หยิบความฝันอันเลือนรางมาวางใกล้มือของน้องดาว alphabet (๙) กองหนังสือที่เดินตามฝัน


มีหลายคนที่มีความฝันอยากทำห้องสมุดเช่นเดียวกับน้องดาว มีหนังสือที่รวบรวมเพื่อให้ผู้รักการอ่าน แต่ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่ดีๆมากนัก

ฝันของแต่ละคนก็ต่างรูปแบบกันไป

อีกหนึ่งความฝันของสาวน้อยวัย 22 ที่รักการอ่านหนังสือ อยากจะได้สัมผัสกับหนังสือที่หลากหลาย อยากไปห้องสมุดบ่อยๆ แต่เธอไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเข้าห้องสมุด

ความใฝ่ฝันของเธอได้จุดประกายความคิดให้กับนักศึกษาสาวราชภัฏคนหนึ่ง ที่ชอบสะสมหนังสือไว้เต็มจนบ้าน และอยากจะแบ่งปันให้คนอื่นๆมีโอกาสได้อ่านหนังสือเช่นเธอบ้าง เหมือนน้องดาว

ที่บ้านสาวราชภัฎคนนี้ มีหนังสือเกิน 1,000 เล่ม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า เธอรักการอ่านมากๆ

แต่หนังสือทั้งหมด เธอจะซื้อจากร้านหนังสือมือสอง ซึ่งขายครึ่งราคาปก ทำให้เธอสามารถซื้อหนังสือได้จำนวนมากๆ แม้ว่าหนังสือที่ได้ จะอยู่ในสภาพกระดาษงอบ้าง ขาดบ้าง มีร่องรอยการขีดเขียน เนื้อกระดาษเหลืองกรอบไปตามกาลเวลา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับเนื้อหาสาระที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนั้น

เมื่อสามารถใช้เงินซื้อหนังสือในราคาถูกมากกว่าคนอื่น ทำให้เธอซื้อหนังสือที่พบในร้านหนังสือเก่าได้ตลอด จนปริมาณหนังสือมากมายเต็มห้อง

หนังสือเยอะเต็มห้อง เธออยากจะทำห้องสมุดขึ้นมาบ้าง แต่สภาพหนังสือมือสอง อยู่ในสภาพย่ำแย่มากๆ เธออยากจะมีเวลาซ่อมหนังสือบ้าง

แต่เธอก็มีอุปสรรคเหมือนกับน้องดาว ศิริรัตนา คือ ไม่มีความรู้ ไม่มีเวลา และไม่มีทุน

เธออยากให้ห้องสมุดที่เธอจะทำ ให้คนที่รักการอ่านแต่ไม่มีโอกาสเข้าห้องสมุดได้อ่านหนังสือเหล่านั้น

อ้าว แล้วถ้าทำห้องสมุดให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าห้องสมุด  ทำไปแล้ว กลุ่มคนที่มุ่งหวังนั้น พวกเขาจะเข้าห้องสมุดกันหรือ

จากคำพูดที่จุดประกาย และการแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้น ถ้าพวกเขาเข้าห้องสมุดเพื่อมาอ่านหนังสือที่อยากอ่านไม่ได้ งั้นก็ให้หนังสือไปหาพวกเขาสิ

สาวราชภัฎได้แนวความคิดนี้มาจาก การเห็นเด็กนักเรียนเดินไปโรงเรียนในตอนเช้า ซึ่งถือกระเป๋าใส่หนังสือไปด้วย สาวราชภัฎจึงมีแนวคิด นำหนังสือใส่เป้ เอาไปให้เด็กได้อ่านในวันหยุด

เป็นเด็กที่อยู่ในชุมชนแถวบ้านเธอนั่นเอง ขนหนังสือใส่เป้ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ขนไปวางไว้ที่อ่านหนังสือของชุมชน ซึ่งเป็นโรงอาหารของโรงเรียนซึ่งมีโต๊ะ เก้าอี้ใช้นั่งอ่านหนังสือในวันเสาร์ อาทิตย์ได้ ตอนเช้า ขนไปวางไว้ ตอนเย็นไปขนกลับ

เธอไม่คิดที่จะมอบหนังสือไว้ที่นั่นเป็นการถาวรเลย เพราะหนังสือของเธอเก่ามาก หากดูแลรักษาไม่ดี หนังสือจะชำรุดได้ง่าย จึงต้องขนกลับมาที่บ้าน เพราะจะได้เช็คสภาพหนังสือ หากพบเล่มที่ชำรุดมากๆ ก็จะแยกกองไว้ รอซ่อมในวันที่มีเวลาว่างๆ

ทุกวันหยุด เธอก็จะเอาหนังสือใส่เป้ ขนไปวางที่โรงอาหาร ใส่ได้เท่าไหร่ ก็เอาเท่านั้น เพราะต้องการให้เด็กๆ ใช้หนังสือทุกเล่มที่ขนไป ตอนเย็นขนกลับ วันใหม่ก็เอาเล่มใหม่มาให้อ่าน

ทำให้ดูเหมือนมีหนังสือใหม่ๆมาให้อ่านเรื่อยๆ กระตุ้นความสนใจได้พอสมควร

คล้ายๆกับหนังสือเคลื่อนที่ เพื่อนของเธอซึ่งมีแนวคิดเหมือนกัน พอรู้เรื่อง ก็เข้ามาช่วยเธอ

เอาเป้มาใส่หนังสือแล้วไปเปิด มุมรักคนอ่านในชุมชนเล็กๆอีก 3 แห่ง ทำให้หนังสือเก่าของสาวราชภัฏ เดินทางไปหาผู้รักการอ่านใน 4 ชุมชน

ทำให้คนในชุมชนได้อ่านหนังสือมากขึ้น จากเวลาว่างในช่วงทำงาน ช่วงพักทานข้าว ก็เดินออกมาจากบ้าน มาหยิบอ่านหนังสือได้สะดวกขึ้น

หลังจากที่ได้ลงมือทำตามความฝัน และหารูปแบบที่ลงตัว จากที่คิดว่า ตัวเองไม่มีเวลา กลับสามารถใช้เวลาว่างของวันหยุด ทำความฝันให้เป็นจริง เปิดเป้หนังสือเคลื่อนที่ (เล็กกว่าห้องสมุดเคลื่อนที่อีกหลายเท่า

ซึ่งเมื่อได้ลงมือทำงาน ก็จะเกิดการแบ่งเวลาของตัวเองโดยอัตโนมัติ  ดึงนั้นหลายคนที่มักจะอ้างว่า ไม่มีเวลา แสดงว่า การลงมือทำงานของบุคคลเหล่านั้น…(…เป็นอย่างไร … )

หมายเลขบันทึก: 47816เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท