อยากจะถามอาจารย์ว่า การศึกษาปรัชญา จะเป็นแนวทางในการเลือกสาขาวิชาเรียน และการทำงานได้อย่างไร และควรจะเริ่มศึกษาจากที่ใดก่อน
ขอบคุณค่ะ
ขอตอบละเอียดๆ เลยนะครับ เพราะอยากให้คุณ Kookkai และคนอื่นๆ ที่สนใจวิชาปรัชญาได้ประโยชน์จากคำถามนี้ด้วย
จากคำถาม เหมือนกับจะถามว่าวิชาปรัชญาจะเป็นแนวทางให้กับการเลือกสาขาวิชาเรียนและการทำงานได้อย่างไร แบบนี้ใช่มั้ยครับ
ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่า ปรัชญาสามารถเป็นได้แน่นอนครับ เพราะวิชาปรัชญามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัวความคิด และให้ความสำคัญกับกิจกรรมการคิดของมนุษย์มากที่สุด การที่เราสามารถสั่งสมความคิดไว้มากๆ ฝึกฝนให้สามารถทำกิจกรรมทางความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเรียนสาขาอะไร จะทำงานอะไร ก็จะสามารถทำได้ดีแน่ๆ รวมถึงการเป็นมนุษย์ที่ดีด้วยนะครับ (เป็นความเชื่อส่วนตัวของผม) ถ้าเป็นคำถามนี้ ผมก็ขอตอบสั้นๆ แค่นี้นะครับ
แต่ผมไม่คิดว่าคุณ Kookkai อยากจะถามอย่างนั้นน่ะสิ คุณ kookkai น่าจะอยากถามผมว่า ถ้าสนใจศึกษาปรัชญา "จะมี" แนวทางในการเลือกสาขาวิชาการเรียนและการทำงานอย่างไรมากกว่า (ใช่หรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ถือว่าผมตอบคำถามนี้แถมไปให้ด้วยแล้วกันนะครับ)
*ผมเดาเอาว่าคุณ Kookkai คงกำลังสนใจศึกษาปรัชญาอยู่ใช่มั้ยครับ
1) ขอตอบเรื่องแนวทางการทำงานก่อนนะครับ
ก่อนอื่นก็ต้องบอกอย่างนี้เลยดีกว่าครับว่า ถ้าจะเรียนวิชาปรัชญาเป็นวิชาเอก ปรัชญามันไม่ใช่วิชาชีพ มันไม่ได้สร้างแนวทางหรือทักษะในการประกอบอาชีพใดๆ ให้เราโดยตรงเลยครับ (แม้แต่สอนหนังสือนี่ก็ยังทำไม่ค่อยเป็นเลย)
จะพบว่ามีน้อยมากครับ ที่จะมีการเปิดรับสมัครงานตำแหน่งสำหรับคนที่เรียนจบสาขาปรัชญา ยกเว้นการเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา และสถาบันที่มีการเรียนการสอนปรัชญาเป็นวิชาเอกก็มีอยู่น้อยเต็มที (ผมคิดว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกันครับ คือมันเป็นวิชาที่ไม่ค่อยนำทางไปสู่อาชีพเท่าไหร่)
เพราะฉะนั้นการจะเรียนวิชาปรัชญาในแบบที่จะเรียนเป็นวิชาเอกเลยเนี่ย ต้องอาศัยความรักในตัววิชาเป็นสำคัญเลยครับ (ไม่งั้นไม่ได้เรียน เชื่อเลยว่าถ้าคุณ Kookkai จะเลือกเรียนวิชาปรัชญาเป็นวิชาเอก จะโดนทัดทานอย่างหนักจากคนรอบข้างด้วยเหตุผลนี้) แนวทางการทำงานของวิชาปรัชญาที่เห็นเพื่อนๆ ในกลุ่มมักจะไปทำกันนะครับ เช่น เป็นอาจารย์สอนปรัชญา (ส่วนใหญ่) เป็นนักวิชาการปรัชญา (ไม่ได้สอนโดยตรงแต่เน้นการทำงานวิจัยเป็นหลัก) เป็นนักเขียน ทำหนังสือ เป็นต้นครับ แต่ถ้าไม่คิดจะเรียนเป็นวิชาเอกก็ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ ทุกมหาวิทยาลัยจะบังคับให้เรียนวิชาปรัชญาเป็นวิชาพื้นฐานอยู่แล้ว (ส่วนมาก) ประโยชน์ที่ได้ก็จะเหมือนกับคำตอบแรกที่ผมตอบไป
ทีนี้ถ้าสนใจจะศึกษาวิชาปรัชญาเป็นวิชาเอกจะมีแนวทางอย่างไร ผมแนะนำว่าถ้าคุณ Kookkai เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยให้ทดลองเรียนวิชาปรัชญาเป็นวิชาเลือกดูก่อน แต่ถ้ายังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ให้อ่านหนังสือปรัชญา (เดี๋ยวผมลองแนะนำดูนะครับ ว่าถ้าหากจะเริ่มอ่าน จะเริ่มจากอะไรดี) ถ้าสนใจหรือชอบก็หาแนวทางการเรียนต่อกัน
2) แนวทางสาขาวิชาเรียน
มหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิดสอนวิชาปรัชญาเป็นวิชาเอกในระดับปริญญาตรีมีหลายแห่งครับ ลองตรวจสอบดูจากเว็บไซต์นี้นะครับ http://www.arts.chula.ac.th/~philoso/philos/index.htm มีข้อมูลทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก การเรียนต่อในระดับปริญญาโทนั้นไม่จำกัดว่าจะจบมาทางด้านใดก็สามารถเรียนต่อปริญญาโทปรัชญาได้ทั้งนั้น
เรียนปรัชญาเรียนหนักนะครับ ต้องเป็นคนอ่านหนังสือเยอะๆ ชอบคิด ชอบเขียน ตามความหมายของคำว่า "นักปรัชญา" (Philosopher) ที่ว่า "ผู้ที่รักในความรู้" เลยครับ
ส่วนตอนนี้ถ้าจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับวิชาปรัชญา เบื้องต้นมากๆ เลย ก็ให้อ่านเล่มนี้แล้วกันนะครับ "โลกของโซฟี" เป็นวรรณกรรมเยาวชน เหมาะสำหรับการเริ่มต้นรู้จักประวัติศาสตร์ของวิชาปรัชญา (ลองหาในร้านนายอินทร์ดูน่าจะมี) หรือถ้าจะอ่านเป็นตำราเรียน ก็อ่านของอาจารย์ "วิทย์ วิศทเวทย์" ก็ได้ครับ ชื่อ ปรัชญาทั่วไป (ที่ศูนย์หนังสือจุฬามีแน่นอน) หรือถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้จะดีมากเลยครับ เพราะตำราภาษาอังกฤษสำหรับคนที่เริ่มต้นจะทำไว้ดีมาก ตำราที่มีชื่อขึ้นต้นว่า "Introduction to Philosophy" ทั้งหลาย อ่านได้หมดเลยครับ ผมแนะนำ 2 เล่ม "Philosophy: The Power of Idea" และ "the Journey of Philosophy" ไม่ต้องซื้อก็ได้ครับ มันแพง (เล่มนึง 6 - 7 พันบาท) ไปยืมถ่ายเอกสารที่ห้องสมุดจุฬาฯ ก็มี
หนังสือที่ผมแนะนำนี่เป็นหนังสือที่เป็นวิชาปรัชญาจริงๆ นะครับ เพราะบางทีเรามักจะเหมารวมเอาว่าหนังสือที่นำเสนอความคิดลึกซึ้งหรือเป็นเรื่องศาสนาเป็นหนังสือปรัชญาไปซะทั้งหมด คือ บางทีเราชอบหนังสือของเฮสเส ฐากูร คาริล ยิบราล เลยอยากเรียนปรัชญา แต่จริงๆ แล้วถ้าเรียนปรัชญาจะพบว่านี่เป็นแค่แนวทางนึงที่ปรัชญาจะศึกษา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และก็ไม่ใช่ว่าหนังสือที่ไม่ใช่วิชาปรัชญาโดยตรงเหล่านี้จะเป็นหนังสือไม่ดีนะครับ จริงๆ แล้วหนังสือพวกนี้เหมาะสำหรับการเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตมากกว่า แต่ถ้าอยากรู้จักตัววิชาปรัชญาจริงๆ ต้องหนังสือแบบที่ผมแนะนำนี่ล่ะครับ
หรือถ้าสนใจวิชาปรัชญาลองเข้าไปในเว็บไซต์ของผมดูนะครับ http://web.thaicool.com/darsana/index.htm
ตอนนี้ข้อมูลยังน้อยอยู่ แต่มีแหล่งข้อมูลเชื่อมโยงเกี่ยวกับวิชาการในสาขาปรัชญาอยู่เยอะเลยครับ หรือถ้าสนใจจะพูดคุยสอบถามเพิ่มเติม ผมก็ยินดีที่จะตอบให้อย่างเต็มที่เลยครับ หวังว่าคงได้คุยกันอีกนะครับ
ขอบคุณมากเลยนะคะสำหรับคำตอบ
แต่ไม่รู้ว่าจะสายไปหรือเปล่า เพราะว่าตอนนี้เรียนจบปริญญาตรีแล้ว และก็ทำงานด้านบัญชีมาสักพัก แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองชอบอะไร
และมีแนวคิดที่จะเรียนต่อก็เลยคิดอยู่ว่าจะเปลี่ยนสาขาที่เรียนดีไหม ยังไงก็ขอเริ่มต้นที่เว็บไซต์ แล้วก็หนังสือที่อาจารย์แนะนำก่อนละกันนะคะ
ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
kookkai
ไม่สายหรอกครับ ในความเห็นผมนะ ผมคิดว่าไม่เห็นต้องเรียนต่อทันทีเลย ทำงานดูซักพัก รู้จักคน และรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ประสบการณ์เยอะขึ้น มันดีกว่าอยู่แล้ว ไม่ต้องรีบหรอกครับ ถ้าชอบวิชาปรัชญา เรียนรู้ด้วยตัวเองไปก่อนก็ได้
ขอให้มีความสุขกับงานที่ทำนะครับ