อนุทินล่าสุด


นายวรพงษ์
เขียนเมื่อ

งานวิจัยหน้าเดียว

ปัญหาการเบิก-  จ่ายเครื่องมือ

ชื่อผู้ศึกษา  นายวรพงษ์  เรือนแก้ว  โรงเรียนแม่แตง   อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่   ปีการศึกษา  2547

 

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                ในการเรียนวิชาช่างโดยทั่วไปมีทั้งการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ   ในภาคปฏิบัติมีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือแต่ละประเภทแตกต่างกันไปจะมากหรือน้อยชิ้นขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน   จากการสังเกตการปฏิบัติงานในโรงฝึกงานโลหะ  โดยครูอนุญาตให้นักเรียนเข้าไปหยิบเครื่องมือใช้เองและนำมาคืนเองโดยจะชี้แจงวิธีปฏิบัติให้ทราบก่อน  ระยะแรกได้รับความร่วมมือ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2  เดือน  นักเรียนบางคนเมื่อใช้เครื่องมือเสร็จแล้วไม่เก็บไว้ที่เดิมเมื่อสอบถามก็ไม่มีใครยอมรับ        ทำให้เครื่องมือสูญหายและต้องเสียเวลาในการเรียกเก็บ   จากปัญหาดังกล่าวจึงทดลองให้มีการเบิก- จ่ายเครื่องเป็นรายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานการเบิกไว้  จะทำให้ผู้เบิกหรือผู้ยืมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้   เพราะหากไม่ส่งตามกำหนดเวลาหรือสูญหาย  ผู้ยืมต้องรับผิดชอบ  ผู้ศึกษาจึงเชื่อว่าวิธีนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

 

วัตถุประสงค์

1.         เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ และเบิก-จ่ายเครื่องมืออย่างเป็นระบบ

2.        เพื่อป้องกันการสูญหายของเครื่องมือ

วิธีการและขั้นตอนการแก้ปัญหา

1.        การเบิกเครื่องมือ

-          เข้าแถวตอนลึกให้เป็นระเบียบ

-          รับใบเบิกเครื่องมือ

-          เขียนรายการเครื่องมือที่ต้องการใช้และกำหนดจำนวนให้ชัดเจน

-          ยื่นใบเบิกเครื่องมือต่อเจ้าหน้าที่

-          รอรับเครื่องมือ

2.        การคืนเครื่องมือ

-          ทำความสะอาดเครื่องมือก่อนส่ง

-          นำเครื่องมือส่งต่อเจ้าหน้าที่( จำนวนและชนิดเครื่องมือเท่าและเหมือนกับรายการที่เขียนเบิก)

-          รับใบเบิกคืนจากเจ้าหน้าที่และทำลายทิ้ง

3.        การจ่ายและรับคืนเครื่องมือ

-          รับใบเบิกเครื่องมือตามลำดับก่อน หลัง

-          ตรวจสอบชื่อในใบเบิกและผู้เบิกให้ตรงกัน

-          จัดรายการเครื่องมือและจำนวนให้ตรงกับใบเบิก

-          ส่งเครื่องมือให้กับผู้เบิก

-          เก็บรักษาใบเบิกเพื่อตรวจสอบกับรายการเครื่องมือที่ส่งคืน

-          คืนใบเบิกให้กับผู้เบิกหลังจากรับคืนเครื่องมือและตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว

ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา

                นักเรียนเบิกและส่งคืนเครื่องมืออย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอแนะ

                ในระยะแรกครูต้องคอยย้ำเตือนเกี่ยวกับขั้นตอนการเบิก- จ่ายเครื่องมือ   เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2  อาทิตย์ ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบ

 

 

               

 

               



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

นายวรพงษ์
เขียนเมื่อ

งานวิจัยหน้าเดียว

การแก้ปัญหานักเรียนส่งงานช้า

ชื่อผู้ศึกษา  นายวรพงษ์  เรือนแก้ว  โรงเรียนแม่แตง   อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่   ปีการศึกษา  2547

 

 

ปัญหาที่แท้จริงหรือสาเหตุที่เลือก

                การที่เรียนวิชาที่เกี่ยวกับงานช่าง  ต้องมีความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจจึงจะสามารถทำงานได้ดีจากการสังเกตนักเรียนที่เลือกเรียนวิชางานเชื่อม 1  จำนวน 3   คน ที่ส่งงานช้า  อาจจะเป็นเพราะการรับรู้หรือมีพัฒนาการด้านช่างที่ต้องใช้เวลาหรือต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด  ผู้ศึกษาจึงมีแนวคิดที่แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการจับคู่นักเรียนที่ส่งงานตรงตามกำหนดและนักเรียนที่ส่งงานช้า เพื่อให้มีการแลกเลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงาน  เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลช่วยเหลือต่อจากครูอีกที่หนึ่ง

 

วัตถุประสงค์

1.เพื่อให้นักเรียนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

2.เพื่อให้นักเรียนที่ส่งงานช้าสามารถส่งงานทันตามกำหนดเวลา

3. เพื่อฝึกให้นักเรียนถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้

 

วิธีการและขั้นตอนการแก้ปัญหา

            1.   สังเกตการณ์ปฏิบัติงานของนักเรียนโดยทั่วไป

2.   วิเคราะห์นักเรียนที่ส่งงานช้ากว่ากำหนด

3 . จับคู่นักเรียนที่ส่งงานช้ากับนักเรียนที่ส่งงานทันกำหนด

4.  ทำความเข้าใจกับนักเรียนในกลุ่มที่ศึกษาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

5.  นักเรียนปฏิบัติงาน

5.  ตรวจชิ้นงาน

 

 

 

ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา

                นักเรียนที่ส่งงานช้าจำนวน 3  คนสามารถส่งงานทันเพื่อนในห้อง  โดยมีรายละเอียดคือ จากวันที่ 10  พ.ค. 2547  ถึง 1 ก.ย.  2547   งานที่นักเรียนส่วนใหญ่ส่งมีทั้งหมด 7 ชิ้น  แต่นักเรียนดังกล่าวส่งงานแค่ 2  ชิ้น หลังจากที่แก้ปัญหาด้วยการจับคู่ทำงาน  ทำให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวส่งงานเพิ่มขึ้นเป็น  6  ชิ้น และส่งงานทันเพื่อนในเวลาต่อมา  นอกจากนั้นยังทำให้นักเรียนมีความสุขและมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน  เนื่องจากเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ

                ควรมีการทำความเข้าใจกับนักเรียนอย่างชัดเจนเช่น  ไม่ใช่ช่วยทำงานให้เพื่อนแต่เป็นการแนะนำเทคนิคและวิธีการแก้ปัญหาการปฏิบัติงานหรือคอยกระตุ้นเตือนเพื่อน   และควรมีคะแนนจิตพิสัยให้กับนักเรียนที่เป็นพี่เลี้ยงด้วย

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

นายวรพงษ์
เขียนเมื่อ

งานวิจัยหน้าเดียว

"ปัญหานักเรียนเข้าเรียนช้า"

ชื่อผู้ศึกษา  นายวรพงษ์  เรือนแก้ว  โรงเรียนแม่แตง   อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่   ปีการศึกษา  2550

 

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                จากการสังเกตนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2550   จำนวน 20  คนที่เลือกเรียนวิชา ช่างเชื่อมไฟฟ้า  ( รายวิชาเพิ่มเติม )  มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เข้าเรียนช้ากว่ากำหนดประมาณ 20  นาที      ทำให้การเรียนการสอนล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนการสอนที่วางไว้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนลดลง           ผู้ศึกษาได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้หาแนวทางแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้เรียนเซ็นลงเวลาตามลำดับก่อนหลัง ทุกครั้งที่มีการเรียนการสอน   โดยผู้ศึกษาสังเกตจากการอบรมสัมมนาทุกครั้งจะมีการเซ็นชื่อพร้อมกับลงเวลาทุกครั้ง   หากนำวิธีการดังกล่าวมาใช้กับนักเรียนกลุ่มดังกล่าวน่าจะแก้ปัญหาการเข้าเรียนช้าได้  เพราะนักเรียนคงไม่อยากให้ตนเองมีชื่ออยู่ในอันดับท้ายของการเข้าเรียนแต่ละครั้ง ซึ่งจะส่งผลถึงคะแนนเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วย

 

วัตถุประสงค์

  • 1. เพื่อให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบ
  • 2. เพื่อให้นักเรียนเข้าเรียนตรงตามเวลาที่กำหนด

 

วิธีการและขั้นตอนการแก้ปัญหา

            1.      ทำความตกลงกับนักเรียนพร้อมกับชี้แจงวิธีการเซ็นชื่อและลงเวลาที่ถูกต้อง

  • 2. ออกแบบและจัดทำแบบฟอร์มการเซ็นลงเวลาเข้าเรียน
  • 3. นักเรียนเซ็นชื่อลงเวลาเข้าเรียน พร้อมกับลงเวลาที่มาถึงตามความเป็นจริงก่อนการเข้าเรียนทุกครั้ง
  • 4. ทำสถิติการเข้าเรียนตามลำดับก่อนหลังแต่ละสัปดาห์ติดบอร์ด

 

ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา

                นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเซ็นชื่อเข้าเรียน   เพราะนักเรียนหลายคนฝึกการเขียนลายเซ็นให้สวยงามเพื่อที่ใช้ลงเวลานักเรียนมีการเข้าเรียน  เวลาที่นักเรียนเข้าเรียนใกล้เคียงกับเวลาที่กำหนด  ในสัปดาห์แรกยังมีนักเรียนมาช้าแต่มีจำนวนน้อยลง  จนถึงสัปดาห์ที่  2  และ 3  นักเรียนมาเรียนตรงเวลาทุกคน  เพราะแต่ละคนรู้ตัวเองว่าแต่ละสัปดาห์ตนเองอยู่อันดับที่เท่าไร จากการตรวจสอบสถิติเวลาการเข้าเรียนประจำสัปดาห์ที่บอร์ด

 

ข้อเสนอแนะ

                ควรมีการให้นักเรียนศึกษาออกแบบและฝึกเขียนลายเซ็นของตนเองให้ชำนาญก่อนที่เซ็นลงเวลาจริง ซึ่งจะทำให้ลายเซ็นที่เซ็นแต่ละครั้งเหมือนกัน  โดยครูต้องคอยแนะนำเกี่ยวกับหลักการการเขียนลายเซ็นตลอดทั้งความหมาย   เพราะนักเรียนที่เรียนในระดับมัธยมปลาย ควรจะมีรายเซ็นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 

 

 

               



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท