อนุทินล่าสุด


otani
เขียนเมื่อ

ความเป็นมาของหลักสูตรธรรมศึกษา

  สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้อธิบายถึงประวัติความเป็นมาของหลักสูตรธรรมศึกษาไว้ว่าhttp://www.gotoknow.org/dashboard/home#_ftn1">[1]  การศึกษาพระปริยัติธรรม หรือที่เรียกกันว่า“นักธรรม” ได้เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเพื่อให้พระภิกษุและสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา  สามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึงอันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปการศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลีที่เรียกว่า“การศึกษาพระปริยัติธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับพระภิกษุและสามเณรทั่วไป
จึงปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อยเป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษาการปกครองและการแนะนำสั่งสอนประชาชน ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยขึ้นสำหรับสอนพระภิกษุและสามเณรภายในวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรกนับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา  โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณร ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงหัดแต่งแก้กระทู้ธรรมเมื่อทรงเห็นว่าการเรียนการสอนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทย ดังนี้ได้ผลทำให้พระภิกษุและสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้นเพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก
จึงทรงดำริที่จะขยายแนวทางนี้ไปยังพระภิกษุและสามเณรทั่วไปด้วยประกอบกับในพ.ศ.๒๔๔๘ ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งพระภิกษุทั้งหมดจะได้การยกเว้น ส่วนสามเณรจะยกเว้นให้เฉพาะสามเณรผู้รู้ธรรม
ทางราชการได้ขอให้คณะสงฆ์ช่วยกำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรมโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงกำหนด“หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม” ขึ้น ซึ่งต่อมาได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น “องค์นักธรรม”สำหรับภิกษุและสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป  ได้รับพระบรมราชานุมัต เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคมพ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน
โดยใช้วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดมหาธาตุ, และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบการสอบในครั้นนั้นมี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาคในนวโกวาท,แต่งความแก้กระทู้ธรรม, และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทาน  ในอรรถกถาธรรมบท
  และใน    พ.ศ.๒๔๕๔  ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้เหมาะสมสำหรับพระภิกษุและสามเณรทั่วไป
จะเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยแบ่งหลักสูตรออกเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างสามัญเรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม  และอย่างวิสามัญ คือเพิ่มแปลอรรถกถาธรรมบทมีแก้อรรถบาลีไวยากรณ์ และสัมพันธ์ และวินัยบัญญัติที่ต้องสอบทั้งผู้ที่เรียนอย่างสามัญและวิสามัญ
  ในปีพ.ศ.๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวด คิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วยเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตของฆราวาส หากพระภิกษุและสามเณรรูปนั้น ๆมีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า “นักธรรมชั้นตรี” ซึ่งการศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ได้รับความนิยมจากหมู่พระภิกษุและสามเณรเป็นอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วเพียงแค่ระยะเวลา ๒ ปีแรกก็มีพระภิกษุและสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูปเมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและพระภิกษุและสามเณรทั่วไป  

ในเวลาต่อมาจึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับคือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือผู้มีพรรษากาลเกินกว่า ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ
คือ ผู้มีพรรษากาล ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้

 ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงพิจารณาเห็นว่าการศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุและสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย  โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครูจึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้นที่เรียกว่า “ธรรมศึกษา” โดยมีครบทั้ง ๓ชั้น คือ ชั้นตรี, ชั้นโท, และชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมของพระภิกษุและสามเณรเว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดให้เป็นเบญจศีล-เบญจธรรม ในชั้นตรี และในชั้นโทให้เป็นอุโบสถศีลแทน โดยเปิดสอบธรรมศึกษาชั้นตรีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒และเมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปีพ.ศ.๒๔๗๓ ทางคณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้นเพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น  ต่อมาในปี 
พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์  ได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอกขึ้นจึงทำให้มีการเปิดสอบครบทุกชั้น มีฆราวาสทั้งหญิงและชายสมัครเข้าสอบเป็นจำนวนมากนับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น



http://www.gotoknow.org/dashboard/home#_ftnref1">[1]สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง.เรื่องสอบธรรมของสนามหลวงแผนกธรรม. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง.พ.ศ. ๒๕๕๐), หน้า ๒๖๙ – ๒๗๒.










ความเห็น (1)

พระคุณเจ้าน่าจะเอาไปใส่เป็นบันทึกนะคะ เผื่อจะได้อ้างอิงได้ง่ายและกว้างขวางกว่าในอนุทินค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท