ดอกไม้


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

Climate Summit 2014 

 

climate_summit_2014

 

http://summit.sites.unicnetwork.org/">http://summit.sites.unicnetwork.org/

        ในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางอากาศของโลก หรือ climate change issue นั้นได้รับความสนใจจากบรรดานานาประเทศ ทั้งในระดับผู้นำของรัฐ ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนในความร่วมมือเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างไม่เป็นทางการตามนโยบายของแต่ละรัฐ รวมถึงการผลักดันการดำเนินงานภาครัฐโดยองค์กรภาคสังคมและ NGOs เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง 

       อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการแก้ไขจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อนที่มีมาแต่เดิมนั้นประสบปัญหาการไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐมากพอที่จะก่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดความพยายามในการเรียกร้องของภาคเอกชน ภาคสังคม รวมถึงการผลักดันการดำเนินงานของสหประชาชาติ อันเป็นที่มาของการจัดประชุม climate summit 2014 ที่จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก – ในปีค.ศ.1992 รัฐภาคีแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ United Nation ได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือย่อเป็น UNFCCC หรือ FCCC) เพื่อร่วมกันผลักดันความร่วมมือระหว่างรัฐในการดำเนินการเพื่อคงสภาวะอากาศของโลกไม่ให้มีอุณหภูมิที่สูงจนเกินไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยต่อมาในปีค.ศ.1995 ได้เกิดความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อันเป็นผลให้เกิดการบังคับใช้ “พิธีสารโตเกียว 1997 (Kyoto Protocol 1997)” ที่มีผลผูกพันให้เหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน หรืออุณหภูมิโดยรวมของโลกสูงขึ้นจากการประกอบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินมาตรการนับแต่ปี 2008 ถึงปี 2012

         อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความผูกพันทั้งสองฉบับในข้างต้นมีผลบังคับใช้ผูกพันกลับเกิดกรณีปัญหาที่รัฐผู้ลงนามผูกพันนั้นไม่ให้ความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามข้อผูกพันอย่างจริงจังแต่อย่างใด ส่งผลให้ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

Climate Summit 2014 คืออะไร  – การประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงเป้าหมายของความตกลงทั้งสองฉบับได้แก่ UNFCCC และ Tokyo Protocol ในการคงอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยอาศัยการประชุมในระดับผู้นำและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆที่สำคัญทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างเจตนารมณ์ในทางการเมืองจากผู้นำของรัฐเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

          “....The Summit is intended to be a solutions-focused Summit that is separate from, but complementary to, the UNFCCC negotiating process. It aims to provide evidence that leaders across sectors and at all levels are taking action, thus expanding the reach of what is possible today, in 2015, and beyond....”

          ข้อแตกต่างระหว่างการประชุมครั้งนี้กับการประชุมครั้งอื่น คือ การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือต่างๆทั้ง UNFCCC และกรอบของ Tokyo Protocol ไม่ใช่กรณีการประชุมเพื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาหรือแนวทางความร่วมมือแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้เองมีเป้าหมายส่วนหนึ่งในการรวบรวมเจตนารมณ์ทางการเมือง(Political will) ในการดำเนินงานตามเป้าหมายในการบรรเทาสภาวะปัญหาโลกร้อนและเข้าร่วมในความตกลงว่าด้วยการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน(a global climate agreement)ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ต่อไป

 

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน Climate Summit 2014  – ในการแถลงข่าวการจัดประชุม Climate Summit 2014 โดยเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ นายบัน คีน มูน เรียกร้องให้ผู้แทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในภาครัฐอื่น รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมจัดเตรียมคำประกาศอย่างเป็นทางการแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมโครงการเพื่อการลดอุณหภูมิของโลกและแนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการประชุมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการดำเนินงานของภาครัฐรวมถึงส่วนอื่นๆเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการบรรเทาปัญหาสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงและการคงอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงจนก่อให้เกิดอันตรายแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ในอนาคต

3
0
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

การจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทย

 

 

 

  1. ข้อความคิดทั่วไป[1]

          รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review (UPR)) ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในคำว่า รายงาน UPR  เป็นรายงานตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กลไกของสหประชาชาติโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nation Human Rights Council (UNHRC)) ผ่านกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน UPR  ของแต่ละรัฐสมาชิกต่อที่ประชุมคณะทำงานการจัดทำรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

          กระบวนการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมัยประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ในวันที่ 15 มี.ค.2006 โดยข้อมติที่ 60/251 [2]กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะมนตรีแห่งสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกของสหประชาชาติและมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ในการริเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐให้เป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและคำมั่นของรัฐในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อกัน

          ในการจัดทำรายงาน UPR  กำหนดให้ประเทศสมาชิกของ[3]สหประชาชาติจำนวน 192 ประเทศจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์การดำเนินงานของรัฐด้านสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมบนพื้นฐานของพันธกรณีตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง พันธกรณีของรัฐที่มีตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐเป็นภาคี รวมถึงคำมั่นโดยสมัครใจของรัฐ โดยในเนื้อหารายงาน UPR  ของแต่ละรัฐจะต้องประกอบไปด้วย รายงานของประเทศที่ถูกทบทวนจำนวน 20 หน้า รายงานจากกลไกประจำอนุสัญญา (treaty bodies) กลไกพิเศษ (special Procedures) และเอกสารสหประชาชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จำนวน 10 หน้าและรายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนจากภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 หน้า

          นอกจากการจัดทำรายงาน UPR  แต่ละรัฐสมาชิกยังมีหน้าที่ในการนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเพื่อทำการรับรองต่อไป โดยการนำเสนอรายงานนั้นจะใช้เวลาครั้งละ 3 ชม. ประกอบด้วยการนำเสนอรายงานของประเทศและการอภิปรายตอบโต้ (Interactive Dialogue) เพื่อทำการตอบข้อซักถามและเสนอแนะความเห็นของที่ประชุมต่อการรายงานดังกล่าว ซึ่งภายหลัง 2 วันนับแต่การนำเสนอรายงานจะมีการพิจารณาและลงมติรับรองข้อสรุปผลการทบทวนและข้อเสนอแนะ รวมถึงการประกาศท่าทีและข้อตอบรับของรัฐที่จัดทำรายงานการทบทวนที่มีต่อข้อเสนอแนะของที่ประชุมด้วยเช่นกัน

 

 

  1. กระบวนการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย[4]

          คณะรัฐมนตรีมีมติ[5]รับทราบและเห็นชอบในการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและหน่วยงานทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อจัดทำร่างรายงาน UPR  ด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดการหารือกลุ่มย่อยจำนวน 14 ครั้ง เพื่อพิจารณาเนื้อหาของรายงาน โดยได้เชิญภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้แทน NGOs ร่วมหารือกับผู้แทนภาครัฐเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อร่าง UPR ของประเทศไทย

 

3.เนื้อหาในรายงาน UPR ของประเทศไทย

          ในกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย คณะผู้ทำงานได้เน้นไปที่ประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่อยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศ รวม 15 ประเด็น ได้แก่  (๑)    ความคืบหน้าในการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓  โดย

(๒)     กรณีการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ โดยเฉพาะคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร 

(๓)      กรณีการซ้อมทรมาน  โดยเฉพาะคดีของนายยะผา  กาเซ็ง

(๔)      กรณีปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดต่อครูและเด็กๆ   นักเรียน 

(๕)      กรณีการเสียชีวิตของชาวมุสลิมในเหตุการณ์ยิงมัสยิดอัลฟูรกันและกรณีกรือเซะ/ตากใบ 

(๖)      โทษประหารชีวิต

(๗)     การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยบังคับ 

(๘)      การศึกษาความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน         โยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัว

(๙)      การถอนข้อสงวนต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ  

(๑๐)    การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะฉบับที่  ๘๗  และ  ๙๘   (๑๑)        การปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว

(๑๒)    กรณีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด

(๑๓)    เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  และเสรีภาพในการชุมนุม

(๑๔)    การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร และ   จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ

(๑๕)    การปฏิบัติต่อผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าและผู้ลักลอบเข้าเมือง

 

4. การนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติลงวันที่ 13 ก.ย. 2554[6]เห็นชอบแต่งตั้งให้นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการนำเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย โดยในเนื้อหาของคำแถลงก่อนเริ่มกระบวนการนำเสนอรายงานของนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้กล่าวถึงเนื้อหารายงาน UPR ของประเทศไทยโดยสรุปว่า[7]   ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 7 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าเป็นภาคีเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนเพื่อถอนข้อสงวนบางประการในอนุสัญญาฉบับต่างๆ

          รัฐบาลของไทยได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของภาครัฐ ได้แก่ นโยบายการขจัดความยากจน นโยบายทางด้านสิทธิการศึกษาฟรี 15 ปี นโยบายประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงความพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเฉพาะกลุ่มต่างๆ เช่น สิทธิเด็ก สตรีและคนพิการ รวมถึงสิทธิของคนชายขอบ อาทิ กลุ่มคนไร้รัฐและแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการ ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบ ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นปัญหาทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ปัญหาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและกลุ่มคนชาติพันธุ์ในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อจดทะเบียนแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและดำเนินการส่งเสริมความสามารถในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว

          ภายหลังการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย ผู้แทนของประเทศต่างๆในที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมต่อการทำรายงาน UPR ของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในขณะเดียวกันได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของไทยเพื่อแก้ไขปัญหา โดยผู้แทนของหลายประเทศได้กล่าวชื่นชมถึงความพยายามในการดำเนินงานของประเทศไทยในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเพื่อขจัดความยากจนของประเทศไทย  ในขณะเดียวกัน ผู้แทนของหลายประเทศได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยพร้อมทั้งเสนอข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของประเทศไทยในหลายประการ อาทิ การพัฒนาระบบความโปร่งใสในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม การปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกันกับหลักเกณฑ์และนิยามตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) การเร่งการดำเนินงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การพัฒนาการให้ความคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศแก่สตรีและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนพิการ รวมถึงการอนุญาตให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศเข้าถึงกระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งผู้แทนของประเทศไทยได้ประกาศยอมรับข้อเสนอแนะบางส่วน และขอรับข้อเสนอแนะอีกส่วนหนึ่งเพื่อกลับมาพิจารณาและประกาศท่าทีต่อไป โดยข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ให้การยอมรับเพื่อนำกลับมาปรับปรุงการดำเนินงานของประเทศไทย ได้แก่ การให้ความคุ้มครองกับกลุ่มบุคคลชายขอบและกลุ่มบุคคลที่เปราะบาง อาทิ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน โดยประเทศไทยอยู่ในระหว่างการพัฒนาและกำหนดนโยบายเพื่อให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มบุคคลดังกล่าว การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพระหว่างบุคคลอย่างเท่าเทียมและไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะบุคคลยากจนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใสและสามารถเข้าถึงกระบวนการได้โดยง่ายและเท่าเทียม เป็นต้น

          นอกจากนี้ผู้แทนของประเทศไทยยังได้ประกาศคำมั่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม[8] ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (the Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และฉบับที่ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง การถอนข้อสงวนต่อข้อ 16 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ การถอนถ้อยแถลงตีความต่อข้อ 6 และ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 18ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองเด็กและสตรีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          อีกทั้งประเทศไทยยังได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่าจะเพิ่มความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและป้องกันการค้ามนุษย์โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการตรวจแรงงาน ส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชายขอบ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศเชื้อเชิญให้กลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเยือนไทย

 

5.พื้นที่ทางการทูตในการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย 

          ในการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ทั้งประเทศไทยและรัฐอื่นที่เข้าร่วมในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อพิจารณารายงาน UPR ต่างอาศัยกระบวนการในการนำเสนอรายงาน UPR ในการเจรจาประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐให้ความสำคัญ ดังเช่นในรายงาน UPR ของประเทศไทยที่เน้นให้เห็นถึงการดำเนินงานของไทยในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้เปราะบาง ทั้งสิทธิเด็ก สตรี คนพิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน (migrant workers) ที่กำลังเป็นที่จับตามองจากหลายๆประเทศ

          ในทางกลับกัน รัฐอื่นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายงาน UPR ของประเทศไทยได้อาศัยกระบวนการนำเสนอรายงาน UPR ของไทยเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจาในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐดังกล่าวให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เช่น ผู้แทนประเทศเมียนมาร์ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยเน้นถึงความพยายามในการประกันและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความปลอดภัยและสวัสดิการของกลุ่มคนงานต่างด้าว ซึ่งการเสนอความเห็นของผู้แทนเมียนมาร์เช่นนี้เองที่สะท้อนให้เห็นการอาศัยกระบวนการรายงาน UPR ในการเปิดพื้นที่การเจรจาเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนสัญชาติเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิขั้นพื้นฐานโดยถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงาน UPR ในเริ่มแรกนั้นเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลและกรณีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ โดยอาศัยกลไกในการจัดทำรายงาน UPR และกระบวนการนำเสนอรายงาน UPR ในครั้งต่อไปในการพิจารณาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐต่อประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามรายงาน UPR ฉบับแรกของรัฐ ส่งผลโดยหลักของการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละรัฐ จึงยังเป็นไปตามภายใต้อำนาจดำเนินการตามความสมัครใจของแต่ละรัฐซึ่งสะท้อนออกมาเป็นเนื้อหาในรายงาน UPR ครั้งถัดไปเท่านั้น 

 

6. บทสรุป

          ประเทศไทยได้จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ หรือรายงาน UPR ตามกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) โดยมีเนื้อหาทบทวนการดำเนินงานของรัฐในด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา รวมถึงแสดงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคระหว่างกลุ่มบุคคลในประเทศไทย โดยผู้แทนของไทยนั้นได้ประกาศน้อมรับข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของรัฐทางด้านสิทธิมนุษยชนและแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามการนำเสนอรายงานของประเทศไทย อีกทั้งยังได้ประกาศคำมั่นว่าจะดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากข้อเสนอแนะของนานาประเทศในที่ประชุมเพื่อพิจารณารายงานของประเทศไทยอีกเช่นกัน

          การที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศตามกลไกการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (universal periodic review) หรือรายงาน UPR ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการดำเนินนโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นกลไกหนึ่งที่ก่อให้เกิดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคเอกชนอย่างเต็มที่และมีบทบาทอย่างแท้จริงในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยการเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคมประกอบกับรายงานของภาครัฐ ซึ่งกลไกการจัดทำรายงาน UPR ที่กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเช่นนี้เองที่ช่วยเสริมสร้างบทบาทของภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ผลกระทบเหล่านี้เองที่เป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาใส่ใจกับการดูแลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่คนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่พลเมืองที่เป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของรัฐ หากรวมถึงกลุ่มบุคคลชายขอบ กลุ่มคนชาติพันธุ์และครอบครัว รวมถึงแรงงานต่างชาติที่โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเท่าที่ควรจะได้ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศใด

          

 

[1]UNHRC. Universal Periodic Review. http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRmain.aspx

[2] Resolution adopted by the General Assembly on 15 March 2006. A/RES/60/251. Sixtieth session

Agenda items 46 and 120. 60/251. Human Rights Council. http://daccess-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/N05/502/66/PDF/N0550266.pdf?OpenElement

[3] สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาค . “ กระบวนการ UPR (UPR Process in Thailand).” http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/upr.pdf

[4] กระทรวงต่างประเทศ. “ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือ รายงาน UPR.” http://www.mfa.go.th/humanrights/upr/83-uprbackground

[5] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21/12/2553 . เรื่องการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ . โดยกระทรวงการต่างประเทศ. http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99226024&key_word=UPR&owner_dep=&meet_date_dd=&meet_date_mm=&meet_date_yyyy=&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=

[6] มติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 13 ก.ย. 2554 เรื่อง การแต่งตั้งผู้แทนรัฐบาลสำหรับการนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ . http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2554/992284081.pdf. 16 ก.ย.2554

[7] Report of the Working Group on the Universal  Periodic Review Thailand. Agenda item 6. Human Rights Council

Nineteenth session. http://daccess-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/G11/172/64/PDF/G1117264.pdf?OpenElement.

[8] Sihasak Phuangketkeow. “Statement byH.E. Mr. Sihasak PhuangketkeowAmbassador and Permanent Representative of Thailandand Special Envoy of the Royal Thai Governmentat the Adoption of  the UPR Working Group Report on Thailand12th Session of the Working Group on Universal Periodic Review7 October 2011.” http://www.mfa.go.th/humanrights/upr/statement-during-upr-process/164-statement-at-the-adoption-of-the-upr-working-group-report-on-thailand-12th-session-of-working-group-on-upr-7-october-2011

 

บันทึกโดยน.ส.นฤตรา ประเสริฐศิลป์

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2557 เวลา 00.47 น. 
แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2557 เวลา 11.32 น.

3
0
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท