Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำตอบ


เด็กไร้สัญชาติ

เมย์

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

        ประเด็นแรกความไร้สัญชาติ

        ข้อเท็จจริงที่ให้มา ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ฟังได้ว่า เพื่อนของคุณไม่ไร้รัฐ เพราะอย่างน้อยมีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งก็คือ “ทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน” การวิเคราะห์ว่า ใครสักคนไร้สัญชาติ เราคงต้องทราบว่า ทะเบียนบ้านกลางหรือทะเบียนบ้านระบุว่า คนนั้นมีสัญชาติอะไร ? และเราคงต้องทราบว่า คนๆ นั้นเกิดที่ไหน ? บุพการีเป็นคนสัญชาติของประเทศใด ? หรือเกิดในประเทศใด ? ลองให้ข้อเท็จจริงส่วนนี้ของเพื่อนคุณมาหน่อยซิคะ

        ประเด็นที่สองความเป็นไปได้ที่จะได้สัญชาติ

        หากเราทราบว่า เพื่อนคุณมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศใด ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่เพื่อนคุณจะได้มาซึ่งสัญชาติของประเทศที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับเพื่อนคุณ

        ในกรณีที่เพื่อนคุณเกิดในประเทศพม่า หรือมีบุพการีที่เกิดในประเทศพม่า โดยหลักการ ก็มีความเป็นไปได้ที่เพื่อนคุณจะไปพิสูจน์สัญชาติพม่ากับรัฐบาลพม่า แต่ในความเป็นจริง คนบางชาติพันธุ์ในประเทศพม่าก็ยังไม่อาจไปพิสูจน์สัญชาติพม่าได้กับรัฐบาลพม่า หรือไม่ยอมรับที่จะพิสูจน์สัญชาติพม่ากับรัฐพม่า

        ในกรณีที่เพื่อนคุณเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นอย่างน้อย เพื่อนคุณก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยมาตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

        ในกรณีที่เพื่อนคุณเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือพลัดพรากจากบุพการีจนหาตัวไม่เจอ กล่าวคือ เพื่อนคุณเป็น “คนไร้รากเหง้า” เพื่อนคุณก็จะมีสถานะเป็นคนที่ถูกถือเป็น คนต่างด้าว และอยู่ในขอบเขตที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

        เราจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงของเพื่อนคุณมากกว่านี้ เรื่องสัญชาติเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสนใจอยากแก้ไขปัญหาจริงๆ คงต้องให้ข้อเท็จจริงมาให้ชัดเจนกว่านี้

         ประเด็นที่สาม สิทธิในการทำงาน

        สิ่งที่เราต้องทราบ ก็คือ เพื่อนคุณถูกระบุในทะเบียนบ้านกลางอย่างไร ? หากถูกระบุเป็นคนสัญชาติไทย ก็ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิการทำงาน แต่หากถูกระบุว่า เป็นคนสัญชาติมูเซอ ก็ฟังได้ว่า เพื่อนคุณตกเป็นคนไร้สัญชาติ หรือเป็นคนสัญชาติพม่า เพื่อนคุณก็จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย สิทธิในการทำงานจึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งโดยภาพรวม ก็คือ จะมีสิทธิทำงานเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายดังกล่าว และจะทำงานได้ในสาขาวิชาชีพที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว

        เล่าเรื่องของเพื่อนคุณเข้ามาในรายละเอียดซิคะ

นายทะเบียนไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้

บอล

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

        ประเด็นแรกเรื่องการจดทะเบียนสมรสก่อนค่ะ

        ขอยืนยันว่า มนุษย์ทุกคนได้รับรองสิทธิที่จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย กล่าวคือ ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ หากมีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับเงื่อนไขการสมรส ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลของคู่สมรสเอง  การยกประเด็นเรื่องสัญชาติคงมิใช่ประเด็น

        ในกรณีที่นายทะเบียนปฏิเสธ ก็ให้เขาปฏิเสธมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือถ้าเขาไม่ยอมทำเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ให้ไปขอให้ตำรวจบันทึกประจำวันแทน แล้วก็ฟ้องเขตหรืออำเภอต่อศาลปกครองเลยค่ะ ส่วนนายทะเบียนที่ปฏิเสธ อาจฟ้องคดีอาญา หากพฤติกรรมชัดว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

        เบื้องต้น ลองเตรียมความเห็นกฎหมายของ อ.แหวว และ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุราเรื่อง ฎ.๗๒๐/๒๕๐๕ ไปให้เขาดูก่อนก็ได้ รวมตลอดถึงคำพิพากศาลปกครองสูงสุดล่าสุดในเรื่องนี้ที่ฟ้องนายอำเภอนาแห้วเพราะปฏิเสธที่จะจดทะเบียนสมรสให้แก่ราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราวเช่นกัน นอกจากนั้น มีหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

        รื้อเอาการบ้านเก่าๆ ที่เรียนมาซักซ้อมดูนะคะ

        ลองเตรียมไปหารือดู การปฏิเสธอาจจะเกิดจากความไม่รู้กฎหมายและนโยบาย หากเรารู้กฎหมายมากกว่า เรื่องอาจไม่ต้องขึ้นสู่ศาล

        โปรดคลิกดูบทความและเอกสารเกี่ยวข้องกับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตรงนี้นะคะ

        ขอทราบนิดหนึ่งว่า เป็นเหตุเกิดที่เขตหรืออำเภอไหนคะ ??

        ประเด็นที่สองเรื่องสัญชาติของบุตร

       บุตรย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนหากเกิดในประเทศไทย และเมื่อฟังว่า บิดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด บุตรก็จะมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ซึ่งไม่ว่าบิดาจะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรในขณะที่บุตรเกิดหรือไม่ เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

        ในกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาและมารดาของบุตรก่อนบุตรเกิด ก็ไม่มีอะไรต้องทำต่อไป

        แต่หากมิได้มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาและมารดาของบุตรก่อนบุตรเกิด และประสงค์จะให้บุตรได้รับสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ก็จะต้องไปร้องขอให้มีการรับรองความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตรตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎทรวงที่ออกตามมาตรา ๗ วรรค แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

            แต่ถ้าสบายใจแค่สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนก็ไม่ต้องทำอะไร

            เมื่อบุตรเกิด ก็เอาหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่โรงพยาบาลออกให้ ไปแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ของบิดา ตั้งชื่อ และให้ใช้นามสกุลของบิดา และจะทำเรื่องการรับรองเป็นบุตรก็ทำเสียเลย เว้นแต่การจดทะเบียนสมรสทำสำเร็จแล้ว ก็ไม่จำเป็น

        ประเด็นอื่นๆ

        ควรเอาข้อเท็จจริงส่วนบุคคลของมารดามาดูค่ะ อยากทราบว่า (๑) มารดาเกิดที่ไหน ? (๒) เกิดเมื่อไหร่ ? (๓) บุพการีของมารดาเป็นใคร ? มีสัญชาติอะไร ? ถือเอกสารอะไรบ้าง ? หากสนใจอยากช่วยเขาต่อไป ก็ไปสืบพยานมาซิคะ

------------------------------------------------------

 

ขอถามเรื่องทะเบียนราษฎร์ค่ะ

เบิ้ม

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

        ในประการแรก ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายไทยที่กำหนดความรับผิดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จะปล่อยให้ทะเบียนบ้านปราศจากนั้นทั้งเจ้าบ้านและผู้อาศัย หากจะตอบแบบนักกฎหมาย เรื่องของกรรมสิทธิในบ้านเป็นเรื่องตามกฎหมายเอกชน แต่เรื่องของทะเบียนบ้านเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน

        ในประการที่สอง เจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวนั้นไม่จำต้องนำชื่อตนมาใส่เป็นเจ้าบ้านแต่อย่างใด  และบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าบ้านอยู่แล้ว ไม่สามารถมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านฉบับอื่นอีกพร้อมกันได้ มีชื่อได้ในทะเบียนบ้านเดียว ก็เลือกเอาที่หนึ่ง

ในประการที่สาม นิติบุคคลไม่อาจมีชื่อเป็นเจ้าบ้าน เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้นที่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้านของรัฐ

ในประการที่สี่ คนๆ หนื่งมีชื่อเป็นเจ้าบ้านที่บ้านหลังหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจมีชื่อเป็นผู้อาศัยที่บ้านอีกหลังหนึ่งได้

ในประการที่ห้า บทบัญญัติแรกแห่งกฎหมายไทยที่เกี่ยวกับทะเบียนบ้าน ก็คือ มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ทะเบียนบ้าน” หมายความว่า “ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้าน และรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน” และมีรายละเอียดปรากฏในหมวด ๕ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งประกอบด้วยมาตรา ๓๔ จนถึงมาตรา ๔๒  ถ้านึกสนุก ก็อ่านดูนะคะ

มาตรา ๓๔ 

ให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ

ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านให้แก่ผู้แจ้งซึ่งมีบ้านอยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นภายในเจ็ดวัน ถ้ามีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นให้กำหนดเลขประจำบ้านภายในสามสิบวัน

ให้เจ้าบ้านติดเลขประจำบ้านไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง

ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจะกำหนดให้มีทะเบียนบ้านชั่วคราวตามระเบียบ เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบทางทะเบียนก็ได้

มาตรา ๓๕ 

ถ้ามีบ้านอยู่หลายหลังในบริเวณเดียวกัน ให้กำหนดเลขประจำบ้านเพียงเลขเดียว แต่ถ้าเจ้าบ้านประสงค์จะกำหนดเลขประจำบ้านเพิ่มขึ้นอีกให้ยื่นขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง

บ้านที่ปลูกเป็นตึกแถว ห้องแถว หรืออาคารชุด ให้กำหนดเลขประจำบ้านทุกห้องหรือทุกห้องชุด โดยถือว่าห้องหรือห้องชุดหนึ่งๆ เป็นบ้านหลังหนึ่ง

มาตรา ๓๖[1] 

ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้าน[2]ไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด[3] 

มาตรา ๓๗ 

การเพิ่มชื่อและรายการของบุคคลลงในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา ๓๘[4]  

ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับ (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และ (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ (๓) บุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด[5]

มาตรา ๓๙ 

ให้นายทะเบียนอำเภอ และนายทะเบียนท้องถิ่นมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านเก็บรักษา เมื่อมีการเพิ่ม เปลี่ยนแปลง หรือจำหน่ายรายการในทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านนำสำเนาทะเบียนบ้านไปให้นายทะเบียนบันทึกรายการให้ถูกต้องตรงกับต้นฉบับทุกครั้ง

ถ้าสำเนาทะเบียนบ้านชำรุดจนใช้การไม่ได้หรือสูญหาย ให้เจ้าบ้านขอรับสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ได้ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้อำนวยการทะเบียนกลางเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านต่อไปในเขตสำนักทะเบียนใด ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีอำนาจยกเลิกการใช้สำเนาทะเบียนบ้านในเขตสำนักทะเบียนนั้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๔๐ 

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา ๔๑[6] 

ผู้ใดรื้อบ้านที่มีเลขประจำบ้านโดยไม่ประสงค์จะปลูกบ้านใหม่ในที่ดินบริเวณนั้นอีกต่อไปหรือรื้อเพื่อไปปลูกสร้างบ้านในที่อื่น ให้แจ้งการรื้อบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รื้อบ้านเสร็จเพื่อจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้าน

บ้านที่รื้อถอนโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้านและแจ้งย้ายผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา ๔๒ 

การย้ายบ้านซึ่งเคลื่อนย้ายได้ หรือการย้ายแพหรือเรือหรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่ประจำไปอยู่หรือจอด ณ ที่อื่น ถ้าอยู่หรือจอดเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เจ้าบ้านต้องแจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่หรือจอดใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

 


[1] มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

[2] อันได้แก ท.ร.๑๔ ตามข้อ ๑๓๔ (๑๘) แห่ง

[3] ข้อ ๔๔ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า “ทะเบียนบ้าน  (ท.ร.๑๔)   ใช้ลงรายการของคนที่มีสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเท่านั้น

[4] มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

[5] ข้อ ๔๕ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า “ทะเบียนบ้าน  (ท.ร.๑๓)  ใช้ลงรายการของคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

[6] มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

จากลูกศิษย์ ขอรบกวนสอบถามอ.แหววครับ

นายภูเบศ มั่งมูล

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

        ในประการแรก ขอตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่พ่อบ้านของคุณจะร้องขอสัญชาติไทย หากพ่อบ้านของคุณมีข้อเท็จจริงตาม มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ กล่าวคือ (๑) จะต้องบรรลุนิติภาวะทั้งตามกฎหมายพม่าและกฎหมายไทย (๒) มีความประพฤติดี (๓) มีอาชีพเป็นหลักฐาน (๔) มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทยมาอย่างน้อย ๕ ปี และ (๕) มีความสามารถที่จะพูดและฟังภาษษไทยได้ แต่ไม่จำเป็นต้องอ่านเขียนภาษาไทยได้

        ในประการที่สอง อ.สงสัยว่า คุณพ่อบ้านอาจจะเป็นคนไร้สัญชาติจากพม่า กล่าวคือ ไม่มีสัญชาติพม่าในการรับรู้ของประเทศพม่า แต่อาจเป็นคนสัญชาติพม่าตามเอกสารที่ส่วนราชการไทยระบุเอง กล่าวคือ ก็เป็นคนไร้สัญชาติเหมือนน้องหม่อง ทองดี

ลองถามคุณพ่อบ้านซิคะว่า เขามีหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลพม่าไหม ? ถ้าไม่ เขาถือบัตรอะไรเพื่อแสดงตน ? สแกนส่งมาดูกันหน่อยค่ะ ไปตามสืบมาดูกันหน่อยค่ะ พ่อบ้านของคุณเป็นคนสัญชาติพม่าในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า หรือเป็นคนสัญชาติพม่าในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยกันแน่ ???

รู้สึกเห็นใจ

jack

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ขอบใจสำหรับความเข้าใจในปัญหา แค่นี้ ก็มีค่าพอที่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

แสดงความเห็นต่ออาจารย์แหวว

jack

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ค่อยๆ ตอบก็แล้วกันค่ะ

ขอรบกวนเรียนถามอาจารย์ค่ะ

วัชราภรณ์ ลูกศิษย์รหัส45 ม.พายัพ

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ไปหารือกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเลยนะคะ

เขามีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือนะคะ

"ทางโน้น" คือใครคะ

การตั้งทนายความไปดูแลคดี ก็ทำ ก็ดี ถ้ามีเงินพอที่จะทำได้ แต่คงยุ่งยากทีเดียวในเรื่องของภาษา

การเรียกร้องค่าเสียหายทางศาลจีนย่อมทำได้โดยหลักการ การคำนวณความเสียหายนั้นจะเป็นสิ่งที่ศาลจีนน่าจะรับพิจารณานะคะ ตอบโดยหลักกฎหมาย กฎหมายไทยจีนในเรื่องละเมิดก็มีหลักการอันเดียวกัน

แต่ยุ่งยากตามสมควรนะคะ

ค่าชดเชยตาม พรบ คุ้มครองแรงงาน

ชาตรี รุ่งศรีสุขจิต

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ขอด๋าว หรือตี๋ หรือเอกช่วยตอบได้ไหมคะ

อ.แหวว

คุณเก๋ถามว่า จะรับน้องหมีพูซึ่งไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

Archanwell

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

คุณเก๋ที่นับถือ

ดิฉันอยากตอบในเบื้องต้นว่า การร้องขอจดทะเบียนรับเด็กไร้รัฐเป็นบุตรบุญธรรมนั้นทำได้ค่ะ

คงต้องเริ่มต้นติดต่อ พมจ.ของจังหวัดที่คุณอาศัยอยู่ ถ้าเขาไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้บอกเขาให้หารือมาในส่วนกลาง หรือให้เอาบทความที่ให้มาข้างท้ายให้เขาดู

หรือหากมีอุปสรรคอีก ก็มาบอกอีกที ในคำถามนี้

คงจะต้องไปศาลด้วย อาจช่วยคุณโดยการทำจดหมายไปถึงสำนักงานศาลยุติธรรมให้ค่ะ นิติกรที่คุณเจอนั้นอาจไม่รู้เรื่อง และไม่ยอมหารือใคร

ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณเองมาด้วย ในอีกเมลล์ก็ได้ค่ะ

อ.แหวว

เอกสารอ้างอิง

กรณีน้องขวัญและน้องวิน : มีความเป็นไปหรือไม่ที่คนสัญชาติไทยจะรับเด็กไร้รัฐเป็นบุตรบุญธรรม ?,

บทความเพื่อสาละวินโพสต์ ฉบับที่ ๓๔ (๑ ตุลาคม - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙), เริ่มเขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙, เขียนจบเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=341&d_id=340

ขอช่วยคิดเห็นด้วยค่ะ

pilgrim

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ตอบแล้วค่ะ

อาจารย์โดน blog tag ค่ะ...

ดวงเด่น

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

เป็นคนไม่มีความลับอ่ะค่ะ ทำไงดี

คิดไม่ออก

ย้ายบ้านใหม่เฉพาะนักศึกษา อาจารย์

ฉัตรชัย สร้อยสุวรรณ

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ
ทำไมล่ะคะ ? ตกข่าวค่ะ เกิดอะไรขึ้นคะ

การเรียนรู้

Toi Wantana

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ก็เห็นพวกคุณพยายามเรียนรู้ และสร้างทักษะในการเรียนรู้แบบรอบด้าน อ่าน คิด และเขียน

ควรจะทำทั้งสามอย่าง อย่างมีสมดุลย์

ขอเปลี่ยนหนังสือที่จะนำมาวิจารณ์ค่ะ

ดวงเด่น

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ก็ไม่ขัดข้อง

แต่ก็ไม่อยากให้เอาเรื่องเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศมาทำในวิชากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ ก็ควรทำในวิชาที่มุ่งจะศึกษาเรื่องนั้น

วิชากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นวิชากว้าง  อยากให้ทำการบ้านความคิดแบบทั้งระบบมากกว่

แต่ก็ไม่ขัดข้อง เป็นสิทธิที่คุณจะเลือกได้ แต่ขอเตือนสติให้ทำงานอย่างหลากหลาย

ขอเปลี่ยนงานชิ้นที่ 9 วิจารณ์

ปารินุช

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ
ต้องมองในแง่ของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศนะคะ ไม่ใช่กฎหมายภายในนะคะ

ถามเรื่องงานวิจารณ์กฎหมายครั้งที่9

ประทีป

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ได้ค่ะ เริ่องในขอบเขตเดียวกัน แต่คนละกฎหมาย

ขอเปลี่ยนเรื่องการวิจารณ์งานชิ้นที่ 9

วันทนา

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ
ถ้าไม่ซ้ำ ก็ตกลงค่ะ

ขอเปลี่ยนเรื่องงานวิจารณ์หนังสือครั้งที่ 9

ประทีป

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ
ถ้าไม่ซ้ำ ก็ไม่ขัดข้องค่ะ

สอบถามเรื่องวิจารณ์หนังสืองานชิ้นที่ 9

ประทีป

Archanwell
เขียนเมื่อ
คำตอบ

ถ้าไม่ซ้ำซ้อนกับท่านอื่นนะคะ ทำได้

แต่อย่าลืมว่า ต้องวิเคราะห์ในมุมมองของ "นักกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" นะคะ

อย่ามาเล่าแนวคิดของหนังสือเกี่ยวกับความเป็นกฎหมายภายในของเรื่องการแข่งขันทางการค้าแต่อย่างเดียวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท