อนุทินล่าสุด


พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

ความเมตตาต่อสรรพสัตว์

             ปัจจุบันนี้คนนิยมสวดมนต์กันมาก  บทสวดมนต์ก็มีหลากหลาย ให้เราเลือกสวดกันได้ตามความต้องการ  เคยฟังหลวงพ่อปราโมทย์  ปาโมชฺโช  ท่านสอนว่าขณะสวดมนต์ เราต้องมีสติ สัมปชัญญะด้วย คือระลึกรู้ว่ากำลังสวดมนต์ ได้ยินเสียง เห็นอาการเคลื่อนไหวของกาย เห็นใจเผลอไปนึก คิด เป็นต้น  เมื่อสวดมนต์แล้วควรนั่งสมาธิสักระยะหนึ่ง เพื่อให้จิตสงบ จิตจะอ่อนโยน นิ่มนวล มีเมตตา  พร้อมที่จะแผ่บุญกุศลไปยังสรรพชีวิตทั่วไป  

              ผู้เขียนเคยสังเกตใจตนเอง  มองไม่เห็นว่าจิตเรามีเมตตา  สังเกตดูเห็นจิตเฉยๆ สรุปเอาเองว่าจิตของผู้เขียนน่าจะไม่มีเมตตา หรือถ้ามีก็คงน้อยมากจนสังเกตไม่เห็น  มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งแนะนำว่าให้สวดมนต์คาถามหาเมตตาใหญ่  เขาให้หนังสือมาด้วย ผู้เขียนสวดอยู่ทุกวัน โดยสวดเพิ่มจากที่ใช้สวดอยู่แล้ว  เคยคิดเล่นๆว่าถ้ามีคนแนะนำแล้วเราสวดตามทั้งหมด น่าจะต้องใช้เวลาสวดหลายชั่วโมงแน่เลย  การสวดคาถามหาเมตตาใหญ่ ต้องสวดภาษาบาลีและอ่านคำแปลด้วย  จึงได้เข้าใจว่าความเมตตาตามที่พระพุทธองค์สอนไว้ มีองค์ประกอบต่อไปนี้ 

                สัพเพสัง สัตตานัง ปีฬะนัง วัชเชตวา  อะปีฬะนายะ  เว้นการบีบคั้น  ไม่บีบคั้นสัตว์ทั้งปวง

               อุปะฆาตัง วัชเชตวา อะนุปะฆาเตนะ   เว้นการฆ่า ไม่ฆ่าสัตว์ทั้งปวง

               สันตาปัง วัชเชตวา อสันตาเปนะ  เว้นการทำให้เดือดร้อน ไม่ทำสัตว์ทั้งปวงให้เดือดร้อน

               ปริยาทานัง วัชเชตวา อะปะริยาทาเนนะ เว้นความย่ำยี ไม่ย่ำยีสัตว์ทั้งปวง

               วิเหสัง วัชเชตวา อะวิเหสายะ  เว้นการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง

               สัพเพ  สัตตา อะเวริโน โหนตุ มาเวริโน ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร อย่าได้มีเวร

               สุขิโน โหนตุ มา ทุกขิโน  จงเป็นผู้มีสุข อย่ามีทุกข์ 

               สุขิตัตตา โหนตุ มา ทุกขิตัตตาติ จงมีตนเป็นสุข อย่ามีตนเป็นทุกข์

               จากองค์ประกอบของผู้ที่มีจิตเมตตา  เมื่อเทียบกับตัวเราน่าจะพอมีอยู่  เฮ้อค่อยสบายใจหน่อย  อ้อ! ขอเขียนต่ออีกนิด คาถามหาเมตตาใหญ่ มีอานิสงส์มาก  พระพุทธองค์ตรัสว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้เจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำ หวังได้แน่นอนที่จะได้รับอานิสงส์ 11 ประการ ของเมตตาเจโตวิมุตติ(จิตที่ประกอบด้วยเมตตา พ้นจากความอาฆาตพยาบาท และกิเลสทั้งปวง) ดังนี้ นอนหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายเฝ้ารักษา ไฟ ยาพิษ ศัตรา ไม่่กล้ำกราย(ในต้ว)ของเขา  จิตเป็นสมาธิเร็ว ผิวหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย และถ้ายังไม่บรรลุธรรมเบื้องสูงก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลปฏิบัติดีแล้ว ทำให้มากแล้ว  ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนืองๆ สั่งสมแล้ว ปรารภเสมอดีแล้ว พึงหวังได้ อานิสงส์ 11 ประการนั้นฯ"

 

              



ความเห็น (1)
พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

บุคคลผู้ไม่บรรลุพระนิพพาน

             ผู้เขียนได้อ่านหนังสือทางเดินสู่พระนิพพาน ของหลวงพ่อธี  วิจิตฺตธมฺโม  ขณะนี้มีอายุ 96 ปี  ท่านเป็นชาวไทยใหญ่  เวลาเทศน์จึงต้องมีผู้แปลเป็นภาษาไทย  หนังสือเล่มนี้ท่านก็เขียนเป็นภาษาไทยไหญ่  พระมหายาจินต์  ธมฺมธโร เป็นผู้แปล  มีข้อเขียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง  เช่น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านมุ่งใช้ปัญญานำ  โดยเน้นให้เฝ้าดูปรมัตถ์  ท่านเขียนคำคล้องจองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจคือ

                                      สัจจสี่มีอยู่แน่แต่ไม่เห็น  เขาจึงเป็นปุถุชนจนจักษุ

                               มัคคญาณผลญาณก็อดรู้  ได้แต่ดูบัญญัติเห็นบัญญัติ

                               หากหมั่นเพียรปฏิบัติไปให้ถูกต้อง   ประคองจิตตามครรลองอริยสัจ

                               เห็นรูปนามตามที่เป็นปรมัตถ์  ปฏิบัติไปจักได้พบพระนิพพาน

               ท่านจะเน้นการเฝ้าดูไตรลักษณ์ ที่อนัตตา  คือดูการแสดงอาการของธาตุสี่  เช่น ขณะที่เรานั่ง เดิน ยืน หรือนอน ธาตุทั้งสี่ในร่างกายจะแสดงธรรมให้เราดู คือ 

                ปฐวี  ธาตุดิน แสดงออกในอาการหนัก แข็ง หยาบ เบา อ่อน นิ่ม ฯลฯ

                อาโปธาตุ ธาตุน้ำ  แสดงออกในอาการซึมซาบ เกาะกุม ฯลฯ

                เตโชธาตุ ธาตุไฟ  แสดงออกในอาการ ร้อน เย็น อุ่น หนาว ฯลฯ

                วาโยธาตุ  ธาตุลม แสดงออกในอาการ  เจ็บ เหน็บ เคลื่อน ไหว นิ่ง ฯลฯ

จากที่ท่านเขียนไว้เราจะพบอาการเหล่านี้เสมอ  ทั้งในขณะนั่งสมาธิ หรือในชีวิตประจำวัน  เราจะเห็นอาการเหล่านี้เกิดขึ้นที่ร่างกาย แต่เรามักจะไม่เห็นด้วยตาปัญญา  คือ เห็น อาการธาตุทั้งสี่ตามจริง(ดูปรมัตถ์) โดยไม่ต้องมีร่างกายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  แต่เราจะเข้าไป เป็น  อาการเหล่านั้น คือ ร่างกายของเราเป็นเหน็บ  ร่างกายของเราร้อน  ร่างกายของเราหนาว หลวงพ่อบอกว่าเราดูบัญญัติ  จึงยังห่างไกลการหลุดพ้นจากความทุกข์ และท่านยังได้บอกถึงอาการต่างๆที่เมื่อบุคคลกระทำแล้ว ไม่สามารถเข้าสู่มรรคผลได้ คือ

                1.  กัมมรัมมตา  บุคคลผู้ติดอยู่กับการงาน ที่ไม่เกี่ยวกับมรรคผล

                2.  ภาสรัมมตา  บุคคลผู้ชื่นชอบอยู่กับการพูดคุย

                3.  มิตตรัมมตา  บุคคลผู้คลุกคลีอยู่ด้วยหมู่เพื่อนฝูง

                4.  มิทธรัมมตา  บุคคลผู้มักมากในการนอน

                5.  สังขารวิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ บุคคลผู้ไม่พิจารณาค้นหาความหลุดพ้นจากเหตุทุกข์

            ผู้เขียนอ่านแล้วเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เราๆชอบทำกันมาก  ที่ท่านเขียนมานี้มิใช่จะห้ามไม่ให้ทำงาน ไม่ให้พูด ไม่ให้คบเพื่อน ไม่ให้นอน หรอกนะ  ท่านมุ่งให้เรากระทำไปโดยไม่ยึดติดสิ่งเหล่านี้  กระทำอย่างมีสติ สัมปชัญญะ (รู้ตัว) ไม่หลงลืม มัวเมาไปกับสิ่งเหล่านี้  ผู้เขียนก็เป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะข้อสี่ เอ้าละ! ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอยื่นคำขาดกับกาย และใจว่าต้องนอนให้น้อยลงนะ



ความเห็น (1)

มีสมาชิก mode ธรรมะ อีกท่านแล้ว.......:) 

พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

การกินอย่างมีสติ

        องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนว่า "ภิกษุทั้งหลาย  ในกายยาววา หนาคืบ ที่พร้อมด้วยสัญญา และใจนี้แหละ เราบัญญัติว่าเป็นโลกที่มีพร้อมทุกอย่าง คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้ดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ พวกเธอทั้งหลายจงใช้ร่างกาย กับใจนี้  เป็นการทดลอง ค้นคว้าหาความจริงเอาด้วยตนเองเถิด"

         การเฝ้าสังเกตกาย ใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส  หมายถึงการที่เราต้องฝึกให้กาย และใจอยู่ด้วยกัน โดยการเฝ้าสังเกดการเคลื่อนไหวของกายขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย ท่านสอนว่า การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เห็นผลก้าวหน้ารวดเร็ว ต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเราตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ได้แก่ การ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน พูด คิด ทำ ผู้เขียนเคยลองสังเกตการกิน  (หลวงพ่อสนอง  กตปุญโญ  ท่านบอกว่าการกินเป็นกรรมฐานที่ทำยาก) โดยสังเกตรสอาหาร  ผลคือรู้ตัวคำที่ 1 หรือ 2  อย่างดีก็ไม่เคยเกินคำที่ 3 หลงไปกับรสอาหารเรียบร้อย  มีสติ รู้ตัวอีกที่อิ่มแล้ว  เฮ้อยากจริงๆ  

         เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาได้อ่านหนังสือของคุณดังตฤณ เรื่อง มหาสติปัฏฐานสูตร ท่านแนะนำว่าถ้าใครยังไม่มีสมาธิ  (หลวงพ่อปราโมทย์  ปาโมชฺโช ท่านเรียกว่าจิตไม่ตั้งมั่น หรือจิตไม่ถึงฐาน)  อย่าไปสังเกตที่รสอาหาร  ให้สังเกตอาการเคี้ยวแทน ผู้เขียนได้ทดลองสังเกตการเคลื่อนของฟัน ริมฝีปาก ลำคอ พบว่าสังเกตได้ชัดเจน และนาน ผลที่ปรากฏจากการปฏิบัตินี้ ทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ช้าลงด้วย  กิจกรรมนี้มีผลเกินคาด คือ นอกจากจะได้ปฏิบัติธรรมแล้ว  ยังมีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของเราด้วย ถือว่าได้สองต่อ



ความเห็น (1)

..... การที่เราต้องฝึกให้กาย และใจอยู่ด้วยกัน โดยการเฝ้าสังเกดการเคลื่อนไหวของกายขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน ....  ใช่เลยนะคะ คือคำตอบ 

พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

                การนับถือพุทธศาสนาของหลายคน จะจบลงที่ไปทำบุญ ตักบาตร ทอดกฐิน ในโอกาสอันควร  เป็นต้น  มีผู้คนไม่มากนักที่รับรู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตให้มีความสุข  ดังที่คุณดังตฤณได้กล่าวไว้ในอารัมภกถาจากดังตฤณ (หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นหนังสือที่ท่านเขียนแล้วจัดพิมพ์เป็นธรรมทาน)  ว่า  "พุทธศาสนามิได้เริ่มสอนจากวิธีมองที่แปลกประหลาดชวนพิศวง  ตรงข้าม ทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดที่เห็นง่าย เข้าใจได้ตรงกัน เช่น ให้ถามตัวเองว่า เราอยากเป็นทุกข์หรือเป็นสุข  แน่นอนทุกคนต้องตอบว่า อยากเป็นสุข  อยากสุขชั่วคราว หรือสุขถาวร  แน่นอนทุกคนต้องตอบว่าอยากสุขถาวร  

                จุดตัดอันน่าพิศวงอยู่ตรงนี้   การเข้าถึงสุขที่ถาวรนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าให้ถึงสัจจะที่ว่ากายแและใจทั้งแท่งนี้แหละที่เป็นทุกข์ สงบจากกายใจได้ก็เหมือนดับไฟได้  ความสุขอันเยือกเย็นรออยู่ตรงที่ความทุกข์อันร้อนแรงหายไป ประดุจเปลวเทียนดับนั่นเอง  ไม่ต้องเรียกขอ แต่ถ้ายังรับไม่ได้ว่ากายใจนี้เป็นทุกข์ คำว่ากายใจเป็นทุกข์ยังเป็นเท็จสำหรับเรา ก็มีวิธีสุขชั่วคราว คืออย่าไปสร้างเหตุแห่งความลำบากกาย ลำบากใจ คือ บาปอกุศล ได้แก่ การทำตัวเป็นคนตระหนี่ เป็นผู้ทุศีล  กล้าฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดกาม โกหก ดื่มเหล้า  หากเป็นผู้ทุศีลเต็มขั้นสักระยะหนึ่ง ย่อมทราบเต็มอก  รู้แน่อยู่แก่ใจว่ากายก็อยู่ลำบาก ใจก็อยู่ลำบาก ... ให้สร้างเหตุแห่งความสบายกาย สบายใจ คือ บุญกุศล ได้แก่ การทำตัวเป็นคนมีน้ำใจ มีความรักในศีล เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดกาม โกหก และดื่มเหล้า หากสามารถรักษาศีลให้ได้สะอาดหมดจดสักระยะหนึ่ง  ย่อมทราบว่าความไร้มลทินทำให้กายสบาย ใจสบายเพียงใด"

                 สรุปจากที่คุณดังตฤณกล่าวมานี้  คือ ถ้าอยากมีความสุขชั่วคราว ก็ต้องปฏิบัติตนให้มีศีลห้า  เพื่อที่จะสร้างเหตุแห่งความสบายกาย ความสบายใจ  หลายคนจะหมดกำลังใจไหม  เพราะมีความเชื่อกันว่าศีลห้าเป็นเรื่องที่ทำยาก ชาตินี้ทำไม่ได้แน่  ผู้เขียนอยากให้กำลังใจ  ไม่ยากอย่างที่คิดหรอกนะ  เพียงท่านฝึกสติ และความรู้ตัวให้เป็น หมายถึงการฝึกให้กายกับใจอยู่ด้วยกัน ไม่เผลอไปคิด หลงเพลินไปกับสิ่งภายนอกรอบตัว ถ้าเผลอไปคิด เผลอไปเพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆแล้ว ให้รู้ว่าเผลอไปแล้ว ให้กลับมามีสติรู้ตัวใหม่  การทำเช่นนี้ จะรักษาศีลห้าได้โดยอัตโนมัติ  เพราะขณะใดที่มีสติ สัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัว:ปัญญา) บุคคลนั้นจะไม่ทำสิ่งที่ผิด  เนื่องจากใจเรารับอารมณ์ได้ครั้งละหนึ่งอย่าง  ขณะที่สติและสัมปชัญญะอยู่ในใจ  โลภ โกรธ หลง ไม่มีทางจะเข้าไปอยู่ในใจ      ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ผิดศีลได้นั่นเอง  ทดลองฝึกให้มีสติ ความรู้ตัว ขณะนั้นเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของกาย เช่น การเดิน การนั่ง การยืน การนอนเราจะเห็นความรู้สึก ได้แก่ ความ โกรธ เบื่อ รำคาญ เศร้า ดีใจ ฯลฯ ของใจ ปฏิบัติไปสักระยะ ก็จะพบถึงความเบากาย เบาใจ ลองฝึกแล้วจะรู้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

ธรรมชาติบำบัดเพื่อชีวิตเป็นสุข

                    หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "เสถียรธรรมสถาน"  เพราะเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ประชาชนศรัทธา  มีผู้ปฏิบัติธรรมไปเสถียรธรรมสถานกันทุกวัน  ด้วยความเมตตาของคุณยายจ๋าหรือแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต  ได้ให้คณะผู้สนใจปฏิบัติธรรมจากนครสวรรค์ไปปฏิบัติธรรมที่เสถียรธรรมสถาน   จึงได้รู้ว่าที่นี่มิใช่มีการปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียว  แต่มีโครงการ กิจกรรมที่มีประโยชน์เพื่อสังคมอีกมาก  ที่ผู้เขียนจะนำเสนอสักหนึ่งกิจกรรม คือ "ค่ายธรรมชาติบำบัดเพื่อชีวิตเป็นสุข"  คุณแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต  ท่านได้กล่าวไว้ว่า  ฺฺ... "โรคก็คือกายใจของเรา หากเรามองโรคอย่างที่โรคเป็นอย่างอ่อนโยนอยู่ด้วยกุศล  ร่างกายที่เจ็บป่วยจะไม่ใช่ปัญหาของเรา และจิตของเราก็จะเป็นอิสระ  แต่วิธีการนี้ต้องควบคู่ไปกับการเยียวยาร่างกายของเราด้วย  "และธรรมชาติบำบัดเป็นทางหนึ่งในทางเลือก"

                    ธรรมชาติบำบัด คือ ศิลปแห่งการเยียวยา การดูแลตนเอง และความเป็นอยู่ให้เกิดความสมดุล และสอดคล้องกับธรรมชาติ  คนเราทุกคนพึงใช้ปัญญา จิตสำนึกในการสังเกตตัวเอง และควรเปิดโอกาสให้ร่างกายได้เยียวยาตนเอง ด้วยการเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว คือการบริโภค โดยเลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด และมีพลังชีวิต  เพื่อให้ร่างกายกลับมามีพลังในการเยียวยาตนเองได้  ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่แสวงหา หรือเปิดโอกาสให้พิษที่มีผลต่อร่างกาย หรือจิตใจเข้าสู่ร่างกาย  หมั่นออกกำลังกาย ฝึกโยคะ  สูดอากาศที่บริสุทธิ์  และอาศัยความเพียรในการปรับวิถีชีวิต ปรับความเคยชินเก่าๆ เพื่อชีวิตใหม่ที่สดใส แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ  ที่สำคัญ...จงเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่า ... ร่างกายของคุณเป็นหมอที่เก่งที่สุด (แม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต)

                    หลังจากปฏิบัติธรรมแล้วผู้เขียนได้สมัครเข้ารับการอบรมกิจกรรมค่าย "ธรรมชาติบำบัดเพื่อชีวิตเป็นสุข"  เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  พบว่าเป็นค่ายที่สนุก มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองโดยใช้สิ่งของที่หาได้ง่ายรอบๆตัวเรา  เช่นการดื่มน้ำย่านางที่คั้นสดๆ 1 แก้วตอนท้องว่าง   การดื่มน้ำฟักอ่อนเพื่อปรับสมดุลความร้อนเย็นตอนท้องว่างเช่นกัน  รับประทานผลไม้ที่สด  สะอาด แทนการรับประทานข้าว (ในระหว่างการเข้าค่ายไม่มีการรับประทานข้าวตลอด 4 วัน)  วิทยากรบอกว่าการรับประทานผลไม้ไม่ควรเกินมื้อละ 2 ชนิด  หนึ่งชนิดจะดีมาก  ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่หวาน และเปรี้ยวในมื้อเดียวกัน  ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนตอนท้องว่าง หรือก่อนเข้านอนทุกวัน  ท่านวิทยากรอธิบายเพิ่มอีกว่า"น้ำ"มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บป่วยบางอย่างได้ ขอยกตัวอย่างดังนี้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะไม่ต้องกินยาแก้ปวด  ให้ใช้น้ำราดหัวแล้วนำผ้าขนหนูชุบน้ำบิดให้หมาดโพกหัวไว้ ประมาณ ครึ่งชั่วโมง มือ เท้าต้องแห้ง ทำบ่อยๆจนหายปวด  เมื่อออกจากค่าย วิทยากรจะมีการบ้านให้เรามาทำในชีวิตประจำวันด้วย  ของผู้เขียนท่านแจ้งว่า ต้องอาบแดดทุกวัน รับประทานผลไม้ฉ่ำน้ำวันละ 1 มื้อ  เมื่อมีอาการของความดันโลหิตสูงให้ใช้น้ำราดหัว  การปฏิบัติตนในการบริโภค คือ ตื่นนอนดื่มน้ำย่านาง  รับประทานผักผลไม้มื้อเช้า  ดึ่มน้ำมะพร้าวอ่อนในช่วงอาหารว่าง  ประโยชน์ของมันคือแการล้างสารพิษ  น้ำมะพร้าวอ่อนย่อยง่าย  ประมาณ 5 นาที        รับประทานข้าวมื้อกลางวัน  และรับประทานผลไม้มื้อเย็น  ควรงดเว้นเนื้อสัตว์  ถ้าตอนค่ำหิวให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนก่อนนอน ผู้เขียนปฏิบัติตัวได้เดือนกว่า  ปฏิบัติเรื่องการบริโภคได้ประมาณร้อยละ 80  ผลที่เกิดคือผู้เขียนไม่ได้รับประทานยาความดันโลหิตสูง (มีติดกระเป๋าไว้) เมื่อมีอาการขณะอยู่ที่บ้านจะใช้น้ำราดหัว  วิทยากรบอกว่าถ้าปวด หรือมึนศีรษะ ขณะที่ออกไปธุระนอกบ้านให้บีบน้ำมะนาวหนึ่งซีกใส่ปาก หรือเคี้ยวมะขามเปียกก็ได้  ผู้เขียนยังไม่เคยลองเพราะไม่มีอาการเหล่านี้เวลาออกไปนอกบ้าน  แต่เตรียมไว้ในตะกร้า หรือกระเป๋าหิ้ว หลังจากออกจากค่ายไิด้ประมาณ 1 อาทิตย์มีอาการไข้  ผู้เขียนไม่ได้กินยาแก้ไข้  แต่ดื่มน้ำย่านาง น้ำมะพร้าวอ่อน  รับประทานผลไม้ตลอดวัน ไม่ได้รับประทานข้าว  ทำดีท็อก เช้า เย็น ประมาณ 2 วันอาการไข้ก็เบาและหายไป  ผลที่เห็นชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ "กระ" ที่เป็นตามแขนจางหายไิปเกือบมองไม่เห็น  ที่สำคัญมากที่สุดคือน้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่มีอาการเพลีย  มีกิจกรรมค่ายอีกมากที่มิได้กล่าวในอนุทินนี้  ถ้าท่านผู้อ่านสนใจกรุณาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 08-0288-4931



ความเห็น (1)

เป็นธรรมชาติบำบัดที่น่าเผยแพร่จริงๆค่ะ

พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

                 ได้อ่านหนังสือเรื่อง"พระกรรมฐานกลางกรุง" ที่คุณดำเกิง  สงวนสัตย์ ได้เขียนถึงท่านเจ้าคุณนรฯ(พระยานรรัตน์ราช        มานิตย์)  พระเภิกษุที่เป็นพระกรรมฐานกลางกรุงแท้  ท่านไม่เคยไปธุดงค์ที่ไหนเลย  แต่ท่านสามารถปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม  คำสอนของท่านนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ท่านสอนว่า  " คำว่าไม่สบายใจอย่าใช้  และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป  "Let it go and get it out" ก่อนมันจะเกิด  ต้อง  Let it go  ปล่อยให้มันผ่านไป  อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้ ถ้าเผลอไป มันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติ รู้สึกตัว รู้ว่าความไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ  ต้องGet it out ขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ในใจ  มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ   ออดแอด  ทำอะไรผิดพลาดนิดๆหน่อยๆ ก็ไม่สบายใจเคยตัว  เพราะความไม่สบายใจนี้แหละเป็นศัตรู เป็นมารทำให้ใจไม่สงบ  ประสาทสมองไม่ปกติ  เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอยไม่สงบ ไม่สบายไปด้วย  ทำให้สมองทึบไม่ปลอดโปร่ง   เป็น  habit  ความเคยชินที่ไม่ดี  เป็นอุปสรรคกีดกั้นขัดขวางสติปัญญา  ไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใส  ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไร หรือกำลังกระทำอยู่ และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว  ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง  เกิดปิติปราโมทย์ เป็นสุขสบายอยู่เสมอ  เป็นเหตุให้เกืดกำลังกาย กำลังใจ  Enjoy  living  มีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบาน  สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียน ก็เข้าใจ จำได้ง่าย เหมือนดอกไม้ที่แย้มเบิกบาน ต้อนรับหยาดน้ำค้าง และอากาศอันบริสุทธิ์ฉะนั้น"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท