Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณชาตรี : ข้อคิดสำหรับคนเชื้อสายไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศพม่าและอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖


บันทึกเพื่อตอบปัญหาประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

คำถาม

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๘ น. คุณชาตรี นามหงษ์ [IP: 110.164.239.48] เข้ามาใน http://www.gotoknow.org/ask/archanwell/13738 และตั้งคำถาม อ.แหววว่า

“เรียนอาจารย์ รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ผมเป็นคนไทยใหญ่ มีบัตรประจำตัวชุมชนพื่นที่สูงที่ ขึ้นต้นด้วยเลข 6 เช่น 6500972113830 13 หลักครับ บัตรระบุว่าเข้ามาในประเทศไทยปี พ.ศ.2536 แต่ผมเกิดพม่า ครอบครัวเป็นไทยใหญ่ทั้งตระกูล เข้ามาอาศัยตั้งแต่เด็กจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง รักในหลวง รักเมืองไทย ตอนนี้ผมจบ ม.6 แล้ว อายุ 20 ปี อยากเป็นทหารไทยมากเลยครับ แต่ผมเป็นไม่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทย อยากถามอาจารย์ครับว่า ผมสามารถโอนสัญชาติได้ไหมครับ และมีวิธีไหนบ้างที่ผมสามารถเป็นคนไทยได้ครับ”

-------

คำตอบ

--------

ในประการแรก  คุณในวันนี้มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราวในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย แต่ยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายนี้จะถือว่า คุณเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งคุณควรไปร้องขอสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรค่ะ แล้วค่อยไปแปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติไทยในภายหลัง ค่อยๆ ดำเนินเรื่องไปทีละขั้นตอน อย่าไปซื้อบัตรประชาชนปลอมนะคะ ชีวิตจะมีปัญหาในอนาคตถ้าโชคร้ายถูกจับได้ คุณชาตรีไปยื่ยคำร้องของสถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แล้วยัง คุณอาศัยอยู่ในอำเภอไหนคะ ? จังหวัดไหนคะ ?

ในประการที่สอง คนต่างด้าวเป็นทหารในกองทัพไทยไม่ได้ และถึงแม้ว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติก็เป็นสมัครรับราชการทหารไม่ได้ ตามกฎหมายปัจจุบัน

ในประการที่สาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากคุณยังมีญาติพี่น้อง โดยเฉพาะปู่ย่าตายายในพม่า การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติพม่าก็เป็นไปได้ค่ะ ไม่ต้องไปขึ้นทะเบีนแรงงานต่างด้าวนะคะ ก็เดินกลับไปในประเทศพม่า และไปที่อำเภอในพม่าที่ปู่ย่าตายายมีทะเบียนอยู่ แล้วก็ไปพิสูจน์ว่า คุณเกิดในประเทศพม่าและเป็นลูกหลานท่าน คุณก็จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรพม่าและมีบัตรประจำบุคคลที่ออกตามกฎหมายพม่า แล้วก็ไปทำหนังสือเดินทางตามกฎหมายพม่า หากอยากกลับมาเรียนหรือทำงานต่อในประเทศไทย ก็อาจมีความยากลำบาก ใช้เวลาบ้าง แต่ในเวลาต่อไป ก็จะง่ายขึ้นกับการมาถึงของการเปิดตลาดเสรีของประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูป

ในโอกาสที่เริ่มมีประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน ที่จะปรากฏตัวเต็มรูปใน ค.ศ.๒๐๑๕ หรือ พ.ศ.๒๕๕๘ น่าจะทำให้ภาพชีวิตของคนในประเทศไทยและอีก ๙ ประเทศเปลี่ยนไปเร็วขึ้นค่ะ ในวันนี้ ความเคลื่อนไหวข้ามชาติระหว่างไทย-พม่าตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีอยู่และมากมาย แต่ใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘ ความเคลื่อนไหวจะเป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

ลองหาความรู้ดูนะคะ บางทีการกลับไปประเทศพม่าก็อาจทำให้ชีวิตของคุณดีกว่าการอยู่ในประเทศไทยนะคะ หากมีโอกาสที่จะกลับไปพิสูจน์สิทธิในสัญชาติพม่า ก็แนะนำนะคะ และภายในเวลาไม่นาน เท่าที่เห็น อาจจะหนึ่งหรือสองเดือน ก็ทำหนังสือเดินทางตามกฎหมายพม่าเข้ามาเรียนในประเทศไทย และใช้วีซ่านักเรียน และเปลี่ยนสถานะตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทยจากคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายไทย เป็นคนที่เข้าเมืองที่ถูกกฎหมายไทย ไม่ไหนในประเทศไทย ก็ไม่ต้องขออนุญาต และก็ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) เหมือนเดิม ส่วนจะต้องเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชนหรือไม่ อันนี้ ต้องถามทาง อ.วีนัส สีสุข แห่งกรมการปกครอง ซึ่งอันนี้เป็นการจัดการในระดับกฎหมายลูกบท และเมื่อคุณยังอยากจะสัญชาติไทย คุณก็ยังร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ค่ะ การยุติความเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายคนเข้าเมืองไทยแบบนี้ก็เป็นไปได้ทางกฎหมาย แต่ไม่ค่อยมีคนมาใช้สิทธิ อาจจะเป็นเพราะคนไทใหญ่ในอดีตไม่ไว้ใจรัฐบาลทหารพม่า แต่ในวันนี้ซึ่งมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญพม่าใหม่ มีการเลือกตั้งในพม่า อ.แหววก็สังเกตเห็นชาวไทใหญ่ที่ยอมรับที่ถือหนังสือเดินทางพม่ามากขึ้น และก็กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยเหมือนเดิม แต่ความเป็นอยู่ดีขึ้น เดินทางสะดวกขึ้น หากมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ก็มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพตามกฎหมายไทย

ลองย้อนพิจารณาปัญหาของคุณชาตรีดูนะคะว่า การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่ตรงไหน ?

หมายเลขบันทึก: 441757เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2022 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ตอบชัดเจนมากเลยครับ ...

เรียนอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน

          ขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ แต่ผมยังไม่เข้าใจว่า สถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ครับว่ารายละเอียดนี้เป็นมายังไงครับ สถานะนี้เป็นผู้ถือพาสปอท ที่ต้องเสียภาษีด้วยใช่ไหมครับ คือภูมิลำเนาของผมอยู่ ที่บ้านเวียงหวาย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ครับ ผมจะไปยื่นเรื่องขอสถานะนี้ได้ไหมครับ ผมต้องทำอย่างไรก่อนครับอาจารย์  


                                                                                                                     ด้วยความเคารพ

ความหวังที่รอมานาน

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ดิฉันชื่อ นางสาวมีนา  มีบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียนค่ะ ชึ่งเป็นหมายเลขศูนย์ พ่อแม่ มีบัตรสีชมพูหมายเลข6 ข้อสงสัยทำไมหนูถึงได้เป็นหมายเลขศูนย์ค่ะ ทั้งๆต้องเป็นหมายเลข 7 หนูไปขอย้ายเข้าในทะเบียนบ้านพ่อแม่ทางอำเภอบอกว่าย้ายไม่ได้ หนูเกิดในประเทศไทย เกิดที่บ้านแต่แม่มาฝากท้องที่โรงพยาบาล จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ค่ะ พอมาค้นหลักฐานใบฝากท้อง เค้าบอกว่าทำลายหลักฐานตั่ง สิบปีแล้ว ตอนนี้หนู อายุ /20ปี วันที่1 มีนาคม ค่ะ แต่หนูมีใบรับรองการเกิด จากอนามัยนาป่าแปก ชึ่งหมอเป็นคนรักษาตอนที่คลอดนะค่ะ ทั้งๆที่บ้านก็อยู่ในเขตพระตำหนักปางตอง  
   ตอนนี้ทำงานโครงการพระราชดำริ หนูไปปรึกษาทางอำเภอหลายครั้งแล้วก็ไม่มีทีถ้าว่าจะได้ ทั้งๆที่เกิดในประเทศไทย แต่ข้อสงสัยทามไม เพื่อนหนูมีบัตรเหมือนหนูแต่ไม่เกิดในประเทศไทย มีบัตรประชาชนกันทุกคนค่ะ

ตอนนี้หนูจบ ปวช อยากมีโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทางอำเภอบอกว่าต้องหาหลักฐานให้มากกว่านี้คือใบเกิด มีแต่ใบรับรองการเกิด ชึ้งเป็นหลักฐานเดียวที่มีอยู่ว่าเกิดในประเทศไทย หลักฐานการศึกษา 

อยากให้อาจารย์ช่วยหาแนวทางให้หนูหน่อยนะค่ะ พออ่าน มาตรา 7 ทวิ ใบรับรองการเกิดก็ใด้นิค่ะ  ไม่รู้จะปรึกษาใคร

ติดต่อ หนูใด้นะค่ะ 091-3058537 อีเมลล์ [email protected]

ขอบพระคุณมากค่ะ

เกิดที่ไหน ? เมื่อไหร่ ? ถือบัตรอะไร ?

พ่อแม่เป็นใคร ? มาจากไหน ? ถือบัตรอะไร ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท