อนุทินล่าสุด


วารุณี
เขียนเมื่อ

 เรื่อง   คุณภาพครูสู่คุณภาพการศึกษา “ อาชีพครูหรือครูอาชีพ ”

โดย  วารุณี  ทับไทร

      ค่าของความ  เป็นครู  อยู่ที่ไหน    อยู่ที่ใจ  หรือสิ่งใด  กันละหนา

ถ้าคิดแต่  สอนให้มัน  สักแต่ว่า             ผ่านไปหนา  อย่างนั้น  ไม่ใช่ครู

คนเป็นครู  ต้องดู  ที่ความคิด                ว่าตั้งใจ  สอนศิษย์  มากแค่ไหน

                                ว่าพร้อมจะ  สละ  สักเท่าไร                   ทำสิ่งนี้  ดีได้  ก็คือครู

(ประพันธ์โดย...ทำ-มะ-ดา)

ครู” คือ บุคคลตั้งต้นของคุณภาพคนในสังคม เพราะครูเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุด รองมาจากพ่อแม่   "คุณภาพการศึกษาจะไม่ดีขึ้น  หากคุณภาพครูยังด้อยคุณภาพ"เครื่องมือสำคัญที่จะใช้พัฒนาคนให้มีคุณภาพดี  เพื่อคนที่มีคุณภาพดีจะได้ไปพัฒนาชาตินั้น ก็คือ  การศึกษา  การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ จะช่วยพัฒนาคนให้มีคุณภาพดี   คือเป็นทั้งคนเก่งและคนดี  สมกับคำนิยามอย่างหนึ่งที่ว่า การศึกษา คือ การเจริญงอกงาม (Education is growth)  ซึ่ง ครู จะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญยิ่งในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า การศึกษานี้  และโดยอาศัยแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ดังปรากฏในหนังสือ กินรี  วารสารรายเดือนของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ฉบับประจำเดือนมกราคม 2542 หน้า 17) ที่ได้ทรงชี้แนะไว้ว่า

 “การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องพัฒนาบุคคลก่อน  เพราะถ้าบุคคลอันเป็นองค์ประกอบของส่วนรวม ไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ส่วนรวมจะเจริญและมั่นคงได้ยากยิ่ง  การที่บุคคลจะพัฒนาได้ ก็ด้วยปัจจัยประการเดียวคือ การศึกษา  การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน  คือ  การศึกษาด้านวิชาการ(Academic learning)   ส่วนหนึ่ง  กับการอบรมบ่มนิสัย (Spiritual development) ให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ดี ใฝ่เจริญ มีปกติละอายชั่วกลัวบาปส่วนหนึ่ง  การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน  เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ ไว้ใช้ประกอบการ  และมีความดี ไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร  และอำนวยผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์”  จากส่วนหนึ่งของแนวพระราชดำริที่ได้อัญเชิญมาไว้ดังกล่าวนี้  จะเห็นได้ว่าสอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักวิชาครูหรือวิชาการศึกษาที่ครูทุกคนควรตระหนักถึงการทำหน้าที่ของตน  ที่จะต้องพัฒนาให้ผู้เรียนได้เจริญงอกงามครบทุกด้าน 

ดังนั้น  “ครู”  เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์  ระบบการศึกษา  ตลอดจนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต  หากประเทศใดที่มี “ครู” ที่มีคุณภาพ  ย่อมหมายถึงแนวโน้มในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ   ดังนั้นคุณภาพของครูคือคุณภาพของการศึกษา คุณครูทั้งหลายตอบได้หรือไม่ว่าตนเอง เป็นครูอาชีพหรือแค่อาชีพครู

  คำว่า  “ครูอาชีพ” หมายถึง  ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก มีความพร้อมในทุกๆด้านที่จะเป็นครู  ประพฤติตัวดี วางตัวดี เอาใจใส่และดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู

ส่วนคำว่า “ อาชีพครู”  คือ ครูที่ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยใจรัก หรือสมัครใจ  ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาชีพครู แค่สอนจบไปวัน ๆ หนึ่งก็พอแล้ว โดยไม่สนใจว่าศิษย์จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม ขอให้มีเงินเดือนตามวิทยฐานะก็พอ

 ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ผลกระทบระยะยาวของบุคลากรครู อาจารย์ : การศึกษามูลค่าเพิ่มทางวิชาการของวิชาชีพครูต่ออนาคตของนักเรียนเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ของ สำนักงานการวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ได้ทำการเก็บข้อมูลจากนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวนถึง 2.5 ล้านคน  เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี พบว่าคุณภาพด้านวิชาการของบุคลากรวิชาชีพครู อาจารย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของ  ลูกศิษย์ หลังจากนักเรียนได้รับคำแนะนำในการศึกษาเล่าเรียน และติวเข้มจากบุคลากรครูที่มีมาตรฐานวิชาการสูง ส่งผลให้คะแนนข้อสอบวัดระดับมาตรฐานเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในการเรียนการศึกษามากกว่านักเรียนโดยเฉลี่ยแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ได้เงินเดือนที่สูงและยังมีสถิติในการตั้งครรภ์ในช่วงวัยเรียนน้อยอีกด้วย  (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ,กุมภาพันธ์ 2555)

ส่วนในประเทศไทยนั้น แม้จะไม่มีการศึกษาที่มีความต่อเนื่องและชัดเจนว่าผลจะเป็นอย่างที่ สำนักงานการวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ได้ทำการศึกษาหรือไม่  แต่ก็เชื่อว่าในความเป็นจริงว่า  หากครูซึ่งถือเป็นผู้ให้วิชาความรู้ และการอบรม ดูแล สั่งสอนนักเรียนอย่างมีคุณภาพแล้ว  ก็ย่อมส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีตามไปด้วย

คุณภาพการศึกษาของนักเรียนก็คือคุณภาพของครูแน่นอน ซึ่งถ้าครูมีขวัญกำลังใจ  มีใจในการทำงานและ ยังมีไฟในการจัดการเรียนการสอน ต้องส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนอยู่แล้ว  ที่ผ่านมา มีการยกย่องครูผ่านโครงการครูสอนดี ซึ่งเบื้องต้นการเสนอชื่อครูมาจากผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะกรรมการที่ทางโรงเรียนแต่งตั้งขึ้น   ข้าพเจ้าเอง ก็เป็นครูคนหนึ่งที่ผ่านการคัดเลือกจากทางโรงเรียน ให้เป็นครูสอนดีและเสนอชื่อต่อชุมชนเพื่อคัดเลือกในระดับเทศบาลต่อไป  โดยกรรมการผู้คัดเลือกมาจากตัวแทนของผู้บริหารโรงเรียน  ครู   เด็กนักเรียน   ผู้ปกครองและชุมชนเป็นผู้เลือก  ซึ่งผลการคัดเลือกนั้น แม้ว่าข้าพเจ้าไม่ผ่านการคัดเลือกเป็นครูสอนดีในระดับเทศบาลเพื่อคัดเลือกในระดับจังหวัดก็ตาม  เพราะในความหมายของครูสอนดีของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ก็ต้องมาถามความเห็นกันแต่ละฝ่ายเพราะยึดหลักของการมีส่วนรวม

 นักเรียนคือผลผลิตของครู ดังนั้น นักเรียนจึงมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่า ใครคือครูที่คิดว่าดี ซึ่งนักเรียนแต่ละคนอาจจะมีความเห็นที่ต่างกันก็ได้ แต่ท้ายที่สุดต้องมาจบที่กระบวนการมีส่วนร่วม และต้องมาคุยกันทุกฝ่าย เมื่อเลือกครูสอนดีได้แล้วจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 

โครงการนี้อาจจะไม่ใช่แค่การได้มาซึ่งครูสอนดีที่มาจากแต่ละโรงเรียนแล้วมามอบรางวัลให้เพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตหากยังมีการดำเนินโครงการอย่างนี้ต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ทั้งผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนได้มีมุมมองใหม่ๆ มีวิธีคิดที่โรงเรียนก็จะปรับตัวเข้าหาชุมชนมากขึ้น

รางวัลครูสอนดีไม่ว่าครูคนไหนจะได้รับ ก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่ได้รู้ว่าเด็กนักเรียนของตัวเองคิดอย่างไรกับครูแต่ละคน เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าการจะเป็นครูที่ดี  ก็ไม่ได้มาทำงานเพียงแค่หวังรางวัลเท่านั้น แต่ความหมายของครูที่ดีมันมีมากกว่ารางวัลทุกรางวัลที่ได้มาด้วยซ้ำ  แม้ว่า โครงการครูสอนดี จะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียนที่ชัดเจนมากนัก  แต่รางวัลครูสอนดีก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนในอนาคตที่จะผลักดันให้ผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพครูได้ตระหนักถึงความหมายของครูที่มีจิตวิญญาณอย่างแท้จริง   

ในสังคมปัจจุบันนี้ เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง  ยุคโลกแห่งเทคโนโลยี  ยุควัตถุนิยม พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับจิตใจของคนที่ลดต่ำลงๆ เรื่อยๆ เป็นภาวะวิกฤตด้านคุณธรรม ทำให้มีข่าวที่ไม่ดีนัก เกี่ยวกับบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข่าวเกี่ยวกับครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม  ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ดีทั้งหลายได้รับผลกระทบ จากการดูถูก ดูแคลนจากสังคม  เป็นอย่างมากเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครูในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เรียกว่า  คนดีคนเก่งไม่เรียนครู  ภาระงานของครูมีมาก  แรงจูงใจค่อนข้างต่ำ  ระบบการพัฒนาบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพ  ประการที่สองคือ ไม่ศรัทธาต่อวิชาชีพครู  ไม่รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นครูที่เป็นวิชาชีพชั้นสูง  และประการสุดท้ายคือ ไม่ศรัทธาต่อองค์กร  ไม่รักษาชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา 

ผลกระทบที่สำคัญคือ ผู้เรียน  เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ  เพราะหากผู้เรียนมีครูที่เป็นแค่ผู้ยึดอาชีพครู  เพียงเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเอง แล้วจะมีสิทธิเรียกร้องอะไรหรือไม่  กลไกการควบคุมในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขจัดคนที่มีอาชีพครูเหล่านี้ได้อย่างไร  เพราะยังมีครูที่มีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะ "อาชีพครู" อยู่อีกเป็นจำนวนมากบุคคลเหล่านี้จะหาผลประโยชน์จากผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสอน  ตามหน้าที่  แต่กระตือรือร้นในการสอนพิเศษมากการสอนในห้องเรียน  ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษาบางแห่งกลายเป็นขุมทรัพย์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไป

 ความสำคัญของประเด็นนี้ก็คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้เรียน  เพราะหากผู้เรียนมีครูที่เป็นแค่ผู้ยึดอาชีพครูเพียงเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเองแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 23 กล่าวว่า การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบ   และการศึกษาตามอัธยาศัย    ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม   กระบวนการเรียนรู้   และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา  นั่นคือทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป  แต่เมื่อมองย้อนกลับตัวของคุณครูเองมีคำว่าคุณธรรม  สำหรับนักเรียนอยู่ในหัวใจสักแค่ไหน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็จะช่วยให้เกิด “ครูอาชีพ” ขึ้น ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงเป็นประเด็นตามมา คือเกรงว่ามาตรฐานวิชาชีพจะให้ความสำคัญกับคุณวุฒิทางการศึกษา มากกว่ามาตรฐานจิตวิญญาณของความเป็นครู   ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดยาก และวัดได้ยาก  แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนเป็นครู 

โลกเปลี่ยน  สังคมเปลี่ยน การศึกษาก็ต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตอันใกล้นี้ การศึกษาไทย  ก้าวไกลสู่อาเซียน ในปี พ.ศ. 2558  ซึ่งในขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการดำเนินการด้านการศึกษาว่าด้วยการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ทุกคนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมให้ความร่วมมือในหลายๆด้านกันต่อไป  ผู้เขียนในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่งขอฝากเพื่อนๆ ครูทั้งหลายว่าเมื่อเราเป็นครูแล้วเราควรจะเป็น“ครูอาชีพ” หรือจะยึด “อาชีพครู” เพื่อตนเอง และขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งพระองค์ทรงกล่าวให้ข้อคิดถึงคุณครูในถ้อยความที่ว่า

ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง  หันไปห่วงอำนาจ  ห่วงตำแหน่ง  ห่วงสิทธิ์  และห่วงรายได้กัน  มากเข้า ๆ แล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็กความห่วงในสิ่งเหล่านั้น  ก็จะค่อย ๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้  ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป”  (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันเสาร์ ที่ 21 ตุลาคม 2521)

.......................................................................................................................................




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท