อนุทินล่าสุด


นางสาววรรณศิริ อุ่นขาว
เขียนเมื่อ

แบบการนำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาปฐมวัยหรือรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัยที่ดี

ผลงาน Best – Practice ระดับ ปฐมวัย )

1. ชื่อผลงาน  :  การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย

2. ชื่อผู้นำเสนอผลงาน:  นางสาววรรณศิริ  อุ่นขาว  ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย

  ที่อยู่  โรงเรียนบ้านบางหลาม  สพป.  พังงา

  อีเมล [email protected]

3. หลักการเหตุผล/ความเป็นผล

  การเจริญเติบโตของเด็ก ปฐมวัยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยมีแบบแผนที่แตกต่างกันออกไปจากพัฒนาการด้านอื่นๆ Torrance ได้สรุปพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์เด็กทารก – ก่อนวัยเรียน (อายุ 0-6 ปี) ว่าเด็กมีความสามารถพัฒนาจินตนาการได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น เสียง จังหวะ เมื่ออายุ 2 ขวบ ความกระตือรือร้นที่จะใช้ประสาทสัมผัสเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ ช่วงอายุ 2-4 ปี เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ตรง และประสาทสัมผัสที่พร้อมสำหรับสิ่งแปลกใหม่ตามธรรมชาติ เริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง มักทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง ชอบจินตนาการ จวบจนอายุช่วง 4-6 ปี เด็กเริ่มสนุกสนานกับการวางแผน การเล่นและสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ แม้จะไม่เข้าใจในเหตุผลมากนัก เด็กชอบทดลองเล่นบทบาทสมมติต่างๆ โดยใช้จินตนาการของเด็กเอง

  ความคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการคิดที่เกี่ยวข้องกับการคิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งขัดแย้งกับความคิดเดิมๆ โดยดึงเอาประสบการณ์เก่าๆ ออกมาทั้งหมด และเลือกที่จะสร้างแบบแผนใหม่ๆ ออกมาให้ปรากฏ ซึ่งการจัดแบบแผนของการคิดใหม่นี้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความคิดคล่องตัว (Fluency) เป็นความสามารถที่ผลิตความคิดที่นุ่มนวลและรวดเร็วในการแก้ปัญหา และความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความสามารถในการค้นพบลักษณะที่มีความหลากหลาย สมองมนุษย์ สามารถคิดเชื่อมโยงประสานสัมพันธ์กันระหว่างความรู้และประสบการณ์ ทำให้เกิดการต่อยอดความรู้เดิมและการต่อเติมจินตนาการออกไป

4. วัตถุประสงค์

   1. เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย

  2. เพื่อให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ

5. แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

โรงเรียนบ้านบางหลามได้นำแนวทางการจัดประสบการณ์ มาจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย

  แนวคิดทฤษฎีของกิลฟอร์ด (Guilford , 1967) กล่าวว่านิยามความคิดสร้างสรรค์ว่า การคิดสร้างสรรค์ เป็นความสามารถในการทางานของสมอง ในการคิดได้หลายทาง หรือที่เรียกว่า อเนกนัย (Divergent thinking)

   การศึกษาตามความคิดของจอห์น ดิวอี้ คือ ความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรม ดังนั้นกระบวนการสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่ต่อเนื่องกับประสบการณ์เก่าไป เรื่อย ต้องส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ใหม่เพื่อเป็นวิถีนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจใน ปัจจุบันและอนาคตได้

  ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ วิธีการสอนเริ่มจากการสังเกตเด็ก ศึกษาพัฒนาการของเด็ก ความต้องการและความสนใจของเด็ก โดยมีแนวปรัชญาที่เชื่อมโยงทุกสิ่ง และคำนึงว่าเด็กทุกคนมีความสำคัญ

6. การดำเนินงาน/กระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ

1.  จัดทำแผนการเรียนรู้ ที่มีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทุกหน่วยการเรียนรู้

2.  จัดการเรียนรู้โดยตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติในการค้นหาความหมายด้วยการให้เด็กได้สำรวจและเรียนรู้สิ่งต่างๆ

3.  จัดบรรยากาศที่เหมาะสมซึ่งเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ เนื่องจากอารมณ์และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้และอารมณ์มีผลต่อรูปแบบการเรียนรู้

4.  จัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์

5.  จัดประสบการณ์การเล่นและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กโดยองค์รวมอย่างต่อเนื่อง

6.  จัดกิจกรรมทางด้านศิลปะ ควรระลึกอยู่เสมอว่ากิจกรรมที่จัดนั้นเปิดโอกาส ให้เด็กได้ใช้ประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนเพียงพอหรือไม่  ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ให้เด็กต้องทำแล้วผลงานออกมาเหมือนกันทั้งห้อง  เพราะการสร้างงานศิลปะคือการแสดงออกของการรับรู้เฉพาะตน  โปรดจำไว้ว่าพฤติกรรมการทำงานศิลปะของเด็กแต่ละคนต่างกัน  บางคนชอบนั่งทำงานที่โต๊ะ  บางคนขอบนอนกับพื้น  บางคนชอบนั่งทำงานนอกห้องเรียน  ครูผู้สอนควรให้อิสระอย่างเต็มที่เพราะถ้าเด็กเพลินเพลินและมีสมาธิกับการทำงานจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้าน  นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่ม และร่วมประเมินผลงานหรือ แสดงความคิดเห็นผลงานของเพื่อร่วมชั้นเรียนด้วย

7.  มีความเมตตาและหวังดีต่อเด็กทุกคนอย่าง เท่าเทียมกันโดยการแสดงความรักและความห่วงใยอยู่เสมอ  พยายามใช้คำพูดกระตุ้นจินตนาการของเด็กระหว่างการทำงานเสมอ

8.  ให้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยในการเสริมสร้าง ประสบการณ์ขณะที่เด็กอยู่ที่บ้านด้วยเช่น มีการกำหนดเรื่องล่วงหน้า แต่ละสัปดาห์ว่าจะมีกิจกรรมเรื่องใด  วัสดุอุปกรณ์และวิธีการทำงานเป็นอย่างไรฯ  การเตรียมการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็น เกิดจินตนาการและ สร้างผลงานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  จากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นสามารถนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องบูรณาการกับตารางกิจกรรมประจำวันสำหรับเด็กปฐมวัย

8. ผลการปฏิบัติงาน

  เด็กปฐมวัยเกิดจินตนาการมีกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ เด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีโดยองค์รวมของเด็ก

9. ปัจจัยที่ทำให้วิธีการประสบผลสำเร็จ

  ด้านการบริหารจัดการ  ผู้บริหารส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

  ด้านการจัดการเรียนการสอน ครูมีความตั้งใจ นำการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง

  ด้านสื่อ และเทคโนโลยี  จัดหาสื่อได้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็ก

  ด้านการประสานชุมชน  ได้รับความร่วมมือในการจัดประสบการณ์ส่งเสริมการเรียนรู้จากผู้ปกครอง

10. บทเรียนที่ได้รับ

  ผู้เรียนได้รับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องโดยได้รับการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ส่งผลให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะความคิด จินตนาการที่เหมาะสมตามวัย

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ตามจินตนาการ

กิจกรรม Cooking เสริมประสบการณ์การเรียนรู้

กิจกรรมสร้างสรรรค์ทางด้านศิลปะ

รางวัลระดับเหรียญทอง งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับจังหวัด

เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ทัศนศึกษานอกสถานที่




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท