สวัสดีค่ะ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาใช้งาน หลังจากที่พยายามศึกษาการใช้งานอยู่นานพอสมควร
มาครั้งนี้ไม่ได้มาเปล่า มีเรื่องเล่ามาฝากกันด้วยค่ะ
...เป็นความโชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสไปลงพื้นที่เรียนรู้การดำเนินการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนภายใต้การดำรงชีวิตแบบพอเพียง และเพื่อให้การเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันจึงขออ้างถึงคำกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวช วะสี ในการบรรยายพิเศษในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ (จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ว่า
" วันนี้ประเทศไทยเราไปไกลกว่า health care reform แล้ว เราไปไกลถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ หรือ Health system reform แล้ว ซึ่งกว้างกว่าระบบบริการสุขภาพ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ คือ คิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจะมีบริการสุขภาพได้ทั่วถึง แต่การปฏิรูปสุขภาพไปไกลกว่าเรื่องการแพทย์การสาธารณสุข เพราะในระบบสุขภาพเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นอีกมากมาย เช่น เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม นโยบายสาธารณะ สิทธิมนุษยชน ธุรกิจ วัฒนธรรม ศาสนา ต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวกับสุขภาพหรือสุขภาวะทั้งสิ้น"
ในความคิดส่วนตัวแล้ว นี่คือหนทางที่จะทำให้อัตราการใช้บริการในโรงพยาบาลลดลง ภาวะพึ่งพาลดลง การดูแลตัวเองมีเพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุดคนไทยจะมีสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจดี พ้นจากความยากจน มันอาจจะดูเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ และดูจะยากหากจะลงมือทำ แต่การได้เดินลงไปสัมผัสในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่ฝัน มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถทำได้จริง ๆ (การต่อเติมภาพในจินตนาการเริ่มชัดเจนมากขึ้น)และกำลังดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และนั่นคือภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า
หญิงวัยกลางคนที่ดูคล่องแคล่ว พูดภาษาอังกฤษได้อย่างมาดมั่น (เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้ร่วมไปกับอาจารย์หมอจาก มิเอะ ญี่ปุ่น)ทราบทีหลังว่านี่คือ พญ.ธารทิพย์ ธำรงวรางกูร แพทย์หญิงที่นัยตาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และท่านได้นำเราไปพบกับ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร (ผู้อำนวยกาโรงพยาบาลอุบลรัตน์)สองแพทย์ผู้มุ่งมั่นจริงจังกับการพัฒนาสุขภาพของชุมชน
พื้นที่บ้านพักถูกจัดแบ่งอย่างเป็นสัดส่วน มีการปลูกกล้วย (พืชซึ่งนำความชุ่มชื้นมาสู่ผืนดิน) ผักสวนครัวของท้องถิ่น สมุนไพร นอกจากนั้นยังมีคลองเล็ก ๆ ที่มีพืชน้ำขึ้น โดยน้ำเหล่านั้นเป็นน้ำที่ใช้ในโรงพยาบาลผ่านกระบวนการบำบัดทางเคมีเรียบร้อยแล้ว ไหลลงมาผ่านพืชน้ำ ซึ่งท่านอาจารย์ธารทิพย์ได้อธิบายว่าพืชน้ำเหล่านี้ช่วยบำบัดน้ำได้อีกทอดหนึ่งก่อนที่จะปล่อยออกไปข้างนอก และในคลองน้ำเล็ก ๆนั้นยังมีปลาตัวเล็ก ๆ อยู่ด้วย ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่าที่นี่ไม่ใช่แหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายอย่างแน่นอน (โดยธรรมชาติควบคุมสมดุลด้วยตัวของมันเอง) หลังจากนั้นเราได้เดินดูบรรยากาศรวมของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่นี่ร่มรื่นปกคลุมด้วยต้นไม้ พื้นที่ถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วน คนไข้ที่นอนอยู่บนเตียงไม่มีแววของความหดหู่ที่ต้องใส่ชุดโรงพยาบาลแล้วนอนอยู่บนเตียง (เป็นความรู้สึกส่วนตัวของข้าพเจ้าที่ผ่านงานการพยาบาลมา และที่นี่ต้องมีอะไรดีมากกว่าที่มองเห็น) การเดินทางของเราดำเนินต่อไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เมื่อนานมาแล้วได้ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุด ที่นี่ได้พบกับปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่ใช่คนไทย นามว่ามิสเตอร์ มาติน วิลเลอร์ เป็นฝรั่งที่พูดได้อย่างน่าฟัง และคนไทยอย่างเราน่านำไปคิด (ตามความสามารถของข้าพเจ้าพอจะแปลได้) มิสเตอร์มาติน บอกไว้ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ยากจน ผืนดินที่นี่มีดิน มีน้ำ มีแสงแดด เราสามารถสร้างอาชีพได้ทุกที่ แต่ตัวเราเองต่างหากที่ไม่ได้กระทำ คนหนุ่มสาวเติบโตขึ้นก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ ไม่มีงานทำก็บอกว่าตกงาน คนไทยไม่มีทางตกงาน แต่ต้องทำงานให้เป็น ต้องรู้วิธีทำ รู้วิธีการดำเนินชีวิตให้มีกิน เหลือกินก็แบ่ง เหลือจากแบ่งนั่นแหละคือรายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้เราอยู่รอด มีกิน มีเพื่อน มีรายได้ ส่งผลสู่สุขภาพที่ดี ...(ถูกใจใช่เลย!) พื้นที่บริเวณบ้านของปราชญ์ผู้นี้ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ แน่นอนที่นี่เย็น ดินสมบูรณ์ มีพืชสมุนไพร ข้าพเจ้าสูดหายใจเข้าเต็มปอด เข้าใจอย่างเหลือเกินว่านี่แหละคือทางรอด อยากให้คนไทยปรับเปลี่ยนมุมที่จะมอง อย่ามุ่งแต่ค้า มุ่งเพียงว่าจะรวย วันนี้ถึงกาลต้องมองแล้วว่าทำอย่างไรให้รอด รอดทั้งกายและใจ ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าสุขภาพดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน บ้านที่พอเพียงย่อมดูแลตัวเองได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านสนใจการส่งเสริมป้องกันสุขภาพอย่างยั่งยืน มากกว่าการรักษา
และหวังใจว่าเราจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ
ขอขอบคุณภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , อาจารย์หมอผู้มุ่งมั่นแห่งโรงพยาบาลอุบลรัตน์ , มิสเตอร์มาติน , และอาจารย์ผู้ร่วมเดินทาง
ไม่มีความเห็น