beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ผึ้งไทยอายุยืนกว่าผึ้งฝรั่ง


ผึ้งงานของผึ้งมิ้ม ซึ่งเป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าผึ้งงานของผึ้งพันธุ์ ซึ่งเป็นผึ้งที่นำเข้ามาเลี้ยง

    บันทึกนี้เขียนแบบฟันธงเลยครับ ว่าผึ้ง(งาน)ไทย อายุยืนกว่าผึ้ง(งาน)ฝรั่ง ซึ่งจะได้เล่าต่อไปโปรดติดตาม...... เคยมีคนถามอาจารย์จันทวรรณว่า ข้อมูลในบล็อกนี้เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน อาจารย์จันทวรรณก็ตอบทำนองว่าต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน คืออาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้แล้วแต่คนอ่าน ดังนั้นเรื่องของผมต่อไปนี้ก็ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านเหมือนกัน

   เรื่องเดิมคือเมื่อวันที่ 7 พ.ย.48 เป็น วันเกิด beeman ผมได้ช่วยชีวิตผึ้งมิ้ม (Apis florea) ไว้จำนวนหนึ่ง (1 รัง) โดยนำไปปล่อยไว้ในรังผึ้งพันธุ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.48 ซึ่งได้เล่าเรื่องไว้แล้วในบันทึก ขุมความรู้ : การทำให้ผึ้ง 2 ชนิดอยู่ด้วยกัน (คนเข้ามาอ่าน 67 ครั้งเพราะเป็นความรู้เฉพาะทาง) ต่อมาวันที่ 10 พ.ย.48 ผมได้นำภาพผึ้งมิ้มซึ่งอยู่ในรังผึ้งพันธุ์ มาให้ดูกันพร้อมกับบันทึกเรื่อง การเลี้ยงผึ้ง 2 ชนิดในรังเดียวกัน (ชื่อเรื่องน่าสนใจไม่เป็นวิชาการมากนัก มีคนเข้ามาอ่าน 239 ครั้ง) และต่อมาอีก 12 วัน คือในวันที่ 20 พ.ย.48 ผมก็ได้เขียนเรื่อง พฤติกรรมที่น่าจะเปลี่ยนไปเมื่อผึ้งมิ้มมาอยู่บ้านผึ้งพันธุ์ และหลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนเรื่องนี้อีกเลย

   วันนี้ 2 ก.พ.48 ห่างจากวันช่วยชีวิตผึ้ง (8 พ.ย.48) 85 วันแล้ว ผึ้งมิ้มยังอยู่ในรังผึ้งพันธุ์ในจำนวนที่มากพอสมควร ผึ้งที่ลดประชากรลงไปมากคือผึ้งพันธุ์ แม้ว่าจะมีผึ้งนางพญาอยู่ด้วยก็ตาม (คำว่าผึ้งมิ้มหรือผึ้งพันธุ์ หมายความถึงผึ้งงานของผึ้งแต่ละชนิด)

   จากการศึกษาวงชีวิตของผึ้งงาน(ผึ้งพันธุ์) หลังออกจากหลอดรวงแล้ว ของคนไทย พบว่า มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 68 วัน (ศึกษาในฤดูปกติที่ไม่ใช่ฤดูเก็บน้ำหวาน) และที่มีอายุมากที่สุดประมาณ 88 วัน ซึ่งใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของผึ้งพันธุ์ในเขตอบอุ่น ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ได้ไม่เกิน 90 วัน 

   แต่ในขณะนี้ผ่านมา 85 วันแล้ว ในรังผึ้งพันธุ์ มีผึ้งงานของผึ้งมิ้มเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าผึ้งงานของผึ้งมิ้ม ซึ่งเป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าผึ้งงานของผึ้งพันธุ์ ซึ่งเป็นผึ้งที่นำเข้ามาเลี้ยงจากต่างประเทศ

   สาเหตุน่าจะมาจาก  1. กรรมพันธุ์หรือยีน ของผึ้งไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวว่าผึ้งพันธุ์ (ผึ้งฝรั่ง)   2. ความหลากหลายของอาหารผึ้งในแถบเอเชียมีมากกว่า (อาหารทำให้อายุยืน) 3. ผึ้งไทย (ผึ้งมิ้ม) ทำงานน้อยกว่าผึ้งฝรั่ง (ไม่ต้องสะสมอาหารมาก) และ 3. (สำคัญ) คือผึ้งมิ้ม (ในกรณีนี้) ไม่ต้องใช้ต่อมที่หัว (Hypopharyngeal gland) กลั่นเอาอาหารสำหรับเลี้ยงผึ้งวัยอ่อนหรืออาหารทิพย์ที่ใช้เลี้ยงผึ้งนางพญา หรือ รอยัล เยลลี่ (Royal jelly) เลยตลอดชั่วอายุของเขา เนื่องจากในรังไม่มีตัวอ่อนของผึ้งมิ้มและไม่มีผึ้งนางพญา (ของผึ้งมิ้ม) ด้วย

  บันทึกนี้ไม่ใช่งานวิจัย แต่อาจเป็นหัวข้องานวิจัยที่น่าจะศึกษาต่อไป และบันทึกนี้ไม่น่าจะมีข้อคิดเห็นเนื่องจากผู้อ่านที่ชอบเรื่องราวที่เกี่ยวกับผึ้งมีน้อยกว่าผู้ที่ชอบเรื่องกล้วยไม้ (เรื่องกล้วยไม้สกุลช้างของภูคา มีผู้อ่านมากถึง 1013 ครั้งแล้วครับ).......

 

หมายเลขบันทึก: 14273เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท