อนุทินล่าสุด


ธีรเดช
เขียนเมื่อ

ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 9 วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2556

  สัปดาห์ที่ 9 สัปดาห์นี้ มีกิจกรรมนอกเหนือจากงานและภาระหน้าที่การสอน หลังจากนักกีฬาแบตมินตันได้ฝึกซ้อมมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็ถึงเวลาแข่งขันจริงในวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลการแข่งขันเป็นที่พอใจทั้งคุณครูและนักเรียน และยังมีกีฬาและกีฑาประเภทอื่นๆที่ยังมีการแข่งขันในสัปดาห์ถัดไป

  ในด้านของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาเคมีพื้นฐาน ม.4 แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ปิโตรเลียม ได้ลองใช้สื่อ PowerPoint ในการจัดการเรียนรู้ นักเรียนที่เคยพูดคุยกันในเวลาเรียนก็หยุดพูดคุย ให้ความร่วมมือกับการจัดการเรียนรู้มากขึ้น สนใจในบทเรียน เนื่องจากมีภาพและลำดับขั้นตอนการเกิดและแหล่งปิโตรเลียม นักเรียนรู้สึกชอบ อยากที่จะเรียนรู้ โดยได้สอบถามนักเรียนทั้งห้องว่านักเรียนชอบวิธีการสอนแบบไหน ระหว่างการสอนโดยใช้หนังสือแบบเรียน กับการสอนโดยใช้  PowerPoint นักเรียนทั้งหมดตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบให้ครูสอนโดยใช้ PowerPoint ในการจัดการเรียนรู้ สำหรับในรายวิชา โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ม.5 แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ระบบสุริยะ ได้ให้นักเรียนสืบค้น อภิปราย และอธิบายการกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ และบรรยายองค์ประกอบและขอบเขตของระบบสุริยะ จากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยการนำเสนอข้อมูลหน้าชั้นเรียน นักเรียนทั้งหมดมีความกล้าแสดงออก

    



ความเห็น (2)

น่ารักกันจัง เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 8 วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2556

สัปดาห์ที่ 8 สัปดาห์นี้ มีกิจกรรมหลายอย่างที่นอกเหนือจากงานและภาระหน้าที่การสอน อย่างเช่น กีฬาเทศบาลที่กำลังจะแข่งขันในวันเสาร์ที่ 13 ใกล้จะถึงนี้ เลยมีการฝึกซ้อมหนักขึ้น โดยนักกีฬาแบตมินตันที่ผมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ ก็จะไปซ้อมกันตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง ถ้าวันไหนผมไม่มีสอนในช่วงบ่ายก็จะไปพร้อมนักกีฬา แต่ในทุกๆวันแล้ว ก็จะไปอยู่ซ้อมนักกีฬา

ในด้านของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาเคมีพื้นฐาน แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน ก็จะยกปฏิกิริยารอบๆตัวนักเรียน และที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักเรียนเกิดการตระหนักถึงประโยชน์และโทษของแก๊สพิษต่างๆที่มนุษย์เป็นสาเหตุทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา โดยถ้าสามารถที่จะป้องกัน ควบคุม และแก้ไขได้ นักเรียนจะเกิดคำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักเรียน ส่วนในรายวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ พื้นฐาน แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง วิวัฒนาการของดาวฤกษ์ นักเรียนสามารถที่จะเปรียบเทียบและอธิบายได้ว่าดาวฤกษ์ต่างๆที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งมีมวลที่ต่างกันทำให้ดาวฤกษ์มีบั้นปลายชีวิตที่ต่างกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 7 วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2556

  สัปดาห์ที่ 7 สัปดาห์นี้ มีการร่นเวลาเรียนลง ถือเป็นสัปดาห์แห่งกีฬาก็ว่าได้ ในเครือโรงเรียนเทศบาล นักเรียนจะไม่ค่อยมีกะจิตกระใจเรียนกันแล้วเมื่อถึงคาบสุดท้าย เมื่อถึง เวลา 15.00 น. ก็จะเห็นเรียนใส่ชุดกีฬา และซ้อมเชียร์ รวมถึงคุณครูอย่างผมด้วย เพราะผมต้องดูแลและฝึกซ้อมนักกีฬาแบตมินตัน รุ่น 14, 16, 18 โดยนักกีฬาแบตมินตันจะแข่งขันในวันที่ 13 กรกฎาคม นี้ ที่สนามสะพานหิน

  ในด้านของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาเคมีพื้นฐาน ก็เป็นไปอย่างปกติตามกระบวนการ แต่ก็มีการเพิ่มในส่วนของ การให้นักเรียนสรุปเนื้อหลังเรียนในรูปของ Mind Map นักเรียนบางคนก็ทำได้ดี แต่นักเรียนส่วนใหญ่ยังสรุปมาในรูปแบบเดิมที่นักเรียนเคยทำ โดยในคาบต่อไปจะเข้าไปปรับปรุงให้เข้าใจตรงกัน ส่วนในรายวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ พื้นฐาน แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง สี อุณหภูมิและสเปกตัมของดาวกฤษ์ ได้มีการใช้สื่อมัลติมิเดีย โปรแกรมดูดาว Starry Night Pro  ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนักเรียนให้ความสนใจ อยู่ในบทเรียนจนจบคาบ โดยสีของดาวฤกษ์ใช้กลุ่มดาวนายพรานเป็นกิจกรรมในการศึกษา โดยสามารถเดินทางไปยังกลุ่มดาวนายพรานได้ นักเรียนก็จะอึ้ง และเนบิวลา แหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ ใช้โปรแกรมนี่แหละ โดยพูดว่าเรากำลังเดินทางด้วยยานอวกาศไปยังเนบิวลานายพราน นักเรียนจะสัมผัสได้มากกว่าในแบบเรียน และเนบิวลาใกล้เคียงอย่างเนบิวลาในกระจุกดาวลูกไก่ ในส่วนของชนิดของสเปกตัม ที่กำหนดอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 8 ตัว ที่บอกสีของดาว คือ O  B  A  F  G  K  M ถือว่าจำอยากพอสมควร แต่ก็มีเทคนิคการจำให้กับนักเรียนโดยใช้เทคนิคที่ครูและนักดาราศาสตร์ใช้กัน คือ "Oh! Be A Fine Girl, Kiss Me" นักเรียนก็สามารถจำได้ เมื่อจบบทเรียนนักเรียนให้การสนใจกับโปรแกรมดูดาวโดยมีการมาสอบถามจากครู

  และในสัปดาห์นี้ก็มีกิจกรรมวันสุนทรภู่ โดยฝั่งครูภาษาไทยประถมศึกษาเป็นฝ่ายจัดโครงการนี้มาโดยตลอด ผมได้รับเกียติจากคุณครูภาษาไทยประถมศึกษา ให้เป็นพิธีกรแฟนพันธ์สุนทรภู่และจัดรูปแบบของกิจกรรม 




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 6 วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2556

  สัปดาห์ที่ 6 สัปดาห์นี้ไม่ได้สอนเลย เนื่องด้วยทางเทศบาลนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันทักษะทางวิชาการ ระดับภาคใต้ขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2556 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งทางโรงเรียนได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันทักษะทางวิชาการในครั้งนี้ และคณะครูต้องนำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาไปเข้าร่วมแข่งขันทักษะจึงไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในระหว่างวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2556

  สำหรับทักษะทางวิชาการด้านโครงงานที่ไปแข่งขัน  ก็ได้เหรียญทองมา ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของคนเป้นครูที่นักเรียนได้เหรียญทองมา เพราะนักเรียนทำงานหนัก ทุ่มเท ฝึกฝน ฝึกซ้อมจนหมดเสียงกันไปเลยทีเดียว สุดท้ายก็ได้ไปต่อที่อิมแพค เมืองทองธานี

  ส่วนวันศุกร์ ที่ 21 มิถุนายน 2556 ก็เปิดเรียนตามปกติ แต่ก็ไม่ได้สอนอีก เพราะวันศุกร์ไม่มีคาบสอน สรุปสัปดาห์นี้ผมไม่ได้สอนเลย แต่ก็มีงานโดยการปรับปรุงและพัฒนาห้องวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นโครงการของผมและเพื่อนๆนักศึกษาปฏิบัติการสอน




ความเห็น (1)
ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 5 วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2556

  สัปดาห์ที่ 5 นี้ ในด้านการปฏิบัติการสอน ได้สอนวันจันทร์กับวันอังคาร ส่วนวันพุธถึงวันศุกร์ นักเรียนและคุณครูจัดโครงการค่ายพุทธบุตร-ธรรมจารินี ณ วัดเก็ตโฮ่ (วัดอนุภาษกฤษฎาราม) เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน                                                

        สำหรับรายวิชาเคมีพื้นฐาน ของนักเรียนชั้น ม.4/2 หลังจากได้เรียนจบในหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่องธาตุและสารประกอบ ก็ได้ทำแบบทดสอบวัดผลนักเรียนในหน่วยการเรียนรู้นี้ในช่วง 30 นาทีของชั่วโมงแรก และต่อด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ความหมายของปฏิกิริยาเคมี การเกิดปฏิกิริยาเคมี  สมการเคมี  และพลังงานกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี จากการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนสายศิลป์ต้องค่อยเป็นค่อยไป นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ช้า ต้องพยายามสอนให้ช้าลง และยกตัวอย่างมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หมดเสียงเลยเหมือนกันเพราะคาบนั้นไมค์เสีย

        สำหรับรายวิชาโลกดาราศาสตร์พื้นฐาน นักเรียนชั้น ม.5/1 และ ม.5/2 สัปดาห์นี้ก็เข้าสู่เนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง ดาวฤกษ์ แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ระยะห่างของดาวฤกษ์  ในเนื้อหาสาระเรื่องนี้นักเรียนค่อนข้างเข้าใจยากพอสมควร เพราะต้องใช้คณิตศาสตร์มาอธิบาย โดยต้องคิดจินตนาการด้วย โดยมีการทดลองเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เกี่ยวกับปรากฎการณ์แพรัลแลกซ์  โดยใช้มือถือปากกา ยื่นไปข้างหน้าให้สุดแขน แล้วสังเกตวัตถุ เปรียบเทียบกับวัตถุอื่น หรือตำแหน่งอ้างอิง โดยใช้นัยน์ตาทีละข้าง ก็สามารถที่จะอภิปรายและตอบคำถามและสรุปได้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 4 วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2556

  สัปดาห์ที่ 4 นี้ด้านการปฏิบัติการสอน เนื้อหาสาระการเรียนรู้เข้าสู่หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 แล้ว ทั้ง รายวิชาเคมีพื้นฐาน และรายวิชาโลกดาราศาสตร์พื้นฐาน

  สำหรับรายวิชาเคมีพื้นฐาน ของนักเรียนชั้น ม.4/1 หลังจากได้เรียนจบในหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่องธาตุและสารประกอบ ผมก็ได้ทำแบบทดสอบวัดผลนักเรียนในหน่วยการเรียนรู้นี้ไปแล้ว ยังเหลือแต่นักเรียนสายศิลป์ ม.4/2 ที่ยังไม่ได้วัดผล เนื่องจากการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนต้องค่อยเป็นค่อยไป นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ช้า ต้องพยายามสอนให้ช้าลง และยกตัวอย่างมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

  สำหรับรายวิชาโลกดาราศาสตร์พื้นฐาน นักเรียนชั้น ม.5/1 และ ม.5/2 สัปดาห์นี้ก็เข้าสู่เนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง ดาวฤกษ์ แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ความส่องสว่างและโชติมาตรของดาวฤกษ์ มีการนำเข้าสู่บทเรียนให้นักเรียนดูวีดีโอเกี่ยวกับการกำเนิดดาวฤกษ์ และต่อด้วยคำถามที่กระตุ้นและปลุกเร้าความสนใจ นักเรียน และมีการทดลองในเรื่องของความส่องสว่างและโชติมาตรของดาวฤกษ์ โดยใช้เทียนไขเป็นตัวกำเนิดแสง โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มทำการสังเกต บันทึกผลและสรุป และจะเพิ่มระยะทางให้ไกลขึ้นและเปรียบเทียบ จากการสอนนักเรียนสองห้องนี้ในแต่ละครั้งมีความสนุกสนาน มีการยกตัวอย่างที่ตลกๆ ที่ครูนึกขึ้นได้เวลาสอน เช่นการประกวดนางสาวไทยคนที่ได้ที่ 1 จะมีความสวยสว่างเจิดจ้า ส่วนคนที่ได้ที่ 2 และ 3 ก็สวยลดลงไป เปรียบได้กับโชติมาตรของดาวฤกษ์ยิ่งค่าของตัวเลขน้อยลงความสว่างก็ยิ่งมาก น่าจะมีนางงามที่ได้ที่ 0 และ -1 น๊น่าจะสวยหรือไม่ก็นางฟ้าลงมาเดินดิน โดยนักเรียนทั้งสองห้องนี้จะเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับจักรวาล




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2556

  สำหรับสัปดาห์ที่ 3 ของการปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ ทำให้ตัวตัวเองลืมคำว่าเหนื่อยออกไปจากกายเลย ตั้งแต่สัปดาห์แรกและสองที่รู้สึกเหนื่อยและท้อ อาจจะเกิดจากเรายังสบาย สนุกอยู่กับการสอนพิเศษเด็กๆ พักผ่อนช่วงปิดเทอม และเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จากสัปดาห์ที่สองเป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ไม่มีวันหยุดสำหรับครู มาโรงเรียนตั้งแต่เช้า กลับ 3-4 ทุ่ม นี่แหละคือเหตุผลที่บอกว่าลืมคำว่าเหนื่อยไปเลย และเริ่มจะชอบ สนุกขึ้น ได้ทำอะไรที่อยู่แบบไม่สบาย รู้สึกว่าตัวตนของตัวเองเริ่มจะกลับมา รู้สึกว่ามาปฏิบัติการสอนต้องทำอะไรอย่างนี้แหละ ใช่เลย ไม่ใช่แค่งานสอนเพียงอย่างเดียว แต่มีงานวิชาการต่างๆอีกเยอะแยะ

  สำหรับสัปดาห์ที่ 3 นี้ในด้านการปฏิบัติการสอนเป็นไปอย่างไม่ค่อยจะเต็มที่และราบรื่น เพราะทั้งครูและนักเรียน อยู่ในช่วงของการทำโครงงาน และเตรียมงานต่างๆ  ยุ่งกันอุตลุด ทุกกลุ่มสาระ ตัวอย่างห้องนักเรียนที่ผมสอน ม.4 และ ม.5 เวลาเข้าสอนมีนักเรียนไปอบรม ไปติว ไปนศท ไปทำโครงงาน สำหรับโครงงานเข้าใจดีเลย เพราะช่วยทำโครงงานวิทยาศาสตร์มอปลาย และยังติวนักเรียนที่จะไปแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ งานต่างๆที่ทั้งครูและนักเรียนยุ่งๆกันช่วงนี้ เพื่อเตรียมตัวไปงานมหกรรมแข่งขันทักษะวิชาการ ซึ่งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 18 -20 มิถุนายน 2556 ณ สวนศรีธรรมาโศกราช ในด้านการสอนเลยไม่ค่อยลงลึกเนื้อหาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะสั่งงานให้นักเรียนสรุป และทำแบบฝึกและคำถามท้ายบท โดยบอกเพื่อนๆให้ทราบด้วย เพราะว่ายังขาดนักเรียนอีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าเรียน ผมก็สอนไม่เต็มที่ด้วย เพราะต้องอยู่ช่วยทำโครงงานกับนักเรียน แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้ราชการเสียหาย สำหรับสัปดาห์นี้ก็นำภาพบรรยากาศนอกเหนือจากห้องเรียนมาบ้า

 




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2556

  นอกจากภาระงานที่กล่าวไปในสัปดาห์ที่ 1 แล้ว สำหรับสัปดาห์ที่ 2 นี้ มีภาระงานเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง คือ การติวนักเรียนที่แข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมปลาย จำนวน 2 คน โดยรับผิดชอบในเนื้อหา สาระ ดาราศาสตร์ โดยจะติวในช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน

  สำหรับงานในหน้าที่ครูผู้สอน สัปดาห์ที่สองนี้ สอน 3 แผนด้วยกัน

  1.แผนการเรียนรู้ เรื่อง กำเนิดอนุภาคในเอกภพวิชาโลกดาราศาสตร์ (พฐ) ใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 และ 5/2 สิ่งที่ประทับใจสำหรับนักเรียนทั้ง 2 ห้องนี้ ในส่วนของกระบวนการจัดการเรียนรู้ ขั้นสร้างความสนใจ มีกิจกรรมการวาดภาพเอกภพตามจินตนาการของตนเอง โดยแบ่งเป็นกลุ่ม แล้วออกนำเสนอ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนคิดและสร้างจินตนาการ ซึ่งนักเรียนก็มีความสุข สนุกสนาน นักเรียนจะตั้งใจฟังเวลาสอน นักเรียนจะมีคำถามที่เกี่ยวกับเนื้อหาในบทเรียนถามครูเสมอ

  2.แผนการเรียนรู้ เรื่อง สัญลักษณ์นิวเคลียร์  และการจัดเรียงอิเล็กตรอน วิชาเคมี (พฐ) ใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 และ 4/2 สำหรับเนื้อหาสาระ ในเรื่องของสัญลักษณ์นิวเคลียร์ และการจัดเรียงอิเล็กตรอนนี้ นักเรียนจะสนใจและตั้งใจฟัง เพราะครูบอกว่าถ้านักเรียนเข้าใจวันนี้ นักเรียนก็จะไม่เข้าใจเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต(ขำๆ) แต่จริงๆแล้ว ครูจะมีกิจกรรมให้นักเรียนออกมาเติมอนุภาคมูลฐาน รวมถึงการจัดเรียงอิเล็กตรอนในกระดาน ที่ครูสร้างแบบฝึกไว้ให้ โดยจะมีการสุ่มเรียกชื่อให้ออกมาทำ นักเรียนจะรู้สึกว่าตัวเองถูกกระตุ้นอยู่เสมอ และจะมีการบ้านเป็นแบบฝึกและแบบทดสอบให้เสมอ เมื่อนักเรียนทำไม่ได้หรือไม่เข้าใจ ก็จะมาถามครูหรือไม่ก็เฉลยร่วมกันในคาบต่อไป

  3.แผนการเรียนรู้ เรื่อง ตารางธาตุ วิชาเคมี (พฐ) สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 สิ่งที่ทำให้เรียนรู้ในวันนี้ว่า การที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหามากที่สุด คือ การที่นักเรียนทุกคนได้ออกมาทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียน โดยอาจจะเป็นแบบฝึก แบบทดสอบ การสรุปเนื้อหา ใจความสำคัญ โดยจะสุ่มเรียกชื่อนักเรียน เป็นการกระตุ้นนักเรียนอยู่เสมอ ฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ธีรเดช
เขียนเมื่อ

สัปดาห์ที่ 1 วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2556

  กระผม นายธีรเดช  หยีราเหม นักศึกษาปฏิบัติการสอนโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดภูเก็ต

  สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ของก้าวแรก สู่คำว่า “ครู” อย่างเต็มรูปแบบ

  วันอังคาร ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ย่างก้าวสู่ประตูแห่งวิชาความรู้ ร่วมกับนักศึกษาปฏิบัติการสอนทั้งหมด 8 คน เข้ารับการมอบหมายปฏิบัติหน้าที่ครู โดยครูเฉลิมพล ชูชาติ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ

ภาระงานและหน้าที่ครู

  สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 รายวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดจำนวน 10 คาบ

โดยแบ่งเป็นวิชาเคมีพื้นฐาน ม.4/1,4/2 จำนวน 6 คาบ และวิชาโลกดาราศาสตร์พื้นฐาน ม.5/1,5/2 จำนวน 4 คาบ ครูประจำชั้นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ครูเวรประจำวันศุกร์หน้าประตูทางเข้า ครูประจำกีฬาแบตมินตัน และประจำชุมนุม คุณครูพี่เลี่ยงคือ ครูพวงผกา  พริกประสงค์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ประกบครูพี่เลี่ยง

  วันแรกช่วยฝ่ายวิชาการคุมสอบและตรวจข้อสอบนักเรียนเข้าใหม่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5

  วันที่สองปฏิบัติการสอนวิชาเคมีพื้นฐาน ม.4/1 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ธาตุและสารประกอบ แผนการเรียนรู้ เรื่อง วิวัฒนาการเกี่ยวกับอะตอม โดยต้องเขียนแผนให้ครูพี่เลี้ยงดูก่อนสอนทุกครั้ง และครูพี่เลี้ยงเข้าดูการสอนด้วย การจัดการเรียนรู้ถือว่าประสบความสำเร็จ เริ่มต้นกับการแนะนำตัวระหว่างครูกับนักเรียน นำเข้าสู่บทเรียนด้วยคำถามอย่างสิ่งใหญ่ๆอย่างจักรวาล และสิ่งเล็กๆที่นักเรียนต่างก็ตอบกันหลายๆคำตอบ และทำกิจกรรมการทดลอง โดยการแบ่งกลุ่มนักเรียน และให้แต่ละกลุ่มตั้งชื่อกลุ่ม โดยใช้ชื่อนักวิทยาศาสตร์ และให้นักเรียนทำกิจกรรม นักเรียนก็สงสัยว่าครูให้ทำอะไร สิ่งสำคัญคือครูจะต้องไม่บอกความรู้นั้นให้กับนักเรียน แต่ให้นักเรียนหาความรู้นั้นด้วยตนเอง และนักเรียนก็จะจำสิ่งที่ได้ทำกิจกรรมไปจนวันสุดท้ายของชีวิต และให้ใบกิจกรรมการทดลอง ให้นักเรียนบันทึกและสรุป

  วันที่สามปฏิบัติการสอนวิชาเคมีพื้นฐาน ม.4/1 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ธาตุและสารประกอบ แผนการเรียนรู้ เรื่อง โครงสร้างอะตอมและอนุภาคมูลฐานโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม ศึกษาโครงสร้างอะตอมและอนุภาคมูลฐาน และมีการใช้สื่อ PowerPoint ในการนำเข้าสู่บทเรียน และสรุป อภิปรายผล ให้นักเรียนเข้าใจอย่างแจ่มชัด ถือว่าประสบความสำเร็จและประทับใจลักษณะของนักเรียนห้องนี้ และในคาบหลังก็สอน ม.4/2 เรื่อง วิวัฒนาการเกี่ยวกับอะตอม กิจกรรมเหมือนกับ ม.4/1 ซึ่งเป็นแผนเดียวกัน สำหรับนักเรียนห้องนี้เป็นนักเรียนสายศิลป์ คนเป็นครูก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน ห้องนี้ เล่น คุยเก่ง ไม่ค่อยฟัง ตอนที่นักเรียนทำกิจกรรมการทดลอง นักเรียนไม่รู้หรอกว่าครูต้องการอะไร แต่เมื่อสุดท้ายนักเรียนได้ผลผลิตของนักเรียนเอง ครูอธิบาย ใส่หลักการและทฤษฎีไปนิดๆ พอกรุ้มกริ่มๆ นักเรียนทั้งหมดก็ฟังอย่างตั้งใจมาก สุดท้ายนักเรียนก็ได้เป็นองค์ความรู้ของตนเอง

  สุดท้ายที่อยากฝากไว้การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาใช่ว่าจะมีหน้าที่การสอนเพียงอย่างเดียว แต่มีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้และมีประโยชน์ต่อตัวเราเองที่แฝงอยู่ภายในโรงเรียน ที่เราจะต้องมองให้เห็น และดึงออกมาใช้ประโยชน์ ผอ. เคยเปรียบเทียบอย่างนี้ให้ผมฟัง 2 ปีแล้ว ลูกกลมๆ ใช่ว่าจะมีเหลี่ยม แต่ทำไมนักสนุกเกอร์ถึงแทงลูกสนุกเกอร์ลง ขนาดลูกกลมๆ เขายังหาเหลี่ยมเจอ ” สำหรับทุกวันนี้ผมก็ยังหาเหลี่ยมไม่เคยเจอในโรงเรียน




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท