BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๓๙ : เป็นอยู่กับความลึกลับ (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

ตปะ คือ การสำรวมตา หู ... เป็นต้น คอยระวังมิให้อารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์เข้ามา และเผาทำลายอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น มิให้ก่อเกิดเป็นอกุศลขึ้นภายในจิตได้.... อีกนัยหนึ่ง ตปะ คือ การเผาทำลายความเกียจคร้านให้หมดไป สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เพื่อจะพึ่งตนเองได้ จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานหรือผู้น้อยมากนัก.....

พรหมจรรย์ คือ การบำเพ็ญสมณธรรม โดยการเว้นการร่วมหลับนอนกับหญิงหนึ่งหรือชายใด พิจารณาอาการสามสิบสอง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก... เป็นต้น โดยพิจารณาเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทนยาก และมิใช่สิ่งที่จะบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้.....

นั่นคือ แนวทางปฏิบัตในมงคล ๒ ข้อที่ผ่านมา... ส่วนมงคลข้อนี้ คือ การเห็นอริยสัจ ๔ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า พุทธศาสนิกชนทั่วไปคงจะพอจำและมีพื้นฐานเบื้องต้นอยู่บ้างตามสมควร ดังนั้น ผู้เขียนจะยกเว้นรายละเอียดดังกล่าว จะนำเสนอในประเด็นเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น

.....

สำหรับผู้สูงอายุ เวลาว่างมีมาก ดังนั้น นอกจากจะบำเพ็ญตปะและพรหมจรรย์แล้วก็ควรจะพัฒนาความคิดเห็นในธรรมให้สูงขึ้น...

โดยตรึกตรองถึงสภาพความมีอยู่เป็นอยู่ขณะนั้นว่าเป็นทุกข์อย่างไร ซึ่งอาจจำแนกการพิจารณาเป็นทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ.... (ทุกข์) 

แล้วก็รำลึกไปถึงบ่อเกิดของทุกข์ที่ปรากฎอยู่เหล่านั้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร... กายที่ไม่ควรแก่งานหรือไม่ได้ดังใจในขณะนี้เพราะเห็นอะไร... ใจที่ยังสับสนวุ่นวายหรือขุ่นมัวขึ้งเครียด ไม่เงียบสงบเพราะเหตุอะไร .... (สมุทัย) 

การทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ จะทำให้ท่านทราบว่า ทุกข์ที่มีอยู่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็เพราะท่านไม่ได้ดับสาเหตุของทุกข์นั่นเอง.... (นิโรธ)

ต่อจากนั้นก็ดำริถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อการดับสาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้น..... (มรรค)

......

อริยสัจ ๔ นอกจากจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคือทุกข์ทางใจเป็นสำคัญแล้ว ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้อธิบายปัญหาอื่นๆ ได้... ดังนั้น ถ้าผู้สูงอายุมีความคิดเห็นเป็นไปตามหลักอริยสัจทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรมแล้ว จะทำให้ภูมิธรรมและปารมีธรรมของท่านค่อยๆ สูงขึ้น มีความมุ่งหวังเพื่อปลดเปลื้องตัวเองจากสิ่งร้อยรัดทั้งทางกายและทางใจ....

เพราะใจผูกพันอยู่กับความมุ่งหวังที่จะปลดเปลื้องตัวเองจากสิ่งร้อยรัดเหล่านั้น พิจารณาเห็นปัญหาที่มีอยู่เป็นอยู่ตามหลักอริยสัจ จะทำให้ใจของท่านค่อยๆ ยกระดับขึ้นไปด้วย.... ซึ่งภาวะทางใจของผู้เป็นอยู่ระดับนี้ จะค่อยๆ ลี้ลับมากยิ่งขึ้นไป นั่นเอง.....

ความมุ่งหวังเพื่อจะปลดเปลื้องตัวเองจากสิ่งร้อยรัด ก็คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง นั่นเอง.... ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป  

หมายเลขบันทึก: 104373เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท