน/สังคม ของกลุ่มเยาวชน   และหาทางยุยงส่งเสริมให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง   มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และมีการพัฒนารูปแบบและวิธีการของกิจกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง  ผู้แทนของ สคส. ที่จะประสานงานในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ คือ คุณนภินทร   ศิริไทย

          6. อาจเชิญผู้สื่อข่าวที่สนใจเรื่องเด็กและเยาวชนเข้าร่วมเวทีด้วย   หากได้นำเรื่องราวของเยาวชนบางกลุ่มไปเผยแพร่   ก็จะเกิดความภูมิใจ  เกิดกำลังใจ  และความคึกคักในการดำเนินการต่อ

          กิจกรรมนี้จะเกิดหรือไม่  ขึ้นอยู่กับทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวนะครับ    ถ้าสนใจก็ติดต่อคุณนภินทร  ([email protected]) ได้

          หลังจากดำเนินการเวทีแรก  ก็จะเห็นลู่ทางในการใช้เทคนิคนี้ในการทำหน้าที่วิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนสังคม  เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ที่เป็นแนวทางลัด ทำงานน้อยแต่ได้ผลงานมาก

          ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนก็คือ  ต้องส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เขารัก  สนใจ  และภูมิใจ   โดยส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรม   เน้นการทำกิจกรรม เพื่อใช้กำลังที่คนวัยนี้มีอยู่เหลือเฟือ  และส่งเสริมความอยากเป็นผู้ใหญ่ของเขา   ในเรื่องหลักคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนนี้ผมเคยลงบันทึกไว้แล้ว  โปรดอ่าน http://gotoknow.org/blog/thaikm/47001, http://gotoknow.org/blog/thaikm/46287

วิจารณ์   พานิช
24  ต.ค.  49

 

หมายเลขบันทึก: 55676เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2006 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

             ตอนนี้ทางสถาบันเด็กฯกำลังดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหาสื่อ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายในชุมชน ซึ่งพยายามให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ต่างแสวงหาแนวทางในการทำงานโดยเด็กเยาวชน และครอบครัวในแต่ละพื้นที่เป็นผู้คิดค้นวิธีการในการทำงานในแต่ละพื้นที่เอง เช่นที่ แพร่ เด็กๆเริ่มตื่นตัวที่จะตั้งชมรมเฝ้าระวังสื่อรวมกลบุ่มกันเอง ทำงานหลายอย่าง เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนในการทำงาน รุกเข้าไปประชุมร่วมกับภาคนโยบาย

          อยากหาโอกาสไปนั่งสรุปงานให้อาจารยฟังสักครั้งหนึ่งครับ ผมเคยไปปรึกษาอาจารย์พร้อมกับอาจารย์แหวว (อาจารย์พันธุ์ทิพย์) พอเป็นไปได้ไหมครับ

     ด้วยความเคารพอย่างสูง

        อ.โก๋

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท