อนุทินล่าสุด


อาณัฐ
เขียนเมื่อ

                                                      อินเทอร์เน็ต ยาเสน่ห์ที่ไร้เวทมนต์

               ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะวัยใดอายุเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยรุ่น ซึ่งจากการสำรวจการมีและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง15-24 ปี มีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่ากลุ่มอื่น จากร้อยละ 39.7 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 51.9 ในปี 2554 และคาดว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มวัยรุ่นนี้น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ ออนไลน์)  เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำได้ง่ายและมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้ หรือด้านอื่น ๆ แต่ในทางกลับกันอินเทอร์เน็ตนอกจากมีคุณอนันต์แล้ว ก็ยังมีโทษอย่างมหันต์

                พ.ต.ท (หญิง) พญ. อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นการดูแลเฉพาะด้านเด็กและสตรี กล่าวในงานเสวนาฝ่าวิกฤตภัยใกล้ตัวจากสื่อออนไลน์ หัวข้อ “ล่าแม่มด – เซ็กส์ – ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์ “ ว่า “การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ในปัจจุบันส่งผลให้เกิดรูปแบบการรังแกกันประเภทใหม่ ที่เรียกว่า Cyber – bullying (การรังแกผ่านโลกไซเบอร์) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธภาพ การรังแกกันประเภทใหม่นี้ จะแสดงออกด้วยการเขียนข้อความต่อว่า ดูถูก ล้อเลียน โดยใช้รูปภาพ หรือคลิปวีดิโอ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ โดยที่ผู้ถูกระทำไม่สามารถโต้ตอบได้ นำมาซึ่งความเครียด เจ็บปวด อับอาย และสูญเสียความมั่นใจในการอยู่ในสังคม และบางครั้งอาจนำไปสู่ความรุนแรงทางอารมณ์ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในชีวิตประจำวันทำให้การสื่อสารระหว่างกันทำได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียที่นับว่าเป็นภัยทางสังคม  โดยเฉพาะการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตจากการแชทผ่านห้องสนทนา หรือเว็บไซต์ชื่อดัง และหลายเว็บไซต์มีภาพโป๊ที่กระตุ้นต่อความรู้สึกทางเพศ นอกจากนี้ยังทำให้มิจฉาชีพ ใช้เป็นช่องทางล่อลวง หรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือหลอกขายสินค้า”

              โทษของอินเทอร์เน็ตที่ร้ายแรงและน่าเป็นห่วงสำหรับวัยรุ่นไทยโดยเฉพาะผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะเด็กวัย ๑๓ –๒๐ ปีเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด (ไทยรัฐ ๒๕๕๕ ออนไลน์) ซึ่งมีข่าวออกมามากมาย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลายเป็นผู้ที่หลงเสน่ห์โดยไม่รู้ตัว พวกที่ทำเสน่ห์ก็เป็นพวกมิจฉาชีพ ที่มาในคราบเศรษฐี ลูกนายตำรวจใหญ่ มีแม่เป็นคุณหญิง หรือลูกผู้มีอิทธิพล ทั้งๆที่จริงแล้ว เป็นเพียงแค่คุณชายบ้านเช่าธรรมดา กลุ่มคนพวกนี้อาจจะทำเป็นแก๊งหรือคนเดียว ซึ่ง จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อล่อลวงให้เหยื่อหลงมนต์เสน่ห์ และเมื่อเหยื่อหลงมนต์เสน่ห์ มันก็จะพาไปข่มขืน บ้างคนโชคดีได้กลับมาบ้าน บางคนโชคร้ายที่ต้องจบชีวิตกับพวกที่ไร้คุณค่า บ้างคนเหมือนกับตายทั้งเป็นเมื่อพวกนั้นเป็นแก๊งค้ามนุษย์ นอกจากการสนทนาแบบการแชทแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่พวกมิจฉาชีพมักใช้เป็นเครื่องมือคือ การล่อลวงผ่านเกมส์ออนไลน์

              ดังมีข่าวอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นข่าวที่เด็กวัย ๑๔ ที่ถูกล่อลวงให้ไปทำงาน ผ่านการเล่นเกมส์ออนไลน์ “ออดิชัน” ซึ่งเป็นเกมส์ที่ให้ผู้เล่นกดคีย์บอดบังคับให้ตัวละครเต้นตามเสียงเพลง โดยระหว่างนั้งยังสามารถแชทโต้ตอบกับผู้เล่นคนอื่นที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา คนร้ายจึงแฝงตัวเข้ามาเล่น ซึ่งตำรวจคาดว่ามีเด็กตกเป็นเหยื่อไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน หนึ่งในเด็กหญิงที่ถูกล่อลวง กล่าวว่า ยังมีเพื่อนอีก ๒ คน ที่ถูกคนร้ายล่อลวงไปในลักษณะเดียวกัน โดยคนร้ายและเพื่อนเข้ามาเล่นเกมออดิชั่นออนไลน์ด้วยกัน เมื่อเล่นได้ประมาณ ๑ สัปดาห์ เพื่อนของคนร้ายขอเบอร์โทรศัพท์มือถือ และให้คนร้ายเป็นคนพูดคุย โดยคนร้ายอ้างว่าเป็นลูกชายรองผู้กำกับการสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง มีแม่เป็นคุณหญิง และหากไม่ไปหา คนร้ายคนนั้นจะฆ่าตัวตาย จนกระทั่งหลงเชื่อก่อนเดินทางด้วยรถไฟไปหาที่ จ.สมุทรสาคร

               เมื่อไปถึงยัง จ.สมุทรสาคร คนร้ายพาไปที่บ้าน อ้างว่าเป็นของพ่อ เป็นบ้านหลังใหญ่โอ่โถง แต่นายคนร้ายไม่ยอมพาเข้าไปในบ้าน ก่อนพาไปที่บ้านเล็กๆ หลังหนึ่งแทน อ้างว่าต้องการอยู่คนเดียว ทำให้หลงเชื่อ เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วคนร้ายจะเก็บโทรศัพท์มือถือเอาไว้ ไม่ให้ติดต่อกับทางบ้าน และให้ไปทำงานเป็นลูกจ้างแพปลา ได้ค่าแรงวันละ ๒๐๐ บาท เมื่อได้ค่าแรงมาแล้ว คนร้ายจะเก็บไว้ทั้งหมด ให้เงินไปกินข้าวเพียงวันละ ๓๐ บาท กระทั่งเพื่อนที่ไปด้วยกันเห็นท่าไม่ดี แกล้งป่วย และไม่ได้ออกไปทำงาน จึงแอบมาโทรศัพท์บอกทางบ้าน

               จากข่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า กลวิธีของคนร้ายเป็นไปด้วยความแยบยล สามารถหลอกให้เหยื่อหลงเสน่ห์เพียงแค่บอกว่าเป็นลูกของนายตำรวจใหญ่ ฉะนั้นเราจึงควรระลึกไว้เสมอว่าอย่าไปหลงเชื่อคำพูดของคนไม่รู้จักโดยเฉพาะผ่านจากสื่อออนไลน์ จงใช้วิจารณญาณในการบริโภคสื่อออนไลน์ให้ถูกต้อง มีสติถ้าจะให้ดีต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง แล้วเราก็จะใช้สื่อออนไลน์อย่างมีความสุข

ที่มา http://www.tlcthai.com/education/news/7419.html

        http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/citizen/news/news_children.jsp

        http://www.thairath.co.th/content/tech/296524




ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท