20 กุมภา วันสืบชะตา สคส.


เราไม่สามารถจะแยกคิดระหว่างเรื่องชีวิต (ตัวเรา) เรื่ององค์กร (สคส.) และ เรื่องสังคมไทยได้หรอก

        เมื่อวานเป็นวันที่พวกเราชาว สคส. ได้ใช้เวลา 1 วันเต็ม เพื่อพูดคุยกันเรื่องทิศทาง วิสัยทัศน์ ของ สคส. ว่าเราจะขอต่ออายุการดำเนินงานไปอีก 5 ปี จะดีไหม? พูดง่ายๆ ก็คือ ควรจะมี สคส. ภาค 2 (Episode 2) หรือไม่? 

        เราเริ่มต้นด้วยการช่วยกันคิดโจทย์ร่วมกัน... ผมเปิดประเด็นว่าเราน่าจะคุยเรื่องทิศทางอย่างกว้างๆ ในขณะที่คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เสนอว่าน่าจะเป็นการตอบคำถาม 3 ข้อซึ่งก็คือ  1.เราควรจะทำอะไร (what) ? 2.....ให้กับใคร (who) ? และ 3......เพื่ออะไร  (why)? โดยที่ยังไม่ต้องพูดเรื่อง ....ทำอย่างไร (how) ? ตั้งโจทย์กันเกือบครึ่งชั่วโมง ในสุดท้ายโจทย์ที่ใช้ในช่วงแรกนี้ก็คือ   ให้ช่วยกันมองภาพใหญ่ (ของสังคมไทย)  แล้วใส่ สคส. ลงไปว่าควรจะทำอะไร...อยู่ตรงไหนในภาพนั้น (positioning)”  แล้วเราก็ช่วยกันวาดฝันนั้นออกมาร่วมกัน

        หลังจากนั้นก็ได้ช่วยกันสะท้อน ภาพปัจจุบันของ สคส.   แล้วต่อด้วยข้อเสนอแนะที่เราจะทำให้เราปิด ช่องว่าง (Gap)” ระหว่างภาพปัจจุบันกับภาพอนาคตนั้นได้  ในช่วงสุดท้ายก็มีการเปิดเวทีพูดกันอย่าง เปิดใจ  เพื่อจะได้ทราบถึงแรงบันดาลใจของแต่ละคน  ฟังดูแล้วก็ต้องถือว่าเป็นโชคดีของ สคส. (และสังคมไทย) ที่บุคลากรทุกคน มีใจ ให้กับองค์กรและ มีไฟ ที่จะทำงานเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

        ผมเองซะอีกที่กลับรู้สึกว่าลึกๆ แล้วตัวเองไม่ค่อยจะ “IN” กับเรื่องเชิงสังคมเท่าไร  เพราะในขณะที่หลายๆ คนพูดเรื่องการทำงานแบบใช้เวลาในพื้นที่ให้ยาวนานขึ้น  ใช้พื้นที่เป็นเวทีการเรียนรู้  หรือที่มีผู้ใช้คำว่า “Social Lab” อะไรทำนองนั้น  ผมเองไม่ค่อยตื่นเต้นกับคำนี้เท่าใดนัก เพราะความสนใจอยู่ที่ระดับตัวบุคคล หรือ “Personal Lab” มากกว่า ทำให้ได้เห็น จริต ตนเองชัดเจนว่า แรงกระตุ้นสำหรับตัวเองนั้นมาจากการได้เห็นพัฒนาการในระดับบุคคลมากกว่าที่จะเป็นโจทย์เชิงสังคม

        แต่ในท้ายที่สุดคำพูดของคุณทรงพล ในช่วงเริ่มต้นที่ว่า   เราไม่สามารถจะแยกคิดระหว่างเรื่องชีวิต (ตัวเรา)  เรื่ององค์กร (สคส.)  และ เรื่องสังคมไทยได้หรอก น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของกระบวนการร่วมกันคิดเมื่อวานนี้ครับ
หมายเลขบันทึก: 79877เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ผมเห็นด้วยกับที่ อ.ทรงพลได้พูดไว้นะครับที่ว่า บ้างครั้งเราก็ไม่สามารถแยกคิดเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(ที่เราต้องการเท่านั้น-เพียงเรื่องของเรา)เท่านั้น  เพราะทุกเรื่องต่อท่อเชื่อมถึงกันอยู่เสมอ
  • ในความคิดเห็นส่วนตัว สคส.ได้คิดดีๆ และทำสิ่งดีๆ หรือให้โอกาสกับคนส่วนหนึ่งของสังคม  ให้ได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับสังคมไทยไว้มาก (หากเทียบกับอายุขององค์กร/5ปี) น่าจะยืนหยัดขับเคลื่อนต่อไปอีกหลายๆ ปี
  • ขอเป็นกำลังใจให้ชาว สคส.และสมาชิกเครือข่ายทุกๆ ท่านครับ

   เห็นด้วยกับท่าน สิงห์ป่าสัก ครับ
  ส่วนที่ว่า .. เราไม่สามารถจะแยกคิดระหว่างเรื่องชีวิต (ตัวเรา)  เรื่ององค์กร (สคส.)  และ เรื่องสังคมไทยได้หรอกนั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องและไม่อาจปฏิเสธความเชื่อมโยงของทั้ง 3 ส่วนได้  แต่ในทางปฏิบัติ การแยกทำเป็นส่วนๆอย่างมีเป้าหมายก็ยอมทำได้ โดยไม่ถือว่าละเลยส่วนที่เหลือ  เช่นการส่งเสริมให้บุคคล เข้ามาเขียนบันทึก  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน Blog ก็เป็นการพัฒนาบุคคล ในด้านต่างๆ เช่นเพิ่มพูนความรู้  เรียนรู้การปรับตัวยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง  ลดความหยาบกระด้าง  ฝึกความอดกลั้นอดทน ฯลฯ .. ในที่สุดเมื่อบุคคลดังกล่าว จะต้องร่วมกันทำอะไรเพื่อองค์กร หรือเพื่อสังคมไทย  ก็น่าจะทำได้ดี และมีปัญหาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ไม่ต้องมาโต้เถียงกันอีกว่า Blog  ทำอะไรโดยตรงให้กับเรื่อง KM หรือไม่ .. อย่างน้อยก็ช่วยเตรียมคนให้เข้าสู่กระบวนการ KM ที่แท้จริงได้ไม่มากก็น้อย  

ขอบคุณ คุณสิงห์ป่าสัก สำหรับกำลังใจที่มีให้แก่ สคส. เสมอมา คิดว่า Phase 2 น่าจะไม่มีปัญหาครับ

สำหรับท่านอาจารย์ Handy พูดได้ "โดนใจ" มากครับ ผมรู้ว่าอาจารย์หมายถึงอะไร ...ใช่เลยครับ

เรียน ท่านbeyondKM..ดิฉันอ่านcommentของท่าน Handy แล้วถูกใจค่ะ "ไม่ต้องมาโต้เถียงกันอีกว่า Blog ทำอะไรโดยตรงให้กับเรื่อง KM หรือไม่ .. อย่างน้อยก็ช่วยเตรียมคนให้เข้าสู่กระบวนการ KM ที่แท้จริงได้ไม่มากก็น้อย" ..ขอบคุณค่ะ

ถูกใจที่อ.ประพนธ์พูดเรื่องความสนใจในภาพใหญ่ (สังคม) กับระดับเล็กๆค่ะ ตรงกับใจมากเลยว่า ความสนใจและจริตของเราอาจจะไม่ตรงกับคนอื่น

ตัวเองก็มีความรู้สึกว่า ชอบที่จะช่วยให้คนแต่ละคน (ในระดับปัจเจก) พัฒนาตนเอง เห็นคนแต่ละคนสำคัญไม่ว่าเขาจะเป็นส่วนประกอบไหน มากกว่าที่จะเป็นคนกำหนดทิศทางโดยรวมของอะไรก็ตาม บางครั้งเมื่อโดนทักถามในลักษณะที่ว่า ทำอะไรไม่คุ้มแรง ก็จะรู้สึกว่า เราอยากทำงานเล็กๆที่เราพอใจไม่ได้หรือ ทำไมทุกคนต้องคิดใหญ่กันไปหมด ทำไมเราจะเป็นเฟืองตัวเล็กๆเดินช้าๆอย่าใจร้อนบ้างไม่ได้หรือ

และเชื่อว่า ทุกแรงทุกคน เป็นส่วนหนึ่งของบ้านนี้ เราไม่มีสิทธิไปกำหนดกฎเกณฑ์ใครๆหรือไปเร่งร้อนกำหนดอะไร อิสระทางความคิดคือสิ่งที่จะทำให้เราทุกคนทำอะไรๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากจะมีการชี้นำ ก็ควรจะโดยการทำเป็นแบบอย่าง เพราะหากแบบอย่างนั้นดีจริง เชื่อได้ว่าต้องมีคนทำตามแน่นอน

ผมเพิ่งค้นพบตัวเองครับว่าจริงๆ แล้วจริตแบบผมนั้นเหมาะกับการประกอบวิชาชีพหมอมากกว่า คือมองการพัฒนาเป็นรายๆ ไป ...ยิ่งได้ฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์วิจารณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเรื่อง "หมอกระสวย" ที่หาดใหญ่ แล้วยิ่งรู้สึกว่า "ใช่เลย"

แต่ก็อย่างที่พูดกันไว้แหละครับว่าในที่สุดแล้ว "ปัจเจก องค์กร และสังคม" มันก็คือเรื่องเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และองค์กรส่วนใหญ่ ผมว่ามาจากที่มองภาพใหญ่ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจกครับ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือเรื่องปฏิรูปการศึกษา ที่เสียเวลาอยู่กับการปรับเปลี่ยน "โครงสร้าง" ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้ใช้เวลากับเรื่อง "กระบวนทัศน์" ของครูและผู้บริหาร มากเท่าที่ควร

หนูก็สนใจในแง่ของปัจเจกมากกว่าด้านสังคมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท