สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของกลองมโหระทึก


วราภรณ์
ได้อ่านบทความที่ลงไว้เกี่ยวกับกลองมโหระทึก จึงอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม 1. เกี่ยวกับลวดลายที่อยู่บนผิวหน้าของกลองรวมทั้งลวดลายด้านข้างรอบๆ ตัวกลอง ว่ามีความหมายหรือไม่อย่างไร 2. รูปกบบนกลองมีความหมายพิเศษหรือไม่คะ และมีการประดับรูปสัตว์อื่นนอกจากกบหรือไม่ 3. เป็นกลองประจำของพระมหากษัตริย์หรือว่าคนทั่วไปก็สามารถมีไว้ได้คะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

ขอบคุณมากนะคะสำหรับคำถามดีๆ ค่ะ  เรามาดูกันนะคะว่าลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏบนกลองมโหระทึกนั้นมีอะไรบ้าง  และมีความหมายอย่างไร

ลวดลายทั่วไปที่บนบนกลองมโหระทึกและด้านข้างกลองสามารถแบ่งออกได้  2  ประเภท  คือ

1. ลวดลายภาพบุคคล  สัตว์  สิ่งของ
     1.1. กลุ่มบุคคลแต่งกายด้วยขนนก  ลวดลายแบบนี้พบตกแต่งตรงส่วนหน้าหรือด้านข้างกลอง ภาพบุคคลแต่งกายด้วยขนนกนี้อาจหมายถึงความเกี่ยวข้องในเรื่องพิธีกรรมบูชายัญสัตว์  เช่น  นก  กวาง  วัว  และกบ  เป็นต้น  และเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ของพระเจ้า
     1.2. กลุ่มบุคคลทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ทอผ้า  เล่นดนตรี  และการประกอบพิธีกรรม  ฯลฯ  ภาพเหล่านี้อาจแสดงถึงชีวิตและความเชื่อในสังคมบรรพกาล
     1.3. เรือ  หรือกระบวนเรือ อาจหมายถึง  เทศกาลแข่งเรือ  หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ  หรืออาจเกี่ยวข้องในเรื่องของความตายและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย  เรือ อาจทำหน้าที่ในการส่งวิญญาณของผู้ตายไปยังโลกหน้า 
     1.4. นกกระสา  หรือนก Plover บนทวยเข็มนาฬิกา  อาจหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพนิเวศน์วิทยาที่กลุ่มชนผู้ผลิตกลองตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่  หรืออาจเป็นสัตว์ที่อาจเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าอีกประเภทหนึ่ง
     1.5. ปลา    อาจหมายถึงความสัมพันะระหว่างมนุษย์กับสภาพนิเวศน์วิทยาที่กลุ่มชนผู้ผลิตกลองตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่  เช่นกับนก-กระสา 
     1.6. กบ   นิยมหล่อเป็นรูปกบ  1  ตัว  หรือกบซ้อนกัน  3  ตัว   กบ   เหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมขอฝน
     1.7. ช้าง  ลวดลายช้างอาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมขอฝนเช่นเดี่ยวกับกบ
     1.8 วัว อาจเป็นสัตว์ของพระเจ้าอีกประเภทหนึ่ง  และมีความสำคัญต่อการดำรงชีพ  และเศษรฐกิจสมัยโบราณ
     1.9.  กวาง  อาจเป็นสัตว์ของพระเจ้าอีกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับวัว  
     1.10. นกยูงบินทวยเข็มนาฬิกา  อาจเป็นย่อเพียงส่วนแววหางนกยูงที่เรียงกันเป็นลายเลขาคณิต
     1.11. บ้าน   แสดงให้เห็นถึงลักษณะอาคารที่อยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงช่วงต้นประวัติศาสตร์
    1.12.  ดวงอาทิตย์  หรือ  ดาว  อาจทำตั้งแต่  8  แฉกถึง  32  แฉก  อาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการบูชาดวงอาทิตย์  ซึ่งเป็นความเชื่อในสังคมบรรพกาลที่ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติ

2. ลวดลายเลขาคณิต
     ลวดลายเหล่านี้ได้แก่  ลายแถววงกลมมีจุดตรงกลาง  ลายหยักพันปลา  ลายเส้นคู่ขนานเรียงเป็นแนว  ลายประแจจีน  ฯลฯ
     ลายเกลียว  อาจหมายถึง  ลายรวงข้าว  ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของมุนษย์กับการดำรงชีพและระบบนิเวศน์วิทยาในสังคมบรรพกาล


และคำถามที่ว่ากลองมโหระทึกเป็นกลองประจำของพระมหากษัตริย์หรือว่าคนทั่วไป 

เราขอตอบว่า  กลองมโหระทึกเป็นกลองที่นิยมใช้ในสังคมสมัยโบราณที่เกี่ยวกับพิธีกรรม  โดยหมอผีหรือผู้นำชุมชน   และต่อมานิยมใช้ในพิธีกรรมในราชสำนัก  ดังพบหลักฐานในสมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา  และสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เราเห็นในพระพิธีแรกนาขวัญฯ เป็นต้น 

เราหวังว่าคุณวราภรณ์คงได้ข้อมูลที่ต้องการนะคะ  และถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถมาหาข้อมูลได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  ทุกวันพุธ - อาทิตย์  เวลา  09.00 - 16.00 น. โดยเฉพาะวันอาทิตย์ไม่เก็บค่าเข้าชมค่ะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท