อนุทินล่าสุด


อนุวัช แก้วสว่าง
เขียนเมื่อ

ความรู้สึกของ.........คนเป็นครู



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
อนุวัช แก้วสว่าง
เขียนเมื่อ

การออกแบบสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 พุทธประวัติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

โดยใช้ ADDIE MODEL ในการออกแบบระบบการเรียนการสอน

ADDIE MODEL คือการออกแบบระบบการเรียนการสอน กล่าวคือกระบวนการพัฒนาโปรแกรม การสอน จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด กระบวนการออกแบบการเรียนการสอนแบบ ADDIE สามารถสรุปเป็นขั้นตอนทั่วไปได้เป็น 5 ขั้น ประกอบไปด้วย

1. Analysis (การวิเคราะห์)

2. Design (การออกแบบ)

3. Development (การพัฒนา)

4. Implementation (การนำไปใช้)

5. Evaluation (การประเมินผล)

1.ขั้นการวิเคราะห์ (Analysis)

  • ขั้นตอนการวิเคราะห์เป็นรากฐานสำหรับขั้นตอนการออกแบบการเรียนการสอน ผลลัพธ์ที่ได้จากขั้นตอนนี้จะถูกนำไปพัฒนาในขั้นตอนการออกแบบอื่นต่อไปประกอบด้วยรายละเอียดในแต่ละส่วนดังนี้

1.1 การกำหนดหัวข้อเรื่องและวัตถุประสงค์ทั่วไป

  • กำหนดหัวข้อ คือหน่วยการเรียนรู้ที่ 1
  • ชื่อเรื่อง คือพุทธประวัติ
  • วัตถุประสงค์ทั่วไป คือใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจพุทธประวัติ นำข้อคิดที่ได้จากการศึกษาพุทธประวัติไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเห็นความสำคัญของการศึกษาพุทธประวัติ โดยจะใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 1 ชั่วโมง

1.2 การวิเคราะห์ผู้เรียน

  • ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง
  • ผู้เรียนอยู่ในวัยที่ต้องหาสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้ามาให้อยากเกิดการเรียนรู้
  • ผู้เรียนในวัยนี้จะมีสมาธิในการเรียนรู้ได้ไม่นานมาก
  • ผู้เรียนในวัยนี้ชอบฟังเรื่องเล่ามากกว่าที่จะให้อ่านเองและบางคนก็ยังอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง
  • ผู้เรียนในวัยนี้ชอบดูรูปภาพและมีจินตนาการเมื่อได้รับการกระตุ้น

1.3 การวิเคราะห์เนื้อหา / หลักสูตร

  • เนื้อหามีการใช้คำราชาศัพท์ ผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของคำ
  • เนื้อหามีการใช้คำยาก ผู้เรียนอ่านไม่ได้
  • เรื่องพุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เนื้อหาสามารถแบ่งลำดับ ขั้นตอนเรื่องราวได้อย่างชัดเจน

2. ขั้นการออกแบบ (Design)

ขั้นตอนการออกแบบเกี่ยวข้องกับการใช้ผลลัพธ์จากขั้นตอนการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนกลยุทธ์สำหรับพัฒนาการสอน ในระหว่างขั้นตอนนี้จะต้องกำหนดโครงร่างวิธีการให้บรรลุถึงเป้าหมายการสอน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยในระหว่างขั้นตอนการวิเคราะห์ และขยายผลสารัตถะการสอน ประกอบด้วยรายละเอียดแต่ละส่วน ดังแสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้

ขั้นตอนการวิเคราะห์ โครงร่างวิธีการเรียนการสอน
1. ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง 1. ครูใช้วิธีการสอนโดยการเล่าเรื่องให้ผู้เรียนฟัง
2. ผู้เรียนอยู่ในวัยที่ต้องหาสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้ามาให้อยากเกิดการเรียนรู้ 2. ครูต้องใช้สื่อในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ บัตรคำ เสียงเพลง
3. ผู้เรียนในวัยนี้จะมีสมาธิในการเรียนรู้ได้ไม่นานมาก 3. ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้หลากหลาย เช่น ฝึกสมาธิ เล่าเรื่องราว เล่นเกมส์ตอบคำถาม
4. ผู้เรียนในวัยนี้ชอบฟังเรื่องเล่ามากกว่าที่จะให้อ่านเองและบางคนก็ยังอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง 4. ครูต้องสอนให้ผู้เรียนอ่านสะกดคำยาก สอดแทรกเนื้อหาเรื่องเล่า
5. ผู้เรียนในวัยนี้ชอบดูรูปภาพและมีจินตนาการเมื่อได้รับการกระตุ้น 5. ครูใช้วิธีการสอนโดยการเล่าเรื่องให้ผู้เรียนฟังพร้อมกับให้ผู้เรียนได้ดูรูปภาพประกอบเพื่อสร้างจินตนาการ
6. เนื้อหามีการใช้คำราชาศัพท์ ผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของคำ 6. ครูต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายของคำราชาศัพท์
7. เนื้อหามีการใช้คำยาก ผู้เรียนอ่านไม่ได้ 7. ครูต้องสอนให้ผู้เรียนอ่านสะกดคำยาก
8. เรื่องพุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เนื้อหาสามารถแบ่งลำดับ ขั้นตอนเรื่องราวได้อย่างชัดเจน 8. ครูใช้วิธีการสอนโดยการเล่าเรื่อง แบ่งเป็นตอน ตามลำดับ คือ ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน

3. ขั้นการพัฒนา (Development)

ขั้นตอนการพัฒนาสร้างขึ้นบนขั้นตอนการวิเคราะห์และการออกแบบ จุดมุ่งหมายของขั้นตอนนี้คือ สร้างแผนการสอนและสื่อของบทเรียน ในระหว่างขั้นตอนนี้จะต้องพัฒนาการสอน และสื่อทั้งหมดที่ใช้ในการสอน และเอกสารสนับสนุนต่างๆ ประกอบด้วยรายละเอียดแต่ละส่วน ดังนี้

3.1 แผนการสอน

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 พุทธประวัติ

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 พุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ชั่วโมง

มาตรฐานการเรียนรู้ ส.1.1 รู้และเข้าใจพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

ตัวชี้วัด ส.1.1 ป1/1 บอกพุทธประวัติหรือประวัติของศาสดาที่ตนนับถือโดยสังเขป

สาระสำคัญ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา การศึกษาพุทธประวัติจะทำให้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระพุทธเจ้า

จุดประสงค์การเรียนรู้สู่ตัวชี้วัด

  • 1.รู้และเข้าใจพุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน (K)
  • 2.นำข้อคิดที่ได้จากพุทธประวัติไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน (P)
  • 3.เห็นความสำคัญของการศึกษาพุทธประวัติ (A)

แนวทางการบูรณาการ

ภาษาไทย การอ่าน เขียน คำยาก เข้าใจความหมายของคำราชาศัพท์ ตอบคำถามและจับใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังได้

ศิลปะ วาดภาพ ระบายสีเกี่ยวกับพุทธประวัติ

กระบวนการจัดการเรียนรู้

ขั้นที่ 1 การนำเข้าสู่บทเรียน

  • 1.ครูให้นักเรียนสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ โดยใช้เพลงประกอบ
  • 2.ครูแจ้งตัวชี้วัดชั้นปีและจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ
  • 3.ครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
  • 4. ครูให้นักเรียนเล่นเกมส์ตอบคำถามจากภาพ ใครตอบได้ให้ยกมือแล้วตอบคำถามใครตอบถูกมากที่สุดเป็นผู้ชนะ ครูสรุปและกล่าวชมเชยให้รางวัลแก่คนที่ชนะ

ขั้นที่ 2 กิจกรรมการเรียนรู้

1. ครูนำรูปภาพพระพุทธรูปหรือพระพุทธรูปจริงมาให้นักเรียนดู จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยครูใช้คำถามดังนี้

- นักเรียนเคยพบเห็นพระพุทธรูปหรือไม่ จากที่ใดบ้าง (ตัวอย่างคำตอบ เคยเห็นที่วัด ที่บ้าน ที่โรงเรียน)

- เพราะเหตุใดพระพุทธรูปจึงมีอยู่ในสถานที่ดังกล่าว (ตัวอย่างคำตอบ เพื่อให้ทุกคนได้เคารพบูชาและกราบไหว้)

- นักเรียนคิดว่าพระพุทธรูปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ อย่างไร (ตัวอย่างคำตอบ เกี่ยวข้องเพราะพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่แทนพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา)

จากนั้นครูแนะนำนักเรียนว่า พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ชาวพุทธบูชา เป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาหรือผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา

2. ครูให้นักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแล้วให้นักเรียนแนะนำว่า ชาวพุทธควรศึกษาประวัติพระพุทธเจ้าเพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของพระพุทธศาสนา

3. ครูเล่าพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนประสูติ ให้นักเรียนฟังพร้อมดูสื่อที่ครูได้เตรียมไว้ประกอบการเล่าเรื่อง จากนั้นครูแบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่อเล่นเกมส์ตอบคำถาม โดยแบ่งกลุ่มชายและหญิง กลุ่มไหนตอบคำถามได้ถูก ได้ 1 คะแนน โดยครูและนักเรียนร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง การเล่นเกมส์ตอบคำถามร่วมกิจกรรมจำนวน 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะใช้คำถาม 1 ข้อ ดังนี

- พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่าอะไร (เจ้าชายสิทธัตถะ)

- เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่ใด (สวนลุมพินีวัน)

- พระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะคือใคร (พระนางสิริมหามายา)

4. ครูเล่าพุทธประวัติตอนตรัสรู้ให้นักเรียนฟัง พร้อมใช้สื่อภาพประกอบ จากนั้นเลือกตัวแทนนักเรียนเพื่อเล่นเกมส์ตอบคำถาม โดยแบ่งกลุ่มชายและหญิง กลุ่มไหนตอบคำถามได้ถูกต้อง ได้ 1 คะแนน ออกมาร่วมกิจกรรมจำนวน 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะใช้คำถาม 1 ข้อ ดังนี้

- ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกผนวช (ต้องการหาทางดับทุกข์)

- พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ด้วยวิธีการใด (การบำเพ็ญเพียรทางจิต)

- พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกโปรดใคร (ปัญจวัคคีย์, โกณฑัญญะ) 

5. ครูเล่าพุทธประวัติตอนปรินิพพานให้นักเรียนฟัง พร้อมใช้สื่อภาพประกอบ จากนั้นเลือกตัวแทนนักเรียนเพื่อเล่นเกมส์ตอบคำถาม โดยแบ่งกลุ่มชายและหญิง กลุ่มไหนตอบคำถามได้ถูกต้อง ได้ 1 คะแนน ออกมาร่วมกิจกรรมจำนวน 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะใช้คำถาม 1 ข้อ ดังนี้

- ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นเวลากี่ปี (45 ปี)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานที่ใด (ใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานเมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานตอนพระชนมายุกี่พรรษา (80 พรรษา)

6. ครูอธิบายความหมายของคำศัพท์ยาก และให้นักเรียนฝึกอ่านสะกดคำยาก โดยใช้บัตรคำ ในขั้นตอนที่ 3, 4 และ 5 ไปพร้อมๆ กับการเล่าเรื่อง

7. ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน โดยครูใช้คำถามดังนี้

- เพราะเหตุใด เจ้าชายสิทธัตถะจึงศึกษาจนสำเร็จศาสตร์ต่างๆ มากมาย (ตัวอย่างคำตอบ ขยัน เอาใจใส่ มีความอดทนและตั้งใจเรียน)

- ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะยังคงหาทางพ้นทุกข์ด้วยการทรมานร่างกายต่อไป จะเกิดผลอย่างไร (ตัวอย่างคำตอบ ไม่ตรัสรู้ ไม่เกิดพุทธศาสนา อาจเสียชีวิตได้)

8. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปพุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน โดยครูใช้คำถามดังนี้

- การศึกษาพุทธประวัติมีความสำคัญอย่างไร

- พุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มีข้อคิดอะไรบ้างที่นักเรียนควรนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน

ขั้นที่ 3 การสรุป

1. ให้ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้ ดังนี้ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา การศึกษาพุทธประวัติจะทำให้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระพุทธเจ้า โดยให้นักเรียนบันทึกสรุปลงในสมุดหรือเขียนเป็นแผนผังความคิด

2. ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยครูใช้คำถามท้าทาย ดังนี้

- ความสุขที่แท้จริงของนักเรียนคืออะไร

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

รายการที่ต้องการวัด/ประเมิน เครื่องมือวัด/ประเมินผล
ด้านความรู้ (K)
1. ทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน 1. แบบทดสอบ
2. ซักถามความรู้เรื่องพุทธศาสนาเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน 2. ข้อคำถาม
3. ตรวจผลงาน/กิจกรรมเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม 3. ภาพวาด,ระบายสี
ด้านคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม (A)
ประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคล ในด้านความมีวินัย ความใฝ่เรียนรู้ แบบประเมินพฤติกรรม
ด้านทักษะ/กระบวนการคิด (P)
ประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคลในการสื่อสาร การคิดและการแก้ปัญหา แบบประเมินพฤติกรรม

เครื่องมือวัด/ประเมินผลการเรียนรู้

1. แบบทดสอบ

เป็นข้อสอบที่ครูจัดทำขึ้นเพื่อวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นข้อสอบแบบปรนัย 3 ตัวเลือก ใช้ในการวัดและประเมินผลก่อนและหลังเรียน โดยครูอ่านข้อสอบให้นักเรียนฟังให้เข้าใจ แล้วให้นักเรียนเลือกตอบข้อที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว ตอบถูกในแต่ละข้อจะได้ 1 คะแนน ข้อสอบทั้งหมดมีจำนวน 10 ข้อ รวมคะแนนเต็ม 10 คะแนน ดังนี้

วิชา : สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้น : ประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน : 10 ข้อ

ชื่อข้อสอบ : เรื่อง พุทธประวัติ ป.1

   

1) วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตรงกับวันใด

ก. วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

ข. วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

ค. วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

2) พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้โดยวิธีใด

ก. อดอาหาร

ข. บำเพ็ญเพียรทางจิต

ค. ศึกษาจากอาจารย์

3) เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงออกบวช

ก. ต้องการค้นหาทางดับทุกข์

ข. ไม่ต้องการเป็นกษัตริย์

ค. เบื่อหน่ายชีวิตที่สุขสบาย

4) เหตุใดเราจึงกราบไหว้พระสงฆ์

ก. เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

ข. เป็นผู้ถือศีลได้หลายข้อ

ค. เป็นผู้แต่งกายแปลก

5) การที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรนานถึง 6 ปี จึงตรัสรู้ แสดงว่าพระองค์มีคุณธรรมข้อใด

ก. ความเมตตา

ข. ความอดทน

ค. ความสามัคคี

6) กิจกรรมใดที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา

ก. การกราบไหว้

ข. การแต่งงาน

ค. การขึ้นบ้านใหม่

7) ใครปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

ก. ดาวเรืองชอบแกล้งสัตว์

ข. มะลิชอบนั่งสมาธิ

ค. กุหลาบชอบพูดโกหก

8) เราช่วยดำรงพระพุทธศาสนาได้ด้วยวิธีใด

ก. กราบพระทุกวัน

ข. สวดมนต์ทุกวัน

ค. ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

9) สถานที่ที่ชาวพุทธไปทำบุญคือที่ใด

ก. วัด

ข. มัสยิด

ค. สุเหร่า

10) พระพุทธศาสนาสอนให้คนทำอย่างไร

ก. ทำให้ตัวเด่นดัง

ข. ทำในสิ่งที่เป็นความดี

ค. ทำในสิ่งที่ตนเองพอใจ

การวิเคราะห์ข้อสอบ ครูออกแบบข้อสอบเพื่อวัดพฤติกรรมด้านพุทธพิสัย 6 ด้าน รายละเอียดดังแสดงไว้ตามตารางข้างล่างนี้

การออกข้อสอบวัดพฤติกรรมด้านพุทธพิสัย แสดงในข้อที่
ความจำ 1, 2
ความเข้าใจ 3, 4
การนำไปใช้ 8
การวิเคราะห์ 5, 6, 7, 9
การสังเคราะห์ -
การประมาณค่า 10

การประเมินผล ใช้วัดจากคะแนนที่นักเรียนทำได้ 6 ข้อ หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถือว่า ผ่าน

5 ข้อ หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ลงมา ถือว่า ไม่ผ่าน

2. ข้อคำถาม

เป็นสิ่งที่ครูคิดสร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ซึ่งครูสามารถประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียนได้จากข้อคำตอบของนักเรียน ประกอบด้วยข้อคำถาม ดังนี้

- พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่าอะไร (เจ้าชายสิทธัตถะ)

- เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่ใด (สวนลุมพินีวัน)

- พระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะคือใคร (พระนางสิริมหามายา)

- ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกผนวช (ต้องการหาทางดับทุกข์)

- พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ด้วยวิธีการใด (การบำเพ็ญเพียรทางจิต)

- พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกโปรดใคร (ปัญจวัคคีย์, โกณฑัญญะ)

- ก่อนปรินิพพานพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นเวลากี่ปี (45ปี)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานที่ใด (ใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานเมื่อใด (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)

- พระพุทธเจ้าทรงพระปรินิพพานตอนพระชนมายุกี่พรรษา (80 พรรษา)

- เพราะเหตุใด เจ้าชายสิทธัตถะจึงศึกษาจนสำเร็จศาสตร์ต่างๆ มากมาย (ตัวอย่างคำตอบ ขยัน เอาใจใส่ มีความอดทนและตั้งใจเรียน)

- ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะยังคงหาทางพ้นทุกข์ด้วยการทรมานร่างกายต่อไป จะเกิดผลอย่างไร (ตัวอย่างคำตอบ ไม่ตรัสรู้ ไม่เกิดพุทธศาสนา อาจเสียชีวิตได้)

- การศึกษาพุทธประวัติมีความสำคัญอย่างไร

- พุทธประวัติ : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มีข้อคิดอะไรบ้างที่นักเรียนควรนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน

การประเมินผล ครูสังเกตการมีส่วนร่วมในการตอบคำถามของนักเรียน และความสามารถในการตอบคำถามได้ถูกต้อง หากนักเรียนในห้องเกินร้อยละ 80 มีส่วนร่วมในการตอบคำถามและสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง ถือว่า ผ่าน จำนวนนักเรียนที่สามารถทำได้น้อยกว่าร้อยละ 80 ถือว่า ไม่ผ่าน

3. ภาพวาด, ระบายสี

ครูเตรียมกระดาษเพื่อให้นักเรียนวาดภาพหรือเตรียมภาพเพื่อให้นักเรียนระบายสีเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอนที่นักเรียนชอบที่สุดมา 1 ภาพ โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้

เกณฑ์การให้คะแนน คะแนน (10)
1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 3
2. ความประณีตสวยงาม 3
3. การเก็บอุปกรณ์หลังการใช้งาน 4

(ครูได้เตรียมภาพไว้ตามที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 3.2.6 ภาพวาด, ระบายสี)

4. แบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคล ในด้านความมีวินัย ความใฝ่เรียนรู้

ครูสร้างแบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคล ในด้านความมีวินัย ความใฝ่เรียนรู้ ของนักเรียนและแยกให้คะแนนเป็นรายบุคคล รายละเอียดดังแสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้

โรงเรียน…………………………………………………… กลุ่มสาระการเรียนรู้........................................ สาระการเรียนรู้....................................

รหัสวิชา...............................................กลุ่มที่…..ชั้น……

ภาคเรียนที่…………………….ปีการศึกษา…………………

1. ความมีวินัย 2. ความใฝ่เรียนรู้ รวมคะแนน
ลำดับที่

ชื่อ-สกุล

5 5 10

หมายเหตุ : การให้คะแนนปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของครูผู้สอน

การประเมินผล นักเรียนที่ได้คะแนนการประเมินผลรวม 6 คะแนนขึ้นไป ถือว่า ผ่าน นักเรียนที่ได้ 5 คะแนน ลงมา ถือว่า  ไม่ผ่าน

5. แบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคลในการสื่อสาร การคิดและการแก้ปัญหา

ครูสร้างแบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคลในการสื่อสาร การคิดและการแก้ปัญหา ของนักเรียนและแยกให้คะแนนเป็นรายบุคคล รายละเอียดดังแสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้

โรงเรียน.......................................................... กลุ่มสาระการเรียนรู้........................................ สาระการเรียนรู้....................................

รหัสวิชา...............................................กลุ่มที่…..ชั้น……

ภาคเรียนที่…………………….ปีการศึกษา…………………

1 ความสามารถในการสื่อสาร 2. ความสามารถในการคิด 3. ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมคะแนน
ลำดับที่

ชื่อ-สกุล

5 5 5 15

หมายเหตุ : การให้คะแนนปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของครูผู้สอน

การประเมินผล นักเรียนที่ได้คะแนนการประเมินผลรวม 9 คะแนนขึ้นไป ถือว่า ผ่าน นักเรียนที่ได้ 8 คะแนน ลงมา ถือว่า  ไม่ผ่าน

กิจกรรมเสนอแนะ

ให้นักเรียนฝึกอ่านและจับคู่ความหมายของคำราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ดังนี้

- ประสูติ (เกิด)

- ปรินิพพาน (ตาย)

- พระราชโอรส (ลูกชาย)

- ผนวช (บวช)

- อภิเษกสมรส (แต่งงาน)


3.2 สื่อ นวัตกรรมทางการศึกษาที่ใช้ในหน่วยการเรียนรู้ ประกอบด้วย

3.2.1 เพลง “ดั่งดอกไม้บาน” ใช้ประกบการนั่งสมาธิของนักเรียน

ลมหายใจเข้า…. ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน

ภูผาใหญ่กว้าง ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น ดั่งนภากาศ อันบางเบา

มาพวกเรามาชมสวน สวน.. ชวนให้ใจชื่นบาน

เราสุขสำราญ ชมสวนงาม พาเย็นใจ

* ดอกตูมกำลังผลิบาน รับอรุณอันสดใส

มา มารดน้ำด้วยใจ ของเรา ทุกคน

มาพวกเรามาทำสวน สวนเสถียรธรรมสถาน

เราสุขสำราญ ดอกไม้บานตระการตา

ด้วยเพราะพระธรรมเมตตา งามธรรมชาติพึ่งพา

เด็กเหมือนดอกไม้นานา งามตา งามใจ

( ดนตรี ) ย้อน *

เนื้อเพลงจากอัลบัม ชมสวน

เนื้อเพลงในอัลบัมชมสวน

เพลง ” ดั่งดอกไม้บาน “

( คำร้อง / ทำนอง ทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์ เรียบเรียง กัมพล มณี )


3.2.2 รูปภาพประพุทธรูป

3.2.3 รูปภาพพุทธประวัติ

3.2.4 บัตรคำยาก

3.2.5 บัตรคำราชาศัพท์และความหมายของคำ

3.2.6 ภาพวาด, ระบายสี

4.ขั้นการนำไปใช้ (Implementation)

เป็นขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นผล หมายถึงการนำส่งที่แท้จริงของการสอน ไม่ว่าจะเป็นแผนการสอนและสื่อ นวัตกรรมที่ใช้ในบทเรียน จุดมุ่งหมายของขั้นตอนนี้คือ การนำส่งการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขั้นตอนนี้จะต้องให้การส่งเสริมความเข้าใจของผู้เรียน, สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ ทำการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริง เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิภาพ

5.ขั้นการประเมินผล (Evaluation)

การประเมินผล คือ เป็นขั้นตอนของวัดผลประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสอน ที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการออกแบบการสอนทั้งหมด กล่าวคือ ภายในขั้นตอนต่างๆ และระหว่างขั้นตอนต่างๆ และภายหลังการดำเนินการให้เป็นผลแล้ว การประเมินผล อาจจะเป็นการประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative evaluation) หรือการประเมินผลรวม (Summative evaluation) โดยสองขั้นตอนนี้จำดำเนินการดังนี้

  • การประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative evaluation) ดำเนินการต่อเนื่องในภายในและระหว่างขั้นตอนต่างๆ จุดมุ่งหมายของการประเมินผลชนิดนี้ คือ เพื่อปรับปรุงการสอนก่อนที่จะนำแบบฉบับขั้นสุดท้ายไปใช้ให้เป็นผล
  • การประเมินผลรวม (Summative evaluation) โดยปกติเกิดขึ้นภายหลังการสอน เมื่อแบบฉบับขั้นสุดท้ายได้รับการดำเนินการใช้ให้เป็นผลแล้ว การประเมินผลประเภทนี้จะประเมินประสิทธิผลการสอนทั้งหมด ข้อมูลจากการประเมินผลรวมโดยปกติมักจะถูกใช้เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการสอน (เช่น จะซื้อชุดการสอนนั้นหรือไม่ หรือจะดำเนินการต่อไปหรือไม่)

ทั้งนี้ในขั้นตอนที่ 4 และ 5 คณะผู้ออกแบบสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษากลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 พุทธประวัติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะดำเนินการได้หลังจากการส่งแผนการสอนและสื่อ นวัตกรรมที่ใช้ในบทเรียน ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิภาพก่อน

คณะผู้ออกแบบ

นายอนุวัช แก้วสว่าง เลขที่สมัครฝึกอบรม 1011001812

นางสาวชุรีกรณ์ โม้หิน เลขที่สมัครฝึกอบรม 1011002507

นางสาววิรัตน์ แก้วสว่าง เลขที่สมัครฝึกอบรม 1011001830

นายธนกฤต จารุมณี เลขที่สมัครฝึกอบรม 1011001846


งานออกแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมมาตรฐานที่ 8 นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

หน่วยฝึกอบรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท