ความสุขของกะทิ


หนังสือประทับใจ / สร้างและสอนเรื่องดี ๆ ในชีวิต

 

 

อ่านหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549 เจอข่าวหน้า 1 ในกรอบเล็ก ๆ เขียนว่า พี่สาว อภิสิทธิ์คว้าซีไรต์’49 นวนิยายความสุขของกะทิ

รู้สึกชื่นชมและดีใจ เพราะเราเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้ร่วมกันในครอบครัว ช่วงที่ไปกราบเยี่ยมแม่ภรรยาที่ จ.ตรัง เมื่อวันแม่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เหตุที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะมติชนรายวันได้สัมภาษณ์คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับการสร้างงานเขียน ทัศนคติ รูปแบบที่ใช้ ฯลฯ อ่านแล้วเห็นเป็นประโยชน์กับหลานที่กำลังเขียนเรื่องสั้นส่งเป็นรายงานในชั้นเรียน เราจึงไปที่ร้านหนังสือด้วยกัน บอกให้ลูกและหลานช่วยกันหา เจอเล่มเก่าฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ผมจึงซื้อให้และแนะนำให้เขาอ่าน

เมื่อได้ทดลองอ่านบทแรกจบลง ก็รู้ทันทีว่านี่คือหนังสือที่ดีมาก ละเมียดละไมในการใช้ภาษา เห็นภาพชัดเจนของชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท ในครอบครัวที่มีคุณตา-คุณยาย อยู่กับ กะทิ หลานสาวตัวน้อย แต่ไม่มีแม่อยู่ด้วย

ผู้เขียน ตั้งชื่อบทแต่ละบทไปตามเนื้อหา และสอดแทรกหัวข้อย่อยอยู่ที่ต้นเรื่องของแต่ละบท ด้วยประโยคสั้น ๆ ลึกซึ้ง สะเทือนใจ ให้ผู้อ่านสร้างความเข้าใจด้วยจินตนาการของตัวเองโดยไม่อธิบายตรง ๆ อาทิ ตอนแรก : บ้านริมคลอง / บทที่ 1 : กระทะกับตะหลิว / หัวข้อย่อย : “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา”

หัวข้อย่อยเป็นอะไรที่บอกถึงความรู้สึกลึก ๆ ของกะทิ คู่ขนานไปกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักจากคุณตา-คุณยาย เป็นความประทับใจที่ผมชื่นชมและขอแนะนำให้ท่านได้สัมผัส ไล่เรียงกันไปตั้งแต่

แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา

กะทิรอแม่ทุกวัน

ในบ้านไม่มีรูปถ่ายแม่เลย

ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่

กะทิจำหน้าแม่ไม่ได้แล้ว

กะทิอยากให้แม่ไปรับที่โรงเรียนบ้าง

ฯลฯ

เราใช้วิธีสลับกันอ่านออกเสียงกันคนละบท พ่อ, แม่, ลูกชาย, ลูกสาว และหลานสาว จำได้ว่าแฟนผมน้ำตาซึมอยู่หลายรอบ ภาพที่บรรยายในหนังสือนำมาเล่าสู่กันฟังเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตในวัยเด็กของเราให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียน, การซักผ้า-ตากผ้า (ที่ต้องใช้ฝีมือและศิลปะในการจัดเรียง) ฯลฯ

คณะกรรมการ ซีไรต์ ได้ให้เหตุผลของการตัดสินไว้งดงามมาก คือ

เป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์องค์ประกอบหมดจดงดงาม สื่อแนวคิดซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนอ่านหลากหลาย ไม่ว่าอยู่ในวัยและวัฒนธรรมใด เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่อง ที่ค่อย ๆ เผยตัวปัญหาทีละน้อย ๆ ผ่านมุมมองของตัวละครเอกด้วยภาษารื่นรมย์ แฝงอารมณ์ขัน สอดแทรกความเข้าใจชีวิตที่ตัวละครได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ ความสะเทือนอารมณ์ค่อย ๆ พัฒนา และดิ่งลึกในห้วงนึกคิดของผู้อ่าน นำพาให้อิ่มเอมกับรสแห่งความโศกอันเกษม ได้สัมผัสกับประสบการณ์ของชีวิตเล็ก ๆ ในโลกเล็ก ๆ ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

คืนนี้ เรา 4 คน พ่อ, แม่, ลูกทั้งสอง จะสลับกันอ่านร่วมกันอีกรอบหนึ่งครับ.

 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุขของกะทิ
หมายเลขบันทึก: 47743เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ขอบคุณมากๆค่ะที่แนะนำสิ่งดีๆ...ต้องรีบไปหาซื้อมาอ่านบ้างแล้วค่ะ
    พี่เม่ยแอบดักจับเคล็ดลับดีๆที่แทรกอยู่ในบันทึกนี้ได้ด้วยค่ะ..."สลับกันอ่านออกเสียงกันคนละบท".....  เพราะนอกจากเป็นการช่วยให้เด็กๆได้ฝึกทักษะการอ่าน การฟัง และการถ่ายทอดอารมณ์ด้วยน้ำเสียง (ซึ่งคงจะมีพลังอย่างยิ่ง เพราะสามารถเรียกน้ำตาจากผู้ฟังได้หลายครั้ง...) ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมให้กับของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างยอดเยี่ยมเชียวค่ะ
ครอบครัวอบอุ่นจังค่ะ.....ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

น่าอ่านมากครับ...ผมจะหาซื้อมาอ่าน

เห็นเนื้อเรื่องเรียกน้ำย่อยในบันทึกนี้แล้ว ทำให้อยากอ่านขึ้นมาทันใด

ขอบคุณครับ คุณไอศรย์ 

ขอบคุณคุณไอศูรย์... จะต้องรีบไปหามาอ่านให้ได้อย่างแน่นอนค่ะ...
  • ต้องซื้อความสุขของกะทิมาอ่านแน่เลย
  • แต่อยากอ่านblog/buildchumphon/47743 มากกว่าเพราะอ่านแล้วมีเสียงเพลงเพราะ ๆฟังด้วย(อยากทำเป็นบ้างจัง)
  • ตอบคุณวิเวก, คุณจตุพร (เขียน E-Mailเข้ามาถาม)

  • ตกลงครับ ผมจะเรียบเรียงเทคนิคการแทรกเสียงเพลงลงไปใน Blog ให้ได้อ่านกัน

  • ขอเวลา 2-3 วันนะครับ ตอนนี้ยังทำงานไม่ทันหลายเรื่อง

  • โดยเฉพาะวันจันทร์ 4 ก.ย.49 เช้า 3 ชม.บรรยายเรื่อง "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสอนงาน" ให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานฯ บ่ายประชุมเรื่องสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น

  • ต้องเตรียมงานทั้ง 2 เรื่อง เสร็จแล้วจะหาเวลามาเขียน Blog ครับ.

จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เค้ายกตัวอย่าง 10 เรื่องที่เข้ารอบการตัดสิน และพออ่านเรืองยอก็คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ และเมื่อวานฟังข่าว ก็พบว่าเรื่องนี้ได้รางวัลซีไรท์ ...ว่าจะหาอ่านเหมือนกันคะ

พี่สุรีย์ กศน. (หางกะทิ..ในกะทะ )

เรียน อ. ไอศูรย์

       ติดตามข่าวแล้วก็ดีใจที่มีคนมองเห็นคุณค่าของการอ่าน เวลามีข่าว...คนไทยอ่านหนังสือ เฉลี่ย 7  บรรทัดต่อปี / ต่อมาก็เพิ่มเป็น 24  บรรทัด  / คนไทย 18 ล้านคน ไม่เคยอ่านหนังสือ .  ฯลฯ ..ในฐานะที่เป็นคนทำงานกับชุมชน ทำงานกับผู้ที่ไม่รู้หนังสือ    ก็อยากจะขอความคิดเห็นของอาจารย์ และผู้อ่าน ที่เข้ามาอ่านตรงนี้ ว่า ..ทำอย่างไรจึงจะนำความรู้ให้เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะคนชุมพร ให้มากที่สุด ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างสังคมฐานความรู้ ทำอย่างไรเราจะรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือ ให้มากขึ้น ..ทำอย่างไรเราจะทำให้เมืองชุมพรเป็นสังคมการอ่าน เพื่อที่จะเติบโตเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ .. ในฐานะที่อาจารย์และหลายท่านเป็นหัวกระทิ ..ที่อยู่นอกกระทะของจังหวัดชุมพร(ไม่ใช่ข้าราชการ ) การมองของท่านย่อมกว้างขวางกว่าพี่สุรีย์ (หางกะทิ..ในกะทะ ) ขอแนวคิดดีๆ. และข้อเสนอแนะด้วยค่ะ..เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดเสวนา.ในโอกาสต่อไป

 

 

กิตติศักดิ์ เต็มนา

ถ้าบอเทคนิคการเทคนิคการแทรกเสียงเพลงลงไปใน Blog กับคุณวิเวก แล้วช่วย mail  บอก ผมด้วยนะครับขอคุณมาก..ช่างคิด

นอนดึกเหมือนกันนะ...ช่างคิด

คือว่าหนูจะทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

แต่ว่าคุณครูที่ รร ให้หนูอ่านแล้วสรุปเรื่อง

หนูทำไม่เป็นค่ะ ช่วยหน่อย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท