อนุทินล่าสุด


ณัฐพร ตุ๊ก ไชยเดช
เขียนเมื่อ

หน่วยที่ 2

 

บุคลิกภาพของครูปฐมวัย

          อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับบุคคลทั่วไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งเพื่อนครู และบุคลากรในหน่วยงาน ผู้ปกครองนักเรียน ประชาชนในท้องถิ่น และนักเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่ต้องสอนอยู่เป็นประจำแล้วยิ่งต้องพบปะกันตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับบุคคลดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพของครูด้วย  ดังนั้นการพูดกิริยามารยาท การแต่งกาย การวงตัว การยิ้มแย้มแจ่มใส ตลอดจนการแสดงออกทางความคิด อันเป็นสิ่งที่ครูแสดงออกให้ผู้อื่นได้เห็นได้สัมผัสนั้น ย่อมเป็นวิสัยที่ครูต้องพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น จึงกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพเป็นคุณลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของครู

            ลักษณะที่ดีของครูประการหนึ่งก็คือ การมีบุคลิกภาพดี เรียกว่ามีภูมิฐานนั่นเอง ครูต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมและมีบุคลิกภาพดี ทั้งนี้เพราะครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และชุมชนอีกด้วย ครูเป็นต้นแบบที่นักเรียนจะใช้เป็นแบบอย่างหรือเป็นเยี่ยงอย่าง นอกจากนี้บุคลิกภาพของครูยังมีส่วนอย่างมา ให้การดำเนินอาชีพครูประสบความสำเร็จ เป็นที่เคารพของศิษย์เป็นที่นับถือของชุมชน

            สุรางค์  โค้วตระกูล (2544 : 25) พูดถึง บุคลิกภาพของครู ว่า ครูแต่ละคนเป็นเอกัตถบุคคลมีเอกลักษณ์ตนเอง  ดังนั้นครูจึงมีความแตกต่างระหว่างบุคคลเหมือนนักเรียน การตัดสินใจของครูเกี่ยวกับการสอนขึ้นกับทัศนคติความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียนนอกจากนี้ การจัดห้องเรียนก็ขึ้นกับบุคลิกภาพของครู และทัศนคติต่อการเป็นครู ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน และครูขึ้นกับบุคลิกภาพของครูและนักเรียน

 

ความสำคัญของบุคลิกภาพครูปฐมวัย

          บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อครูดังนี้ (ธีรศักดิ์  อัครบวร.2544 : 100 – 139)

            1. ช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและบุคคลอื่น ๆ ได้ดี  บุคลิกภาพเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่บุคคลแสดงออกให้ปรากฏแก่ผู้พบเห็น ครูผู้มีบุคลิกภาพดีย่อมได้เปรียบในการสมาคมกับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะศิษย์และผู้ปกครอง

            2. เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ศิษย์และบุคคลทั่วไปได้ บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลบางคน เช่น ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ลักษณะการเดิน และลีลาการพูด เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้ศิษย์นำไปเป็นแบบเพื่อฝึกฝนได้

            3. ช่วยให้มีความมั่นใจในตนเอง บุคคลที่มีบุคลิกภาพดี และบุคลิกภาพเหมาะสมกับหน้าที่รับผิดชอบแล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น ครูผู้มีบุคลิกภาพดี ย่อมมั่นใจในการไปปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนและในสังคมทั่วไป สังคมให้การยอมรับผู้มีบุคลิกภาพในการพูดจาดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ

            4. ช่วยให้เป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี ครูผู้มีบุคลิกภาพดีทั้งทางด้านร่างกายอารมณ์ สังคม และสิตปัญญาย่อมเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี เพราะสามารถติดต่อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ดี

            5. ช่วยทำให้ครูประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ครูที่มีบุคลิกภาพดีย่อมเป็นที่ไว้วางใจ และมั่นใจการประกอบกิจการต่าง ๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็อยากร่วมงานด้วย ผู้บังคับบัญชาก็มั่นใจที่จะมอบหมายงานให้รับผิดชอบ และเพื่อนร่วมงานมีความสบายใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน

 

ลักษณะบุคลิกภาพของครูปฐมวัย

          ลักษณะบุคลิกภาพของครูปฐมวัย  มีดังนี้

1.      บุคลิกภาพทางกาย

บุคลิกภาพทางกายเป็นบุคลิกภาพที่สังเกตได้ง่าย และเป็นสิ่งที่ปรากฏต่อบุคคลทั่วไป

เป็นความประทับใจครั้งแรกที่เกิดกับผู้พบเห็นบุคลิกภาพทางกายทั่วไปมีดังนี้

                        1.1 รูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณ  บุคลิกภาพส่วนนี้เป็นมาโดยกำเนิด อาจแก้ไขได้ยากแต่ก็สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ตามสมควร ผู้เป็นครูไม่ว่ารูปร่างจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญต้องมีความแข็งแรงกระฉับกระเฉงสมบูรณ์ ปลอดจากโรค ไม่เป็นทาสสิ่งเสพติดซึ่งจะทำให้รูปร่างทรุดโทรมและหน้าตาหม่นหมอง หน้าตาของครูนั้นต้องสะอาดแม้จะไม่สะสวยหรือหล่อเหลาก็ตาม ความสดใสของหน้าตาเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่น ๆ และมีปัจจัยอื่นมาประกอบด้วยเช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางสุขภาพ หรือปัญหาทางวิชาชีพ ครูต้องแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วง ส่วนผิวพรรณนั้นไม่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพในสังคมไทย

                        1.2 การแต่งกาย การเสริมบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุดคือการแต่งกาย เพราะการแต่งกายช่วยกลบเกลื่อนรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณได้ ช่วยทำให้รูปร่างหน้าตาและผิวพรรณดูดีขึ้นนั่นเอง

                        การแต่งกายของครูเป็นสิ่งแรกที่ศิษย์ ผู้ปกครองและประชาชนมองเห็น จึงมีผลต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อตัวครู การแต่งกายที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของครู ควรคำนึงถึงเงื่อนไขต่อไปนี้

                        1.2.1 แต่งกายให้เหมาะสมกับความนิยมของสังคมในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานราตรีสโมสร งานเลี้ยงรับรอง งานมงคลสมรส และงานกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

                        1.2.2 แต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่ เช่น ศาสนสถาน สถานที่ราชการ สนามกีฬา เป็นต้น

                        1.2.3 แต่งกายให้เหมาะสมกบฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ คือต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับ สถานภาพ ตำแหน่ง หน้าที่ บทบาทและวิชาที่สอนของแต่ละคน นอกจากนี้ครูต้องไม่แต่หน้าหรือแต่งตัวเกินจำเป็น

                        1.2.4 แต่งกายให้เหมาะสมกับสถานภาพ คำนึงถึง เพศ วัย และผิวพรรณของแต่ละคนด้วย เช่น สีและแบบของเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าถือ เป็นต้น

                        1.2.5 ความสะอาดของเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าไม่จำเป็นจะต้องมีราคาสูงนัก แต่จำเป็นจะต้องมีความสะอาดอยู่เสมอ

                        1.2.6 สวมเสื้อผ้าให้เหมาะกับรูปทรงและเรียบร้อยอยู่เสมอ

                        1.2.7 การเสริมสวยตามความจำเป็น ครูควรใช้เครื่องสำอางช่วยเสริมความงามเพียงเพื่อทำให้เกิดความเรียบร้อยแก่ร่างกาย ใช้เพื่อส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพดีขึ้น เช่น สบู่ฟอกตัว น้ำมันใส่ผม แป้ง น้ำหอม ใช้แต่เพียงเท่าที่จำเป็น การเสริมสวยแต่พอดี แต่ไม่ควรมากเกินไป

                        1.2.8 การใช้เครื่องประดับมีค่า ครูไม่ควรใช้ของมีค่า เช่น ทอง เพชร พลอย ราคาแพง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ต้องดูกาลเทศะ แม้ว่าเครื่องประดับมีค่า เป็นเครื่องส่งเสริมบุคลิกภาพ แต่ครูไม่จำเป็นต้องเสริมบุคลิกด้วยสิ่งเหล่านี้เสมอไป

                        1.3 กิริยามารยาท  บุคลิกภาพด้านนี้เป็นความประพฤติและการปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ในสังคมนั่นเอง กิริยามารยาทดีก็คือ การวางตัวให้ถูกกาลเทศะ เหมาะกับแต่ละบุคคลที่ปฏิสันฐานด้วย โดยมีความสุภาพเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด กิริยามารยาทของครูนั้นอาจแบ่งแยกการแสดงออกต่อบุคคลต่าง ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ

                        . บุคคลผู้มีศักดิ์สูงกว่า ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา ครูผู้มีอาวุโสกว่า ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียนทั่วไป ครูควรวางตัวโดยยึดแบบขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทยโดยเคร่งครัด การมีสัมมาคารวะ ไม่ตีตนเสมอท่าน รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นประจบประจงหรือพินอบพิเทา

                        . ผู้มีศักดิ์เสมอกัน ได้แก่ เพื่อนครูด้วยกัน ตลอดจนเพื่อนฝูงต่างอาชีพ หรือข้าราชการต่างสังกัด ครูควรวางตัวให้มีขอบเขตไม่ลวงล้ำสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และต้องระลึกไว้เสมอว่า กิริยาที่สุภาพต่อกันย่อมเป็นแบบแผนของความประพฤติที่ดี แต่ก็ต้องไม่เคร่งครัดเป็นพิธีการอยู่ตอลดเวลาจนเป็นอุปสรรคต่อสัมพันธภาพและแต่ก็ต้องระวังไม่ให้ทำตัวเหนือกว่าด้วยเช่นกัน

                        . ผู้มีศักดิ์ต่ำกว่า ได้แก่ ศิษย์ บุคลากรในโรงเรียนตลอดจนเพื่อนครูที่อ่อนอาวุโสกว่า ครูควรวางตัวโดยให้ความเมตตาและเจตนาดี ไม่โอ้อวดหรือย้ำสิทธิ์ของตนว่าเหนือกว่า หรือข่มขู่ข่มเหง หรือวางอำนาจ เพราะการสร้างความเคารพนั้นไม่ได้เกิดจากการประกาศศักดา

            สำหรับกิริยาที่ดีนั้น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (...เปีย  มาลากุล) อธิบายไว้ในหนังสือสมบัติผู้ดีว่า ผู้ดี ย่อมรักษาความเรียบร้อยทั้งทางกายจริยา วจีจริยา และมโนจริยาดังนี้

            กายจริยาคือ

(1)   ย่อมไม่ใช้กิริยา อันข้ามกายบุคคล

(2)   ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง

(3)   ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานะเพื่อน

(4)   ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล

(5)   ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนคนหรือสิ่งของแตกเสีย

(6)   ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่น ด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน

(7)   ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาคุยอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป

(8)   ย่อมไม่เอะอะเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ

(9)   ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับรับฟัง

(10)ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทักในบ้านแขก

            วจีจริยา คือ

(1)   ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด

(2)   ย่อมแม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน

(3)   ย่อไม่ใช้เสียงตวาดหรือพูดจา กระโชก กระชาก

(4)   ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน

(5)   ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย

มโนจริยา คือ

(1)   ย่อไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส

(2)   ย่อไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา

กิริยามารยาทที่ครูต้องประพฤติปฏิบัติอยู่เสมอนั้น ได้แก่ ความมีสัมมาคารวะต่อบุคคลทั่ว

ไป การเจรจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวลอ่อนหวานโดยเฉพาะกับศิษย์ การแสดงความเคารพและรับการเคารพ ด้วยการไหว้หรือวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากผู้ที่เป็นครูได้ฝึกหัดทำจนเป็นนิสัยแล้ว จะช่วยเพิ่มบุคลิกภาพให้แก่ตนเองได้ สำหรับกิริยามารยาทพื้นฐานของครู ได้แก่

1.3.1        การยืน เป็นบุคลิกภาพที่สำคัญประการหนึ่งของครูที่จะต้องฝึกฝนให้อยู่ใน

ลักษณะที่เหมาะสมกับบุคคลต่าง ๆ ที่พบปะด้วย เช่น การยืนสอนหน้าห้องเรียน ให้ยืนลำตัวตรง เข่าชิด ปลายเท้าห่างจากกันพอสมควร ปล่อยมือตามสบาย การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ถ้าเป็นการยืนฟังคำสั่งต้องลำตัวตรง หน้ามองตรง มือทั้งสองปล่อยแนบลำตัว ส่วนการยืนฟังโอวาท ให้ยืนลำตัวตรงก้มหน้าเล็กน้อย มือทั้งสองประสานกันไว้ต่ำกว่าระดับเข็มขัดเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังในการยืนต่อหน้าผู้ใหญ่นั้นให้ยืนเฉียงไปทางข้างเล็กน้อย

            1.3.2 การเดิน เป็นสภาวะที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหวทำให้บุคคลอื่นมองเห็นลักษณะอากัปกิริยาได้มากขึ้น บุคคลแม้จะมีหน้าตาผิวพรรณสวยงามสักเพียงใด ถ้าหากเดินไม่สวยแล้ว ความงามที่มีอยู่ก็จะลดน้อยลงอย่างมาทีเดียว ดังนั้นครูจะต้องพยายามฝึกการเกินให้สง่างามโดยเฉพาะครูสตรีจะต้องระมัดระวังสำรวมการเดินให้มาก การเดินตามสบายควรเดินให้ลำตัวตรงอยู่เสมอ แกว่งแขนพอสมควร ไม่เดินกางแขนหรือไหล่ห่อ ผู้หญิงต้องระวังอย่าเดินให้สะโพกส่ายมากเกินไป การเดินตามผู้ใหญ่ควรเดินตามหลังที่เยื้องไปทางใดทางหนึ่งประมาณ 1 – 2 ก้าว เมื่อผู้ใหญ่เจรจาด้วยให้โน้มตัวเล็กน้อย

            1.3.3 การนั่ง การนั่งให้ลำตัวตรง นอกจากจะช่วยให้ไม่ปวดหลังแล้วยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้ดีอีกด้วย ดังนั้นครูควรระมัดระวังและฝึกฝนการนั่งให้สง่างามอยู่เสมอ

            การนั่งของครูต้องระมัดระวังท่านั่งให้สุภาพน่าดูอยู่เสมอไม่นั่งกางขา ไม่นั่งไขว่ห้างใหญ่โดยใช้ข้อเท้าข้างหนึ่งวางบนเขาอีกข้างหนึ่งการนั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบ ไม่นิยมท้าวแขน วางมือทั้งสองคว่ำบนหน้าขาประสานมือไว้บนตัก

            การนั่งเก้าอี้ตามลำพัง ผู้ชายให้นั่งห้อยขา ส้นเท้าชิดกันปลายเท้าห่างจากกันเล็กน้อย ลำตัวตั้งตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสองวางคว่ำอยู่บนหน้าขาทั้งสองหรือจะประสานกันไว้บนตักก็ได้ สำหรับผู้หญิงให้นั่งห้อยขาส้นเท้าปลายเท้าและหัวเข่าชิดกันขากางหรือเฉียงไปทางใดทางหนึ่งเล็กน้อย ลำตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสองวางประสานหรือประกอบกันไว้บนตัก

            1.3.4 การพูด เป็นบุคลิกภาพที่มีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ครู เพราะการดำเนินชีวิตประจำวันของครูด้วยการพูดจาทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบหรือทางบวกได้ การพัฒนาบุคลิกภาพด้านการพูดนี้ครูควรฝึกหัดการพูดให้นุ่มนวลอ่อนหวานเสมอ มีหางเสียงด้วยคำว่า ครับหรือ ค่ะพูดให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล พยายามพูดจาให้ชัดถ้อย ชัดคำ ไม่พูดเร็วจนฟังไม่ทันหรือไม่พูดช้าเกินไป ไม่พูดคำ เอ้อ อ้าปนออกมาในระหว่างการพูด และที่สำคัญครูต้องพยายามใช้ภาษาพูดให้ถูกต้องด้วย

            1.3.4 การรับประทานอาหาร การไม่ค่อยสำรวมระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร ทำให้เสียภาพลักษณ์และเสียบุคลิกภาพที่ดีได้ เช่น การเดินรับประทานอาหารตามที่สาธารณะ และการเคี้ยวอาหารจนมีเสียงดัง เป็นต้น ดังนั้นในการรับประทานอาหารในที่สาธารณะหรือกับคนอื่นต้องระวังรักษากิริยาให้สุภาพเรียบร้อยน่าดู ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ไม่ส่งเสียงดังขณะรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารมูมมาม เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่เคี้ยวอาหารให้เกิดเสียงดัง ไม่ดื่มน้ำขณะมีอาหารอยู่ในปาก ขณะที่เคี้ยวอาหาร อย่าตักอาหารอื่นขึ้นรอไว้ที่ปาก อย่าก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารจนมิได้สนใจสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เลย ควรส่งอาหารเข้าปากทีละคำอย่างให้เหลือค้างช้อนไว้ ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันต่อหน้าผู้อื่นที่โต๊ะอาหาร เป็นต้น

            มารยาทนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของบุคลิกภาพ ผู้ที่ได้รับการอบรมมาดีย่อมมั่นใจในการเข้าสู่สังคมอย่างองอาจสง่าผ่าเผย ไม่ว่าจะสมาคมกับบุคคลในระดับใด ๆ ทั้งผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือ มีศักดิ์เสมอกัน หรือมีศักดิ์ต่ำกว่าตนก็ตาม

 

2.      บุคลิกภาพทางสังคม



ความเห็น (1)

เขียนได้ดีมาก ขอบคุณมากค่ะ จะนำไปเผยแพร่และอ้างอิงในเอกสารที่จัดทำครั้งต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท