อนุทินล่าสุด


อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 10 วันที่ 22 กรกฏาคม 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

อีกรายวิชาหนึ่งที่ทำเอาผมเหนื่อยเลย คือ วิชา โครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ผมสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่บอกว่าทำเอาเหนื่อยเพราะผมกำหนดให้ส่งงานก็ส่งไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด บางกลุ่มเพื่อนๆ ทำบท 1 ถึง 3 เสร็จแล้ว แต่กลุ่มตัวเองพึ่งจะมาเปลี่ยนหัวข้อโครงงานก็มี พอมาถึงเวลาที่ต้องส่งแข่งขันโครงงาน ในรายการ “ทันโลก ทันวิทย์ จุดประกายความคิดสู่อาเซียน” ที่จัดขึ้นในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2556 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ ก็เล่นเอารีบทำกันอุตลุด สุดท้ายโครงงานที่ผมเป็นครูที่ปรึกษาก็ส่งเข้าประกวดด้วยกันทั้งหมด 4 โครงงาน หลังจากนี้ก็ต้องฟิตกันในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย และการนำเสนอต่อไป




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 9 วันที่ 13 กรกฎาคม 2556

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการสอบกลางภาค ผมไม่ได้รับหน้าที่ในการคุมสอบเลยใช้เวลานี้ในการตรวจใบงานนักเรียน สรุปคะแนนก่อนกลางภาคของนักเรียน ทำแผนการจัดการเรียนรู้ เตรียมการสอน ทำสื่อการสอน และร่างโครงการพัฒนาผู้เรียนที่จะทำในเทอมนี้

สัปดาห์นี้ผมไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ผมเป็นครูประจำชั้นด้วย ไปกับครูประจำชั้นอีกท่านหนึ่ง ได้รับการต้อนรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดีทั้งน้ำและผลไม้ แต่น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถรับประทานได้ เพราะผมถือศีลอด ^^ นักเรียนจะใส่ถุงให้ผมกินแก้บวชด้วย น่ารักจริงๆ ก็เป็นโอกาสดีที่ได้ทำความรู้จักกับผู้ปกครองนักเรียน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครอบครัว ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มักจะเล่ากิจวัตประจำวัน สิ่งที่ลูกชอบ ความฝัน ของลูกให้เราฟังด้วย ทำให้เรารู้จักนักเรียนมากขึ้น

สัปดาห์นี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี “อัลฮัมดูลิลลาฮ”




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 8 วันที่ 06 กรกฏาคม 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สัปดาห์ก่อนสอบกลางภาคเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายน่าดู ต้องเร่งสอนให้หมดทุกเนื้อหาที่นักเรียนใช้สอบกลางภาคติดตามงานที่นักเรียนค้างบ้าง สอบซ่อมบ้าง ช่วยสอนเสริมบ้าง ต้องเร่งตรวจใบกิจกรรม และแบบทดสอบต่างๆ เพื่อส่งคืนให้นักเรียนได้ทบทวนจากเอกสารดังกล่าว บันทึกและรวบรวมคะแนนก่อนกลางภาคของนักเรียนทุกคนให้เสร็จ เพื่อส่งไปยังฝ่ายวิชาการ

แอบหวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่าลูกศิษย์ที่เราสอน จะทำข้อสอบได้หรือเปล่า จะวิเคราะห์โจทย์และตีโจทย์แตกหรือไม่ เพราะการสอบในครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ของผมอย่างหนึ่ง ถ้านักเรียนที่ผมสอนส่วนใหญ่ทำข้อสอบไม่ได้ละก็ ผมคงต้องหันมามองตัวเอง ทั้งข้อดีและข้อเสียในการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา และคงต้องพัฒนากันยกใหญ่

แต่กระนั้นผมก็มั่นใจในตัวลูกศิษย์ว่าต้องทำได้

อามีน..




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 7 วันที่ 29 มิถุนายน 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

ผ่านไป 7 สัปดาห์แล้วกับการฝึกสอนที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต มีบุคคลอยู่ท่านหนึ่งที่คอยให้กำลังใจผมตลอดมา คือ คุณแม่ผู้เป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว ผมอยากบอกแม่ว่ากำลังใจจากแม่สำคัญมากสำหรับผมแต่ไม่ต้องห่วงครับทุกอย่างราบรื่น

ถึงแม้ในการสอนอาจมีปัญหาบ้าง การจะทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียน ม.3 บางทีเราคงต้องนึกย้อนกลับไปตอนเราอยู่ในช่วงนั้น อยู่ในห้องๆหนึ่งที่กำลังเรียนวิทยาศาสตร์อยู่ แต่พอนึกย้อนไป ผมรู้สึกว่าตอนนั้นผมชอบเรียนวิทยาศาสตร์นะ แต่การจะทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนที่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ผมคิดว่าบางทีเราอาจทำความเข้าใจได้ถึงจะเข้าใจได้ไม่หมดก็ตาม บางทีผมอาจทำให้เด็กๆกลุ่มนี้ชอบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็ได้

กับอาจารย์บางท่านผมก็พยายามทำความเข้าใจท่านอยู่ ในบางเรื่องผมไม่เข้าใจท่าน บางเรื่องท่านก็ไม่เข้าใจผม ถึงจะยากแต่ผมเชื่อว่าเราสามารถทำความเข้าใจกันได้เหมือนที่เราเข้าใจเรื่องทฤษฏีสัมพันธภาพ และผมเชื่อว่าซักวันจะเข้าใจกันดังคำกล่าวที่ว่า ทุกขอบเจตประสานเข้ากันได้ รอการหลอมรวมเป็นหนึ่ง สิ่งหนึ่งอาจหลอมรวมกับอีกสิ่งหนึ่งได้ หากอีกสิ่งหนึ่งเข้าใจถึงการกระทำนั้น

ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ทุกอย่างต้องผ่านไปได้ด้วยดี อินซาอัลลอฮ 




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 6 วันที่ 23 มิถุนายน 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

อนุทินฉบับนี้จะขอพูดถึงความเป็นอยู่บางส่วนในช่วงที่ผมฝึกสอน ณ โรงเรียนแห่งนี้ โดยในช่วงเช้าผมจะไปคุมแถวและเช็คชื่อนักเรียนที่ปรึกษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ผมต้องปฏิบัติในทุกๆเช้า และในเวลาเที่ยงของทุกวันผมต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำการละหมาดที่มัสยิด อาจารย์บางท่านบอกผมว่า ผมเป็นคนเคร่งที่ละหมาดครบ 5 เวลาและเลือกกินข้าวหรืออาหารที่ฮาลาล แต่ผมอยากเรียนให้อาจารย์ทราบว่าสิ่งที่ผมกระทำอยู่เป็นเพียงพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้ที่ยอมรับและปฏิญาณตนว่าตนเป็นอิสลามพึงกระทำ เพราะการละหมาดเปรียบเสมือนเสาหลักของศาสนา หากผู้ใดที่นับถือศาสนาอิสลามแล้วไม่ทำการละหมาดโดยเจตนา แสดงว่าภายในใจของเขาไม่มีเสาที่คอยค้ำจุนศาสนาของตนไว้ ศาสนาของเขาอาจพังทลายลงมาได้ เปรียบเสมือนบ้านที่พังลงมาเมื่อปราศจากเสาค้ำจุนและการละหมาดยังทำให้บุคคลอื่นรับรู้ได้ว่าบุคคลนี้เป็นมุสลิม เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรืออยู่ในสถานการณ์ใด ผู้ศรัทธาก็ไม่ละทิ้งการละหมาด ณ จุดนี้ผมคิดอยู่เสมอว่าสำหรับตัวผมเอง ผมสามารถทำการละหมาดในเวลาเที่ยง (ละหมาดซุฮรี) ของทุกวันได้ แต่นักเรียนที่เป็นอิสลามที่อยู่ในโรงเรียนล่ะ พวกเขาจะละหมาดกันที่ไหน เพราะการละหมาดมีประโยชน์อย่างมากมายในการดำเนินชีวิต เพราะเป็นการสร้างพลังให้เข้มแข็ง การสำรวมจิตหรือการทำสมาธิเพื่อมิให้จิตใจวอกแวกไปในเรื่องต่างๆ และการละหมาดเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด ทั้งยังฝึกตนเองให้ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้อยู่ในระเบียบวินัย รักษาความสะอาด และยังเป็นการบริหารร่างกายอย่างดียิ่ง หากเป็นการละหมาดรวมยังเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง ความเสมอภาค และภราดรภาพอีกด้วย

  ส่วนเรื่องการเลือกกินแต่อาหารที่ฮาลาล ก็เพราะว่าถ้าหากวัตถุดิบที่ได้รับเข้าไปในร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ฮาลาลหรือพูดอีกอย่างคือเป็นสิ่งที่ฮารอม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการเมทาบอลิซึมก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฮารอมและพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ก็เป็นพลังงานที่ได้จากสิ่งที่ฮารอมอันจะส่งผลให้เกิดการกระทำที่ฮารอมตามมาภายหลัง ผมจึงเน้นหนักในเรื่องการกินอาหาร

·  ฮาลาล คือ สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ

·  ฮารอม คือ สิ่งที่ศาสนาไม่อนุมัติ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 5 วันที่ 16 มิถุนายน 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สัปดาห์ที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็เข้าเนื้อเรื่อง “แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา” ก็อาศัยการให้นักเรียนผลักโต๊ะบ้าง ดึงตาชั่งสปริงบ้าง ดึงถุงทรายบ้าง เพื่อทำความเข้าใจและทดสอบคุณสมบัติของแรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ก็เข้าใจในเนื้อหาแต่มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมแบบผ่านๆ พอถึงขั้นตรวจสอบความเข้าใจ ผมให้ทุกกลุ่มในห้อง วิเคราะห์ว่าในชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา เหตุการณ์ใดบ้างที่ทำให้เกิดแรงคู่กิริยา-ปฏิกิริยา ปรากฏว่ากลุ่มนี้ไม่สามารถตอบได้ ทั้งๆที่ สมุด ปากกาที่วางไว้บนโต๊ะก็เกิดแรงคู่กิริยา-ปฏิกิริยาแล้ว แม้กระทั้งก้นตัวเองที่วางไว้บนเก้าอี้ก็เกิดแรงคู่กิริยา-ปฏิกิริยา เช่นกัน แต่กลุ่มนี้ไม่สามารถตอบได้ สร้างความลำบากใจและความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับผมเป็นอย่างมาก

หัวหน้ากลุ่มสาระเดินผ่านมาพอดีเลยเข้ามาในห้อง แล้วให้นักเรียนกลุ่มนั้นยกมือขึ้นแล้วตีโต๊ะตัวเอง แล้วถามว่าตอนเราตีโต๊ะเราใส่แรงเข้าไปหรือไม่ นักเรียนก็ตอบว่าใส่ ซึ่งแรงนั้นเกิดจากที่เราแสดงกิริยาออกไปคือการตี แสดงว่านั้นคือแรงอะไร นักเรียนก็ตอบว่า แรงกิริยา จากนั้นก็ตีโต๊ะอีกที แล้วถามว่าเจ็บมั้ย นักเรียนตอบเสียงดังเลยตอบว่า เจ็บ งั้นแสดงว่าโต๊ะก็มีแรงกระทำกับมือเราเหมือนกันซึ่งแรงนั้นก็คือแรง นักเรียนก็ตอบว่า แรงปฏิกิริยา แล้วก็ถามนักเรียนกลุ่มนั้นว่าเข้าใจหรือไม่ หากไม่ก็ตีโต๊ะอีกครั้ง และก็ตีโต๊ะอีกหลายๆครั้ง จนกว่าจะเข้าใจคุณสมบัติของแรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา ว่าเกิด ณ จุดๆนั้น มีขนาดเท่ากันแต่ทิศทางสวนทางกัน และเกิดกับวัตถุคนละก้อนกัน โดยทุกครั้งครูเขาก็ลงมือตีโต๊ะด้วยทุกครั้ง เป็นการลงโทษเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ผมคงต้องลองใช้บ้างแล้วสิ ^^

ภาพกิจกรรมในสัปดาห์นี้






ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 4 วันที่ 09 มิถุนายน 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สัปดาห์ที่ 4 ก็เข้าเนื้อหาส่วนของ “ผลของแรงที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่แบบต่างๆ” ในการจัดการเรียนรู้นั้นผมได้ดำเนินเรื่อง เป็น short story โดยในเรื่องราวนั้นมีผมเป็นพระเอก ^^ มี darling มีตัวร้าย และมีลูกแอบเปิ้ล เรียกความสนใจได้ดีเชียวล่ะ ซึ่งในเรื่องราวแต่ละส่วนก็จะมีการเคลื่อนที่อยู่ 1 แบบ พอเรื่องราวดำเนินไปจนครบ 3 ส่วน ก็จะมีรูปแบบการเคลื่อนที่ใหญ่ๆ อยู่ 3 แบบ คือ การเคลื่อนที่แบบเส้นตรง การเคลื่อนที่แบบเส้นโค้งหรือโพรเจกไทล์ และการเคลื่อนที่แบบวงกลม ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก จากนั้นก็มาอภิปรายและสรุปร่วมกันถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เกิดขึ้นในเรื่องราวที่ดำเนินไป

ถือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่สนุกไปอีกแบบ เพราะเรื่องราวที่ดำเนินไป ไม่ใช่ครูไม่ใช่ผมที่เป็นผู้ดำเนินเรื่อง แต่เป็นผู้เรียนที่ช่วยกันแต่งเติมจินตนาการ ผมเป็นแค่ตัวสื่อกลางที่คอยนำจินตนาการของเด็กๆออกมาเป็นภาพวาด เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องราวหนึ่งขึ้นมา (ยอมรับว่าฝีมือการวาดภาพของผมกากมาก) ผู้เรียนก็จะมีนิทานของตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่องซึ่งมีสาระเรื่องการเคลื่อนที่แบบต่างๆ ครบถ้วน ซึ่งนอกจากสนุกแล้ว ผู้เรียนยังได้รับความรู้ที่คงทนอีกด้วย

นักเรียนที่ผมสอน มี 3ห้องที่เข้าใจในบทเรียน แต่มีอยู่ 1ห้องที่ไม่เข้าใจ ผมต้องพยายามปรับปรุงตนเองให้มากกว่านี้ แต่สำหรับสัปดาห์นี้ก็ผ่านได้ด้วยดี “อัลฮัมดูลิลลาฮ”




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 3 วันที่ 02 มิถุนายน 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สัปดาห์ที่ 3 เป็นการสรุปจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับผลของแรงลัพธ์กับการเคลื่อนที่ของวัตถุ การเคลื่อนที่แบบต่างๆ และสามารถคำนวณหาความเร็วเฉลี่ย อัตราเร็วเฉลี่ย ความเร่ง อัตราเร่ง ในการเคลื่อนที่แนวตรงได้

โดยในกระบวนการจัดการเรียนรู้ผมพยายามให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองโดยการทำกิจกรรมการทดลองและร่วมกันสรุปผล เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่คงทนและไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ด้วยซึ่งผมพยายามให้ผู้เรียนเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ที่อยู่รอบๆตัว เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ว่าวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา เราสามารถทำความเข้าใจได้ โดยใช้กระบวนการอย่างเป็นระบบ

ซึ่งในการจัดการเรียนรู้ก็มีปัญหา คือ ผู้เรียนขาดทักษะการใช้อุปกรณ์ในการทำกิจกรรมเครื่องเคาะสัญญาณเวลา จึงทำให้ใช้ระยะเวลานานในการทำกิจกรรม ซึ่งผมก็แก้ไขโดยการให้ผู้เรียนที่มีทักษะในการใช้อุปกรณ์ช่วยแนะนำและช่วยเหลือเพื่อนๆ ภายในห้อง และเนื่องจากเวลาเหลือน้อยจึงพยายามสรุปร่วมกันให้กระชับโดยยังมีใจความสำคัญครบถ้วนเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง

หลังการสอนทุกครั้งก็ได้รับคำแนะนำ จากครูพี่เลี้ยงทุกครั้งเพื่อเป็นแนวทางให้ผมได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในศาสตร์การสอน สุดท้ายแล้วสัปดาห์นี้ก็มีผ่านไปได้ด้วยดี “อัลฮัมดูลิลลาฮ”




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 26 พฤษภาคม 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สัปดาห์ที่สองเป็นสัปดาห์ที่เริ่มจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง คาบแรกนั้น ผมสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่3ห้อง6 อยากบอกว่า"เศร้า" เพราะผมจัดกิจกรรมการเรียนแล้วผู้เรียนไม่เข้าใจ ผู้เรียนไม่สามารถจับประเด็นใจความสำคัญได้ และผู้เรียนหลายๆกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือ จนครูพี่เลี้ยงต้องเข้ามาช่วยกิจกรรมในบางส่วน แต่ผมก็สอนคายนี้จนหมดคาบ เมื่อหมดคาบครูพี่เลี้ยงก็ให้กำลังใจผมพร้อมแนะนำเทคนิควิธีการเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป

คาบที่สองที่เข้าสอนเป็นห้องเดิม ผมใช้เทคนิคการให้คะแนนการให้ความร่วมมือในชั้นเรียน ไม่น่าเชื่อว่าได้ผล ผู้เรียนจากที่ไม่สนใจกลับแข่งกันยกมือตอบคำถามและแข่งกันออกมาเขียนบนกระดาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเลยให้ผู้เรียนทำการทดลองเพื่อศึกษาความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ตกอย่างอิสระ ผ้เรียนต่างก็ให้ความร่มมือเป็นอย่างดี จึงสามารถสรุปเนื้อหา ใจความสำคัญของเรื่องที่เรียนรู้ได้จากการลงมือหาคำตอบเอง ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความคงทนมากขึ้น ครูพี่เลี่ยงคนสวยก็ชมว่าสอนดีขึ้นน่ะ ^^ แต่ผมก็ได้ถามข้อบกพร่องในการสอนของผมและขอคำแนะนำจากท่าน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผมได้พัฒนาตนเองต่อไป สัปดาห์ที่ 2 ก็ผ่านไปด้วยดี "อัลฮัมดูลิลลาฮ"




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

อนุทินประจำสัปดาห์ที่ 1 วันที่ 18 พฤษภาคม 2556

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

  อนุทินฉบับแรกกับการฝึกสอนที่โรงเรียนสตรีภูเก็ตสัปดาห์แรก ก่อนจะกล่าวอะไรคงต้องกล่าวประโยคนี้ก่อน “อัลฮัมดูลิลลาฮ” ที่ยังมีความแข็งแรงของร่างกาย และสติปัญญาที่ยังคงปกติ ทำให้ผมได้มีโอกาสฝึกสอนและเขียนอนุทินฉบับนี้

  วันแรกของการฝึกสอน ณ โรงเรียนสตรีภูเก็ต เริ่มต้นจากการปฐมนิเทศโดยรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการเพื่อเป็นการให้กำลังใจและพูดถึงข้อตกลงต่างๆ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามกลุ่มสาระต่างๆ เพื่อแบ่งงานและหน้าที่ในการสอน ซึ่งผมรับหน้าที่สอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชาวิทยาศาสตร์ (23101) จำนวน 6 คาบ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์จำนวน 2 คาบ และงานทั่วไปที่ต้องปฏิบัติ ในโรงเรียนรวมถึงการแต่งตั้งครูพี่เลี้ยง ซึ่งผมได้ครูพี่เลี้ยงจำนวน 3 ท่านด้วยกัน คือ อาจารย์พัชรีย์ เหลือนุ่นขาบ (วท.บ.) อาจารย์อรชา ชูเชื้อ (ค.ม.) และอาจารย์ประเสริฐ กนกผกา (ค.บ.) ซึ่งในการแบ่งงานนี้ หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ อาจารย์ละม้าย กิจอำไพพงศ์ (กศ.บ.) ได้แบ่งงานไว้เรียบร้อยแล้วจึงทำให้การแบ่งงานและแจกแจงหน้าที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่เหลือก็เป็นการแนะนำตัว ทำความรู้จักกับครู และศึกษางานต่างๆ ตลอดจนช่วยงานทั่วไปในห้องกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เช่น ทำบอร์ทตารางสอนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ทำความสะอาดชั้นวางหนังสือ ติดชื่อสารเคมีในห้องปฏิบัติการ จัดอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ และช่วยจัดห้องปฏิบัติการเป็นต้น

  ครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ที่นี่ใจดีทุกคน พร้อมที่จะให้คำปรึกษา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น และอาจมีเรื่องกดดันและเครียดอยู่บ้าง แต่ผมถือว่าเป็นบททดสอบสำหรับผม ที่ผมต้องผ่านไปให้ได้ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อิรฟัล สะมะแอ
เขียนเมื่อ

ข้าพเจ้าปังคุง 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท