เสวนายามเช้าเรื่อง "Deep Listening" กับ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด


ฟังด้วยใจ ฟังด้วยสติ อยู่กับปัจจุบัน ด้วยจิตนิ่ง ไม่บวก ไม่ลบ มีใจจดจ่ออยู่กับการฟัง ฟังโดยไม่คิด ฟังจบแล้วค่อยนำมาคิด

 

หลังจากที่ติดตามผลงานของท่าน อ. ประพนธ์  ผาสุขยืด (http://gotoknow.org/blog/beyondkm) มานาน ผมก็เพิ่งได้สัมผัสตัวจริงกับท่านเมื่อวานนี้เอง (23 กุมภาพันธ์ 2553) ที่งาน “Asia Pacific HR Congress 2010” ภายในงานได้จัดให้มี Free Learning Zone ขึ้น 2 เวที ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการเสวนากับท่าน อ. ประพนธ์  ผาสุขยืด ที่เวที่ Stage A ในเรื่อง “Deep Listening มหัสจรรย์แห่งการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10 โมง จนถึงเที่ยง วันนั้นท่านมากับทีมงานอีก 1 ท่านคือ คุณ อุไรวรรณ  เทิดบารมี  ที่ปรึกษาพัฒนาการเปลี่ยนแปลง (Change & Empowering Officer) สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) (http://www.kmi.or.th/1_AboutUs/Officer/CV_Uraiwan.html)

 

บรรยากาศการเสวนาเริ่มต้นด้วยการให้ดู VDO การสื่อสารระหว่างอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช กับที่ปรึกษา ที่เป็นการสื่อสารที่ล้มเหลว อาจารย์จึงได้เชื่อมโยงให้เห็นว่าการฟังสำคัญกว่าการพูด จากนั้นก็ได้แจกแบบสอบถามที่มีลักษณะของการประเมินการฟังของการเสวนาในครั้งนี้ ถามถึงวัตถุประสงค์การฟัง และคุณภาพการฟัง โดยแบ่งออกเป็นช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเสวนา ว่า ฟังด้วยจินตนาการหรือจากประสบการณ์เดิม หรือใช้ร่วมกัน จากนั้นคุณอุไรวรรณก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเสนาต่อโดยใช้เรื่องเล่านิทานกระต่ายกับเต่าเป็นตัวดำเนินเรื่อง แล้วถามผู้เข้าเสวนาว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ หลายคนตอบด้วยการตัดสินไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องเดิมๆ เอาประสบการณ์เดิมๆ มาตัดสิน หรือเอาที่สิ่งที่ตัดสินอยู่ในใจไว้แล้ว (Mental Model) มาตัดสิน จนกระทั่งวิทยากรได้เฉลยในตอนท้ายว่า เรื่องนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดิม แต่การเล่าเป็นการเล่าด้วยมุมมองใหม่ คือ มุมมองของกระต่าย โดยมุมมองเดิมจะเล่าในมุมมองของเต่าซึ่งสอนให้รู้ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่ในมุมมองของกระต่าย จะเป็นเรื่องของ “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความหายนะ”

 

 

คุณอุไรวรรณ ได้ยกตัวอย่างจากเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวที่มีความรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลีย และกระหายน้ำ แต่พยายามหาซื้อน้ำเปล่าที่อยู่บริเวณงานไปหลายที่แล้ว แต่ปรากฎว่าไม่มีน้ำเปล่าขาย มีแต่น้ำอย่างอื่น จนกระทั่งไปพบร้านขายน้ำที่มีมะนาวอยู่ จึงได้ขอซื้อมะนาวเพื่อบีบกินแทนน้ำดับกระหาย จากนั้นก็ถามผู้เข้าเสวนาเหมือนเดิมว่ารู้สึกอย่างไร มีประเด็นอะไร และก็เป็นไปตามคาด ผู้เข้าร่วมเสวนาตอบตามประสบการณ์เดิมด้วยความสงสัย หรือเอาที่สิ่งที่ตัดสินอยู่ในใจไว้แล้ว (Mental Model) มาตัดสินเช่นเคย ท่านวิทยากรทั้งสองจึงได้สรุปให้ฟังว่า การฟังอย่างลึกซึ้งนั้นต้องฟังด้วยสติ ฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ฟังทุกอย่างที่เป็นข้อมูลเข้า และต้องไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่าคนส่วนใหญ่ฟังแต่ไม่ได้ยิน คือมีข้อมูล 100 % จะรับได้แค่ 10 % อีก 90% เป็นสิ่งที่ตัดสินอยู่ในใจไว้แล้ว ตามที่เรียกว่า Inner Voice คือ เสียงที่อยู่ในใจตนเอง  อาจารย์ยกตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องการให้คำปรึกษาแก้ปัญหา ถ้าผู้บังคับบัญชารับฟังปัญหาไม่ครบถ้วนและตัดสินจาก Inner Voice ไป ผู้ใต้บังคับบัญชาจะรู้สึกว่าคำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของของปัญหานั้น ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ถูกจุด ดังนั้นถ้ามีการฟังอย่างลึกซึ้ง จะสามารถตั้งคำถามได้ดี และทำให้พบว่าคนส่งสารก็จะค้นพบคำตอบนั้นได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้คนรับสารตอบออกมาก็ได้

 

วิทยากรยังได้เชื่อมโยงเรื่องของการฟังกับการปฏิบัติธรรมว่า เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ต้องฟังด้วยสติ อยู่กับปัจจุบัน ด้วยจิตนิ่ง ไม่บวก ไม่ลบ มีใจจดจ่ออยู่กับการฟัง ฟังโดยไม่คิด ฟังจบแล้วค่อยนำมาคิด การฟังต้องฟังด้วยใจ และทำด้วยใจ ไม่ใช้ฟังด้วยหู โดยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา นั่นคือ Here you/See you/Be with you ตัวอย่างเช่น การให้บริการลูกค้าที่เคาเตอร์ธนาคาร ถ้าถึงคิวผู้ใช้บริการของเราแล้วแต่เจ้าหน้าที่ยังเขียนเอกสาร รับโทรศัพท์อยู่ เราจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้สนใจเรา ไม่เห็นเรา ไม่ฟังเรา เป็นต้น  เมื่อมีสติกับการฟังจะเห็นตามสิ่งที่เป็นจริงตามที่มันเป็นจริง จากนั้นปัญญา (Wisdom) ก็จะเกิดขึ้นมาเอง คำว่าปัญญานี้คือสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริงถึงสัจธรรม ซึ่งเป็นคนละตัวกับความรู้ คนมีความรู้อาจจะไม่ใช่คนมีปัญญาก็ได้ สิ่งใดที่เป็นเรื่องของการจดจำ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ทำลายล้าง ทำให้เกิดความไม่สงบสุข หรือเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะคน ตอบสนองกิเลส ไหลไปตามทุนนิยม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ความรู้ทางโลกๆ เท่านั้น  การทำงานหรือการแก้ปัญหาควรต้องทำมีความสุขและทุกคนพอใจ เช่น การนำ Dialogue มาใช้ โดยให้ทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นคุยกันอย่างเปิดใจ เล่าเรื่องแสดงความคิดเห็นจากกิจกรรมที่ได้ประสบมา (AAR : After Action Review)

 

 

ท่านวิทยากรได้อธิบายถึง Model ของความรู้สึกนึกคิด โดยสิ่งที่มีผลต่อการรับรู้สถานการณ์ Situation จะมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ความคิด (สมองด้านซ้าย) และความรู้สึก (สมองด้านขวา) คือ ยิ่งมีความคิดและความรู้สึกมากเท่าใด การรับรู้สถานการณ์ก็จะยิ่งห่างจากความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการรับรู้ จะต้องทำใจให้เป็นกลาง ไม่บวก ไม่ลบ จึงจะทำให้เข้าถึงความจริงที่ตรงเป้ามากที่สุด นั่นคือการทำใจให้เป็น “อุเบกขา” ซึ่งตามที่ท่าน พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายไว้หมายถึง การวางใจให้เป็นกลาง มองตามความเป็นจริง อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่การวางเฉย หรือเพิกเฉย การที่จะเข้าถึงความจริงได้จะได้ต้อง “อย่าผู้ขาดความจริง” ตามที่ท่าน ว. วชิระเมธีได้กล่าวไว้ อย่าเชื่อโดยปักใจ ซึ่งผมคิดว่านั่นก็คือหลักของกาลามสูตรและโยนิโสมนสิการนั่นเอง

 

 

การทำงานและดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่จะใช้ “เหตุผล” ที่จะใช้สมองด้านซ้ายมากกว่า “เหตุปัจจัย” ที่ใช้สมองด้านขวา ดังนั้นควรคำนึงถึง “เหตุปัจจัย” เพิ่มขึ้นให้มากกว่าเก่า โดยใช้เครื่องมือส่งเสริม จินตนาการ ความรู้สึก ที่ทำให้คนเกิดความสุขความพอใจให้มากขึ้น เช่น Dialogue ,Story Telling, World Café, AAR เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม ต้องให้การใช้สมองของทั้งสองฝั่งสมดุลกัน

 

หมายเลขบันทึก: 339607เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2010 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ได้แง่คิดที่ดี บางครั้งเราไม่เคยมองในมุมของกระต่ายเลยนะคะ

    ข้อมูล 100 % จะรับได้แค่ 10 % อีก 90% เป็นสิ่งที่ตัดสินอยู่ในใจไว้แล้ว

                                ผมเองก็น่าจะประมาณนั้นครับ 

                     จะพยายามลด Mental model  เพื่อการฟังครับ

 

                                 ขอบคุณสาระดีๆที่นำมาฝากครับ

สวัสดีครับ

ความเชื่อฝังหัว (mental model) เป็นอันตรายมากในการทำงานเป็นทีม ยิ่งถ้าระดับผู้บังคับบัญชามีความเชื่อฝังหัวด้วย ทีมงานอาจเกิดอาการ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" ในการร่วมคิดร่วมพัฒนาองค์กร

อ่านบันทึกนี้แล้วนึกถึงบทสนทนาระหว่าง กฤษณะมูรติกับ ดร.เดวิด โบฮ์ม นักฟิกส์ "Does Free Will Exist?" ที่พยามตอบลักษณะของ relative กับ absolute ไม่ว่าจะ ฟัง คิด ถาม หรือ เขียน ล้วนเชื่อมโยงและเป็นผลกระทบจากประสบการณ์ เหมือนกับ program ที่ถูก burn ลง eprom ซึ่งไม่ว่ากิจกรรมใดของสมองเวลาทำงาน มันจะต้องวิ่งเข้ามา read ส่วนนี้ก่อนทุกครั้ง ผมคิดว่าถูกอย่างยิ่งเลยครับ การวางอุเบกขาและลดอัตตาของตัวเอง จะทำให้ผลร้ายของ mental model ลดลง

ขอบคุณ คุณ P naree suwan ที่เข้ามาเยี่ยมครับ วันนั้นผมก็ไม่ได้นึกถึงเลยครับ จนวิทยากรมาบอกทีหลัง

ขอบคุณท่าน P small man ที่เข้ามาเยี่ยมครับ วันนั้นอาจารย์ไม่ได้ใช้คำว่า Mental Model ครับ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะเชื่อมโยงเป็นเนื้อหาเดียวกันได้ครับ

ขอบคุณคุณบัวปริ่มน้ำ P ข้ามสีทันดร ที่มาเติมเต็มเนื้อหาครับ คนเป็นหัวหน้านี้ต้องมีลักษณะเป็น Collective Leader Intelligent คือต้องรับฟังเก็บสะสมสิ่งที่เป็นประเด็นรอบด้าน ต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ อยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจ เหมือนอย่างที่ท่าน อ. วรภัทร์พูดไว้เลยครับ

ขอบคุณ คุณ P ฝนแสนห่า ที่เข้ามาจุดประกายเชื่อมโยงเนื้อหาต่อครับ บทสนทนาระหว่าง กฤษณะมูรติกับ ดร.เดวิด โบฮ์ม ว่ากันว่าเป็นสุดยอด Dialogue เลยครับ

  • ละเอียด ชัดเจน ดีจังครับ ตระหนักถึงความสำคัญของการฟัง(ด้วยใจ)ขึ้นอีกมาก
  • ขอบคุณความรู้ที่นำมาแบ่งปันครับ

ขอบคุณ คุณ P ฝนแสนห่า ที่เข้ามาจุดประกายเชื่อมโยงเนื้อหาต่อครับ บทสนทนาระหว่าง กฤษณะมูรติกับ ดร.เดวิด โบฮ์ม ว่ากันว่าเป็นสุดยอด Dialogue เลยครับ

ขอบคุณ คุณ P ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกันครับ แนวคิดที่ได้นี้ก็เป็นพื้นฐานเบื้องต้นครับ ผมเองก็คงต้องนำไปฝึกต่อให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไปครับ

พิพัฒน์ ชุมเกษียร

มุมมองของเต่า กับกระต่าย ทำให้เราเห็น "เหรียญ๓ด้าน" ตามความเป็นจริง

ฉวีวรรณ เทพจันทร์

เป็นแง่คิดที่ดีมากๆค่ะ การฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ในหลายๆด้านค่ะ ซึ่งกำลังพยายามฝึกฝนให้มากอยู่

ดีมากครับ

นึกถึง ดร โอเน็ต กับ woody ที่ออกทีวี

http://www.youtube.com/watch?v=RDhmCpoEa_Q

ครู อาจารย์ ไทย ต้อง ฝึก deep listening หน่อยนะ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาอ่านและได้สาระดีๆกลับไป
  • ขอบคุณค่ะ
                  ครูตาเพิ่งเข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาข้าราชการ   วิทยากรให้ Deep listening แต่ผู้เข้าอบรมไม่เข้าใจกระบวนการ...ไม่สนใจฟัง...ซักถามคนเล่า  และหันไปคุยกันนอกเรื่อง  หากเป็นอย่างนี้คนเป็นวิทยากรควรทำอย่างไรดีค่ะ

ลองเข้าไปอ่านเรื่องราวของ อ.ภิญโญ ตาม Link นี้ดูครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/484576

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท