อนุทินล่าสุด


รัตนา เสียงสนั่น
เขียนเมื่อ

การแบ่งประเภทของสื่อ

เทคโนโลยีการสื่อสาร
(COMMUNICATION TECHNOLOGY)

                มนุษย์ได้พยายามใช้ความสามารถเพื่อการสื่อสารในสังคม โดยการใช้เครื่องมือการสื่อสารอย่างง่าย ๆ จนถึงสลับซับซ้อน เพื่อสนองปัจเจกชน (Individuals) กลุ่มชน (Groups) และมวลชน (Mass) สิ่งเอื้ออำนวยในการสื่อสารได้พัฒนาจนมีระบบที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทั้งด้านวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการแสวงหา รวบรวม ผลิตสาร ส่งสาร รับสาร เก็บข้อมูล และการสื่อสารกลับเพื่อให้แต่ละคนและสมาชิกภายในองค์กรได้ใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารต่อไป การใช้อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการสื่อสารนี้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลปะเพื่อให้เครื่องมือนั้นได้ทำงานด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้แลกเปลี่ยนสารกันได้โดยสะดวก รวดเร็ว และเกิดผลตามที่ต้องการ
เครื่องมือสื่อสารดังกล่าวนี้ เรียกว่า สื่อ หรือช่องทางการสื่อสาร
                คำว่า สื่อตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 หมายถึง ทำการติดต่อให้ถึงกัน ชักนำให้รู้จักกัน
                ในกระบวนการสื่อสารมวลชน คำว่า สื่อ” (Channel or Medium) คือ พาหนะนำข่าวสาร (Message Vehicles) หรือพาหนะของสารหรือสิ่งที่ขนส่งสาร (Carrier of Messages) จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ผู้ส่งสารไปได้ก็ต้องอาศัยสื่อที่จะถ่ายทอดข่าวสารออกไปและข่าวสารจะไปถึงผู้รับได้ก็ต้องอาศัยสื่อพาไป เช่น คลื่นวิทยุในอากาศนำเสียงพูดไปให้ผู้ฟัง กระดาษนำตัวอักษรและภาพที่ปรากฏไปให้ผู้รับสารได้อ่าน เป็นต้น ทางด้านผู้รับสารก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยสื่อในการรับสารนั้น ๆ เช่น ผู้รับสารจะต้องมีเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยสื่อเพื่อการติดต่อให้ถึงกัน มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์สร้างขึ้น เสาะหาวิธีการหาช่องทางในรูปแบบต่าง ๆ กัน ตามสภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง และพัฒนาวิธีการ กระบวนการ และเครื่องมืออุปกรณ์ให้ก้าวหน้า เพิ่มพูนสมรรถนะ คุณภาพและประสิทธิภาพในการแสวงหาสาร การเก็บสาร การส่งสาร การรับสาร และการสื่อสารกลับ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารของมนุษย์ต่อไป
 การพิจารณาถึงเรื่องสื่อนั้นมีปัจจัย 3 ประการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

 (1) วัสดุที่รองรับ

  (2) สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นอย่างมีความหมายเป็นสาร

 (3) พาหนะที่จะนำวัสดุที่มีสารไปให้ถึงผู้รับสาร
                ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการหาวิธีการ หาช่องทางของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ในการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นของคนแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย เช่น ใช้ สื่อบุคคลหรือ คนเพื่อการสื่อสารด้วยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารที่ต่างกัน โดยคนได้คิดท่าทาง อากัปกิริยาเป็นสารให้คนอื่น ๆ เข้าใจความหมายใช้สื่อบุคคลในลักษณะเป็นพาหนะที่มีสารโดยเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร สาธารณสุขออกไปพบปะพูดคุยกับประชาชน การใช้ศิลปินสื่อพื้นบ้านเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติการทำหมัน และการวางแผนครอบครัว การใช้บุรุษไปรษณีย์เพื่อนำจดหมายไปบริการประชาชน นอกจากนั้น สื่อบุคคลยังพยายามหาวัสดุเพื่อรองรับสาร เป็นช่องทางในการเผยแพร่ เช่น ใช้ฝาผนัง ผนังถ้ำ ดินเหนียว หนังสัตว์ ไม้ไผ่ กระดาษสา แผ่นใส และแม้แต่งานศิลปหัตถกรรม การปั้น แกะสลัก ก็ได้ใช้เป็นช่องทางในการถ่ายทอดสารให้คนอื่นได้รับสารบางอย่างอยู่ด้วย
 การแบ่งประเภทของสื่อ
 การแบ่งประเภทของสื่อ นักวิชาการได้แบ่งไว้หลายรูปแบบ ได้แก่
 1. แบ่งประเภทของสื่อออกเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
                1.1 สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ภาพถ่าย
                1.2 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Media) ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์
 2. แบ่งประเภทของสื่อออกเป็นสื่อที่รับรู้โดยการฟังหรือสื่อโสต การเห็นหรือสื่อทัศน์ และทั้งการฟังและการมองเห็นหรือสื่อโสตทัศน์ ดังนี้
                2.1สื่อโสต (Audio Media ) ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง เทป
                2.2 สื่อทัศน์ ( Visual Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ภาพถ่าย
 3. แบ่งประเภทของสื่อเป็นสื่อร้อนและสื่อเย็น ดังนี้
                3.1 สื่อร้อน (Hot Media) สื่อที่นำสารส่งไปยังผู้รับสาร และผู้รับสารไม่ได้มีส่วนร่วมในการส่งสารเลย ผู้รับสารไม่ต้องใช้ความพยายามใด เพื่อให้ได้สารที่สมบูรณ์ เพราะมีคนจัดคอยดูแลให้ เช่น ภาพยนตร์ มีช่างเทคนิคของโรงภาพยนตร์ได้จัดการฉายให้ชม เป็นต้น
                3.2 สื่อเย็น (Cool Media) คือ สื่อที่นำข่าวสารไปยังผู้รับ โดยบางครั้ง ผู้รับสารจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการพยายามให้ได้ข่าวสารที่สมบูรณ์ เช่น วิทยุโทรทัศน์ภาพล้ม ผู้ชมต้องปรับภาพ เป็นต้น
 4. การแบ่งประเภทของสื่อโดยธรรมชาติในการนำสาร ดังนี้
                4.1 สื่อวัจนะ ได้แก่ สื่อที่นำสารในลักษณะที่เป็นภาษาพูด ภาษาเขียน เช่น การพูด การเขียน ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นต้น
                4.2 สื่ออวัจนะ ได้แก่สื่อที่นำสารซึ่งไม่เป็นภาษาพูด แต่เป็นสัญลักษณ์ เครื่องหมาย (Signs) และอากัปกิริยา การเคลื่อนไหวของร่างกาย ริมฝีปาก การแสดงออกบนใบหน้า นัยน์ตา การขมวดคิ้ว การใช้สัญญาณมือ การสัมผัส การใช้สัญญาณไฟ การตีเกราะ กลอง การยิงพลุเพื่อขอความช่วยเหลือของผู้ที่รอดชีวิตจากเครื่องบินตก หรือเรืออับปราง สัญญาณจราจร ป้ายทางเข้าออก ทางไปห้องน้ำชาย หญิง ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีสื่อวัฒนธรรมหรือสื่อพื้นบ้าน เช่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ดนตรี การแต่งกาย และสื่อทัศนศิลป์
 5. การแบ่งประเภทของสื่อ ตามรูปแบบและสถานการณ์การสื่อสาร สามารถแบ่งสื่อได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
                5.1 สื่อภายในบุคคล ( Intrapersonal Communication) เป็นการสื่อสารกับตนเอง หรือการส่งสารของบุคคลคนเดียว แต่ละบุคคลมีการสื่อสารภายในตนเองทุกคน เนื้อหาสาระในการสื่อสารมาจากประสบการณ์ ข่าวสาร และข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ ตัวบุคคลจึงนับได้ว่าเป็นสื่อหรือช่องทางในการสื่อสารกับตนเอง หรือการสื่อสารภายในบุคคล
                5.2 สื่อระหว่างบุคคล ( Interpersonal Communication) การสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นรูปแบบของการสื่อสารตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สื่อที่ใช้ในการสื่อสารประเภทนี้ คือ สื่อบุคคล บุคคลได้มีการพูดกันอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ได้ติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ โทรพิมพ์ เทเลคอมเฟอเร็นซ์ การสื่อสารระหว่างบุคคลนั้น ผู้ส่งสารรู้แน่ชัดว่าเป็นกลุ่มใด ผลสะท้อนกลับจากผู้รับสารก็มีได้ง่ายกว่า สื่อหรือช่องทางการสื่อสารสามารถใช้นำสารได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
                5.3 การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นการแบ่งประเภทสื่อโดยอาศัยการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสเป็นหลัก คือ
                                1. สื่อที่รับได้ด้วยการมองเห็น หรือสื่อทัศน์ (Visual Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ (Newspaper) ภาพถ่าย ( Photography)
                                2. สื่อที่รับได้ด้วยการฟัง (Audio Media) หรือสื่อโสต ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง
                                3. สื่อที่รับได้ด้วยการฟังและการมองเห็น หรือสื่อโสตทัศน์ (Audio-Visual Media) ผู้รับสารรับสารโดยการมองเห็นและการได้ยินพร้อม ๆ กัน ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ (Video) วีดิโอดิส ( Videodise) การแสดงบนเวที ( Theatre) เช่น ละคร ดนตรี อุปรากร การฟ้อนรำ เป็นต้น
 6. การแบ่งประเภทของสื่อเป็นสื่อสนับสนุน ( Supporting Channels) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
                6.1 สื่อสนับสนุนในการบันทึกข่าวสาร คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพิมพ์ การบันทึกเสียง การบันทึกภาพ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องพิมพ์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง กล้องถ่ายรูป และวัสดุรองรับสาร ได้แก่ กระดาษ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ฟิล์ม แผ่นเสียง เป็นต้น
                6.2 สื่อสนับสนุนในการขนส่งข่าวสาร คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับระบบการคมนาคม (Transportation) และบริการไปรษณีย์ ( Postal Services) ได้แก่ เครือข่ายของเส้นทางคมนาคมทางบก ทางอากาศ ทางเรือ ยานพาหนะ บริการส่งจดหมาย และไปรษณียภัณฑ์ อื่น ๆ
                6.3 สื่อสนับสนุนในการถ่ายทอดข่าวสาร เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้การถ่ายทอดข่าวสาร ( Transmission of messages) จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบสาย ระบบวิทยุ ระบบแสง และระบบสื่อสารดาวเทียม ซึ่งอาจเรียกรวมกันว่าการสื่อสารโทรคมนาคม” (Telecommunication) หรือสื่อส่งสัญญาณ (Transmission Media) ได้แก่ โทรเลข โทรศัพท์ โทรพิมพ์ โทรภาพ โทรสาร โทรทัศน์ตามสาย วิทยุคมนาคม เป็นต้น
ในที่นี้ จะพิจารณาเรื่องสื่อ ตามเหตุการณ์ทางการสื่อสารตามลำดับ ( Chronology of Communication Events)

 

อ้างอิงจาก

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=mhajoy&month=12-2007&date=15&group=2&gblog=1

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท