ความเห็นแย้งต่อประเด็น “ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ” (2-1)


เห็นว่าเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่น่าจะได้นำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งสังคมปัญญาควรจะใช้วิธีการเยี่ยงนี้ในการแสดงความเห็นเพื่อแย้งก็ดี เห็นด้วยก็ดีในเชิงวิชาการ

 ประเด็นหลักที่หนึ่ง ประเด็นพิจารณาว่าการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุขเป็นวิชาชีพหรือไม่

     ประเด็นนี้เป็นประเด็นแรกและมีความสำคัญมาก กรอบการพิจารณาของสี่องค์กรได้วางหลักไว้ 6 ประการ เพื่อเอามาประกอบการให้ความเห็นในเรื่องนี้ กล่าวคือ
          1.1 วิชาชีพต้องให้บริการแก่สังคมอันมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยสมาชิกที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น และการประกอบวิชาชีพที่ว่านั้นใช้ได้ทั้งการรับราชการและประกอบอาชีพอิสระ
          1.2 วิชาชีพต้องมีการศึกษาอบรมชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นเวลาอย่างน้อยหลายปีในสถานศึกษาระดับสูง
          1.3 วิชาชีพต้องใช้กระบวนการหรือวิธีการทางปัญญาในการให้บริการ ทั้งในการประกอบวิชาชีพอิสระและรับราชการ มากกว่าการใช้แรงกาย
          1.4 บริการที่ให้โดยผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีอิสระและใช้ดุลยพินิจวิจารณญาณของตนในการใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้ป่วยหรือประชาชน
          1.5 วิชาชีพต้องมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเพื่อถือปฏิบัติในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ
          1.6 มีสภาวิชาชีพในการควบคุมดูแลกันให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

     ทั้ง 6 ประเด็นที่ยกมานี้เป็นกรอบการพิจารณาที่ทางสี่องค์กรวิชาชีพได้ยกมาประกอบการให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายวิชาชีพที่เสนอโดยกลุ่มผู้เสนอทั้งสองร่าง หากได้อ่านรายละเอียดประกอบการพิจารณาในแต่ละประเด็นแล้ว ผู้เขียนขอแสดงความเห็นในแต่ละประเด็นตามลำดับต่อไปนี้

          ประเด็น 1.1 วิชาชีพต้องให้บริการแก่สังคมอันมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยสมาชิกที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น และการประกอบวิชาชีพที่ว่านั้นใช้ได้ทั้งการรับราชการและประกอบอาชีพอิสระ โดยสรุปความคิดเห็นต่อประเด็นทางสี่องค์กรวิชาชีพให้ความเห็นว่า การสาธารณสุข หรือ การสาธารณสุขชุมชนนั้นเป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องช่วยกันและร่วมมือกระทำต่อกัน ประชาชนโดยทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพื่อดูแลสุขภาพของตนเป็นปกตินิสัย จึงไม่เข้าข่ายการให้บริการโดยเฉพาะเจาะจง ประกอบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นผู้ทำหน้าที่นี้เป็นการทำหน้าที่ในทางราชการ ไม่มีโอกาสไปประกอบอาชีพอิสระได้ จึงขาดองค์ประกอบวิชาชีพข้อนี้
 
          ประเด็นความเห็นดังกล่าวนี้มีส่วนจริงบ้างแต่ไม่ทั้งหมด อาจจะเนื่องจากการมองกิจกรรมการสาธารณสุขที่ผ่านมาตามระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่มีแบบแผนขั้นตอนและการใช้อำนาจสูง กล่าวคือมองการสาธารณสุข เป็นกิจกรรมที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนเท่านั้น วิธีคิดหรือการมองเช่นนี้ดูเสมือนว่ายังขาดความเข้าใจและไม่ลึกซึ้งในเนื้อหาวิชาการสาธารณสุข ด้วยเหตุที่การสาธารณสุขนั้น เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การทำให้มีชีวิตยืนยาว รวมถึงความพยายามในการจัดการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสังคม ในรายละเอียดเฉพาะแต่ละเรื่องไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ หรือการทำให้ชีวิตยืนยาวก็ดี ที่เป็นประเด็นจำเพาะเจาะจงอย่างมาก มีการศึกษาทั้งศาสตร์และการประยุกต์ศิลป์ ต่างๆ ในการทำงานมาเป็นเวลายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นศาสตร์ที่เกิดก่อนวิชาชีพหลายๆวิชาชีพที่มีอยู่ปัจจุบันก็ว่าได้ 
          ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งประการ เช่นการป้องกันโรคนั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบาดวิทยา ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติบุคคลรวมถึงอีกหลายศาสตร์ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในบางโรคที่ควบคุมยากและยังทราบวิธีการรักษาที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็น เอดส์ ไข้หวัดนก หรือโรคซาร์ หรือแม้กระทั่งโรคที่ควบคุมง่าย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือ ท้องร่วง เป็นต้น องค์ความรู้เหล่านี้ไม่เสมอไปที่ประชาชนทั่วไปจะมีความรู้ ความเข้าใจได้เองโดยปราศจากการศึกษาทางวิชาการอย่างเจาะจงและชั้นสูง แต่ทว่าผลที่เกิดจากการศึกษาและเรียนรู้อย่างเฉพาะเจาะจงต่างหาก ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นๆได้รับประโยชน์อย่างมาก จนพัฒนาเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านแต่ละกิจกรรมกันไป คงไม่สามารถกล่าวได้อย่างถนัดว่า วิชาการแพทย์ วิชาการพยาบาล วิชาทันตกรรม วิชาเภสัชกรรม ไม่จำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานด้านสาธารณสุข

          ในทางตรงกันข้ามผู้ศึกษาวิชาชีพเหล่านี้มีความจำเป็นต้องศึกษาวิชาการด้านสาธารณสุขกันทั้งสิ้น แต่เป็นไปในระดับพื้นฐานทางสาธารณสุข แต่ศึกษาลึกซึ้งในศาสตร์ของตนเพื่อความเชี่ยวชาญในสาขาตนเองต่อไป เป็นกรณีเดียวกับการศึกษาในสาขาวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย ในวิชาการศึกษาทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องไปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย แต่เป็นไปเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องกฎหมายทั่วไป ส่วนความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเจาะจงนั้น เป็นเรื่องของผู้ศึกษาในสาขานิติศาสตร์เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากจะมีบางท่านที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือ พยาบาล หรือ เภสัชกรรม หรือ ทันตกรรมจะไม่เข้าใจหรือลึกซึ้งเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ตัวอย่างในเรื่องการป้องกันโรคนี้ยังเป็นแค่ตัวอย่างเดียวและเป็นการยกตัวอย่างที่ผิวเผินเท่านั้น เพราะความเป็นจริงในทางการพัฒนาองค์ความรู้แต่ละสาขามีวิวัฒนาการและการศึกษาเชิงลึก แยกย่อยลงไปอีกมาก แต่ประเด็นที่ยืนยันในขั้นต้นนี้ก็คือไม่ใช่อย่างแน่นอนที่ว่าประชาชนโดยทั่วไปจะสามารถเข้าใจเรื่องการป้องกันโรคทุกโรคด้วยตนเอง

          ในทางกลับกัน การดูแลตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาเมื่อเกิดเจ็บป่วย การแสวงหาสิ่งที่จะบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วย ต่างหาก ที่เป็นสัญชาตญาณในการป้องกันชีวิตของตนที่เป็นปกตินิสัย ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้มาแต่บรรพกาลแล้ว และยิ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงองค์ความรู้ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การทำให้ชีวิตยืนยาว ยิ่งเป็นความรู้เชิงจำเพาะจงมากขึ้น ด้วยจำเป็นต้องศึกษาและวิจัยอย่างละเอียด แน่นอน รวมถึงการไปจัดบริการที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน บางกิจกรรมนั้นจัดโดยผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญก็ประสบความสำเร็จ บางกิจกรรมนั้นจัดโดยผู้ไม่เชี่ยวชาญก็ล้มเหลวมีให้เห็นนักต่อนักแล้ว บริการสาธารณสุขนี้ยังสามารถจัดให้สำหรับบุคคล หรือครอบครัว หรือชุมชนได้แทบทั้งสิ้น จะว่าไปแล้วบริการสาธารณสุขนั้นยิ่งเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชนตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะและมีความรู้อย่างเพียงพอไปรับผิดชอบ แต่ในทางการรับรู้ของคนทั่วไป จึงเข้าใจเสมือนว่าเป็นบริการที่รัฐกระทำได้ฝ่ายเดียว ในความเป็นจริงยังเป็นการบริการในภาคเอกชน และองค์กรอิสระมากมาย แตกต่างกันไป ทั้งมีส่วนที่ซ้ำกับที่รัฐจัดให้กับประชาชน และเฉพาะเจาะจงกว่ารัฐจัดให้ประชาชนเสียอีก ในความเป็นจริงบริการทางสาธารณสุขเหล่านี้ในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ เป็นบริการที่เป็นได้ทั้งแบบสินค้าสาธารณะ (Public goods) แบบสินค้าส่วนบุคคล (private goods) เช่นที่ประเทศสหราชอาณาจักร บริการที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน หรือการดูแลผู้สูงอายุ เป็นบริการที่ดำเนินกิจกรรมโดยบริษัทเอกชนในทำนอง Village home care service Company เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในโรงงานก็เป็นหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) หรือ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในโครงการใหญ่ที่กำหนดไว้ให้จะต้องทำตามกฎหมายในปัจจุบัน หรือกิจกรรมทางสุขาภิบาลต่างๆ เหล่านี้ก็ดำเนินการโดยนักสาธารณสุขที่เรียนรู้และศึกษาอบรมมาทางสาธารณสุขแทบทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าอาจจะต่างสาขากันไปเท่านั้น

          ดังนั้นประเด็นที่ได้ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขซึ่งหากจะมีในอนาคต สามารถทำงานได้เฉพาะในราชการเท่านั้น นับเป็นความเห็นที่มองในมุมเก่าที่เป็นระบบการจัดบริการสาธารณสุขแบบเก่าๆ ที่เกิดจากรัฐจำต้องจัดให้กับประชาชนแต่มุมเดียว หากเปิดใจให้กว้างขึ้นจะเห็นว่าในระบบสุขภาพใหม่ที่เกิดขึ้นในงบประมาณสำหรับหน่วยบริการที่คิดเป็นรายหัวประชากรตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค) ยังมีการกล่าวถึง งบประมาณสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแยกออกมาจากงบประมาณที่จัดสำหรับการรักษาผู้ป่วยอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนของระบบการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ที่พยายามแยกออกมาจากงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล คำถามตรงนี้คือว่าบุคคลใดที่จะเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระหว่าง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และนักสาธารณสุข และโปรดอย่าได้ตอบว่าเป็นหน้าที่ร่วมกัน ด้วยเพราะเนื้องานเหล่านี้มีความชัดเจนทั้งการจัดงบประมาณ, กิจกรรม และความรู้ความเชี่ยวชาญ การทำงานร่วมกันนั้นเป็นการระดมสรรพกำลังในช่วงหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นการถาวรและเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างแท้จริง และแนวโน้มในอนาคตที่เกิดการแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้จัดบริการกับผู้ซื้อบริการตามแนวคิดแบบตลาดภายใน (Internal market) ภาคประชาชนที่นับวันจะเข้มแข็งและมีการรับรู้ข่าวสารและสิทธิของตนเองมากขึ้น ดังกรณีที่เป็นประเด็นทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันนี้ หน่วยงานที่เป็นผู้จัดบริการย่อมที่จะมีโอกาสถูกถามจากประชาชนได้ว่า งบประมาณส่วนการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ได้มีการใช้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างแท้จริงหรือไม่ และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดบริการด้านนี้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเพียงพอหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงมือสมัครเล่น ที่อาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนยังไม่ชัดเจนในความเข้าใจตรงนี้เอาเงินด้านสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ไปใช้ในทางอื่น และปล่อยให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาจนเกิดปัญหาการแก้ที่ปลายเหตุคือความเจ็บป่วยและต้องตามรักษากันต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น อาจจะถึงกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเสียหายอันเกิดจากกระทำหรือการละเว้นการกระทำของหน่วยงานที่จัดบริการทางสุขภาพก็เป็นได้

          การมองเรื่องการสาธารณสุข เป็นเพียงเรื่องของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จึงไม่น่าที่จะเกิดจากมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพที่ทรงเกียรติทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และหากจะเข้าใจเพียงเท่านั้นก็คงต้องโทษอิทธิพลของระบบราชการและระบบอำนาจนิยมในองค์กรภาครัฐ ที่ทำให้องค์กรที่ดูประหนึ่งว่าเป็นองค์กรอิสระอันมีเกียรติ แต่กลับอยู่ภายใต้แนวคิดชนชั้นทางราชการและดูแคลนองค์ความรู้ในสาขาอื่นตามระบบอัตตานิยมที่แพร่หลายในสังคมที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายเท่านั้น

          ประเด็น 1.2 วิชาชีพต้องมีการศึกษาอบรมชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นเวลาอย่างน้อยหลายปีในสถานศึกษาระดับสูง ประเด็นนี้ยิ่งง่ายต่อการอธิบายและทำความเข้าใจอย่างมาก การที่ทั้งสี่องค์กรวิชาชีพให้ความเห็นว่า การสาธารณสุขหรือการสาธารณสุขชุมชนไม่อยู่ในข่ายนี้ ยิ่งเป็นเรื่องเข้าผิดใจเป็นอย่างมาก เรื่องนี้มีประจักษ์พยานชัดเจนว่าการสาธารณสุขนั้นเป็นเรื่องที่มีการศึกษาเรียนรู้กันมานาน มีบุคคลระดับสูงในสังคมไทยที่เป็นถึงระดับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและมีสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ศึกษาในสาขาวิชานี้ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยพระนามในที่นี้คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติว่าเป็น “พระราชบิดาแห่งวงการสาธารณสุขไทย” ก็ทรงได้รับการศึกษาด้านสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด แห่งสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะทรงศึกษาในวิชาแพทยศาสตร์ต่อมา เรียกได้ว่าการเกิดวิชาชีพนี้เกิดขึ้นก่อนวิชาชีพด้านอื่นอีกหลายสาขา และพัฒนาการทางด้านการศึกษาในสาขานี้มีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงทั้งในระดับประกาศนียบัตร ปริญญา ทุกระดับปริญญาทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในต่างประเทศว่ามีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้กันเพียงใด ในประเทศไทยนั้นคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งแรกที่ตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2491 ก็เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน และขยายออกไปจนมีสถาบันการศึกษาในสาขาวิชาสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 20 มหาวิทยาลัย และในระดับวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 7 วิทยาลัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน ผลงานที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิตเท่านั้น องค์ความรู้และวิทยาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากสถาบันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากมายสุดพรรณา ผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาสุขภาพเป็นจำนวนไม่น้อยที่สนใจที่จะศึกษาความรู้และพัฒนาตนเองในสาขาสาธารณสุขได้เปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้มาศึกษาในศาสตร์นี้เป็นจำนวนก็ไม่น้อยในแต่ละปี

          การให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาอบรมทางด้านสาธารณสุขว่าเป็นเพียงกิจกรรมหรือกิจการงานที่บุคคลทั่วไปทดลองปฏิบัติดังที่ปรากฎในความเห็นออกจะเป็นการไม่สมควร และดูประหนึ่งว่าไม่เข้าใจและไม่ศึกษารายละเอียดอย่างเพียงพอในวิวัฒนาการของการศึกษาในสาขานี้

อ่านในประเด็นต่าง ๆ จาก link ด้านล่างนี้ครับ
ปล.
บทความนี้เขียนโดยคุณสงครามชัย ลีทองดี ([email protected])

หมายเลขบันทึก: 44598เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท