คำตอบ


นิพพานสูญ

เทพบุตร

ณัฐรดา
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ส่วนอีกความเห็นซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นของสมเด็จพระสังฆราช 

“มีคำกล่าวว่า นิพพานเป็นอายตนะ คือเป็นที่ต่อหรือว่าต่อได้ คือ บรรลุได้ เหมือนอย่างที่เรียกอายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก อายตนะภายในหก ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อายตนะภายนอกหก ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธรรมคือเรื่องราว อายตนะภายในภายนอกนี้เป็นของคู่กัน ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับโผฏฐัพพะ มนะคือใจคู่กับธรรมคือเรื่องราว และเมื่อต่อให้ถูกคู่กันแล้วก็ต่อกันได้ เมื่อตาต่อกับรูป ก็ต่อกันได้คือเห็นรูปได้ แต่ว่าถ้าต่อกันไม่ถูกคู่ก็ต่อกันไม่ได้ เช่นว่าจะใช้หูดูรูป ใช้ตาฟังเสียง ก็ไม่ได้ แต่เมื่อต่อกันถูกคู่แล้ว ก็ต่อกันได้ คือ บรรลุได้ บรรลุการเห็นรูป การได้ยินเสียง ดังนี้เป็นต้น 

นิพพานเป็นความสิ้นกิเลส 

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติถึงขั้นแล้ว จิตที่อบรมดีแล้วด้วยการปฏิบัติจึงต่อนิพพานได้ คือ บรรลุนิพพานได้ดั่งนี้ จึง ได้มีการแสดงลักษณะของนิพพานอันพอเป็นเครื่องชี้ให้เข้าใจด้วยพระพุทะภาษิตต่างๆอีกหลายแห่งว่า ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่านิพพาน ดั่งนี้ก็มีอันหมายถึงว่า นิพพานนั้นก็คือธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสนี้เอง ปฏิบัติให้สิ้นกิเลสได้เมื่อใดก็บรรลุนิพพานเมื่อนั้น หรือว่ากล่าวให้เข้าใจว่า นิพพานนั้นก็อยู่ตรงที่สิ้นกิเลสนั้นเอง อีกอย่างอีกอย่างหนึ่งก็ยกกรรมขึ้นเป็นที่ตั้ง เมื่อสิ้นกิลเสก็สิ้นกรรม ตรงที่สิ้นกรรมนั้นก็คือนิพพาน อีกอย่างหนึ่งก็ยกเอาวิบากคือผลขึ้นเป็นที่ตั้ง สิ้นวิบากคือนับตั้งแต่สิ้นเกิด สิ้นแก่ สิ้นตาย ตรงที่สิ้นวิบากนับตั้งแต่เกิด แก่ ตาย นี้ก็คือนิพพาน”

สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า 170

 

 

นิพพานสูญ

เทพบุตร

ณัฐรดา
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ท่านแรกคือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านได้อธิบายว่า 

“คำว่า “อายตนะ” นั้น แปลว่า แหล่ง แดน บ่อเกิด ขุม ที่เกิด ที่ต่อ ที่บรรจบ ที่ชุมนุม ที่อยู่ เหตุ เป็นถ้อยคำสามัญที่ชาวบ้านเขาใช้กัน เช่น สุวัณณายตนะ แปลว่าบ่อทอง อรัญญายตนะ แปลว่า แดนป่า เทวายตนะ แปลว่าถิ่นเทวดา .......... เมื่อนำมาใช้ในทางธรรม คำว่า “อายตนะ” ก็จะมีความหมายเชิงนามธรรม โดยเฉพาะที่คุ้นเคยพบกันบ่อย ก็คือ แดนรับรู้ หรือ ที่มาบรรจบกันของอินทรีย์ (เช่น ตา) กับอารมณ์ (เช่นรูป) และวิญญาณ (เช่นจักขุวิญญาณ) ทำให้เกิดการรับรู้ขึ้น ซึ่งแยกเป็นอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใน อายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และ ธรรมารมณ์ หรือ สิ่งรับรู้ทางใจ 

เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับคำว่า “นิพพาน” เอง ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้กันในความหมายสามัญเชิงรูปธรรม แปลว่า การดับ เช่น “อัคคินิพพาน” คือ ดับไฟ หายร้อน อย่างสิ่งที่ถูกเผามา เมื่อดับไฟแล้วเย็นลง แต่เมื่อนำมาใช้ในทางธรรม ก็มีความหมายพิเศษเชิงนามธรรม หมายถึงการดับกิเลส ดับทุกข์ โดยดับเพลิงกิเลส หรือ ดับไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟทุกข์ ไฟโศก หมดความเร่าร้อน สงบเย็น 

สำหรับพระสูตรนี้ ท่านอธิบายด้วยความหมายทางธรรม ตรงกับที่เราคุ้นๆกันอย่างข้างต้น คือ อธิบายโดยเทียบกับความหมายของอายตนะ คือ อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอกว่า เหมือนกับที่รูปเป็นแดนรับรู้ คือ เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ นิพพานเป็นแดนรับรู้ เพราะเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์แก่มรรคญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้ทำลายกิเลสได้ และผลญาณ คือปัญญาที่รู้ภาวะหมดสิ้นกิเลสและกองทุกข์เป็นต้น (พึงสังเกตว่า นิพพานไม่มีอารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์ได้) .......... 

นอกจากนั้น พุทธพจน์ที่ตรัสต่อไปว่า ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ จนถึงไม่มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ ก็เป็นการบ่งบอกว่าไม่ให้เข้าใจนิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด และอรรถกถาก็อธิบายย้ำเข้าไปอีกว่า ที่ตรัสตั้งแต่ไม่มีดิน น้ำ เป็นต้น ไปจนถึงไม่มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ก็เป็นการแสดงว่า ไม่ใช่ภพไหนๆ รวมทั้งอรูปภพ และยังตรัสต่อไปว่า ไม่มีการไป การมา จุติ อุบัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นคำปฏิเสธเรื่องสถานที่ โลก หรือ ภพ ทุกอย่างทั้งสิ้น .............พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้รู้ว่า นิพพานเป็นภาวะที่ไม่ใช่ภพ สถาน ดินแดนใดๆ........."

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กรณีธรรมกาย หน้า 230 – 233

นิพพานสูญ

เทพบุตร

ณัฐรดา
เขียนเมื่อ
คำตอบ

เรียน

ขอเรียนว่า ดิฉันคงไม่สามารถหักล้างพระพุทธวจนะได้ค่ะ เพราะการ “หักล้าง” แสดงว่าสิ่งที่เรายกขึ้นมานั้นถูก แต่สิ่งที่เราจะหักล้างนั้นผิด ดังนั้น จึงได้เรียนว่า ดิฉันคงไม่สามารถหักล้างพุทธวจนะได้เพราะพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

ดิฉันเชื่อมั่นในพุทธวจนะว่าถูกต้องอยู่แล้ว แต่การตีความของศาสนิกต่างหากค่ะ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากพระประสงค์ ซึ่งดิฉันมองว่า การที่จะตีความพุทธวจนะไปในทางใด ก็ขึ้นอยู่กับ  “ระดับ” ของญาณของผู้ตีความนั้น ๑ และ ธาตุ ของผู้นั้น ๑

เนื่องจากพระพุทธองค์ตรัสตอบคำถามในสักกปัญหสูตรที่ว่าเหตุใดคนเราจึงมีความเห็น ฯ ต่างกัน เป็นเพราะ

“ โลกมีธาตหลากหลาย มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุหลากหลาย มีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใดๆ อยู่ ก็ย่อมยึดมั่นธาตุนั้นๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า “นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นำม่จริง” เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”

ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๖๕/๒๙๓ 

ดังนั้น เกี่ยวกับพุทธพจน์ที่ปรากฏในปฐมนิพพานสูตรที่ว่า 

“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะวิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ” 

จึงมีการตีความไปในทางต่างๆ เช่น บางท่านตีความไปว่าเป็นดินแดนดินแดนหนึ่ง เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี มีพระเถระ 2 รูป แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ว่าไม่ใช่ดินแดนใดๆแต่อย่างใด  เป็นเพียงภาวะ ดังจะขออนุญาตยกมาบันทึกไว้ดังต่อไปนี้

นิพพานสูญ

เทพบุตร

ณัฐรดา
เขียนเมื่อ
คำตอบ

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยกับคุณ กาลเวลา ค่ะ ที่ว่านิพพานเป็นสภาวธรรม ไม่ได้เป็นสถานที่ใดๆ

ส่วนการเห็นว่านิพพานเป็นตัวตน ท่านพุทธทาสบรรยายไว้ว่า "จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ" โดยได้บรรยายไว้ดังนี้

“มีกล่าวไว้ชัดว่า ความยึดถือว่านิพพานเป็นตัวตนหรือของตนนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิชั้นละเอียดด้วยเหมือนกัน ถ้ายังมีความยึดถืออย่างนั้นอยู่ ย่อมไม่ถึงนิพพานได้เลย

จริงอยู่ที่เราอาจจะหน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์สำหรับการวิปัสสนา แต่เราจะยึดถือว่า นิพพานเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เข้าใจนิพพาน เลยไปยึดถือคล้ายๆมันเป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตนที่จะตะครุบเอาได้

แท้ที่จริงแล้ว นิพพาน คือความดับไม่เหลือแห่งกิเลส และความทุกข์ นี่ ภาวะแห่งความดับไม่เหลือของกิเลสและความทุกข์นั้น จะเป็นตัวเป็นตน เป็นดุ้น เป็นก้อน ขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นแต่เพียงภาวะอันหนึ่ง คือความดับไม่เหลือแห่งกิเลส และ ความทุกข์

นี่แหละ ถ้าเรียกกันเสียอย่างนี้ จะดีกว่า จะปลอดภัยกว่าที่จะเรียกให้เพราะๆว่า พระนิพพาน และสมมติเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นดวงแก้ว เป็นอะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ

พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า 226 – 227

แต่การที่จะบอกว่านิพพานเป็น "สูญ" นั้น ก็ไม่น่าจะพูดได้อีกเหมือนกันนะคะ โดยดิฉันเทียบจากอรรถว่าภาวะนิพพานนั้น พ้นไปแล้วจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนั้น จึงไม่น่าใช้คำว่าสูญนี้กับนิพพานได้

เพราะเรามักใช้คำว่า "สูญ" กับ "รูป" น่ะค่ะ

จำได้ว่าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า เราไม่ควรนิยามนิพพาน เพราะเป็นสิ่งที่สมมติบัญญัติใดๆก็อธิบายไม่ได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้นิยาม เพียงแต่ตรัสว่าเป็นภาวะ เป็นการดับของกิเลสและทุกข์ ซึ่งมีตั้งแต่การดับเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จนไปถึงการดับอย่างถาวร

ดังเช่นคำบรรยายของสมเด็จพระสังฆราชดังนี้

" นิพพานปัญญานั้นมีแสดงไว้ถึงสันทิฏฐิกธรรม ธรรมที่เห็นได้เอง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้เอง โดยอธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจย่อมเป็นเครื่องดับปัญญา เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ทั้งเป็นไปเพื่อให้ประพฤติก่อเวรภัยต่างๆ มีฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง เป็นต้น ส่วนความสงบ ราคะ โทสะ โมหะ ความไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมตรงกันข้าม ไม่ดับปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ไม่เป็นเหตุก่อภัยเวรดังกล่าว ความพิจารณาให้รุ้ดั่งนี้ เรียกว่า สันทิฏฐิกธรรม เป็นสันทิฏฐิกนิพพาน

พิจารณาดูตามอธิบายนี้ก็จะเห็นได้ว่า ทุกๆคน เมื่อหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาตรวจดูจิตใจของตนเอง เมือ่ราคะ โทสะ โมหะ บังเกิดขึ้นก็ให้รู้พร้อม ทั้งให้รู้ถึงโทษแม้ดังที่กล่าวมาแล้ว ราคะ โทสะ โมหะ จะสงบลงได้ด้วยอำนาจของปัญญาที่รู้นั้น และก็ให้รู้ว่า ราคะ โทสะ โมหะ สงบ พร้อมทั้งรุ้คุณของความสงบ ราคะ โทสะ โมหะ แม้ปฏิบัติ่งนี้ ก็เรียกว่า บรรลุถึงสันทิฏฐิกธรรม สันทิฏฐิกนิพพานได้

เพราะในพระพุทธาธิบายดังที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้นมิได้จำกัดว่า จะต้องสงบได้เด็ดขาด หรือ สงบได้ชั่วคราว เป็นพระพุทธาธิบายที่วางไว้เป็นกลางๆ จึงกินความได้ถึงการปฏิบัติใช้ปัญญาทำความสงบใจของตนได้ พระพุทธาธิบายนี้ดั่งนี้ เป็นอันให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติทุกคนในเบื้องต้นว่า สามารถใช้ปัญญาพิจารณาทำความสงบใจของตน เข้าในพระธรรมคุณที่สวดกันว่า สันทิฏฐิโก นั่นเอง ดังนั้น ธรรมที่จะเป็นสันทิฏฐิโกได้ดังที่สวดกัน ก็จะต้องปฏิบัติใช้ปัญญาทำความสงบใจของตนดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติได้ทุกขณะ"

(สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า  ๒๐๐)

 

-------------------------------------------------

นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราชยังได้บรรยายเกี่ยวกับนิพพานไว้ดังนี้ค่ะ

“แม้ในพุทธศาสนาเองที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธัมมะ สั่งสอนไว้ชัดเจนแล้ว ถึงความที่เมื่อมีเกิดก็จะต้องมีตาย เมื่อไม่ตายก็ต้องไม่เกิด และเมื่อไม่เกิดก็คือบรรลุนิพพานในพุทธศาสนา และก็ต้องพ้นสมมติบัญญัติที่จะกล่าวถึงว่าเป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สูญ ภาวะที่ไม่เกิดและพ้นสมมติบัญญัติดังนี้ ก็ต้องยืมคำมาพูดถึง เรียกว่า นิพพาน หรือว่า อมตธรรมอมตธาตุ แต่ชี้ว่าเป็นอะไรนั้นไม่ได้ เป็นอันว่าได้สิ้นสุดกันเสียทีหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นอะไรต่อไป แต่ตัวที่เป็นอมตธรรมอมตธาตุนั้นมีอยู่ เทพดาพรหมอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว เป็นอันว่ายุติกันหมด

กระนั้นก็ไม่จบ แม้แต่เช่นนั้น ก็ได้มีลัทธิในพุทธศาสนาเอง ซึ่งแยกออกไปและเรียกตัวเองว่า มหายาน หรืออาจริยวาท เราเรียกฝ่ายที่ยังนับถือตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นมาว่าฝ่ายหินยานหรือฝ่ายเถรวาท ฝ่ายมหายานหรืออาจริยวาทนี้ ก็มาแสดงนิพพานขึ้นใหม่ เหมือนอย่างว่าตั้งอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ต้นเดิมประทับอยู่ และบรรดาพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ไปเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น และเมื่อถึงกาลเวลาก็ส่งพระมนุษย์พุทธเจ้ามาเกิดในโลกมนุษย์ ให้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกเป็นครั้งๆคราวๆ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระมนุษย์พุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และเมื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็เสด็จไปอยู่ในสรวงสวรรค์นั้นอีกเป็นนิรันดร

ก็เข้าใจว่าการแสดงแบบเถรวาทนั้นเป็นอนัตตา ซึ่งไม่มีอัตตาตัวตนที่จะสัมผัสได้ ที่จะเห็นได้ ได้ยินได้ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจยากอย่างหนึ่ง หรือทำให้เข้าใจว่าปฏิบัติไปเพื่อไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร คล้ายๆกับละลายไปหมด ซึ่งคนจำนวนมากนั้นก็น่าจะยังไม่ชอบ ไม่พอใจ  พอใจที่จะไปเป็นอะไรชนิดที่เต็มไปด้วยความสุขไม่มีทุกข์ คือ แปลว่า ให้มีเกิดชนิดที่ไม่ต้องมีทุกข์ ไม่ต้องมีเจ็บ ไม่ต้องมีแก่ ไม่ต้องมีตาย สุขกันตลอด มีตัวตนที่สัมผัสได้ คนส่วนใหญ่ในโลกต้องการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้แตกเป็นมหายาน แสดงนิพพานเป็นบุคคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง เพราะว่าตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเดิมนั้น เป็นธรรมาธิษฐาน ยกธัมมะเป็นที่ตั้ง จึงมาแสดงเป็นบุคคลาธิษฐานยกบุคคลเป็นที่ตั้ง สร้างให้เป็นเมืองนิพพานขึ้นมา  และให้ธัมมะเป็นบุคคลตัวตนขึ้นมา ให้สัมผัสได้ ให้เห็นได้ ให้ได้ยินได้ แต่อันที่จริงนั้นก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้อยู่นั่นเอง เป็นแต่เพียงว่าทำให้บุคคลที่พอใจในทางนี้ศรัทธา คือความเชื่อเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงต้องการให้ใช้ปัญญา คือตัวความรู้เป็นหลักสำคัญ

(สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) ลักษณะพุทธศาสนาหน้า 162 – 163)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท