อนุทินล่าสุด


ทองย้อย
เขียนเมื่อ

บัวนอกเหล่า

--------------

ที่บ้านผมเลี้ยงหมาหลายตัว

ตัวแรกเป็นหมาวัดครับ
ลูกหมาตัวเมีย สีเขียว ตัวเล็กนิดเดียว เป็นหมาหลงแม่
มันมาป้วนเปี้ยนใต้โต๊ะวางของตักบาตร ลูกๆ ผมจับตัวมันเล่น มันเลย “ติดมือ” อยู่ตรงนั้น

พอตักบาตรเสร็จเราก็เลยถือวิสาสะ
ขออนุญาตพระ (ในใจ) เอามันติดมือกลับบ้านด้วย

มาถึงบ้านมันก็ร่าเริงดี
อยู่ได้วันหนึ่งก็ไม่ยอมกินอะไร

แล้วก็นอนหายใจแขม็บๆ
ทำท่าจะไม่รอด

หยอดข้าวหยอดน้ำกันอยู่พักหนึ่งก็ค่อยฟื้นขึ้นมาได้
คราวนี้กินเป็นการใหญ่
ที่ชอบมากเป็นพิเศษคือขนมไข่ กินได้กินดี

เราก็เลยตั้งชื่อมันว่า “ขนมไข่”

พอค่อยโตเป็นสาวก็ได้เรื่อง
บ้านที่เราอยู่เป็นบ้านพักครูอยู่ภายในวิทยาลัย ไม่มีรั้วรอบขอบชิด

ขนมไข่อยู่บ้านเราก็จริง แต่มันก็เป็นอิสระ ไปได้ทั่ว

แล้วมันก็ไปได้ลูกมาเป็นครอกแรก
๘ ตัว เลี้ยงกันยั้วเยี้ยไปเลย

ขนมไข่มีลูกอีก ๒ ครอก จนเราย้ายออกมาอยู่บ้านตัวเองข้างนอก เราก็เอามันมาอยู่กับเราด้วย

มันมีลูกครอกสุดท้ายเป็นลูกโทน

ตอนบั้นปลายชีวิตของขนมไข่ เราคิดว่าหมดจากมันและลูกของมัน เราก็จะไม่เลี้ยงหมาอีกแล้ว

แต่แล้วตอนที่ขนมไข่มีลูกครอกสุดท้าย อาจารย์ที่บ้านผมก็ไปเจอเหตุสลดใจ

คือหมาออกลูกใต้สะพานลอยหน้าวิทยาลัย
ตัวแม่นอนตายกำลังจะขึ้นอืด ลูกเล็กๆ ๖ ตัวคลานอยู่ข้างๆ ตัวแม่

เธอขอแรงยามของวิทยาลัยให้ช่วยอพยพลูกหมามาที่บ้าน

เป็นอันว่าที่คิดจะเลิกเลี้ยงหมานั้นไม่สำเร็จ

คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะขนมไข่กำลังมีลูกอ่อน ลูกหมาอีก ๖ ตัวมาอยู่ด้วย ขนมไข่ไม่ชอบลูกหมาที่มาอยู่ใหม่
คอยจะเข้ามากัด ต้องระวังกันแย่ ถึงกระนั้นก็โดนกัดตายไปตัวหนึ่งหรือสองตัวจนได้

ลูกหมา ๖ ตัว เลี้ยงมาตั้งแต่ยังต้องป้อนนม ในที่สุดรอดมาแค่ตัวเดียว เป็นตัวเมีย (อีกแล้วจนได้)

เราเรียกมันว่า “เปรียว” เพราะมันเปรียวที่หลบหลีกเขี้ยวเล็บของขนมไข่และโรคภัยอื่นๆ รอดมาได้

ตอนที่เปรียวเริ่มจะโต ขนมไข่ก็ตาบอด เราไม่รู้ว่ามันตาบอดเพราะอะไร ตอนตาบอดนี่ขลุกขลักนิดหน่อย
เพราะมันจะเดินชนโน่นชนนี่อยู่เรื่อย

อยู่มาไม่นานมันก็ตาย
ผมขุดหลุมฝังขนมไข่ไว้ภายในบริเวณบ้าน
ลูกของมันครอกก่อนๆ หลายตัวที่มีอันต้องตายไปก่อน รวมทั้งลูกโทนตัวสุดท้ายของมันที่ตายตอนอายุเกือบปีก็ฝังในบริเวณบ้านด้วยเช่นกัน

เป็นอันว่าหมดรุ่นหมาวัด เราก็ได้หมาใต้สะพานลอยสืบทอดกันต่อมา

บ้านเรามีรั้วรอบ แต่ก็มีเวลาปล่อยให้หมาออกไปนอกบ้านเป็นครั้งคราว

ตอนเปรียวเป็นสาวเต็มตัวเราคอยระวังไม่ให้มันออกไปนอกบ้าน
แต่แล้วก็พลาดจนได้

มันหลุดออกไปอยู่นอกบ้านคืนเดียว ก็มีลูกออกมา ๕ ตัวในเวลาต่อมา

โบราณว่า แมว ๕ หมา ๖ เลี้ยงไว้มักมีเรื่องหยุกหยิกเรื่อยๆ

เราก็เลยยกลูกหมาให้ญาติไป ๒ ตัว

ไม่ใช่เพราะเชื่อโบราณ
แต่เพราะเห็นว่าหมา ๖ ตัวเป็นภาระที่ออกจะหนักสักหน่อยในการเลี้ยงดู

เราตกลงทำหมันให้เปรียวเพราะไม่อยากจะเลี้ยงลูกให้มันอีก
ลูกมัน ๓ ตัวที่อยู่กับเรา เป็นตัวเมีย ๒ ตัว พอโตได้ที่ก็ทำหมันเสียด้วยเลย

เรื่องก็ควรจะจบลงด้วยประโยคว่า

..แล้วก็อยู่กันด้วยความสุขสืบมา

.........


หมาที่บ้านผมกินข้าววันละ ๒ เวลา คือเช้ากับเย็น มีชามให้ตัวละชาม และวางแยกที่กันเพื่อไม่ให้แย่งกัน
แต่ละตัวจะรู้ที่ประจำของตัว

เปรียวนั้นพอลูกโตก็กลายเป็นเบี้ยล่างของลูก
โดนลูกแฮ่เข้าใส่บ่อยๆ กินก็ไม่ทันลูก ลูกกินของตัวหมดแล้วก็ไปแย่งชามแม่

แม่ก็แสนดี พอลูกยื่นปากมาก็ถอยออก ยอมให้ลูกกินแต่โดยดี

เราก็เลยต้องใช้วิธีทำลูกกรงกั้นตัวแม่ไม่ให้ตัวลูกเข้าไปแย่ง แม่จึงค่อยได้กินอิ่ม

คราวนี้เป็นอันรู้กันว่าพอได้เวลากิน เปรียวจะเดินเข้าไปหลังลูกกรง มีชามของมันอยู่ในนั้น เราก็ดึงประตูลูกกรงปิด
พอกินเสร็จก็เปิดประตูให้ออก

มีบางวันเราลืม
ถ้าลืมเกินเวลาอันสมควร มันก็จะส่งเสียงเตือนอย่างสุภาพ

ลูกกรงที่ว่านี้อยู่ด้านหลังของบ้าน
เวลาจะเอารถออกหรือเข้าบ้าน ต้องเปิดประตูหน้าบ้าน เราก็จะขอร้องบรรดาหมาทั้งหลายให้เข้าไปอยู่ในลูกกรงนี้
แรกๆ ก็ไล่ต้อนกันวุ่นวายหน่อย แต่พอชักรู้กันก็ค่อยง่ายขึ้น

เดี๋ยวนี้แค่บอกว่า “ไปหลังบ้าน” ทุกตัวก็จะวิ่งชักแถวเข้าไปอยู่ในลูกกรงหลังบ้านเป็นอันดี

โดยมากพอได้ยินเสียงสตาร์ทรถ ทุกตัวก็จะมายืนรอคำสั่งอย่างรู้ที

เป็นความน่ารักอย่างหนึ่งที่หมามอบให้เรา

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ตอนนี้เปรียวตาบอดอีกตัวหนึ่งแล้ว

วันๆ มันมักนอนนิ่งๆ แต่ก็มีเวลาเดินไปมาแบบกลัวๆ กล้าๆ ชนโน่นนี่บ้างนิดๆ หน่อยๆ

เวลาถ่ายปกติจะไปเลือกมุมกำแพงบ้านที่รกๆ
ตอนนี้ถ่ายทั่วไปเพราะไปหามุมไม่เจอแล้ว

แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ เวลากินยังต้องให้เข้าไปหลังลูกกรงเหมือนเดิม (มิเช่นนั้นตัวอื่นแย่งกินหมด)

เพราะฉะนั้น พอถึงเวลากินก็มักจะมีปัญหากับคนเลี้ยง แบบว่า-คนเลี้ยงก็อยากให้มันเดินเข้าไปได้เองเหมือนเมื่อก่อน แต่เจ้าตัวเข้ากรงไม่ถูกเพราะมองไม่เห็น จึงมักจะมี “ปากเสียง” กับคนเลี้ยงอยู่เนืองๆ

----------------

ที่เขียนมานี้ใจผมอยากจะขมวดเรื่องไว้ที่ตรงนี้

คือหลายๆ อย่างที่เราอยากให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นทำอย่างนี้อย่างใจเรา
โดยลืมไปว่าความสามารถที่จะเป็นที่จะทำ ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

พ่อแม่อยากให้ลูกฉลาด
แต่ไม่ทันได้นึกว่าพื้นฐานที่ลูกจะฉลาดมีแค่ไหน

ครูอยากให้เด็กเรียนเก่ง
แต่ลืมไปว่าสมองของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน

หลวงพ่อวัดที่ผมไปทำบุญท่านมักปรารภกับญาติโยมว่า
“คนวัด” ในปกครองของท่านไม่ได้เรื่อง สั่งสอนอะไรก็ทำไม่ได้อย่างใจ

“บอกแล้วบอกอีก พูดจนปากจะฉีก มันก็ยังไม่ค่อยจะได้เรื่อง” ท่านว่าอย่างนั้น

ผมนึกถึงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าจะแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก
ทีแรกท่านจะไม่โปรด เพราะธรรมะเป็นของลึกซึ้งคงไม่มีใครเข้าใจ

“เทศน์ไปก็เหนื่อยเปล่า” ประมาณนั้น

แต่เมื่อคำนึงถึงว่าคนเรามีสติปัญญาหลายระดับเหมือนบัวหลายเหล่า

ระดับที่-พอแย้มปากก็เข้าใจทะลุ เหมือนบัวพ้นน้ำก็มี

- ชี้แนะให้นิดเดียว ก็เห็นทางไปได้ตลอด เหมือนบัวปริ่มน้ำก็มี

- อธิบายซ้ำๆ จึงจะพอเข้าใจ เหมือนบัวกำลังทะลึ่งน้ำก็มี

- และชนิดที่ฟังพอเป็นอุปนิสัยปัจจัย ชาตินี้เป็นเหยื่อพญามารไปก่อน เหมือนบัวเน่าติดเหง้าใต้โคลนก็มี

สัตว์โลกบางชนิดเป็นบัวอะไรไม่ได้เลยสักเหล่าก็มี

ตามเรื่องท่านว่าท้าวสหัมบดีพรหมลงมาทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรม

เกิดเป็นพระพุทธศาสนา เป็นมรดกโลกอันเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้

 

ช่วยกันแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้ “แม่เปรียว” เขาหน่อยนะครับ


๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖






ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

 

อาศิรวาทสยามมกุฏราชกุมาร

เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ฯ

สยามมกุฏราชกุมาร

๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖

------------

 

พระสั่งสมบ่มบุญญาพระบารเมศ

ฉลองบาทพระบิตุเรศบำรุงสยาม

ประดุจประดับเพชรแท้ทุกแง่งาม

สมพระนาม “มหาวชิราลงกรณ์

 

คือธงชัยเชิดธรรม์มิ่งขวัญทัพ

คือดาวเดือนเด่นประดับสลับสลอน

คือความหวังแวววามงามบวร

คือธารทิพย์อาทรอิ่มอกไทย

 

ทุกดวงใจไทยทวีภักดีมั่น

ถวิลวันราชสมภพบรรจบสมัย

กราบพรพรหมพรพระชนะภัย

ถวายชัยให้พระองค์ทรงพระเจริญ.


ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

กล่องนมบนทางเท้า

---------------------

ผมเดินออกกำลังทุกเช้า
ก็เลยได้เห็นอะไรๆ เป็นกำไรชีวิตทุกวัน

 

เช้านี้ผมเดินผ่านร้านขายดอกไม้แห้ง
เห็นคนขายซึ่งคงจะเป็นเจ้าของร้านด้วย กำลังเอากระเช้าดอกไม้ออกมาแขวนหน้าร้าน

ที่ประตูร้านมีเด็กหญิงตัวเล็กยืนอยู่
ก็คงจะเป็นลูก กำลังดูดนมกล่อง

 

หนูน้อยดูดนมกล่องหมดแล้วก็โยนกล่องนมทิ้งบนทางเท้าหน้าร้าน

 

ผมชลอฝีเท้า
ทำท่าสนใจกระเช้าดอกไม้

แต่ที่จริงผมสนใจอยากดูว่าผู้เป็นแม่จะทำอย่างไร

 

เธอเดินผ่านกล่องนมเข้าประตูไปเฉยๆ
แล้วก็หิ้วกระเช้าดอกไม้ออกมาแขวนต่อไป

เหมือนไม่เห็น
แต่ผมรู้ว่าเธอเห็น

 

ผมลังเลอยู่ชั่วอึดใจ

ใจหนึ่งอยากเข้าไปบอกหนูน้อย

ใจหนึ่งอยากเข้าไปบอกผู้เป็นแม่

 

ผมวาดภาพ

ถ้าผมเข้าไปบอกเด็ก จะถูกมองว่าอย่างไร

มายุ่งอะไรกะลูกฉัน
อย่างเบาๆ ก็คงโดนว่าอย่างนี้

ถ้าผมเข้าไปบอกผู้เป็นแม่

ลุงมาเสือกอะไรด้วย
อย่างหนักๆ ผมอาจโดนคำนี้

 

ผมไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง

สิ่งที่ผมทำคือได้แต่คิด

 

ผมคิดถึงสมัยผมเป็นเด็ก

ผมกับเพื่อนเด็กด้วยกันเล่นปีนต้นไม้
ลุงแก่มากคนหนึ่งผ่านมาเห็นก็ดุใหญ่

เดี๋ยวก็ตกลงมาคอหักตาย ซนไม่เข้าเรื่อง” แกเอ็ดตะโร พลางหาไม้จะตีพวกเราถ้ายังไม่ยอมลงมา

ไม่มีใครในหมู่พวกเรารู้จักลุงคนนั้น
แต่เราก็ตาลีตาเหลือกลงมาทันที

เด็กสมัยผมถูกสั่งสอนว่า ผู้ใหญ่ตักเตือนต้องเชื่อฟัง

เดินไปตามทาง เจอคนแก่ต้องยกมือไหว้เหมือนไหว้พระ รู้จักไม่รู้จักไม่สำคัญ

สมัยนี้ระบบนี้สูญสิ้นไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเมือง

เราอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน
ใครจะทำอะไรยังไง ไม่ต้องไปยุ่งกัน

เรื่องของชาวบ้าน” เราอ้างกันอย่างนี้

แล้วเรื่องอื่นๆ อีกล่ะ ที่เราไม่ได้อบรมกล่อมเกลากันมาตั้งแต่เด็ก

เรากำลังช่วยกันผลิตพลเมืองที่พร้อมจะออกไปก่อปัญหาให้แก่สังคม

 

เด็กน้อย เหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ ควรจะได้รับน้ำย้อมที่สวยสดใส

แต่เธอจะกลายเป็นเด็กมักง่ายไปอีกคนหนึ่ง
เพราะความมักง่ายของผู้ใหญ่

แม่เธอ

อาจจะเป็นตัวผม ก็ด้วย

หรือจะโทษระบบของสังคม ?

ผมนึกถึงกาพย์พระไชยสุริยา

...

พาราสาวัตถี

ใครไม่มีปรานีใคร

....

ผมเดินออกกำลังทุกเช้า ก็เลยได้เห็นอะไรๆ เป็นกำไรชีวิตทุกวัน

เช้านี้ ผมไม่แน่ใจว่า ได้กำไรหรือขาดทุน


๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖






ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

วันพระเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผมไปทำบุญที่วัดตามปกติ

เสร็จพิธีที่ศาลาบำเพ็ญกุศลก็ “ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกรณีพิเศษ” ตามแบบของผมเช่นเคย

ผมนั่งสงบอยู่ในพระระเบียงพระมหาธาตุอย่างสบายใจ

 

วันนี้มีคนมากันพลุกพล่าน
แต่ผมรู้สึกสุขสงบ ไม่ออกอาการรำคาญใคร ทั้งๆ ที่มีผู้คนมา “ออกอาการ”
ที่น่ารำคาญหลายอย่าง

 

อย่างหนึ่งที่ผมเกิดรู้สึกขึ้นมาก็คือ
คนไทยสมัยนี้ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนกิริยาเคารพต่อปูชนียสถาน

 

“กิริยาเคารพต่อปูชนียสถาน”
หมายความว่า เมื่อย่างเข้าสู่ปูชนียสถาน สุภาพชนควรแสดงกิริยาวาจาเช่นไร
ก็แสดงกิริยาวาจาเช่นนั้นโดยจริงใจ

 

วัดวาอารามนั้นบรรพบุรุษเราท่านสร้างขึ้นไว้เป็น “บุณยสถาน

คือสร้างไว้เป็นที่แสวงบุญ

ท่านสร้างวัดอย่างวิจิตรอลังการเท่าที่กำลังและสติปัญญาของชุมชนจะพึงทำได้
น่าเลื่อมใสศรัทธาบูชากราบไว้

เราก็เลยเรียกกันว่า “ปูชนียสถาน” อีกคำหนึ่ง แปลว่า สถานที่อันควรแก่การบูชา

ล่วงกาลผ่านวันคืนไป นานเข้า วัดเก่าๆ ก็กลายเป็น “โบราณสถาน” ไปอีกฐานะหนึ่ง

 

วัดมหาธาตุ ราชบุรี เป็นครบหมดทุกสถานะ

เป็น “บุณยสถาน” เพราะยังเป็นที่ประกอบกองการกุศลอยู่เป็นประจำ เป็นพระอารามหลวง
มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา มีการทำบุญทุกวันพระตลอดทั้งปี

 

เป็น“ปูชนียสถาน” เพราะมีพระมหาธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำเมือง มีพระพุทธปฏิมา พระพุทธบาท พระมณฑป
พระอุโบสถ พระวิหาร เจดีย์ ครบถ้วน

 

เป็น “โบราณสถาน” ทั้งพฤตินัยและนิตินัย เพราะเป็นที่ตั้งเมืองตั้งวัดมานับพันปี
มีหลักฐานร่องรอยที่ยังปรากฏอยู่เด่นชัด ทางราชการขึ้นทะเบียนไว้นานมาแล้วด้วย

 

เมื่อก่อนนี้ทางวัดทำป้ายติดไว้ที่บริเวณหน้าวิหารหลวง เป็นข้อความสั้นๆ ว่า

เขตคารวสถาน
โปรดสำรวมและสุภาพเรียบร้อย

และมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ข้างล่างว่า

Respected area.

Please keep yourself in peace and politeness.

 

วันหนึ่ง มีฝรั่งชายหญิงคู่หนึ่งโผล่เข้ามา สะพายเป้รุงรัง เสื้อผ้ารุ่งริ่ง
นุ่งกางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ ท่าทางเป็นนักท่องเที่ยวแบบค่ำไหนนอนนั่น

ทั้งคู่เกร่ไปเกร่มาจนมาเห็นป้ายที่ว่านั่น

เขาทำอย่างไรรู้ไหมครับ ?

เขาปลดเป้ลง
แล้วทำสิ่งที่ผมเพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย

 

เขาค่อยๆ คลี่ขากางเกงที่เห็นว่าเป็นขาสั้นนั้นออกจนกลายเป็นกางเกงขายาว
จัดเสื้อใส่ในกางเกงเรียบร้อย ถอดหมวก หิ้วเป้
เดินเข้าไปในพระระเบียงพระมหาธาตุด้วยอาการสำรวม

 

มนุษย์ชาติฝรั่งจะดีจะเลวอย่างไรก็ช่างเถอะ
แต่ผมคารวะเขาอยู่อย่างหนึ่ง คือการอบรมสั่งสอนคนของเขาให้มีจิตสำนึก ค่อนข้างมีมาตรฐาน

 

ผมเคยถูกผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์อบรมมา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ว่าย่างเท้าเข้าวัดเข้าเขตปูชนียสถาน

ใส่หมวก สวมรองเท้า สะพายกระเป่า กางร่ม

ผู้มีการศึกษาไม่พึงกระทำ

 

ผมนั่งดูผู้คนที่เข้ามาในพระระเบียงพระมหาธาตุในวันนี้แล้ว เห็นครบทุกประการ

 

เราลดคุณค่าของวัดที่เป็น “บุณยสถาน” และ “ปูชนียสถาน” ลงมาเหลือเพียง “โบราณสถาน
แล้วปฏิบัติต่อวัดเหมือนสิ่งไม่มีชีวิต

 

เอาไว้เป็นที่ถ่ายรูป
แล้วก็ลูบคลำ ปีนป่าย เหยียบย่ำกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
เหมือนกับไปเที่ยวชายหาด เที่ยวเขา เที่ยวป่า

 

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัด

บรรพบุรุษของเราท่านคงจะร้องไห้ถ้าได้มาเห็น

 

ผมเคยเขียนกลอนไว้บทหนึ่งว่า

 

(อดีต)

กษัตริย์สร้างปรางค์อรุณเป็นบุญล้ำ

ทุกเช้าค่ำท่านบูชามหากุศล

(ปัจจุบัน)

ทั้งเทศไทยใส่เกือกไม่เลือกคน

ย่ำขึ้นบนองค์ปรางค์เหมือนทางตีน

 

ผมนั่งดูผู้คนที่เข้ามาในพระระเบียงพระมหาธาตุในวันนี้แล้ว เห็นครบทุกประการครับ

ใส่หมวก สวมรองเท้า สะพายกระเป่า กางร่ม ฯลฯ


คนไทยสมัยนี้ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนกิริยาเคารพต่อปูชนียสถาน

 

ท่านผู้ใดมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนผู้คน
ตลอดจนกุลบุตรกุลธิดาของเรา ขอฝากให้คิดและทำเรื่องนี้ด้วย

 

หรือจะรอให้ฝรั่งมาสอนไทย ?





ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้เห็นอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยเห็น หรือไม่นึกว่าจะได้เห็นในชีวิตอันสั้นนี้

ระยะทาง 200 เมตร ค่าเรือ 2,000 จะไปหรือไม่ไป

หนีน้ำไปต่างจังหวัด ลงจากรถเมล์ ต่อรถตุ๊ก จากท่ารถไปตลาด ระยะทาง 1 กม. เรียกเหนาะๆ 200 จ่ายมาซะดีๆ หรือจะเดินไป !

บ้านผม ซึ่งห่างจากรัศมีน้ำท่วม 100 กม. โจ๊กธรรมดาชามละ 20  ใส่ไข่ 25 แต่พอน้ำท่วม โจ๊กใส่ไข่ชามละ 35 จะกินหรือไม่กิน

คนที่ไม่เดือดร้อนเลยมีคนรุมกันไปช่วยเหลือเพียบ แต่คนที่เลือดตาแทบกระเด็นไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น จนน้ำลดแล้วอาการยังเพียบ

น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้แน่ใจอะไรได้หลายอย่างที่ผมไม่เคยแน่ใจ หรือไม่นึกว่าจะได้แน่ใจในชีวิตอันสั้นนี้

ระดับจิตใจของผู้คนยังไปไม่ถึงไหนเลย อันที่จริงต้องพูดว่า ยังไม่ได้ไปไหนกันเลย นับตั้งแต่ที่โลกนี้มีมนุษย์ขึ้นมา

อันนี้แน่ใจได้เลยครับ

 



ความเห็น (2)

คุณ ทองย้อย อาจจะโชคไม่ดีไปหน่อยนะคะที่ได้พบแต่ประสบการณ์ที่น่าหดหู่ใจ แต่เท่าที่เปิดใจรับฟังเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์ของผู้ประสบภัย เราก็ได้เห็นเหมือนกันนะคะว่า มีคนให้"น้ำใจ"กันมากมาย ช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องรู้จักกันมาก่อน ปรับทุกข์ปรับร้อนคุยกันช่วยกันได้แม้ไม่เคยรู้จักกัน ช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องป่าวประกาศหรือออกชื่อออกเสียงให้คนชื่นชม มีเรื่องน่าประทับใจมากมายนับไม่ถ้วนให้เล่าขานเหมือนกันนะคะ อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับผู้คน เราก็จะมีโอกาสโชคดี พบเจอสิ่งดีๆแน่นอนนะคะ

เมื่อมองตามความเป็นจริง เราก็จะเห็นคนทั้งสองประเภท คือประเภทที่ผมว่า แล้วก็ประเภทที่คุณโอ๋-อโณ ว่า

เมื่อเห็นแล้ว ก็มองเขาไปตามความเป็นจริง อย่างที่เขาเป็น

ไม่ถึงกับจะไปให้คะแนน หรือตัดคะแนนใครหรอกครับ แค่มองไปตามความเป็นจริง

เพื่อกำหนดท่าทีของเราเอง ว่า แล้วเราล่ะควรทำอย่างไร

เรียกว่า มองเขา แล้วเอามาสอนเรา อะไรทำนองนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัจธรรม คือ ตัวความเป็นจริง นั้น เรามีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ตรงกับที่มันเป็นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปเปลี่ยนแปลง หรือไปเรียกร้องอะไรจากมัน

เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้ว่าตัวเราควรทำอย่างไร หรือไม่ควรทำอย่างไร

อ้าว ! ขึ้นธรรมาสน์เสียเฉยๆ ยังงั้นแหละ - ลงแค่นี้แหละครับ

ขอบคุณ

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

มีคนถามความเห็นเรื่องการประดิษฐ์ลายลักษณ์อักษรไทยแบบที่ ห หีบ หน้าตาเป็นตัว K ของฝรั่ง ว่า ใครเห็นเป็นอย่างไร

ผมก็บอกไปว่า ถ้าคิดขึ้นมาได้เองก็อัจฉริยะ แต่ถ้าใจไปนึกถึงอักษรฝรั่งก็แปลว่าฝรั่งอยู่เหนือเรา

นอกจากเราจะพยายามเขียนตัวอักษรไทยให้มีรูปร่างเหมือนอักษรฝรั่งแล้ว (ไม่ใช่แค่ ห หีบตัวเดียว มีอีกตั้งหลายตัวจนแทบจะครบอักษรไทยทุกตัวแล้วกระมัง) บางโอกาสเรายังประดิษฐ์ให้มองดูคล้ายอักษรจีนอีกก็มี เช่นคำโฆษณาเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน หรือสินค้าที่เกี่ยวกับจีน

หนังสือแปลบางเล่มที่ว่าด้วยเรื่องของอินเดีย ก็เคยมีผู้ประดิษฐ์ชื่อหนังสือ ชื่อคนแต่ง ชื่อคนแปล ซึ่งใช้ตัวอักษรไทย ให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอักษรเทวนาครีซึ่งเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาของอินเดีย

ผมก็เลยสงสัยขึ้นมาว่า จะมีชาติไหนบ้างที่เขาประดิษฐ์รูปร่างตัวหนังสือของเขาให้ดูคล้ายอักษรไทย

ในขณะที่เราภูมิใจกับการเอาอย่างเขาอยู่นี้ เรามีอะไรดีบ้างให้เขารู้สึกภูมิใจที่จะเอาอย่างเรา ?



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

บ้านผมอยู่ในซอย มีถนนคอนกรีตอย่างดี เมื่อก่อนถนนโล่ง เดี๋ยวนี้มีคนในซอยใช้ถนนเป็นที่จอดรถมากขึ้น จนรถวิ่งในซอยไม่สะดวกเหมือนก่อน อีกไม่นานคงมีรถจอดเต็มซอยจนรถวิ่งไม่ได้ สามทุ่มแล้วเด็กในซอยยังอยู่ในชุดนักเรียนวิ่งเล่นกันอึกทึก พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กกำลังตั้งวงกันอยู่ ไม่รู้ว่าใครจะอบรมเด็กเหล่านี้ ข้างบ้านเปิดเพลงเสียงดังลั่นได้ยินตลอดซอย ใครไปขอร้องให้เบาหน่อย เขาจะตอบว่า เขาเปิดอยู่ในบ้านเขา บ้านอื่นๆ เขาทนได้ทั้งนั้น ถ้าทนไม่ได้ไปขุดรูอยู่ไป๊

บ้านผมอยู่ในเขตเทศบาล ไปเล่าสภาพอย่างนี้ให้นายกเทศมนตรีฟัง ท่านบอกว่า เทศบาลในเมืองไทยไม่มีหน้าที่กับเรื่องอย่างนี้

ผมเชื่อว่าซอยแบบบ้านผมในเมืองไทยนี้ยังมีอีกมาก เมืองไทยเรานี้เจริญดีนะครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ออกพรรษาปี ๒๕๕๔ วันที่ ๑๓ ตุลาคม แล้วก็เริ่มเทศกาลทอดกฐิน เพื่อนๆ ที่อยากรู้เรื่องเกี่ยวกฐิน ขอเชิญค้นหาได้ในหัวข้อ ทอดกฐินให้ถูกวิธี ครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ในที่สุด ผมก็นำไฟล์ “กาพย์เห่เรือ” ขึ้นได้สำเร็จ ด้วยแรงบันดาลใจจากคุณ โอ๋ (?) และด้วยความอนุเคราะห์จาก พรกวินทร์ แสงสินชัย ที่กลับบ้านในวันแม่พอดี ขอบคุณในความมีน้ำใจของทุกท่านทุกคน กาพย์เห่เรือชุดนี้กำหนดจะใช้เห่ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมาค ซึ่งกองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขึ้นในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ประจำปี ๒๕๕๔ เพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ขอได้โปรดอนุเคราะห์ติชมได้อย่างเต็มที่ครับ -ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ผมคลิกไปที่ เนื้อหาของฉัน มีให้เลือก ไฟล์ นำไฟล์ขึ้น ผมเปิดไฟล์กาพย์เห่เรือใน คอม. ของผมแล้วพยายามนำไฟล์ขึ้น แต่มีตัวแดงขึ้น บอกว่า ไม่ถูกต้อง พยายามทำแบบไหนๆ ก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น ผมเคยบอกว่าผมเป็นคนระดับ low-tect มีเจตนาดี แต่ไม่ค่อยรู้วิธีการสมัยใหม่ อยากให้เพื่อนๆ ได้อ่านต้นฉบับกาพย์เห่เรือที่ถูกต้อง (ที่มีในอินเตอร์เน็ตนั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาก) แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เคยขอให้ผู้รู้ช่วยบอกวิธีทำ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามีท่านผู้ใดบอกไว้ตรงไหนหรือเปล่า แม้แต่จะเปิดไปอ่านคำบอก ผมก็ยังเปิดไม่เป็น ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ยุคนี้ยังมีคน low-tect อย่างผมหลงเหลืออยู่- สวัสดีครับ



ความเห็น (3)

อาจจะเป็นเพราะชื่อไฟล์ละมังคะ ลองเปลี่ยนชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอาขึ้นใหม่ดูนะคะ

  • ครูต้อยเองเคยเป็นแบบท่านมาก่อน
  • และในตอนนั้นรู้สึกแย่มากๆจึงมาให้กำลังใจนะคะ
  • อิอิ เป็นเหมือนกันเลย
  • มาลองใหม่อีกครั้ง นะคะ..ถ้ายังขึ้นไพล์ไม่ได้
  • บางทีเป็นที่ชื่อไพล์ไปซ้ำกับไพล์ที่เคยขึ้นมาแล้วก็เปลี่ยนชื่อไพล์ใหม่ เติมตัวเลขอาร์บิคต่อท้ายชื่อไพล์เก่าก็ได้ค่ะ หรือทำอย่างคุณโอ๋-อโณแนะนำก็ได้นะคะ

 

เอามาฝากค่ะ

"คำแนะนำ: ในการตั้งชื่อไฟล์กรุณาใช้ตัวอักษร a-z, A-Z, 0-9 สัญลักษณ์ขีดกลาง (-) หรือขีดล่าง (_) และห้ามเว้นวรรค"

หรือลองแตะเม้าส์แล้วเลื่อนลงมาด้านล่างสุด

จะมีคำอธิบายตามเรื่องที่เราสงสัยในแต่ละประเด็นค่ะ

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

หนังสือ พินิจพระคาถาชินบัญชรเล่มนี้ขยายความโดยละเอียด พร้อมบทวิเคราะห์ถ้อยคำภาษาในพระคาถาชินบัญชรที่มักจะถกเถียงกันว่า ฉบับนี้ว่าอย่างนั้น ฉบับนั้นว่าอย่างโน้น คำที่ถูกคืออย่างไร วิเคราะห์วินิจฉัยตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เชื่อตามกันไป สวดตามกันไปโดยไม่รู้ว่าผิดถูกเป็นอย่างไรท่านอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว (หนังสือหนาเกือบ 500 หน้า)แม้ไม่คิดจะสวด ก็ยังได้ความรู้เกี่ยวกับพระคาถาชินชัญชร ท่านที่นิยมสวดอยู่แล้วก็จะสวดได้ด้วยความมั่นใจและได้ปัญญา ยินดีส่งให้เป็นธรรมทานแก่ท่านที่ต้องการครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

หนังสือ พินิจพระคาถาชินบัญร พิมพ์เสร็จแล้วครับ พร้อมจัดส่งให้เพื่อนผู้ต้องการ ขอเรียนว่า หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือสวดมนต์ ที่วางแจกข้างตู้บริจาค และไม่ใช่หนังสือที่จะชักชวนให้ท่านสวดพระคาถาชินบัญชร แต่เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ว่า พระคาถาชินบัญชรที่นิยมสวดกันนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ พระอรหันต์ ๑๕ องค์ พระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ พระสูตรพระปริตร ๗ บท ทั้งหมดนี้เป็นชื่อที่ระบุถึงในพระคาถา แต่ยังไม่เคยมีใครอธิบายไว้ในพระคาถาชินบัญชรว่าชื่อเหล่านี้คือใคร คืออะไร 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ตรวจปรู๊ฟหนังสือ พินิจพระคาถาชินบัญชร จากปรู๊ฟ 1 แก้เป็นปรู๊ฟ 2 แก้ไปแก้มา หลายตลบ ช้าหน่อย แต่ไม่เป็นไร รอได้ จากหนังสือหนา 600 กว่าหน้า แก้ไขตัดต่อแล้ว เหลือประมาณเกือบ 500 หน้า ส่งให้โรงพิมพ์วันนี้ คงไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม หนังสือคงถึงมือเจ้าภาพ ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ร่วมบริจาคพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทาน เป็นวิทยาทาน หรือจะใช้คำใหม่กันดูบ้างว่า เป็นวิชาทาน ขออนุโมทนาครับ หลายท่านบริจาคเป็นพัน แต่บอกว่าขอรับหนังสือเล่มเดียวพอ ที่เหลือ มอบให้เพื่อนผู้ใฝ่รู้เป็นวิชาทาน - ขอบพระคุณจริงๆ ครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ผมหายไปหลายวัน เพราะกำลังตรวจปรู๊ฟหนังสือ พินิจพระคาถาชินบัญชร หนังสือจวนเสร็จแล้วครับ เพื่อนๆ อยากอ่าน ก็โปรดบอกมาได้เลย หนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นธรรมทานครับ ไม่ได้จำหน่าย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

เพื่อนๆ ครับ ผมมี กาพย์เห่เรือ ที่จะใช้เห่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือจัดขึ้นในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิณ ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ อยากจะแบ่งปันสู่เพื่อนๆ ผมพยายามใช้ช่องส่งไฟล์ (ที่เห็นขึ้นคู่กับ อนุทินนั่นแหละครับ) เปิดไฟล์ในเครื่อง com ของผมส่งไป แต่มีข้อความขึ้นมา (หลังจากดำเนินการแล้ว) เห็นแวบๆ ว่าอะไรไม่ถูกสักอย่างหนึ่ง ข้อความนั้นก็รีบเลือนหายไป โดยไม่บอกว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ผมเป็นคนระดับ lowtec ครับ ไม่รู้วิธีว่าจะทำอย่างไร หรือต้องไปทำที่ช่องไหน หน้าไหน จึงจะแบ่งปันไฟล์ให้เพื่อนๆ ได้ เพื่อนคนใดรู้วิธี ช่วยแนะนำหน่อยครับ และกรุณาอย่าทำหน้ายิ้มๆ ใส่ผมนะครับ - ขอบพระคุณครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ผมไปที่วัดเขาวัง ราชบุรี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๑๙๐๐ ถึง ๒๐๐๐ ยกเว้นวันโกนกับวันพระ ผมไป “ถวายความรู้” ให้แก่ “พระเณร” ที่ท่านจะสอบบาลี พระเณรที่ผมไปถวายความให้ท่านมีแค่ ๓ รูป เป็นนักเรียนชั้นเปรียญธรรม ๔ (4) ประโยค ๒ รูป (เป็นพระภิกษุ ๑ รูป อายุ ๖๘ สามเณร ๑ รูป) เป็นนักเรียนชั้นเปรียญธรรม ๘ (8) ประโยค ๑ รูป (เป็นพระภิกษุ) สำหรับชั้น ป.ธ.๔ ถวายความรู้ในวิชาแปลไทยเป็นมคธ สำหรับชั้น ป.ธ.๘ ถวายความรู้วิชาแต่งฉันท์ ถ้าสัปดาห์ไหนมีเวลาเรียน ๖ วัน ก็แบ่งกันชั้นละ ๓ วัน ถ้ามีเวลาเรียน ๕ วัน ก็ยกประโยชน์ให้ชั้น ป.ธ.๔ ไป ๓ วัน ชั้น ป.ธ.๘ ได้ ๒ วัน การไปถวายความรู้ตามที่เล่ามานี้เอาบุญเป็นกำไรครับ เป็นการเก็บบุญใส่ย่ามอีกทางหนึ่งเพิ่มจากวิธีอื่นๆ ที่ผมทำอยู่แล้วเป็นประจำ - ที่เล่ามานี่ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านคงจะพบถ้อยคำที่ไม่เข้าใจอยู่หลายคำ ถ้าสนใจ วันหลังจะขยายความให้ฟังครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

ผมถามว่าใครเป็นผู้คิดคำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี ถามมาแล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะถามคนราชบุรีโดยตรง ก็ไม่ใครตอบได้ น่าประหลาดใจจังเลย เราไม่รู้เรื่องของงตัวเองกันแล้วหรือนี่ ๒ วรรคแรก คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เป็นคำเก่าที่เราก็ไม่รู้มาสมัยหนึ่งแล้วว่าใครเป็นคนคิด แต่วรรคต่อๆ มา - เมืองโอ่งมังกร - ไปจนถึง - ย่านยี่ยกปลาดี - นี่เป็นคำที่คิดขึ้นใหม่ ผมว่าไม่น่าจะเกิน ๒๕ ปี คิดขึ้นแล้วเอาไปใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดเสียด้วย จึงไม่น่าจะธรรมดา และจึงไม่น่าจะไม่มีคนรู้ นี่ถ้าไม่มีใครตอบได้ ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีคนรู้จริงๆ กับอีกเหตุหนึ่งคือ คนเดี๋ยวนี้เขาอยู่กันเพื่อวันนี้กับพรุ่งนี้เท่านั้น เขาไม่ได้อยู่เพื่อเมื่อวานนี้กันแล้ว ผมว่าอีกไม่เกิน ๕๐ ปี คนไทยจะต้องไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยจากฝรั่งแน่นอน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

นี่เป้นเพียงเรื่องเดียวในจำวนนี่เป็นข้อความที่ผมเขียน (พิมพ์) ลงไป เมื่อเปิดอ่านแล้วก็ขำตัวเอง แต่เชื่อว่ามิตรสหายที่มาอ่านพบเข้าก็คงเดาถูกการใช้ภาษาไทยนี่มี ผิด กับ พลาด ครับผิด ก็อย่างเช่น สถิต เขียนเป็น สถิตย์ (มี ย์) บิณฑบาต เขียนเป็น บิณฑบาตร (บาต มี ร เรือ)พลาด ก็อย่างเช่น สถิต เขียนเป็น สถต (ตกสระอิ) บิณฑบาต เขียนเป็น บณฑบาต (ตกสระอิเหมือนกัน)รวมทั้ง เป็น เขียนเป็น เป้น (กดแป้นอักษรบนไม่สุด) และ จำนวน เขียนเป็น จำวน (ตก น หนู)พลาดนั้นมีโทษน้อย เพราะไม่ทำให้คนเข้าใจผิด แต่ผิดมีโทษมาก เพราะคนจะพากันนึกว่าถูกแต่ถ้าไม่ผิดและไม่พลาดเลย จะดีกว่าขออภัย และขอบคุณที่ให้อภัยครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

เมื่อผมเกษียณอายุราชการ เจอหน้าเพื่อนฝูง เขามักถามด้วยความเป็นห่วงว่า เหงาไหม ผมบอกว่า ถ้าเอางานที่ผมเตรียมไว้เพื่อจะทำมาคลี่ดู ผมว่าอีก ๒๐ ปี ก็ยังทำไม่หมด (ผมขออายุหลังเกษียณไว้ ๒๐ ปี)งานของผมเป็นงานค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา เรื่องที่คนทุกวันนี้ทำไม่ถูก เช่นถวายสังฆทานอย่างไรจึงจะถูกตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เรื่องนี้คนทำผิดกันมากจนน่าตกใจ ผมเคยเห็นคนหิ้วถังเหลืองที่เรียกกันด้วยความเข้าใจผิดว่า ถังสังฆทาน เข้าไปในวัด ถามหาหลวงพ่อ บอกว่าจะมาถวายสังฆทาน พระท่านตอบว่า ตอนนี้หลวงพ่อออกไปกิจนิมนต์ บ่ายๆ จึงจะกลับ เขาหิ้วถังสังฆทานกลับ เรื่องนี้ถ้าถามว่า ผิดตรงไหน ผมเชื่อว่าคงจะมีคนเข้าใจน้อยเต็มที นี่เป้นเพียงเรื่องเดียวในจำวนหลายร้อยเรื่องที่คนทุกวันนี้ทำไม่ถูก นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่ารู้น่าศึกษาอีกมากในพระพุทธศาสนา ที่ผมคิดว่าชาวพุทธเราควรรู้ แต่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น ผมไม่มีเวลาเหงาหรอกครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ทองย้อย
เขียนเมื่อ

กำลังจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง พินิจพระคาถาชินบัญชร เป็นหนังสืออธิบายถ้อยคำในพระคาถาชินบัญชรโดยละเอียด โดยเฉพาะคำที่ผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละฉบับ ว่าคำไหนถูก-ผิดอย่างไร มีข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ประวัติพระอรหันต์ ๑๕ องค์ และประวัติพระสูตรพระปริตร ๗ บท ที่กล่าวถึงในพระคาถาชินบัญชร และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระคาถาชินบัญชรอีกมาก มีเล่มนี้เล่มเดียวท่านจะสวดพระคาถาชินบัญชรได้ด้วยความมั่นใจ เข้าใจ ได้ปัญญา หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พิมพ์จำหน่าย แต่พิมพ์เป็นธรรมทานครับท่านที่สนใจ ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย 032 321 861, 086 055 1341 (หนังสือจะเสร็จราวๆ ปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ครับ)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท